ข้ามไปเนื้อหา

การทดสอบโดสต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

การทดสอบโดสต์ (อังกฤษ: Dost test) เป็นแนวทางการตัดสินภาพอนาจารเด็กของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีองค์ประกอบ 6 อย่างที่ตั้งขึ้นในปี 2529 ในคดีศาลรัฐบาลกลางชั้นต้น คือ "สหรัฐอเมริกากับนายโดสต์ (United States v. Dost)" (636 F. Supp. 828, S.D.Cal. 1986) เกี่ยวกับภาพถ่ายของเด็กหญิงเปลือยหรือกึ่งเปลือยอายุระหว่าง 10-14 ปี บนฟิล์มถ่ายภาพที่ยังไม่ได้ล้าง ที่ส่งไปยังบริษัทล้างฟิล์มในเขตฮอลลีวูด รัฐแคลิฟอร์เนีย[1]

กฎเกณฑ์

[แก้]

เพื่อจะตัดสินให้ดีขึ้นว่า ภาพแสดงเด็กเป็น "การแสดงอย่างเร้ากามตัณหาของอวัยวะเพศหรือเขตหัวหน่าว" ภายใต้กฎหมาย 18 U.S.C. § 2256(2)(A) หรือไม่ ศาลได้ตั้งกฎเกณฑ์ 6 อย่างขึ้น แต่ไม่จำเป็นว่ารูปจะต้องผ่านกฎทุกกฏ และก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สามารถใช้เกณฑ์อื่น ๆ นอกเหนือจากเกณฑ์เหล่านี้เพื่อตัดสินได้[1][2]

  1. จุดโฟกัสของรูปอยู่ที่เขตอวัยวะเพศหรือหัวหน่าวของเด็กหรือไม่
  2. สิ่งแวดล้อมและบริบทของภาพบ่งนัยทางเพศหรือไม่ เช่น อยู่ในสถานที่หรืออยู่ในท่าทางที่โดยทั่วไปสัมพันธ์กับกิจกรรมทางเพศ
  3. เด็กอยู่ในท่าทางที่ไม่เป็นธรรมชาติ หรือใส่เสื้อผ้าที่ไม่เหมาะสม เมื่อพิจารณาอายุของเด็กหรือไม่
  4. เด็กใส่เสื้อผ้าสมบูรณ์ บางส่วน หรือเปลือย
  5. เด็กแสดงความเขินอายที่แสดงนัยทางเพศ หรือความพร้อมความเต็มใจที่จะร่วมกิจกรรมทางเพศหรือไม่
  6. ภาพตั้งใจหรือออกแบบให้ผู้ชมเกิดปฏิกิริยาทางเพศหรือไม่

บรรทัดฐานการพิพากษา

[แก้]

เกี่ยวกับการแสดงที่เร้าอารมณ์ของบริเวณอวัยวะเพศที่ปกปิด กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้อธิบายการใช้การทดสอบนี้ต่อสื่อลามกอนาจารเด็กในข้อบังคับปี 2551 โดยเขียนไว้ว่า บรรทัดฐานจากคดี United States v. Knox [32 F.3d 733 (3d Cir. 1994)] ไม่ได้ห้ามการถ่ายรูปทีมนักว่ายน้ำธรรมดาหรือโมเดลชุดชั้นใน แต่ว่า "แม้ว่าอวัยวะเพศจะปกปิดด้วยผ้าในคดีนั้น แต่เป็นผ้าบางทึบที่มีจุดประสงค์ชัดเจนเพื่อดึงจุดสนใจไปที่ตรงนั้น เป็นการแสดงโดยโมเดลที่อ้าหรือยืดขา เพื่อที่จะให้บริเวณหัวหน่าวหรืออวัยวะเพศปรากฏโดยทั้งหมดต่อผู้ชม และเป็นการแสดงโดยโมเดลที่เต้นรำหรือส่ายสะโพก โดยวิธีที่ชี้บ่งความสัมพันธ์ทางเพศของผู้ใหญ่"[3]

แต่ว่า สำนวนแก้ฟ้องที่ยื่นต่อศาลในคดีปี 2009 (Brabson v. Florida) ที่เด็กหญิงหลายคนถูกแอบถ่ายวิดีโอใน "พฤติกรรมที่ไร้มลทิน" คือเปลี่ยนใส่ชุดว่ายน้ำ มีความเห็นต่างกันเกี่ยวกับ "ความตั้งใจ" ที่กล่าวไว้ในการทดสอบโดสต์ (ในเกณฑ์สุดท้าย) ประเด็นก็คือ การกำหนดว่าภาพนั้นเร้าอารมณ์หรือไม่ ควรจะเป็นกฎเกณฑ์ที่เป็นกลาง ๆ (คือเป็นปรวิสัย) ใช้ต่อการออกแบบรูป หรือควรจะเป็นผลจริง ๆ ของรูปนั้นต่อจำเลยคนใดคนหนึ่ง (ที่เป็นอัตวิสัย)[4]

ข้อวิพากษ์วิจารณ์

[แก้]

ศาสตราจารย์กฎหมายหญิงผู้หนึ่ง วิพากษ์วิจารณ์การทดสอบนี้ เพราะทำให้สาธารณชนต้องดูรูปของเด็กในลักษณะที่คนใคร่เด็กจะดู เพื่อที่จะกำหนดว่ารูปเหล่านั้นสมควรหรือไม่ "เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างกลายเป็นสื่อลามกอนาจารเด็กตามมุมมองของกฎหมาย จะเป็นเด็กใส่เสื้อผ้า เด็กเขิน เด็กในสิ่งแวดล้อมที่มีเด็ก บางทีตัวเด็กเองอาจได้กลายเป็นสิ่งลามกอนาจารไปแล้ว"[5]

ส่วนนักวิชาการอีกท่านหนึ่งให้ข้อสังเกตว่า "การประยุกต์ใช้องค์ต่าง ๆ เหล่านี้ ดังที่พบในคดี 'Knox' ทำให้ต้องวิเคราะห์อย่างยืดยาวซึ่งสื่อต่าง ๆ ที่คนโดยมากในอดีตจะไม่ถือว่าลามกอนาจารหรือว่าเกี่ยวข้องกับเพศ และเพราะจะต้องผ่านการวิเคราะห์เช่นนี้ ตำรวจ ผู้พิพากษา ทนาย และโดยที่สุดคือสาธารณชน ก็จะถูกบังคับให้ดูอย่างละเอียดลออซึ่งรูปภาพของเด็ก (และโดยทั่วไปซึ่งเด็กด้วย) ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่จะกำหนดว่า เด็กที่อยู่ในรูปอาจจะทำอะไรเกี่ยวกับเพศหรือไม่"[6]

ดูเพิ่ม

[แก้]

เชิงอรรถและอ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "United States v. Dost, 636 F. Supp. 828 - Dist. Court, SD California 1986".
  2. Electronic Frontier Foundation. "Blogger's Legal Guide: Adult Material".
  3. "Revised Regulations for Records Relating to Visual Depictions of Sexually Explicit Conduct; Inspection of Records Relating to Depiction of Simulated Sexually Explicit Performance; Final Rule". Federal Register. 73 (244): 77431–77472. 2008-12-18. although the genitals were clothed in that case, they were covered by thin, opaque clothing with an obvious purpose to draw attention to them, were displayed by models who spread or extended their legs to make the pubic and genital region entirely visible to the viewer, and were displayed by models who danced or gyrated in a way indicative of adult sexual relations
  4. "Supreme Court of Florida - Brabson v. Florida - Jurisdictional Brief of Respondent" (PDF). Supreme Court of Florida. 2009.
  5. "Amy Adler discusses her legal scholarship in interdisciplinary forum". NYU School of Law News.
  6. Danay, Robert J. (2005). "Danger of Fighting Monsters: Addressing the Hidden Harms of Child Pornography Law, The". Rev. Const. Stud. 11 (151).