กรมปรึกษาราชบัลลังก์
กรมปรึกษาราชบัลลังก์ (เขมร: ក្រុមប្រឹក្សារាជបល្ល័ង្ក กฺรุมปรึกฺสาราชปลฺลังฺก) เป็นองค์คณะบุคคลจำนวน 9 คนของประเทศกัมพูชาซึ่งมีหน้าที่คัดเลือกผู้ขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชาเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2536 ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา, ประธานรัฐสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา, รองประธานรัฐสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชาคนที่ 1 และคนที่ 2, ประธานพฤฒสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา, รองประธานพฤฒสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชาคนที่ 1 และคนที่ 2, สมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคณะสงฆ์มหานิกาย, และสมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย[1]
หลังจากการก่อตั้งในปี พ.ศ. 2536 กรมนี้มิได้ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ อีก จนกระทั่งได้ปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2547 ในการกราบบังคมทูลอัญเชิญพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดมสีหมุนีขึ้นเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่
การลงคะแนนคัดเลือกผู้ขึ้นเสวยราชสมบัติในที่ประชุมกรม ใช้การลงคะแนนลับในหีบบัตรเลือกตั้งโดยสมาชิกกรมทั้ง 9 คน
องค์คณะของกรมในปัจจุบัน
[แก้]นาม | ตำแหน่ง |
---|---|
สมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแณต | นายกรัฐมนตรีแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา |
สมเด็จมหารัฐสภาธิการธิบดี ฆวน สุดารี | ประธานรัฐสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา |
สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุน เซน | ประธานพฤฒสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชา |
ชาม เยียบ | รองประธานรัฐสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชาคนที่หนึ่ง |
วง สูต | รองประธานรัฐสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชาคนที่สอง |
ซิม กา | รองประธานพฤฒสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชาคนที่หนึ่ง |
เทพ งอน | รองประธานพฤฒสภาแห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชาคนที่สอง |
สมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี (นนท์ แงด ปสฺสทฺธิสมฺโพชฺฌงฺโค) (รักษาการ) | สมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคณะสงฆ์มหานิกาย |
สมเด็จพระอภิสิริสุคนธามหาสังฆราชาธิบดี (บัวร์ กรี จนฺทคิริโก) | สมเด็จพระสังฆราชฝ่ายคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย |
พระมหากษัตริย์ซึ่งได้รับเลือกจากกรมปรึกษาราชบัลลังก์
[แก้]- พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (24 กันยายน พ.ศ. 2536)
- พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี (14 ตุลาคม พ.ศ. 2547)[2]
ผู้มีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์
[แก้]พระมหากษัตริย์แห่งพระราชอาณาจักรกัมพูชาจะต้องเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์กัมพูชา ซึ่งมีพระชนมายุตั้งแต่ 30 พรรษาขึ้นไป และสืบเชื้อสายมาจากราชสกุลวงศ์ของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (พระองค์ด้วง) หรือพระบาทสมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร หรือพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์[3][4] ปัจจุบันมีเจ้านายผู้มีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ของกัมพูชาชั้นแรกสุดจำนวน 3 พระองค์ ได้แก่
- สมเด็จกรมพระนโรดม จักรพงศ์ (ประสูติ พ.ศ. 2488) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
- พระองค์เจ้านโรดม สิริวุธ (ประสูติ พ.ศ. 2494) พระราชอนุชาต่างพระมารดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
- พระองค์เจ้านโรดม ปรียโสภณ (ประสูติ พ.ศ. 2497) พระราชอนุชาต่างพระมารดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ
หมายเหตุ: พระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ ชีวันฤทธิ์ (ประสูติ พ.ศ. 2510) และพระองค์เจ้าสีสุวัตถิ์ วชิราวุธ (ประสูติ พ.ศ. 2516) ซึ่งเป็นพระนัดดาของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ (โดยทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ชีวันมุนีรักษ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ มุนีวงศ์ และสมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ) ทรงเป็นเชื้อสายของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ ซึ่งมีสิทธิ์ในการสืบราชสันตติวงศ์ของกัมพูชาชั้นแรกสุดเช่นกัน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Constitution of Cambodia". 21 September 1993. สืบค้นเมื่อ 2 July 2014.
- ↑ Samean, Yun (15 October 2004). "Throne Council Selects Sihamoni to be the Next King". The Cambodia Daily. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-08. สืบค้นเมื่อ 2 July 2014.
- ↑ ข้อผิดพลาด Lua: bad argument #2 to 'formatDate': invalid timestamp '1 มกราคม'
- ↑ ข้อผิดพลาด Lua: bad argument #2 to 'formatDate': invalid timestamp '1 มกราคม', article 14