คดีเรนโบว์วอร์ริเออร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Rainbow Warrior Case)

คดีเรนโบว์วอร์ริเออร์ (อังกฤษ: Rainbow Warrior Case) เป็นข้อพิพาทระหว่างประเทศนิวซีแลนด์กับประเทศฝรั่งเศสที่เป็นผลพวงมาจากการจมเรือ เรนโบว์วอร์ริเออร์ คดีนี้ได้คาเบียร์ เปเรซ เด กูเอยาร์ (Javier Pérez de Cuéllar) เลขาธิการสหประชาชาติ มาเป็นอนุญาโตตุลาการในปี ค.ศ. 1986 และกลายเป็นหัวข้อสำคัญในการศึกษาเรื่องความรับผิดชอบของรัฐในกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง

ภูมิหลัง[แก้]

วันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1985 หน่วยความมั่นคงทางทหารแห่งฝรั่งเศส (French military security service) ส่งจารชนไปจมเรือของกรีนพีซอันขึ้นทะเบียนในประเทศอังกฤษ ชื่อ เรนโบว์วอร์ริเออร์ ขณะเทียบท่าออกแลนด์ กรีนพีซเตรียมใช้เรือลำดังกล่าวเดินทางไปขัดขวางการทดลองนิวเคลียร์ของประเทศฝรั่งเศสที่เฟรนช์โปลินีเซีย ต่อมา ประเทศนิวซีแลนด์จับและดำเนินคดีสมาชิกสองคนของกองทหารลับของประเทศฝรั่งเศส

ผลทางคดีความ[แก้]

หลังจากประเทศฝรั่งเศสและประเทศนิวซีแลนด์ประจันหน้าทางการทูตกันพักใหญ่ โดยมีประเด็นเบื้องต้นเป็นการเรียกค่าปฏิกรรมและการปฏิบัติต่อจารชนที่ถูกจับ รัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ตกลงจะให้คาเบียร์ เปเรซ เด กูเอยาร์ เลขาธิการสหประชาชาติ มาเป็นอนุญาโตตุลาการชำระความของพวกตน กูเอยาร์มีคำสั่งซึ่งมีผลผูกพันในวันที่ 6 กรกฎาคม ค.ศ. 1986

คดีความ[แก้]

แม้ว่าอรรถคดีของรัฐฝรั่งเศสจะไม่นับเป็นภัยคุกคามต่อ "ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงระหว่างประเทศ" ตามความในกฎบัตรสหประชาชาติ เพราะมีเป้าหมายและผลกระทบอันจำกัด แต่ก็ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดในระดับระหว่างประเทศ เพราะประกอบด้วยการละเมิดอำนาจอธิปไตยและการจารกรรม (ถึงแม้ว่าการจารกรรมจะไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายระหว่างประเทศก็ตาม) ประเทศฝรั่งเศสได้มีบันทึกถึงเลขาธิการสหประชาชาติเพื่อโต้แย้งว่า กรีนพีซต่างหากที่กระทำการอันเป็นปรปักษ์ต่อและล่วงล้ำเข้ามาโดยมิชอบด้วยกฎหมายซึ่งดินแดนฝรั่งเศสรอบ ๆ ถิ่วแถวทดลองนิวเคลียร์ และประเทศนิวซีแลนด์ก็สนับสนุนการกระทำนี้อยู่เบื้องหลัง อนุญาโตตุลาการยกข้อโต้แย้งเหล่านี้ เพราะการกระทำของกรีนพีซไม่อาจจัดว่าเป็นการใช้กำลังตามกฎหมายระหว่างประเทศได้เลย

ความรับผิดของรัฐ[แก้]

ตามปรกติ เมื่อรัฐหนึ่งส่งตัวแทนของตนไปกระทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือกฎหมายท้องถิ่น ณ รัฐอื่น ก็ตกเป็นพนักงานของรัฐแรกนั้นที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำและใช้ค่าปฏิกรรม และตัวแทนของรัฐเช่นว่านี้จะได้รับความคุ้มกันไม่ต้องขึ้นศาลท้องถิ่น กระนั้น ประเทศนิวซีแลนด์ก็เรียกให้ประเทศฝรั่งเศสออกมาหักหาญกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และจัดการไต่สวนจารชนฝรั่งเศสด้วยกฎหมายภายในของตนด้วย ตามกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศแล้ว ประเทศนิวซีแลนด์จะไต่สวนเช่นนี้ได้หรือไม่ ยังไม่แน่ชัด แต่ตามลักษณะในการจารกรรมของประเทศฝรั่งเศสแล้ว ประเทศนิวซีแลนด์ชอบจะไต่สวนจารชนทั้งสองคนในฐานะที่เป็นเชลย แม้ขณะนั้นไม่มีภาวะสงครามก็ตาม อย่างไรก็ดี เชลยทั้งคู่จะได้รับสิทธิที่เกี่ยวข้องติดตามมาเพราะการนี้ กล่าวคือ ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว แต่ความรับผิดจะตกอยู่แก่ประเทศฝรั่งเศสซึ่งใช้พวกเขามาปฏิบัติหน้าที่ คดีในลักษณะเดียวกันนี้ เป็นต้นว่า คดีแคโรลีน (Caroline affair) ที่มีการวินิจฉัยเรื่องความรับผิดชอบของรัฐกับความรับผิดชอบของตัวแทนของรัฐ

คำสั่ง[แก้]

ประเทศฝรั่งเศสยอมรับผิดชอบ แต่ขอให้คนของตนได้กลับประเทศ ประเทศนิวซีแลนด์ตกลง แต่มีเงื่อนไขว่า จารชนทั้งสองคนของประเทศฝรั่งเศสต้องรับโทษที่เหลือ คือ จำคุกอีกสามปี ตามคำพิพากษาของศาลนิวซีแลนด์จนเสร็จก่อน เลขาธิการสหประชาชาติเข้ามาไกล่เกลี่ย จารชนทั้งคู่จึงถูกจำไว้ที่เกาะอาโอ (Hao) อันเป็นดินแดนฝรั่งเศสและเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือฝรั่งเศส หลังจากติดคุกที่เกาะดังกล่าวแล้วสองปี ประเทศฝรั่งเศสปล่อยคนทั้งสองและให้กลับแผ่นดินใหญ่ได้เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1988

ส่วนเรื่องชดใช้ความเสียหายนั้น เบื้องต้น ประเทศฝรั่งเศสมีคำขอโทษอย่างเป็นทางการและยอมรับว่าตนทำละเมิดตามกฎหมายระหว่างประเทศ และเลขาธิการสหประชาชาติสั่งให้ประเทศฝรั่งเศสใช้ค่าปฏิกรรมจำนวนเจ็ดล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ประเทศนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ ประเทศฝรั่งเศสยังใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ครอบครัวผู้เสียหายจากการจมเรือและแก่กรีนพีซเป็นการส่วนตัวด้วย

ผลที่ตามมา[แก้]

คดีนี้ชี้ให้ชาติทั้งหลายเห็นว่า หลักกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องการไม่ก้าวก่ายกันนั้นมีอยู่ และว่า รัฐทั้งหลายจักต้องรับผิดเมื่อละเมิดหลักกฎหมายนี้ คดีดังกล่าวยังได้เป็นหัวข้อที่นิยมศึกษากันเกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐ ความรับผิดชอบของเอกชน การใช้กำลัง และการชดใช้ความเสียหาย แต่เพราะมีข้อเท็จจริงว่า คดีได้รับการชำระโดยคนคนเดียว คือ เลขาธิการสหประชาชาติ ไม่ใช่คณะตุลาการระหว่างประเทศ บางคนจึงไม่ค่อยถือว่าเป็นเรื่องของกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้ชำระโดยคณะตุลาการระหว่างประเทศนั้น ก็ด้วยประเทศนิวซีแลนด์มิอาจมีคำขอไปยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ เพราะสมัยนั้น (จนถึงบัดนี้) ประเทศฝรั่งเศสไม่ยอมรับว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจบังคับคดี[1]

วัฒนธรรมร่วมสมัย[แก้]

ในปี ค.ศ. 1992 ประเทศนิวซีแลนด์สร้างและฉายภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่อง เดอะเรนโบว์วอร์ริเออร์ (The Rainbow Warrior) จากคดีนี้ นำแสดงโดยแซม นีลล์ (Sam Neill) และ จอน วอยต์ (Jon Voight)[2]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "Declarations Recognizing the Jurisdiction of the Court as Compulsory". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-29. สืบค้นเมื่อ 14 March 2011.
  2. The Sam Neill Home Page