ไข้กาฬหลังแอ่น
ไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal disease) | |
---|---|
Charlotte Cleverley-Bisman หนึ่งในผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุดที่รอดชีวิตจากโรคนี้ แขนที่ติดเชื้อในภาพได้ถูกผ่าตัดออกในเวลาต่อมา | |
สาขาวิชา | Infectious disease, critical care medicine |
ไข้กาฬหลังแอ่น[1], ไข้กาฬนกนางแอ่น[1] หรือ การติดเชื้อเมนิงโกค็อกคัส[2] (อังกฤษ: meningococcal disease) คือกลุ่มของโรคติดเชื้อ ที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ Neisseria meningitidis หรืออีกชื่อว่าเมนิงโกค็อกคัส (meningococcus) ซึ่งเป็นโรคที่หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก แม้เชื้อนี้จะพบเป็นสาเหตุของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้บ่อย แต่การติดเชื้อนี้เข้าสู่กระแสเลือดเป็นภาวะที่มีอันตรายกว่ามาก โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อเมนิงโกค็อกคัส (meningococcal meningitis) และโรคติดเชื้อเมนิงโกค็อกคัสเข้ากระแสเลือด (meningococcemia) เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิต ที่สำคัญ ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาทั่วโลก
ยังไม่เป็นที่เข้าใจดีนักว่าการติดเชื้อนี้ทำให้เกิดโรคที่มีความรุนแรงเป็นลักษณะเฉพาะเช่นนี้ได้อย่างไร คนปกติจำนวนมากมีเชื้อนี้อาศัยอยู่ในร่างกายเป็นปกติโดยไม่ได้ทำให้เกิดโรค แต่หากเชื้อหลุดเข้ากระแสเลือดไปยังสมองก็จะทำให้เกิดโรคร้ายแรงเช่นนี้ได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้พยายามทำความเข้าใจชีววิทยาของเชื้อ meningococcus และปฏิสัมพันธ์ระหว่างเชื้อกับร่างกาย อย่างไรก็ดีมีการพัฒนาวิธีการรักษาและวัคซีนที่ได้ผลดีออกมาใช้แล้ว และยังต้องมีการพัฒนาต่อเนื่องโดยความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา[3]
ในช่วง 13 ปี ที่ผ่านมา อุบัติการณ์ของผู้ป่วยไข้กาฬหลังแอ่น ในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้ออยู่เป็นปกติ อยู่ที่ 1-5 ต่อ 100,000 ประชากร ในประเทศที่พัฒนาแล้ว และ 10-25 ต่อ 100,000 ประชากร ในประเทศที่กำลังพัฒนา ส่วนในช่วงที่มีการระบาดทั่วนั้นมีอุบัติการณ์สูงถึง 100 ต่อ 100,000 ประชากร ในสหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียประมาณ 2,600 ราย ต่อปี และในประเทศที่กำลังพัฒนาพบประมาณ 333,000 ราย ต่อปี และมีอัตราผู้ป่วยตายอยู่ที่ 10-20%[4]
แม้ไข้กาฬหลังแอ่นจะไม่ได้ติดต่อง่ายเท่าโรคหวัด แต่ก็สามารถติดต่อผ่านน้ำลาย หรือผ่านการสัมผัสผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องเป็นเวลานานได้
การรักษาและพยากรณ์โรค
[แก้]ผู้ป่วยที่สงสัยป่วยไข้กาฬหลังแอ่นควรได้รับการรักษาทันทีโดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยหน่วยบริการปฐมภูมิมักฉีด benzylpenicillin เข้ากล้ามเนื้อ และส่งผู้ป่วยไปยังหน่วยบริการระดับสูงกว่าต่อไป เมื่อถึงโรงพยาบาลแล้วผู้ป่วยมักได้ยาปฏิชีวนะเข้าทางหลอดเลือดดำ ส่วนใหญ่เป็น cephalosporin รุ่นที่ 3 เช่น ceftriaxone หรือ cefotaxime ทั้งนี้ benzylpenicillin และ chloramphenicol ก็ได้ผลเช่นกัน นอกจากนี้ยังควรได้รับการรักษาประคับประคองอื่นๆ ตามความเหมาะสม เช่น การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ การให้ออกซิเจน การให้ยากระตุ้นความดันเลือด เช่น dopamine หรือ dobutamine รวมทั้งการรักษาภาวะความดันในกะโหลกศีรษะขึ้นสูง ผู้ป่วยบางรายอาจควรได้รับการรักษาด้วย steroid แต่ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าจะมีผลดีในระยะยาว
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน เก็บถาวร 2017-07-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 12 พ.ย. 2556.
- ↑ บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับประเทศไทย
- ↑ Pollard, Andrew J.; Maiden, Martin C. J. (2001). Meningococcal Disease: Methods and Protocols. Humana Press. ISBN 978-0-89603-849-3.
- ↑ Riedo FX, Plikaytis BD, Broome CV (August 1995). "Epidemiology and prevention of meningococcal disease". Pediatr. Infect. Dis. J. 14 (8): 643–57. doi:10.1097/00006454-199508000-00001. PMID 8532420.
{{cite journal}}
: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]การจำแนกโรค | |
---|---|
ทรัพยากรภายนอก |