ข้ามไปเนื้อหา

ปอล เซซาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Paul Cezanne)
ปอล เซซาน
ปอล เซซาน ประมาณ ค.ศ. 1861
เกิด19 มกราคม ค.ศ. 1839(1839-01-19)
แอ็กซ็องพรอว็องส์ ฝรั่งเศส
เสียชีวิต22 ตุลาคม ค.ศ. 1906(1906-10-22) (67 ปี)
แอ็กซ็องพรอว็องส์, ฝรั่งเศส
สัญชาติฝรั่งเศส
การศึกษาAcadémie Suisse
มหาวิทยาลัยแอ็ก-มาร์แซย์
มีชื่อเสียงจากจิตรกรรม
ผลงานเด่นMont Sainte-Victoire (1885–1906)
Apothéose de Delacroix (1890–1894)
Rideau, Cruchon et Compotier (1893–94)
The Card Players (1890–1895)
The Bathers (1898–1905)
ขบวนการลัทธิประทับใจ, ลัทธิประทับใจยุคหลัง
รางวัลรางวัลเซซาน

ปอล เซซาน (ฝรั่งเศส: Paul Cézanne; 19 มกราคม ค.ศ. 1839 – 22 ตุลาคม ค.ศ. 1906) จิตรกรชาวฝรั่งเศสในลัทธิประทับใจยุคหลัง สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพสีน้ำมัน งานของเซซานเป็นงานที่วางรากฐานสำหรับการเปลี่ยนแปลงจากศิลปะในลัทธิประทับใจของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ไปสู่ศิลปะบาศกนิยมของคริสต์ศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นแนวที่ทั้งอ็องรี มาติส และปาโบล ปีกัสโซ ยกย่องเซซานว่าเป็น "the father of us all"

ประวัติและชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ต้นกำเนิด

[แก้]

ปอล เซซาน เกิดเมื่อวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1839 (พ.ศ. 2382) ในครอบครัวที่มั่งคั่งร่ำรวยในเมืองแอ็กซ็องพรอว็องส์ ประเทศฝรั่งเศส บิดาของเขาประสบความสำเร็จจากธุรกิจด้านการธนาคารที่ความร่ำรวย ส่วนแม่ของเขานั้นก็เป็นที่จิตใจดีของสนับสนุนงานของลูกชาย พ่อของเซซานไม่ได้ปรารถนาให้เขาเป็นจิตรกร ทำให้เซซานต้องไปเรียนกฎหมายอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเหมือนแอดการ์ เดอกา ในปี ค.ศ. 1852 เซซานได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยบูร์บง (Collège Bourbon) ที่นั่นเขาได้พบกับเอมีล ซอลา (Émile Zola) ผู้ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นนักเขียนชั้นนำของฝรั่งเศส พวกเขาเรียนหนังสือและเติบโตมาด้วยกัน ทั้งสองจึงเป็นเพื่อนที่รู้ใจของอีกฝ่ายเป็นอย่างดี[1]

เส้นทางชีวิตการเป็นศิลปิน

[แก้]

ค้นหาตัวเองในวัยเด็ก

[แก้]

เซซานมีความสนใจเกี่ยวกับบทกวีและงานศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ๆ เขาได้เรียนวาดเขียนทั้งที่ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ตลอดจนเรียนที่โรงเรียนศิลปะของเมืองซึ่งสอนให้ฟรี แต่รางวัลในการเขียนภาพซึ่งทางวิทยาลัยบูร์บงจัดให้มีขึ้นนั้น เซซานไม่เคยได้ ผู้ที่ได้รับรางวัลคือซอลานั่นเอง รางวัลที่เซซานเคยได้รับจากวิทยาลัยแห่งนี้คือคณิตศาสตร์ ภาษาละติน และกรีก และแม้ว่าเด็กหนุ่มทั้งสองคนนี้จะสนใจในการเขียนภาพ แต่ก็คิดอยู่เสมอว่าในวันข้างหน้าตนจะดำเนินอาชีพเป็นกวี[2]

เมื่อเติบโตขึ้น เซซานก็เริ่มเขียนบทกวี ซึ่งบางครั้งเขาก็เขียนภาพประกอบบทกวีของเขาด้วยแล้วก็ส่งไปให้ซอลาดู ภาพชนิดนี้ยังมีเหลืออยู่ภาพหนึ่งแสดงถึงคนในครอบครัวกำลังนั่งล้อมวงกินอาหารที่ประกอบด้วยหัวคนซึ่งถูกตัดออกมา โดยมีเด็ก ๆ กำลังร้องไห้ขออาหารอีก นี่ก็เป็นบทกวีและภาพที่มีแนวความคิดประหลาด ๆ อยู่เบื้องหลัง อันเป็นสิ่งที่จะได้เห็นต่อไปอีกในการเขียนภาพของเซซาน[3]

ต่อมา ซอลาได้ย้ายไปเรียนหนังสืออยู่ที่ปารีส เมื่อย้ายไปแล้วซอลาก็ชักชวนให้เซซานขออนุญาตพ่อมาเรียนเขียนภาพที่ปารีสดูบ้าง แต่ทว่าเซซานได้เข้าเรียนที่โรงเรียนกฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งเมืองแอ็กซ็องพรอว็องส์ไปเสียแล้ว เขาได้เขียนจดหมายไปบอกแก่ซอลา ความว่า "อนิจจา ฉันต้องเรียนกฎหมายเสียแล้ว จะว่าเลือกก็ไม่ถูกนัก เป็นการถูกบังคับให้เรียนมากกว่า" เซซานพบว่าการเรียนกฎหมายนั้นเป็นสิ่งที่เหลือทนสำหรับเขา และได้บอกไปในจดหมายถึงซอลา ดังนั้นสหายผู้นี้จึงบอกเขาให้เลือกเอาว่าจะเป็นทนายความหรือจิตรกรดี เซซานได้ใช้เวลาเรียนกฎหมายอยู่สองปีทั้ง ๆ ที่ไม่เต็มใจเลย เรียนไปเพียงแค่เพื่อตามใจพ่อของเขาเท่านั้นเอง ในที่สุดเมื่อรู้สึกว่าจะฝืนใจต่อไปไม่ไหว เขาก็เลยตัดสินใจว่าตนควรจะดำเนินอาชีพเป็นจิตรกรดีกว่า[4]

ในระยะนั้น เซซานได้รับอนุญาตจากพ่อให้ไปเรียนเขียนภาพได้ในยามว่างจากการเรียนกฎหมาย และได้จัดให้เขามีห้องเขียนภาพขึ้นที่ภายในบ้าน ภาพที่เซซานเขียนในระยะนี้มีชื่อว่า "Kiss of the Muse" ซึ่งแม่ของเขาเมื่อได้เห็นภาพนี้แล้วก็พอใจมาก และบางทีอาจจะเป็นเพราะภาพนี้เองที่ทำให้พ่อของเขาเห็นใจและยอมให้เขาไปเรียนต่อ ที่ปารีสนั้น เซซานใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับซอลา และเขาก็ได้ไปลงทะเบียนเรียนที่สถาบันสวิส (Académie Suisse) และที่นั่นเองก็เป็นที่ที่เขาได้รู้จักกับที่ปรึกษาของเขา กามีย์ ปีซาโร[5]

เมื่ออยู่ปารีสได้ระยะหนึ่ง เซซานก็เริ่มสงสัยในความสามารถของตนที่จะเป็นจิตรกรเนื่องจากเขาได้ลองเขียนภาพของซอลาดูหลายครั้งแต่ก็ไม่เป็นผลเพราะเขียนได้ไม่เหมือน ดังนั้นเขาจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเพื่อหาลู่ทางอื่นแทนอาชีพจิตรกร[6]

เมื่อกลับมาอยู่บ้านได้ราวปีเศษ เซซานเข้าทำงานเป็นเสมียนในธนาคารของพ่อ แต่เขาก็รู้สึกเบื่อหน่ายและมิได้มีจิตใจมุ่งมั่นกับงานอันใดที่พ่อเขาอยากให้ทำเลย แต่พ่อของเขามองว่าในฐานะที่จะเป็นผู้ได้รับมรดกของบ้านและธุรกิจของครอบครัว เซซานควรจะต้องเรียนรู้งานไว้ตามสมควร แต่เซซานก็ยังคงมีความสนใจในการกวีนิพนธ์และการเขียนภาพเป็นอย่างมาก และในที่สุดพ่อของเขาก็เห็นว่าลูกชายของตนคงมิสามารถทำงานแทนตนต่อไปได้ เขาจึงตัดสินใจส่งเซซานไปเรียนเขียนภาพที่ปารีสอีกครั้ง[7] ดังนั้นในปี ค.ศ. 1862 เซซานกลับไปที่ปารีสเพื่อทำงานเขียนภาพอีกครั้ง แต่ก็ยังคงล้มเหลวอยู่ เขาพลาดการสอบเข้าเอกอลเดโบซาร์ แต่อย่างไรก็ดีเขายังคงทำงานเขียนภาพต่อไประหว่างนั้นที่ไป ๆ มา ๆ ระหว่างกรุงปารีสกับเมืองแอ็กซ็องพรอว็องส์ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลงานของเขาไปยัง Salon jury ด้วย[8]

ในช่วงเวลาที่กลับไปอยู่ที่ปารีสนั้น เขาได้เป็นเพื่อนกับจิตรกรในลัทธิประทับใจคนอื่น ๆ เช่น โกลด มอแน, กามีย์ ปีซาโร ด้วย มากไปกว่านั้นเขายังได้มีโอกาสรู้จักกับออร์ต็องซ์ ฟีแก (Hortense Fiquet) ผู้ซึ่งจะเป็นภรรยาของเขาในอนาคตอีกด้วย[9] และพอเกิดสงครามปรัสเซีย เซซานและฟีแกก็พากันหลบหนีจากปารีสมายังเมืองแล็สตัก (L'Estaque) จนกระทั่งปี ค.ศ. 1871[10]

ช่วงกลางของชีวิต

[แก้]

ในปี ค.ศ. 1872 เซซานใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองปงตวซ ประเทศฝรั่งเศส กับฟีแก ภรรยาของเขาและลูกชายของเขา เซซานยังคงมีความกระตือรือร้นที่จะทำงานเขียนภาพต่อไป เขาได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการออกนั่งเขียนภาพข้างนอกกับกามีย์ ปีซาโร และที่ปงตวซนี่เองเซซานได้พบกับปอล โกแก็ง ผู้ซึ่งชื่นชมในงานของเซซานและยอมจ่ายให้เขา ดังนั้นในราวปี ค.ศ. 1872-1874 เซซานจึงย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านและทำงานให้กับโกแก็งที่เมืองโอแวร์ซูว์รวซ[11] ในขณะเดียวกันในปี ค.ศ. 1873 นั้น เซซานได้มีโอกาสพบกับฟินเซนต์ ฟัน โคค และในปี ค.ศ. 1874 เขาก็มีโอกาสนำผลงานของตนไปจัดแสดงที่งานแสดงผลงานของศิลปินกลุ่มลัทธิประทับใจ ในงานนั้นภาพของเซซานได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มศิลปินเป็นอย่างมาก แต่ถึงกระนั้นภาพของเซซานก็มีความแตกต่างจากศิลปินคนอื่น ๆ มากเช่นกัน การวางองค์ประกอบของเขาในขณะนั้นทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความใกล้เคียงกับงานของปีซาโร และในปี ค.ศ. 1877 เซซานก็ได้จัดงานแสดงผลงานของเขาเองโดยจัดแสดงทั้งหมด 16 ภาพ แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กลับมาหนักมาก จนเขาเสียกำลังใจไป แต่อย่างไรก็ดีเขาก็ยังคงทำงานเขียนภาพต่อในสตูดิโอของเขา[12]

ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1880 งานของเขาเริ่มออกห่างจากลักษณะของลัทธิประทับใจมากขึ้นไปทุกที แต่เขาก็ยังคงออกไปเขียนภาพทิวทัศน์อย่างสม่ำเสมอ ราวสิบปีให้หลังมานี้ เซซานพยายามส่งผลงานของเขาที่มีโครงสร้างตามแบบธรรมชาติเข้าร่วมนิทรรศการของ salon เสมอ แต่ก็ยังคงล้มเหลว (มีเพียงครั้งเดียวที่ได้ร่วมจัดแสดง) จนปี ค.ศ. 1886 พ่อของเขาได้เสียชีวิตและทิ้งมรดกไว้ให้กับเขาจำนวนหนึ่ง นั่นทำให้ปัญหาเรื่องการเงินของเขามีสภาพที่ดีขึ้นด้วย[13]

ชีวิตช่วงบั้นปลาย

[แก้]

ในราวเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1895 เซซานได้มีโอกาสจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาที่กรุงปารีสที่ซึ่งอ็องบรวซ วอลาร์ นักธุรกิจค้าศิลปะได้รวบรวมงานของเขามาจัดแสดง นับว่าเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ที่สาธารณชนได้เห็นงานของเขาและเริ่มตระหนักในอัจฉริยภาพของเขา ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1890 ผลงานของเขาถูกเป็นที่รู้จักในวงกว้างของยุโรป แต่เขาเป็นคนค่อนข้างขี้อายและไม่ค่อยมีสัมพันธ์ที่ดีกับศิลปินคนอื่น ๆ เท่าไรนัก[14] ต่อมาเซซานจึงย้ายกลับไปยังบ้านเกิดที่แอ็กซ็องพรอว็องส์เป็นการถาวร[15] ชีวิตของเขาจบลงอย่างน่าเศร้า เมื่อวันหนึ่งเขาได้ออกไปเขียนภาพและโดนพายุพัดกระหน่ำจนสะบักสะบอม แต่ก็ไม่วายเมื่อพอถึงเช้าวันรุ่งขึ้นเขาก็ยังคงออกไปเขียนภาพอีกและโดนพายุซ้ำ ด้วยอายุที่มากแล้วจึงทำให้เขาเสียชีวิตจากอาการปอดบวมอย่างกะทันหันโดยปราศจากบุตรและภรรยามาเหลียวแล[16]

แนวความคิดในการสร้างผลงาน

[แก้]

งานของเซซานแสดงถึงความเชี่ยวชาญทางการออกแบบ การวางองค์ประกอบ การใช้สี และการร่าง (draftsmanship) ฝึแปรงซ้ำ ๆ อ่อนไหว และลึกซึ้ง เป็นลักษณะเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเซซานโดยเฉพาะ เซซานจะใช้สีต่าง ๆ และใช้ฝีกแปรงสั้น ๆ และค่อยสร้างขึ้นจนซับซ้อนซึ่งเป็นทั้งการแสดงออกของสิ่งที่เห็นด้วยตาและเป็นรูปทรงนามธรรมของธรรมชาติในขณะเดียวกัน ภาพของเซซานแสดงให้เห็นถึงความจดจ่อในการศึกษาแบบที่วาดของเซซานเพื่อแสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนในการมองในสิ่งที่เห็น[17]

เซซานมีความเชื่อว่า การวาดเส้นกับสีไม่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างสิ้นเชิง เมื่อคุณระบายสีไปได้เท่าไร คุณก็วาดมันไปด้วยเท่านั้น ยิ่งสีประสานกันมากเท่าไร ภาพวาดก็จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น เมื่อสีมีความเข้มข้นในตัวเองมาก รูปทรงก็จะมีความสมบูรณ์มากขึ้น[18] เซซานได้ละทิ้งวิชาทัศนมิติเชิงเส้น (linear perspective) ที่เคยทำกันมา เขามุ่งเข้าหาความคิดใหม่ทางด้านสี ซึ่งเป็นวิชาทัศนียภาพอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างไปจากของเดิม คือ ให้สีเป็นผู้กำหนดความตื้นลึกหรือระยะใกล้ไกลแทนเส้น[19]

ในระยะหลัง ผลงานของเซซานมีแนวความคิดว่า โครงสร้างเรขาคณิตเป็นรากฐานของรูปทรงธรรมชาติทั้งมวล ดังคำกล่าวของเซซานที่เขียนไว้ในจดหมายถึงเอมีล แบร์นาร์ ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1907 ว่า "You must see in nature the cylinder, the sphere, the cone"[20] คำกล่าวนี้ได้ให้อิทธิพลต่อบาศกนิยมในเวลาต่อมา

ผลงานที่สำคัญ

[แก้]

ผลงานในช่วงที่ยังไม่มีแนวทางเป็นของตนเอง

[แก้]

ผลงานในช่วงวัยหนุ่ม

[แก้]
The Rape 1867

ผลงานที่เซซานวาดขึ้นในช่วงวัยหนุ่มสะท้อนให้เห็นถึงความเจ็บปวดวิตกกังวลต่อความปรารถนาที่มีต่อเพศตรงข้าม เขาได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมร่วมสมัยอย่างหนังสือ The Rese Requin ของเอมีล ซอลา และงานเขียนของเวโรเนเซ ผลงานที่สำคัญในช่วงนี้ประกอบด้วย จิตรกรรมชื่อ The Rape และ Orgy[21]

ผลงานที่ได้รับอิทธิพลจากการปฏิวัติของมาแน

[แก้]
A Modern Olympia 1873-1874

เซซานได้ศึกษาผลงานของจิตรกรชั้นครูอยู่เสมอ ครั้งที่เขาเดินทางสู่ปารีสในเวลานั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่ง เพราะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการศิลปะนั่นคือ การปฏิวัติของมาแน เมื่อได้มาเห็นจิตรกรรม "โอลิมเปีย" ของเอดัวร์ มาแน เซซานก็ได้ลงมือเขียนภาพ "โอลิมเปียสมัยใหม่" (A Modern Olympia) ในต้นคริสต์ทศวรรษ 1870[22] และผลงานชิ้นนี้ของเขาก็มีแนวทางคล้ายกับผลงานในช่วงวัยหนุ่มคือมีเนื้อหาเกี่ยวกับกามารมณ์ และผู้ชายผู้ซึ่งแต่งกายชุดดำใส่หมวกนั่งอยู่ในเงามืดสลัว เพ่งมองไปยังสตรีเปลือยในภาพนี้ก็คือเซซานนั่นเอง

ผลงานในช่วงที่มีแนวทางเป็นของตนเอง

[แก้]

จิตรกรรมหุ่นนิ่งกับรูปปั้นกามเทพ (Still Life with Plaster Cupid ค.ศ. 1895)

[แก้]
Still Life With Cupid 1895

จิตรกรรมหุ่นนิ่งของเซซานสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดของเขาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหุ่นนิ่งได้ให้โอกาสและอิสระแก่เขาในการที่จะเลือกสรรและจัดการกับรูปทรงของสิ่งของทั้งหลายตามที่ต้องการ[23]

เซซานจะเริ่มจัดหุ่นนิ่งวางลงบนผ้า แล้วนำผลไม้มาวางใกล้กันโดยจะใช้สีที่เป็นขั้วตรงข้ามมาตัดกัน เช่นสีแดงกับเขียว สีเหลืองกับน้ำเงิน จิตรกรรมชิ้นนี้มีความซับซ้อนของรูปทรงและองค์ประกอบมากที่สุดชิ้นหนึ่งในผลงานยุคหลังของเขา

ความโดดเด่นของงานจิตรกรรมชิ้นนี้คือความขัดแย้งระหว่างวัตถุต่อวัตถุ เช่นสัดส่วนของรูปปั้นกามเทพที่ถูกขยายใหญ่จนเกินจริง แอปเปิลที่อยู่บนพื้นมีขนาดใหญ่กว่าผลไม้ที่อยู่บนโต๊ะ ขาโต๊ะกับหัวหอมใหญ่ที่วางซ้อนกันอยู่ การจัดระนาบของพื้นที่สีแบนเรียบพื้นหลังดูขัดตาไม่เป็นไปตามความจริง

จิตรกรรมชุดภูเขาแซ็งต์-วิกตัวร์

[แก้]
Mont Sainte-Victoire 1904-1906

จิตรกรรมชุดภูเขาแซ็งต์-วิกตัวร์เป็นงานจิตรกรรมชุดที่เป็นงานชิ้นเอกของเซซาน เขาใช้เวลาในการสร้างผลงานชุดนี้อยู่หลายปีโดยเริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 มีงานจิตรกรรมอยู่ในผลงานชุดนี้อยู่หลายภาพ ผลงานชุดนี้มีความหลากหลายทางด้านรูปแบบและกรรมวิธี แต่โดยภาพรวมแล้วเซซานต้องการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรูปทรงเรขาคณิตกับการปาดสีอย่างอิสระ

กรรมวิธีในการวาดงานชุดนี้ เซซานจะไม่คำนึงถึงความเป็นจริงของแสงและเงาตามธรรมชาติ แต่เขาได้เปลี่ยนแปลงรูปร่างและสีสันของธรรมชาติไปตามความต้องการของตัวเอง รูปร่างและทัศนียภาพโดยรอบถูกเปลี่ยนรูปทรงให้ดูง่ายขึ้นเป็นรูปทรงเรขาคณิต และเกิดปริมาตรเป็นแสงและเงาที่ไม่เหมือนจริง เทคนิคและวิธีการเช่นนี้จะส่งอิทธิพลให้กับงานรุ่นหลัง ได้แก่ บาศกนิยมและคติโฟวิสต์

ระเบียงภาพ

[แก้]

ภาพเหมือน

[แก้]

จิตรกรรมหุ่นนิ่ง

[แก้]

ตัวอย่างผลงานชุด Bathers

[แก้]

ตัวอย่างผลงาน ชุดภาพภูเขาแซ็งต์-วิกตัวร์

[แก้]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. สุรพงษ์ บุนนาค. ชีวิตศิลปิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2543.
  2. เรื่องเดียวกัน.
  3. เรื่องเดียวกัน.
  4. เรื่องเดียวกัน.
  5. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  6. สุรพงษ์ บุนนาค. ชีวิตศิลปิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2543.
  7. เรื่องเดียวกัน.
  8. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  9. สุรพงษ์ บุนนาค. ชีวิตศิลปิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2543.
  10. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  11. เรื่องเดียวกัน.
  12. เรื่องเดียวกัน.
  13. จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552.
  14. เรื่องเดียวกัน.
  15. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  16. จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552.
  17. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-11-12. สืบค้นเมื่อ 2014-12-13.
  18. http://www.artble.com/artists/paul_cezanne
  19. ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์, ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ฉบับสมบูรณ์, (กรุงเทพฯ : วาดศิลป์, 2553), 171.
  20. วุฒิ วัฒนสิน, ประวัติศาสตร์ศิลปะ, (กรุงเทพฯ : สิปประภา, 2552), 84.
  21. จิระพัฒน์ พิตรปรีชา, โลกศิลปะศตวรรษที่ 20,(กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ), 2552,90.
  22. เรื่องเดียวกัน.
  23. เรื่องเดียวกัน.

อ้างอิง

[แก้]
กำจร สุนพงษ์ศรี. ศิลปะสมัยใหม่. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2554.
จิระพัฒน์ พิตรปรีชา. โลกศิลปะศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2552.
วุฒิ วัฒนสิน. ประวัติศาสตร์ศิลปะ. กรุงเทพฯ : สิปประภา, 2552.
ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์. ประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : วาดศิลป์, 2553.
สุรพงษ์ บุนนาค. ชีวิตศิลปิน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2543.
อัศนีย์ ชูอรุณ. ศิลปะสมัยใหม่ยุคบุกเบิก. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, 2535.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]