TW งูไฮดรา
TW งูไฮดรา เป็นดาวฤกษ์ชนิด ที วัว ซึ่งอยู่ห่างจากโลกไปประมาณ 176 ปีแสง [1] อยู่ในกลุ่มดาวงูไฮดรา มีจานดาวเคราะห์ก่อนเกิดซึ่งกำลังก่อตัวเป็นดาวเคราะห์
ภาพรวม
[แก้]TW งูไฮดราเป็นดาวที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.08 เท่าของดวงอาทิตย์ และมีมวล 0.7 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งถือว่าความหนาแน่นต่ำกว่าเล็กน้อย กำลังส่องสว่างอยู่ที่ประมาณหนึ่งในห้าของดวงอาทิตย์ การจำแนกสเปกตรัมอยู่ในประเภท K6Ve[1] แม้ว่าในการจำแนกสเปกตรัมจะระบุว่าเป็นดาวแคระส้ม แต่แท้จริงแล้วจัดประเภทเป็นดาวฤกษ์ชนิด ที วัว ซึ่งอยู่ในระยะก่อนเกิดของดาวในแถบลำดับหลัก [1] อุณหภูมิพื้นผิวต่ำถึง 3600 K
นอกจากนี้ดาวดวงนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของกระจุกดาว TW Hydrae Association ซึ่งประกอบไปด้วยดาวอายุน้อยประมาณ 10 ดวง ซึ่งรวมไปถึง TW งูไฮดรา ซึ่งเป็นที่มาของชื่อกระจุกดาวนี้ด้วย [2] [3]
จานดาวเคราะห์ก่อนเกิด
[แก้]TW งูไฮดราเป็นดาวที่มีอายุน้อยมาก อายุเพียง 8 ล้านปี ดังนั้นรอบๆดาวนี้จึงมีจานดาวเคราะห์ก่อนเกิด ซึ่งมีมวลประมาณ 50 เท่าของดาวพฤหัสบดี เมื่อพิจารณาจากอายุแล้วยังคงเหลือฝุ่นจำนวนมากที่สามารถใช้เป็นวัสดุสำหรับดาวเคราะห์ได้ [4] จานฝุ่นนี้แผ่อยู่ในระยะรัศมีอย่างน้อยประมาณ 6 พันล้าน กม. (40 au) ไปจนถึงที่รัศมีประมาณ 33 พันล้านกม. (220 au) จากการสังเกตโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ในช่วงความยาวคลื่น 0.5 ถึง 2.22 ไมโครเมตรใน ปี ค.ศ. 2013 เปิดเผยว่ามีช่องว่างขนาดประมาณ 3 พันล้านกิโลเมตร (20 au) ที่รัศมีประมาณ 12 พันล้านกิโลเมตร (80 au) จากศูนย์กลาง ซึ่งเชื่อว่าเกิดขึ้นโดยผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ ที่ก่อตัวขึ้นในวงโคจรนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการค้นพบช่องว่างของแผ่นจานฝุ่นในระยะดังกล่าวในดวงดาวมวลน้อยเช่นนี้
ในปี ค.ศ. 2016 ได้มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบหนึ่งดวง[5] ซึ่งมีมวลมากกว่าดาวเนปจูน เล็กน้อย อยู่ห่างจากตัวดาวฤกษ์ไป 22 au
ดาวเคราะห์ (ตามลำดับจากดาว) |
มวล | กึ่งแกนเอก (AU) |
คาบการโคจร (วัน) |
ความเยื้องศูนย์กลาง | ความเอียงของวงโคจร | รัศมี |
---|---|---|---|---|---|---|
b | 23.72 M⊕ | 22 | — | — | — | ~4.25 R⊕ |
จานรอบดาวฤกษ์ | — AU | — | — | |||
จานรอบดาวฤกษ์ | — AU | — | — |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 "V* TW Hya -- T Tau-type Star". SIMBAD Astronomical Database. CDS. สืบค้นเมื่อ 2019-07-04.
- ↑ A Moving Cluster Distance to the Exoplanet 2M1207 B in the TW Hya Association arXiv
- ↑ うみへび座TWアソシエーション AstroArts
- ↑ Herschel Finds Past-Prime Star May Be Making Planets NASA
- ↑ Astronomers discover signs of giant planet being born in star's dust cloud INDEPENDENT
- ↑ A Gap with a Deficit of Large Grains in the protoplanetary disk around TW Hya arXiv