การพิมพ์ออฟเซต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพด้านข้างของการพิมพ์ลูกกลิ้งคู่[1]

การพิมพ์ออฟเซต หรือการพิมพ์ลูกกลิ้งคู่ (อังกฤษ: Offset printing) เป็นเทคนิคการพิมพ์ชนิดหนึ่งซึ่งใช้ลูกกลิ้ง (นิยมเรียกว่า โม) เกลี้ยงทำด้วยยาง ถ่ายทอดหมึกจากลูกกลิ้งแม่แบบ ก่อนจะถ่ายทอดหมึกลงสู่กระดาษ ซึ่งต่างจากการพิมพ์ลูกกลิ้งเดี่ยว (rotary press printing) หรือการพิมพ์แบบประทับอักษร (letterpress printing) ที่ใช้แม่แบบกดลงบนกระดาษโดยตรง การพิมพ์ลูกกลิ้งคู่พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2418 เพื่อใช้พิมพ์บนผิวดีบุกและต่อมาได้พัฒนาเป็นการพิมพ์บนกระดาษ[2][3] การพิมพ์ลูกกลิ้งคู่มีลักษณะคล้ายกับการพิมพ์ด้วยหิน ซึ่งเป็นการเขียนแผ่นหินเรียบด้วยไข บริเวณที่เหลือจะถูกทาด้วยกรดให้หินพรุนและซับน้ำ เมื่อช่างพิมพ์ทาหมึกแล้ว หมึกจะติดบริเวณไข ส่วนบริเวณที่ไม่มีไขหมึกจะถูกชะออกได้ง่าย เมื่อชะหมึกแล้วจึงพิมพ์เช่นเดียวกับการพิมพ์แบบประทับอักษร

ลูกกลิ้งแม่แบบเมื่อยังไม่ได้ใช้ นิยมใช้โพลิเมอร์ไวแสงหรือทองแดงชั้นบาง ๆ ฉาบผิว เมื่อจะใช้พิมพ์ ช่างจะแปลงต้นฉบับเป็นภาพฉายลงบนแม่พิมพ์แล้วนำไปล้าง ส่วนที่กำหนดให้เป็นภาพจะแข็งตัว ทำหน้าที่รับหมึก[4] จากนั้นแม่พิมพ์จะถูกฉาบด้วยหมึก หมึกส่วนเกินที่ติดนอกบริเวณจะถูกปาดออกด้วยลูกกลิ้งน้ำผสมสารเคมีที่จำเป็น เนื่องจากน้ำและหมึกไม่ผสมกัน จึงสามารถแยกบริเวณที่จะพิมพ์กับบริเวณที่ไม่ต้องการพิมพ์ออกจากกันได้ ต้นแบบที่กัดเป็นภาพปกติ จากนั้นลูกกลิ้งที่มีภาพจะกลิ้งไปบนลูกกลิ้งยาง ได้ภาพกลับหลัง ต่อจากนั้นลูกกลิ้งยางที่มีภาพจะกลิ้งลงบนกระดาษ โดยมีลูกกลิ้งกดเป็นตัวช่วยอีกชั้นหนึ่ง ได้ภาพต้นฉบับคืนมา กระบวนการนี้จะทำซ้ำทุกสีที่ต้องการ โดยอาจมีสีเดียว สี่สี (สีฟ้า สีบานเย็น สีเหลือง สีดำ) หรือมากกว่านั้นก็ได้ แต่ละสีที่พิมพ์ลงไปจะเสริมเติมเต็มกันและกัน เรียกว่า สีตามกระบวนการพิมพ์ (process colour) สีตามกระบวนการพิมพ์นั้นเมื่อส่องด้วยแว่นขยายจะแลเห็นเป็นจุดเล็ก ๆ จำนวนมากอันเกิดจากการกัดแม่พิมพ์ บางครั้งหากต้องการใช้สีที่มีความละมุนและคงที่ ช่างอาจจะผสมสีขึ้นเฉพาะ เรียกว่า สีเนื้อตัน หรือสีผสมเฉพาะ (spot colour, solid colour)

แท่นพิมพ์ลูกกลิ้งคู่บางแท่นใช้ลูกกลิ้งคู่สองชุด เรียกว่า blanket-to-blanket ทำให้สามารถพิมพ์กระดาษทั้งสองหน้าพร้อม ๆ กัน โดยลูกกลิ้งพิมพ์ชุดหนึ่งทำหน้าที่เป็นลูกกลิ้งกดให้แก่ลูกกลิ้งพิมพ์อีกชุด นิยมใช้สำหรับสิ่งพิมพ์ที่ต้องการความแม่นยำและต่อต้านการปลอม อาทิ หนังสือเดินทาง ธนบัตร ฯลฯ[5] บางแท่นก็ไม่ใช้ลูกกลิ้งน้ำ แต่ใช้แม่พิมพ์นูนลักษณะแบบเดียวกับแม่พิมพ์ประทับอักษร แต่ไม่กลับหลัง แม่พิมพ์นูนนี้จะถ่ายทอดภาพลงบนลูกกลิ้งเกลี้ยงซึ่งจะนำหมึกลงสู่กระดาษต่อไป[6]

หมึกที่ใช้ในการพิมพ์ลูกกลิ้งคู่มักมีความหนืดสูง คือมีความหนืดพลวัต (dynamic viscosity) ที่ 40-100 ปาสกาล-วินาที นอกจากนี้หมึกยังมีสมบัติแห้งตัวได้เมื่อถูกความร้อน ความเย็น หรือการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า[7]

อนึ่งคำว่า ลูกกลิ้งคู่ ไม่ได้หมายความว่าระบบการพิมพ์มีลูกกลิ้งเพียงสองอัน แต่หมายความถึงการที่มีลูกกลิ้งที่ใช้พิมพ์สองอัน นอกเหนือจากลูกกลิ้งอันอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเดินเครื่อง

อ้างอิง[แก้]

  1. Kipphan, Helmut (2001). Handbook of print media: technologies and production methods (Illustrated ed.). Springer. pp. 130–144. ISBN 3-540-67326-1.
  2. "offset printing (printing technique) - Encyclopædia Britannica". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ 2013-11-24.
  3. Pre-pressure.com Offset printing
  4. Offset Printing Plates
  5. Commercial Color Offset Printing – A Compendium of Commercial Printing Terminology
  6. Michael Bruno, Frank Romano, and Michael Riordan, Pocket Pal: A Graphic Arts Production Handbook, 19th ed. (Memphis: International Paper Company, 2003)
  7. Kipphan, Helmut (2001). Handbook of print media: technologies and production methods (Illustrated ed.). Springer. p. 137. ISBN 3-540-67326-1.