ลอร์ดน้อยฟอนเติลรอย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Little Lord Fauntleroy)
ลอร์ดน้อยฟอนเติลรอย  
ปกของการพิมพ์ฉบับแรก
ผู้ประพันธ์ฟรานซิส ฮ็อดจ์สัน เบอร์เน็ทท์
ผู้วาดภาพประกอบReginald Birch

ลอร์ดน้อยฟอนเติลรอย (อังกฤษ: Little Lord Fauntleroy) เป็นนวนิยายเด็กเล่มแรกของนักเขียนนางฟรานซิส ฮ็อดจ์สัน เบอร์เน็ทท์ ที่ดั้งเดิมพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารเซนต์นิโคลาสระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2428 จนถึงเดือนตุลาคม 2429 แล้วหลังจากนั้นจึงพิมพ์เป็นหนังสือในปี 2429[1] ภาพเขียนที่อยู่ในหนังสือต่อมาได้เป็นตัวตั้งแฟชั่นเสื้อผ้าสำหรับเด็ก หนังสือยังทำประวัติศาสตร์ในเรื่องกฎหมายลิขสิทธิ์เมื่อผู้เขียนชนะคดีในปี 2431 เกี่ยวกับการดัดแปลงเรื่องเพื่อแสดงเป็นละคร[2] เรื่องในหนังสือต่อมาได้ดัดแปลงสร้างในสื่อหลายอย่างรวมทั้งละครถนนบรอดเวย์ปี 2431[3][4] ภาพยนตร์ (หลายครั้งหลายภาษา) เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2457[5] รายการทีวีชุด[6] รายการทีวี[7] และอะนิเมะชุดที่แปลเป็นหลายภาษา

โครงเรื่อง[แก้]

ในซอยโกโรโกโสในนครนิวยอร์กกลางคริสต์ทศวรรษ 1880 เด็กน้อยเซ็ดดริก เอร์โรลอาศัยอยู่กับมารดา (ที่รู้จักเพียงชื่อว่า นางเอร์โรล หรือ "สุดที่รัก") ในความยากจนแบบผู้ดีหลังจากที่บิดาของเขาคือกัปตันเซ็ดดริก เอร์โรล ได้เสียชีวิตไป วันหนึ่ง ทนายชาวอังกฤษคนหนึ่งได้มาเยี่ยมเขาเพื่อส่งความจากคุณปู่ของเซ็ดดริก คือ เอิร์ลแห่งดอรินคอร์ต เศรษฐีเงินล้านยอดดื้อผู้ดูหมิ่นเหยียดหยามอเมริกา และรู้สึกผิดหวังมากเมื่อลูกชายคนเล็กของตน (คือพ่อของเซ็ดดริก) ได้แต่งงานกับหญิงชาวอเมริกัน แต่ว่าด้วยการเสียชีวิตของพี่ชายของพ่อเขาทั้งหมด เซ็ดดริกก็กลายเป็นผู้ที่สืบบรรดาศักดิ์ลอร์ดฟอนเติลรอย และสืบเชื้อสายเพื่อความเป็นเอิรล์ต่อไป ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มาพร้อมกับทรัพย์สมบัติมากมาย ปู่ของเขาต้องการให้เซ็ดดริกอาศัยในประเทศอังกฤษและรับการศึกษาในฐานะคนชั้นขุนนาง เขาสัญญาที่จะให้บ้านหลังหนึ่งกับแม่ของเซ็ดดริกพร้อมกับรายได้ประจำ แต่จะไม่ยอมเกี่ยวข้องกับเธอ แม้หลังที่เธอปฏิเสธเงินของเขา

แต่ว่า คุณปู่ประทับใจในรูปลักษณ์และความเฉลียวฉลาดของหลานชายชาวอเมริกัน และรู้สึกต้องใจกับความไร้เดียงสาของของเขา ส่วนเซ็ดดริกเชื่อว่าปู่ของเขาเป็นคนน่าเคารพยกย่องและเป็นคนใจดี และปู่ก็ไม่ยอมทำให้หลานต้องผิดหวัง เซ็ดดริกจึงกลายเป็นผู้ทำความดีให้กับคนเช่าที่ดินของคุณปู่ ทำผู้เช่าให้เกิดความปิติยินดี

ในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กขัดรองเท้าจรจัดชื่อว่าดิก ทิปตันได้บอกเพื่อนเก่าของของเซ็ดดริก คือมิสเตอร์ฮ็อบส์ ผู้ขายของชำในนครนิวยอร์ก ว่า หลังจากที่บิดามารดาของตนเสียชีวิต พี่ชายของตนคือเบ็นจามินได้แต่งงานกับหญิงร้ายกาจคนหนึ่ง ที่ทิ้งลูกของตนหลังจากที่เกิดแล้วก็หลีกไป ส่วนเบ็นจามินย้ายถิ่นฐานไปที่รัฐแคลิฟอร์เนียเพื่อตั้งฟาร์มปศุสัตว์ ในขณะที่ตัวดิกเองกลายเป็นเด็กจรจัด

ในขณะเดียวกัน เด็กผู้อ้างสิทธิสายเลือดและสมบัติของเซ็ดดริกที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อนก็ได้ปรากฏตัวพร้อมกับมารดาผู้อ้างว่า เด็กชายเป็นบุตรลูกชายคนโตของเอิร์ล แต่ว่า ดิกและเบ็นจามินได้เดินทางจากอเมริกามาประเทศอังกฤษเพื่อตรวจสอบข้ออ้างนี้ แล้วจำมารดาของเด็กได้ว่าก็คือภรรยาเก่าของเบ็นจามิน มารดาของเด็กก็รีบหนีไป ทิ้งเด็กไว้กับพ่อและอา และพวกเขาก็ไม่ได้เห็นหญิงนั้นอีก หลังจากนั้น เบ็นจามินกับลูกชายก็กลับไปที่ฟาร์มของตนในแคลิฟอร์เนีย ส่วนคุณปู่ก็ได้ผูกมิตรกับมารดาชาวอเมริกันของเซ็ดดริก เพราะเหตุการณ์ได้ทำให้รู้ตัวว่า เธอเป็นคนดีกว่าหญิงหลอกลวงนั้นมาก

ในเรื่อง คุณปู่เอิร์ลตั้งแผนที่จะสอนหลานชายของตนให้เป็นขุนนาง แต่หลานชายคือเซ็ดดริกกลับเป็นคนสอนคุณปู่ว่า ขุนนางควรที่จะมีความเมตตากรุณาต่อบุคคลที่พึ่งอาศัยตนอยู่ คุณปู่กลับกลายเป็นชายคนดีดังที่เซ็ดดริกได้เชื่ออย่างไร้เดียงสาว่าเขาเป็น เซ็ดดริกและมารดาจึงได้รับอนุญาตให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นประจำ และมิสเตอร์ฮ็อบส์ที่ได้เดินทางมาประเทศอังกฤษพร้อมกับพี่น้องทิปตัน ก็ตัดสินใจที่จะดำรงอยู่ในประเทศเพื่อช่วยดูแลเซ็ดดริก

อิทธิพลต่อแฟชั่น[แก้]

ชุดสูทของลอร์ดฟอนเติลรอย (ที่เรียกว่าสูทฟอนเติลรอย) ที่นางเบอร์เน็ทท์ได้อธิบายไว้อย่างละเอียดลออที่ประกอบกับภาพวาดหมึก ก็ได้สร้างความฮือฮาทางแฟชั่นเกี่ยวกับเสื้อผ้าที่ใช้ใส่ในงานสำหรับเด็กคนชั้นกลางอเมริกัน คือนางได้เขียนไว้ว่า

"สิ่งที่เอิร์ลเห็นก็คือรูปร่างอ้อนแอ้นสง่างามของเด็ก ที่ใส่สูทกำมะหยี่ดำมีคอปักลูกไม้ โดยมีลอนผมไหวไปรอบ ๆ ใบหน้าน้อย ๆ ที่รูปหล่อ สมเป็นลูกผู้ชาย และมีสายตามาประสบกับของเอิร์ล ที่แสดงความเป็นมิตรอย่างไร้เดียงสา" (Little Lord Fauntleroy)

แม้ว่าสูทฟอนเดิลรอยจะปรากฏในยุโรปด้วย แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมเท่าในอเมริกา

ตัวอย่างเสื้อคล้ายกับที่ใส่โดยลอร์ดฟอนเติลรอย

สูทฟอนเติลรอยแบบคลาสสิกประกอบด้วยเสื้อชั้นนอกกำมะหยี่ที่มีหางยาวแต่ข้างหน้าสั้น (cutaway jacket) และกางเกงขาสั้นถึงเข่าสีเดียวกัน ส่วนเสื้อที่ใส่เป็นเสื้อหรูหราหลวม ๆ จับเป็นลอนที่แขนโดยหลวมด้านล่างมากกว่าด้านบนและเล็กลงที่ข้อ ที่คอทำเป็นลายไม้

แฟชั่นนี้ปรากฏหลังการพิมพ์นิยายและกลายเป็นแฟชั่นสำคัญจนกระทั่งสิ้นศตวรรษ เด็กชายที่แม้ไม่ได้ใส่สูททั้งชุด ก็จะใส่อะไรบางอย่างที่เหมือนกัน เช่นเสื้อหรูหรา แม้ว่าเด็กชายเป็นส่วนน้อยจะลอนผมใส่เครื่องแบบนี้ แต่รูปภาพที่ยังเหลือก็ยืนยันว่ามีเด็กเช่นนี้จริง ๆ เป็นแฟชั่นยอดนิยมสำหรับเด็กอายุ 3-8 ขวบ แต่เด็กชายที่อายุมากกว่านี้ก็ใส่แฟชั่นนี้เหมือนกัน มีการคาดว่า แฟชั่นนี้สนับสนุนมารดาให้เด็กนุ่งกางเกงเร็วขึ้นกว่ายุคก่อน ๆ และเป็นปัจจัยให้เสื่อมความนิยมจากการให้เด็กชายเล็ก ๆ ใส่ชุดกระโปรงแบบต่าง ๆ[8] แฟชั่นนี้มาจากเสื้อผ้าที่นางเบอร์เน็ทท์ตัดเย็บให้ลูกชายสองคนของตน[2]

บัตรโฆษณาภาพยนตร์ที่ดัดแปลงนิยาย แสดงโดยดาราดัง (เป็นหญิงผู้ใหญ่) คือ แมรี่ พิกฟอร์ด

การตอบรับ[แก้]

นักเขียนนิยายเด็กอเมริกันปัจจุบันคนหนึ่ง (Polly Horvath) กล่าวว่า ลอร์ดน้อยฟอนเติลรอยเป็นเหมือนกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ในยุคนั้น และฟรานซิส ฮ็อดจ์สัน เบอร์เน็ทท์มีชื่อเสียงก็เพราะสร้างเขาเหมือนกับที่เจ. เค. โรว์ลิงได้สร้างพอตเตอร์ ในขณะที่ยังพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารเซนต์นิโคลาส ผู้อ่านได้ติดตามเฝ้ารอที่จะอ่านตอนใหม่ ๆ แฟชั่นในหนังสือก็กลายเป็นที่นิยม โดยมีการขายสูทฟอนเติลรอยที่เป็นกำมะหยี่ และสินค้าฟอนเติลรอยอื่น ๆ เช่น คอเสื้อกำมะหยี่ ไพ่ และช็อกโกแลต นี่เป็นช่วงเวลาที่นิยายสะเทือนอารมณ์เป็นเรื่องปกติ และนิยายแบบ "จากขอทานเป็นนางฟ้า" กำลังได้รับความนิยม นิยายเด็กเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องยอดฮิต[9]

ในนิยายเด็กของตนเรื่อง ปราสาทใต้มนต์ (The Enchanted Castle) ปี 2450 อีดิธ เนสบิท ได้อ้างอิงนิยายเรื่องนี้อย่างไม่ค่อยถูกใจไว้ว่า

เจอร์รัลด์สามารถทำให้ตนดูน่าสนใจแทบจะเมื่อไรก็ได้ โดยเปิดตาสีเทาของเขาให้โต ๆ ปล่อยมุมปากของเขาให้ห้อยลง และแสดงสีหน้าที่อ่อนโยนแบบอ้อน ๆ คล้ายกับของลอร์ดน้อยฟอนเติลรอยแต่ก่อน ผู้ป่านนี้คงจะต้องแก่มากแล้ว และเป็นจอมเจ้ากี้เจ้าการ

เชิงอรรถและอ้างอิง[แก้]

  1. The Cambridge Bibliography of English Literature: Volume 4 1800-1900 (3rd ed.). Cambridge: Cambridge University Press. 2000. p. 1475. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)
  2. 2.0 2.1 Rutherford, L.M. (1994). British Children's Writers 1880-1914. Dictionary of Literary Biography. Vol. 141. Detroit: Gale Research Literature Resource Center. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |editors= ถูกละเว้น แนะนำ (|editor=) (help)CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  3. Burnett, Frances Hodgson ''Little Lord Fauntleroy: A Drama in Three Acts'', 1889/1913. Books.google.com. 1889/1913. สืบค้นเมื่อ 2014-02-15. {{cite book}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  4. "Little Lord Fauntleroy". Internet Broadway Database. สืบค้นเมื่อ 2013-06-07.
  5. "Little Lord Fauntleroy (1914 film)". Internet Movie Database.
  6. "Little Lord Fauntleroy Part 1 (1976)". British Film Institute. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-04-02. สืบค้นเมื่อ 2016-04-19.
  7. "PBS in the Spotlight - Once Upon a Classic - Little Lord Fauntleroy". The Hour. 1977-03-31.
  8. "Little Lord Fauntleroy Suits". Historical Boys' Clothing. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-05-04. สืบค้นเมื่อ 2014-02-15.
  9. Horvath, Polly (2004), "Foreword", Little Lord Fauntleroy, Simon and Schuster, pp. xi–xiv, ISBN 978-0-689-86994-5

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]