ปลาอมไข่ครีบยาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Pterapogon kauderni)
ปลาอมไข่ครีบยาว
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Apogonidae
สกุล: Pterapogon
Koumans, 1933[2]
สปีชีส์: P.  kauderni
ชื่อทวินาม
Pterapogon kauderni
Koumans, 1933

ปลาอมไข่ครีบยาว (อังกฤษ: Banggai cardinalfish, Longfin cardinalfish, Kaudern's cardinal; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pterapogon kauderni) เป็นปลาทะเลขนาดเล็กชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาอมไข่ (Apogonidae) ถือเป็นเพียงชนิดเดียวเท่านั้นที่อยู่ในสกุล Pterapogon[2]

มีครีบหลังแบ่งออกเป็น 2 ส่วนจากกันชัดเจนและมีครีบที่ยาวมาก มีก้านครีบแข็ง 8 ก้าน ก้านครีบอ่อน 14 ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง 2 ก้าน และก้านครีบอ่อน 13 ก้าน ครีบหางยาวเป็นรูปส้อมชัดเจน ลำตัวมีสีขาวเงิน มีแถบสีดำพาดขวางผ่านลำตัว 3 แถบ คือ ที่ตา, ที่ครีบหลังอันที่ 1 และครีบหลังอันที่ 2 มีแถบดำตามความยาวของครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางทั้งด้านบนและด้านล่าง มีจุดสีขาวกระจายทั่วลำตัวและครีบต่าง ๆ ยกเว้นครีบอก ที่มีลักษณะโปร่งแสง การเกิดจุดสีขาวของปลานี้จะแตกต่างกันไปเป็นเอกลักษณะเฉพาะตัว

จัดเป็นปลาขนาดเล็กมีขนาดความยาวเต็มที่ 8 เซนติเมตร ขนาดโดยเฉลี่ยทั่วไป คือ 4-5 เซนติเมตร

เป็นปลาที่อยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ไม่กี่ตัวจนถึงหลายร้อยตัวในแนวปะการังร่วมกับสิ่งมีชีวิตอย่างอื่น ปลาในวัยรุ่นมักหลบซ่อนอยู่ตามหญ้าทะเล, สาหร่าย, เม่นทะเล, ดาวขนนก, ปะการัง, ปะการังอ่อน โดยใช้เป็นที่ซ่อนภัยจากผู้ล่า อาศัยอยู่ในความลึกตั้งแต่ 0.5-6 เมตร แต่มักพบในความลึกประมาณ 1.5-2.5 เมตร ออกหากินในเวลากลางวัน โดยกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร เช่น แพลงก์ตอน, ครัสเตเชียนขนาดเล็ก เป็นต้น

พบกระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในทะเลแถบอินโด-แปซิฟิก แต่ไม่พบในน่านน้ำไทย แต่จะพบชุกชุมที่เกาะบังไก ประเทศอินโดนีเซีย

ปลาอมไข่ครีบยาว เป็นปลาที่แพร่ขยายพันธุ์ได้ง่ายและไวมาก โดยการสำรวจเมื่อปี ค.ศ. 2005 พบมีประชากรอยู่ประมาณ 2.4 ล้านตัว แต่ถูกจับไปเลี้ยงเป็นปลาสวยงามถึงปีละ 700,000-900,000 ตัวต่อปี โดยอายุขัยโดยเฉลี่ยอยู่ได้ราว 2.5 ปี โดยพบที่อายุยืนสูงสุดถึง 4-5 ปี

เป็นปลาที่ปัจจุบันเพาะขยายพันธุ์ได้แล้วในที่เลี้ยง โดยปลาตัวผู้จะอมใข่และกระทั่งลูกปลาฟักเป็นตัว และพัฒนากลายมาเป็นลูกปลา ซึ่งพ่อปลาจะดูแลลูกปลาจนกว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรงที่จะเอาตัวรอด จึงปล่อยไป แต่ปลาที่มีขายกันในตลาดปลาสวยงามส่วนใหญ่ ยังเป็นปลาที่จับมาจากแหล่งน้ำในธรรมชาติ[3] [4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Vagelli, A. & Wabnitz, C. (2007). Pterapogon kauderni. In: IUCN 2007. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 95 January 2010.
  2. 2.0 2.1 Mabuchi, K.; Fraser, T.H.; Song, H.; Azuma, Y.; Nishida, M. (2014). "Revision of the systematics of the cardinalfishes (Percomorpha: Apogonidae) based on molecular analyses and comparative reevaluation of morphological characters" (PDF). Zootaxa. 3846 (2): 151–203. doi:10.11646/zootaxa.3846.2.1.
  3. การเพาะเลี้ยงปลาอมไข่ครีบยาว
  4. นันทวัฒน์ โชติสุวรรณ, ปลาทะเลสวยงาม ที่เพาะพันธุ์ได้ ในประเทศไทย คอลัมน์ Blue Planet หน้า 138 นิตยสาร Aquarium Biz ปีที่ 2 ฉบับที่ 21: มีนาคม 2012

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pterapogon kauderni ที่วิกิสปีชีส์