ข้ามไปเนื้อหา

มะแข่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Zanthozylum limonella)
มะแข่น
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
ไม่ได้จัดลำดับ: Angiosperms
ไม่ได้จัดลำดับ: Eudicots
ไม่ได้จัดลำดับ: Rosids
อันดับ: Sapindales
วงศ์: Rutaceae
สกุล: Zanthoxylum
สปีชีส์: Z.  limonella
ชื่อทวินาม
Zanthoxylum limonella
(Dennst.) Alston

มะแข่น (ชื่อวิทยาศาสตร์: Zanthoxylum limonella Alston) ชื่อพื้นเมืองอื่น ๆ คือ มะกรูดตาพราหมณ์ (นครราชสีมา); กำจัดต้น, พริกหอม, หมากมาศ (กรุงเทพฯ); มะข่วง, มะแขว่น, บ่าแข่น (ภาคเหนือ); มะแข่น (ไทสิบสองปันนา); มะแขว่น (ลาว); ลูกระมาศ (ภาคกลาง); หมักข่วง (แม่ฮ่องสอน); มะเข่น, มะแข่สะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)[1] (ไทยถิ่นเหนือ: ) เป็นพืชสมุนไพรสกุลเดียวกับพริกไทยเสฉวน (Sichuan pepper) ผลและใบใช้เป็นเครื่องเทศชูรสอาหาร โดยผลใช้ผลสดหรือผลแห้งหรือทั้งสองอย่าง แล้วแต่ชนิดอาหาร เช่น ลาบ หลู้ แกง และอาหารพื้นเมืองและอาหารท้องถิ่น เช่น ตำหวาย หลามบอน ตำน้ำพริก ฯลฯ มะแข่นมีรสชาติเผ็ด กลิ่นฉุนแต่หอม มีสรรพคุณทางยาคือสามารถแก้หวัดได้

ต้นและกิ่งเป็นหนาม ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย 6–8 คู่ ก้านใบสีแดง ใบย่อยรูปไข่หรือรูปรี ปลายแหลม ต้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้จะมีอายุตั้งแต่ 3–15 ปี ผลค่อนข้างกลมผลเล็ก ๆ ขนาดผลพริกไทย ผิวขรุขระ สีเขียว มีกลิ่นฉุน คล้ายกลิ่นเมล็ดผักชียี่หร่า ผลแก่เปลือกหุ้มเมล็ดสี แดง แก่จัดสีดำ ออกผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม เมล็ดกลม ๆ ดำเป็นมัน ใช้เปลือกผลผสมชูรสอาหาร ใช้รากและเนื้อไม้ เป็นยาขับลมในลำไส้ ลดความดัน เป็นยาขับโลหิตระดูของสตรี[2] ผลเป็นยาบำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต บำรุงธาตุ[3] พบมากหรือปลูกมากในเขตพื้นที่ หมู่บ้านผาสิงห์ บ้านผาหลัก บ้านปางส้าน บ้านยอด ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน

เทศกาล

[แก้]

มะแข่นถือได้ว่าเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของตำบลยอด ทางเทศบาลตำบลยอดจะมีการจัดงาน "วันมะแข่นหอมรสดี ชมวิถีชนเผ่า" ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะจัดในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ในงานจะมีการออกร้านแสดงสินค้าพื้นเมือง และสินค้าที่แสดงถึงภูมิปัญญาชาวบ้านในตำบล ชมการแห่ขบวนรถบุปผชาติ การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การประกวดธิดามะแข่น ร่วมชิมอาหารพื้นเมืองที่มีมะแข่นเป็นส่วนประกอบฟรี การเลี้ยงรับรองแขกผู้มีเกียรติแบบขันโตก และพบกับการแสดงมหรสพอีกมากมาย โดยงาน "วันมะแข่นหอมรสดี ชมวิถีชนเผ่า" ถือว่าเป็นอีกงานประเพณีสำคัญ ที่ได้รับการบรรจุอยู่ในปฏิทินท่องเที่ยวของจังหวัดน่าน[4]

อ้างอิง

[แก้]
  1. http://eherb.hrdi.or.th/search_result_details.php?herbariumID=506&name=%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%2C%20%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%87%20%2C%20%E0%B8%A1%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%99
  2. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-07-22. สืบค้นเมื่อ 2010-08-31.
  3. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-10-12. สืบค้นเมื่อ 2010-08-31.
  4. https://www.facebook.com/262034127166455/photos/a.590921857611012.1073741865.262034127166455/590922857610912/