ภาพลวงตาปอนโซ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Ponzo illusion)
ตัวอย่างหนึ่งของภาพลวงตาปอนโซ จริง ๆ แล้ว เส้นสีเหลืองสองเส้นมีขนาดเท่ากัน

ภาพลวงตาปอนโซ (อังกฤษ: Ponzo illusion) เป็นภาพลวงตาเชิงเรขาคณิต ที่ค้นพบโดยนักจิตวิทยาชาวอิตาลีชื่อว่า มาริโอ ปอนโซ (ค.ศ. 1882-1960) ในปี ค.ศ. 1911 (พ.ศ. 2456)[1] เขาเสนอว่า ใจมนุษย์ตัดสินขนาดของวัตถุโดยอาศัยพื้นหลัง เขาจึงสนับสนุนความคิดนี้โดยวาดเส้นตรงยาวเท่ากันสองเส้น ผ่านเส้นสองเส้นที่เบนเข้าหากัน โดยมีลักษณะคล้ายกับทางรถไฟ ซึ่งทำให้เส้นด้านบนจะดูยาวกว่าเส้นด้านล่างเพราะว่า เราแปลผลเส้นที่เบนเข้าหากันตามหลักทัศนมิติว่า เป็นเส้นขนานที่ถอยห่างออกไปเรื่อย ๆ ตามระยะทาง ดังนั้นเราจึงแปลผลเหมือนกับว่า เส้นบนนั้นอยู่ไกลกว่า และจึงเห็นมันว่ายาวกว่า โดยในมุมมอง 3 มิติแล้ว วัตถุที่ไกลกว่าต้องมีความยาวมากกว่าวัตถุที่ใกล้กว่า เพื่อที่จะมีความยาวเท่ากันปรากฏบนเรตินา

วิธีการอธิบายภาพลวงตานี้เรียกว่า สมมุติฐานทัศนมิติ (perspective hypothesis) ซึ่งกล่าวว่า ทัศนมิติที่เห็นในรูปเกิดขึ้นจากเส้นสองเส้นที่เบนหาเข้ากันซึ่งปกติมีความสัมพันธ์กับระยะทาง ซึ่งก็คือ เส้นเอียงสองเส้นดูเหมือนจะวิ่งไปบรรจบกันที่เส้นขอบฟ้าหรือที่จุดสุดสายตา ที่อยู่ไกลออกไป

วิธีการอธิบายอีกวิธีหนึ่งเรียกว่า สมมุติฐานกรอบภาพ (framing-effects hypothesis) ซึ่งกล่าวว่า ช่องระหว่างเส้นแนวนอนกับเส้นเอียง (แนวตั้ง) ที่เป็นกรอบอาจจะเป็นตัวกำหนด หรือมีส่วนในการกำหนดระดับความบิดเบือนจากความเป็นจริง ของความยาวของเส้นแนวนอนสองเส้น

โดยตัวอย่างหนึ่งของภาพลวงตาปอนโซ คือ ภาพลวงตาโดยพระจันทร์ คือการเห็นพระจันทร์พระอาทิตย์เป็นต้นที่ใกล้ ๆ เส้นขอบฟ้าใหญ่กว่าที่เห็นกลางท้องฟ้า โดยที่วัตถุปรากฏ "ไกลออกไป" (เพราะอยู่ที่ขอบฟ้า) จะต้องใหญ่กว่าวัตถุที่อยู่ข้างบน[2]

ภาพลวงตาเช่นนี้ก็เกิดขึ้นด้วยสำหรับผู้ที่ใช้อุปกรณ์ที่ส่งข้อมูลการเห็นโดยสัมผัสหรือโดยเสียง ซึ่งบุคคลนั้นต้องเคยมีการเห็นทางตาจริง ๆ มาก่อนเท่านั้น เพราะว่า คนที่พิการทางสายตาโดยสมบูรณ์มาแต่กำเนิดจะไม่ประสบกับปรากฏการณ์นี้

มีการใช้ภาพลวงตาปอนโซเพื่อแสดงการแยกออกจากกันระหว่างวิถีประสาทการเห็นเพื่อการรับรู้ และวิถีประสาทการเห็นเพื่อการเคลื่อนไหว (ดูสมมุติฐานทางสัญญาณสองทาง) กล่าวคือ การปรับเปลี่ยนขนาดของมือเพื่อที่จะยื่นออกไปจับวัตถุที่อยู่ในภาพลวงตาปอนโซไม่ปรากฏว่าเกิดการลวง[3] กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อยื่นมือไปจับวัตถุ การอ้านิ้วชี้และนิ้วโป้งออก จะเป็นไปตามขนาดของวัตถุจริง ๆ ไม่ใช่ขนาดวัตถุที่ปรากฏในการรับรู้ โดยระบบสายตาเพื่อการเคลื่อนไหวไม่ถูกลวง ในขณะที่ระบบสายตาเพื่อการรับรู้ถูกลวง

ความแตกต่างในความเป็นอยู่ในชีวิตทำให้เกิดความไวต่อภาพลวงตาปอนโซในระดับต่าง ๆ กัน คือ คนชนบทและผู้ที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกปรากฏว่า เกิดการลวงในระดับที่ต่ำกว่า[4] งานวิจัยในปี ค.ศ. 2011 เสนอว่า อิทธิพลของภาพลวงตาปอนโซ และของภาพลวงตาเอ็บบิงก์เฮาส์ อาจจะมีสหสัมพันธ์เชิงผกผันกับขนาดของคอร์เทกซ์สายตาปฐมภูมิ[5] โดยยิ่งขนาดของคอร์เทกซ์ใหญ่เท่าไร บุคคลนั้นก็ถูกลวงน้อยลงเท่านั้น

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. Ponzo, M. (1911). "Intorno ad alcune illusioni nel campo delle sensazioni tattili sull'illusione di Aristotele e fenomeni analoghi". Archives Italiennes de Biologie.
  2. "Why does the Sun appear larger on the horizon than overhead?". Astronomy Department at Cornell University. สืบค้นเมื่อ 2012-10-02.
  3. Ganel T, Tanzer M, Goodale MA. (2008). "A double dissociation between action and perception in the context of visual illusions: opposite effects of real and illusory size". Psych. Sci. 19 (3): 221–5. doi:10.1111/j.1467-9280.2008.02071.x. PMID 18315792.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. Shiraev, E.; D. (2007). Cross-Cultural Psychology (3rd ed.). Pearson Education, Inc. p. 110.
  5. D Samuel Schwarzkopf, Chen Song & Geraint Rees (January 2011). "The surface area of human V1 predicts the subjective experience of object size". Nature Neuroscience. 14 (1): 28–30. doi:10.1038/nn.2706. PMC 3012031. PMID 21131954.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]