ข้ามไปเนื้อหา

ลูปัส อีริทีมาโตซัส ทั่วร่าง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Systemic lupus erythematosus)
โรคลูปัส
ชื่ออื่นsystemic lupus erythematosus (SLE)
การออกเสียง
สาขาวิชาRheumatology
อาการPainful and swollen joints, fever, chest pain, hair loss, mouth ulcers, swollen lymph nodes, feeling tired, red rash[1]
การตั้งต้น15–45 years of age[1][2]
ระยะดำเนินโรคLong term[1]
สาเหตุUnclear[1]
วิธีวินิจฉัยBased on symptoms and blood tests[1]
ยาNSAIDs, corticosteroids, immunosuppressants, hydroxychloroquine, methotrexate[1]
พยากรณ์โรค15 year survival ~80%[3]
ความชุก2–7 per 10,000[2]

ลูปัส อีริทีมาโตซัส ทั่วร่าง หรือ เอสแอลอี (อังกฤษ: systemic lupus erythematosus, SLE, lupus) เป็นโรคภูมิต้านตนเองชนิดหนึ่ง เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดปกติ จึงเข้าโจมตีเนื้อเยื่อปกติของร่างกายทำให้เกิดอาการป่วย[1] ผู้ป่วยอาจมีอาการได้หลายแบบตั้งแต่เล็กน้อยแทบไม่มีอาการไปจนถึงรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิต[1] อาการที่พบบ่อยได้แก่ ข้ออักเสบ มีไข้ เจ็บหน้าอก ผมร่วง แผลในปาก ต่อมน้ำเหลืองโต อ่อนเพลีย และมีผื่นแดง ซึ่งมักพบที่บริเวณใบหน้า[1] ผู้ป่วยมักมีระยะที่อาการเป็นมาก อาจเรียกว่าระยะกำเริบ และระยะที่อาการเป็นน้อย เรียกว่าระยะสงบ[1]

สาเหตุที่แท้จริงของเอสแอลอีนั้นยังไม่เป็นที่ทราบชัดเจน[1] ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นผลจากหลายปัจจัยทั้งจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม[4] ในแฝดไข่ใบเดียวกัน (แฝดเหมือน) จะพบว่าหากคนหนึ่งป่วยเอสแอลอี อีกคนหนึ่งจะมีโอกาสสูงถึง 24% ที่จะเป็นโรคด้วย[1] ปัจจัยเสี่ยงที่พบว่าเพิ่มโอกาสการเป็นโรคได้แก่ ฮอร์โมนเพศหญิง แสงแดด การสูบบุหรี่ ภาวะพร่องวิตามินดี และโรคติดเชื้อบางชนิด[4] กลไกหลักที่ทำให้เกิดอาการของโรคคือการเกิดแอนติบอดีต่อเนื้อเยื่อร่างกายตัวเอง เรียกว่า ออโตแอนดิบอดี[1] ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแอนติบอดีต่อนิวเคลียส ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบ[1] การวินิจฉัยบางครั้งอาจทำได้ยาก ต้องใช้ทั้งอาการและผลตรวจทางห้องปฏิบัติการประกอบกัน[1] โรคอื่นๆ ในกลุ่มของโรคลูปัสมีอีกหลายโรค ซึ่งแต่ละโรคอาจมีอาการทั้งส่วนที่เหมือนและส่วนที่ต่างจากเอสแอลอี โรคเหล่านี้ เช่น ลูปัส อีริทีมาโตซัส ชนิดรูปคล้ายจาน, ลูปัส อีริทีมาโตซัส ที่ผิวหนังแบบกึ่งเฉียบพลัน และ ลูปัส อีริทีมาโตซัส ในทารกแรกเกิด เป็นต้น[1]

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาเอสแอลอีให้หายขาด[1] การรักษาจะเน้นไปที่การระงับอาการด้วยการลดการอักเสบ และลดกระบวนการภูมิคุ้มกันของร่างกาย ยาที่ใช้ เช่น ยาต้านการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ไฮดรอกซีคลอโรควิน และเมโทเทรกเซท[1] ส่วนการแพทย์ทางเลือกนั้นยังไม่พบว่ามีวิธีใดที่รักษาแล้วเห็นผล[1] ผู้ป่วยอาจมีอายุขัยสั้นกว่าคนปกติ[5] โดยโรคนี้จะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบบ่อยที่สุด[4] หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมผู้ป่วย 80% จะอยู่รอดได้นานกว่า 15 ปี[3] หากผู้ป่วยหญิงเกิดตั้งครรภ์จะยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้นไปอีก แต่ส่วนใหญ่จะสามารถมีลูกได้[1]

ความชุกของเอสแอลอีมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ โดยอยู่ที่ 20-70 ต่อ 100,000 ประชากร[2] ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะพบโรคนี้บ่อยที่สุดโดยพบถึง 9 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ชาย[4] ช่วงอายุที่พบได้บ่อยอยู่ที่ 15-45 ปี แต่ก็พบในช่วงอายุอื่นๆ ได้เช่นกัน[1][2] ชาวแอฟริกา แคริบเบียน และจีน มีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนขาว[4][2] ส่วนความชุกของโรคในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด[6] เนื่องจากผู้ป่วยอาจเข้าไม่ถึงระบบบริการสุขภาพ ชื่อภาษาอังกฤษของโรคนี้คือ ลูปัส (Lupus) เป็นภาษาลาตินที่แปลว่า หมาป่า ชื่อนี้มีที่มาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 13 โดยเชื่อว่ามาจากการที่ผื่นที่พบในผู้ป่วยมีลักษณะเหมือนถูกหมาป่ากัด[7] คนไทยหลายคนรู้จักโรคนี้ในชื่อ "โรคพุ่มพวง" เนื่องจาก พุ่มพวง ดวงจันทร์ นักร้องลูกทุ่งชื่อดังได้เสียชีวิตจากโรคนี้[8]

สาเหตุ

[แก้]

พันธุกรรม

[แก้]

จากการศึกษาพบว่ามียีนบางตัวที่ก่อให้เกิดโรคนี้โดยตรง หรือมียีนบางลักษณะเมื่อเกิดปฏิกิริยากับปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมบางอย่างจะก่อให้เกิดโรคนี้

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม

[แก้]

เช่นคนไข้โรคหัวใจบางรายที่กินยา Procainamide[ต้องการอ้างอิง] หรือคนไข้ความดันโลหิตสูงบางรายที่กินยา Hydralazine[ต้องการอ้างอิง] ก็มีอาการของโรคเอสแอลอี แต่เมื่อหยุดยาโรคก็หายไป นอกจากนี้ฮอร์โมนเพศหญิง[ต้องการอ้างอิง] ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีอาการของโรคเอสแอลอีช่วงก่อนมีประจำเดือนหรือขณะตั้งครรภ์

เอนไซม์

[แก้]

นักวิทยาศาสตร์พบว่าเอนไซม์ Dnase-1 มีส่วนทำให้เกิดโรคเอสแอลอี[ต้องการอ้างอิง] เอนไซม์ตัวนี้ทำหน้าที่ทำลายสายป่าน DNA หลังจากการตายของเซลล์ จากการทดลองในหนูพบว่าหากการทำลายสายป่าน DNA ขัดข้องร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านระบบภูมิคุ้มกัน และขณะเดียวกันในการศึกษาผู้ป่วยโรคเอสแอลอี 10 ราย พบว่ามี 4 รายที่เอนไซม์ Dnase-1 ทำงานน้อยลง

กรรมพันธุ์

[แก้]

พบว่าผู้ป่วยโรคเอสแอลอี 10% มีพ่อแม่หรือญาติป่วยเป็นโรคนี้ด้วย และพบเพียง 5% ของเด็กที่เป็นโรคนี้มีแม่ป่วยเป็นโรคเอสแอลอี

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 1.18 1.19 1.20 "Handout on Health: Systemic Lupus Erythematosus". www.niams.nih.gov (ภาษาอังกฤษ). February 2015. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 June 2016. สืบค้นเมื่อ 12 June 2016.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Danchenko, N.; Satia, J.A.; Anthony, M.S. (2006). "Epidemiology of systemic lupus erythematosus: a comparison of worldwide disease burden". Lupus. 15 (5): 308–318. doi:10.1191/0961203306lu2305xx. PMID 16761508.
  3. 3.0 3.1 The Cleveland Clinic Intensive Review of Internal Medicine (5 ed.). Lippincott Williams & Wilkins. 2012. p. 969. ISBN 9781451153309. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 August 2016. สืบค้นเมื่อ 13 June 2016.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 Lisnevskaia, L; Murphy, G; Isenberg, D (22 November 2014). "Systemic lupus erythematosus". Lancet. 384 (9957): 1878–88. doi:10.1016/s0140-6736(14)60128-8. PMID 24881804.
  5. Murphy, G; Isenberg, D (December 2013). "Effect of gender on clinical presentation in systemic lupus erythematosus". Rheumatology (Oxford, England). 52 (12): 2108–15. doi:10.1093/rheumatology/ket160. PMID 23641038.
  6. Tiffin, N; Adeyemo, A; Okpechi, I (7 January 2013). "A diverse array of genetic factors contribute to the pathogenesis of systemic lupus erythematosus". Orphanet journal of rare diseases. 8: 2. doi:10.1186/1750-1172-8-2. PMC 3551738. PMID 23289717.
  7. Chabner, Davi-Ellen (2013). The Language of Medicine (ภาษาอังกฤษ). Elsevier Health Sciences. p. 610. ISBN 1455728462.
  8. "โรคพุ่มพวง / โรคลูปัส (Lupus) / โรคเอสแอลอี (SLE)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-01. สืบค้นเมื่อ 2021-09-29.
  • นิยสารชีวจิต ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2551