โคบี ไบรอันต์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Kobe Bryant)

โคบี บีน ไบรอันต์ (อังกฤษ: Kobe Bean Bryant, 23 สิงหาคม ค.ศ. 1978 – 26 มกราคม ค.ศ. 2020) เป็นอดีตนักบาสเกตบอล ตำแหน่งชูตติ้งการ์ด สังกัดทีม ลอสแอนเจลิสเลเกอส์ ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ยอดเยี่ยม ในลีกอีก 18 สมัย และ เป็นผู้เล่นที่ทำคะแนนรวมในอาชีพสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ตลอดกาลในเอ็นบีเอ จำนวน 33,643 คะแนน เป็นรองเพียง คารีม อับดุล-จับบาร์, คาร์ล มาโลน และ เลอบรอน เจมส์ ที่สุดคนหนึ่งในวงการบาสเกตบอล เจ้าของตำแหน่งแชมป์เอ็นบีเอจำนวน 5 สมัย ผู้เล่นทรงคุณค่าประจำฤดูกาล (MVP) 1 สมัย (ค.ศ. 2008) และ ผู้เล่นทรงคุณค่าในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศอีก 2 สมัย (ค.ศ. 2009 - 2010) โคบียังลงแข่งขันในรายการออล สตา

โคบี ไบรอันต์
Bryant handling the basketball
ไบรอันต์ขณะเล่นให้กับลอสแอนเจลิสเลเกอส์ ปี 2014
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด23 สิงหาคม ค.ศ. 1978(1978-08-23)
ฟิลาเดลเฟีย, รัฐเพนซิลเวเนีย
เสียชีวิต26 มกราคม ค.ศ. 2020(2020-01-26) (41 ปี)
กาลาบาซัส, รัฐแคลิฟอร์เนีย
ส่วนสูงที่ระบุ6 ft 6 in (1.98 m)[a]
น้ำหนักที่ระบุ212 lb (96 kg)
ข้อมูลอาชีพ
ไฮสกูลLower Merion
(Ardmore, Pennsylvania)
การดราฟต์เอ็นบีเอ1996 / รอบ: 1 / เลือก: 13 โอเวอร์ออล
เลือกโดยชาล็อตต์ ออร์เน็ตส์
การเล่นอาชีพ1996–2016
ตำแหน่งชู้ตติ้งการ์ด
หมายเลข8, 24
ประวัติอาชีพ
19962016ลอสแอนเจลิส เลเกอส์
สถิติอาชีพ
แต้ม33,643 (25.0 แต้มต่อเกม)
รีบาวด์7,047 (5.2 รีบาวด์ต่อเกม)
แอสซิสต์6,306 (4.7 แอสซิสต์ต่อเกม)
สถิติที่ Basketball-Reference.com
หอเกียรติยศบาสเกตบอลในฐานะผู้เล่น

โคบี ถือเป็น ผู้เล่นที่ทำคะแนนสูงที่สุดตลอดกาลให้แก่ทีมเลเกอส์ และ เป็นผู้เล่นตำแหน่งการ์ดคนแรกในลีกที่ลงเล่นอย่างน้อย 20 ฤดูกาลในเอ็นบีเอ โดยตลอดเส้นทางอาชีพบาสเก็ตบอลของโคบี เขาเล่นให้เลเกอส์เพียงทีมเดียวจำนวน 20 ฤดูกาล (1996 - 2016) สถิติการลงแข่งขัน ออล สตาร์ เกม จำนวน 18 สมัยของเขาถือเป็นสถิติอันดับสองตลอกกาลรองจาก คารีม อับดุล-จับบาร์ ตำนานผู้เล่นทีม มิลวอกี บักส์ และ แอลเอ เลเกอร์ส เขามีฉายาที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า "Black Mamba" ซึ่งเขาตั้งฉายานี้ให้แก่ตนเองในปี 2003 โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง "Kill Bill" ซึ่งฆาตรกรได้ใช้งูแมมบาที่มีลักษณะการเคลื่อนไหวว่องไวและดุร้ายในการปราบคู่ต่อสู้โดยเป็นงูที่กัดไม่ปล่อยจนกว่าเหยื่อจะตาย ในการแข่งขันระดับชาติ โคบีประสบความสำเร็จในการพาทีมบาสเกตบอลของสหรัฐอเมริกาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ 2 สมัย ใน ค.ศ. 2008 และ ค.ศ. 2012

วัยเด็กและครอบครัว[แก้]

โคบีเป็นลูกชายคนสุดท้องของ โจ "เยลลีบีน" ไบรอันต์ อดีตนักบาสเกตบอลเอ็นบีเอ ทีมฟิลาเดลเฟีย เซเวนตีซิกเซอส์ ส่วนมารดาชื่อ พาเมล่า ค็อกซ์ ไบรอันต์ พ่อแม่ตั้งชื่อ โคบี หรือ โกเบ (Kobe) ตามชื่อเนื้อโคเบะ เนื้อชื่อดังของประเทศญี่ปุ่นซึ่งพวกเขาเห็นในเมนูร้านอาหารแห่งหนึ่ง[3] โคบีมีพี่สาวสองคนชื่อ ชาเรีย และ ชาญา

เมื่อโคบีอายุได้ 6 ขวบ คุณพ่อของเขาออกจากสมาคมบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอ และพาครอบครัวไปย้ายไปอยู่ที่ประเทศประเทศอิตาลี เพื่อเล่นบาสเก็ตบอลอาชีพที่นั่น โคบีต้องปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ ๆ และฝึกหัดพูดภาษาอิตาลีและภาษาสเปนจนคล่องแคล่ว ในช่วงฤดูร้อนของทุกปี โคบีจะเดินทางกลับมายังสหรัฐอเมริกา เพื่อเข้าร่วมแข่งขันบาสเก็ตบอลลีกฤดูร้อน (Summer League) โคบีเริ่มเล่นบาสเก็ตบอลตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และช่วงวัยเด็กเขายังเล่นฟุตบอลด้วย ทีมโปรดของเขาคือเอซี มิลาน เขาเคยบอกว่า ถ้าเขายังอยู่ในอิตาลี เขาอาจจะลองพยายามเป็นนักฟุตบอลอาชีพ นักฟุตบอลที่เขาชื่นชอบ คือ แฟรงค์ รายการ์ด และ โรนัลดิญโญ่

คุณพ่อของโคบี เกษียณจากการเล่นบาสเกตบอลในอิตาลีเมื่อค.ศ. 1991 และครอบครัวเขาได้ย้ายกลับสหรัฐอเมริกา

มัธยมปลาย[แก้]

ไบรอันต์เริ่มเป็นที่รู้จักในระดับประเทศเมื่อเขาสร้างผลงานกับทีมบาสเก็ตบอลของ Lower Merion High School ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ทีมเป็นที่รู้จักในชื่อทีม Aces ในปีที่สองที่เขาเล่นนั้น พ่อของเขาได้มาเป็นโค้ชให้กับทีมด้วย หลังจากนั้น ในค่ายบาสเก็ตบอล Adidas ABCD camp โคบีแสดงฝีมือจนได้รับรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าประจำปี 1995 สำหรับผู้เล่นปีสุดท้าย ในการแข่งขันนั้นโคบีได้เล่นทีมเดียวกับ ลามาร์ โอดอม ซึ่งปัจจุบันคือเพื่อนร่วมทีม LA Lakers ใน NBA ด้วย ระหว่างที่เขาเล่นบาสเก็ตบอลมัธยมปลายอยู่นั้น John Lucas โค้ชของทีม Philadephia 76ers ใน NBA ได้เรียกตัวเขาไปฝึกซ้อมด้วย และให้โอกาสเขาได้เล่นตัวต่อตัวกับดาราชื่อดังของทีมในขณะนั้น คือ Jerry Stackhouse ในปีสุดท้ายของมัธยม โคบีพาทีมคว้าแชมป์ของรัฐได้สำเร็จ ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 53 ปีของทีม ด้วยผลงานเฉลี่ยต่อเกม 30.8 คะแนน 12 รีบาวน์ 6.5 แอสซิสต์ 4 สตีล 3.8 บล็อก นำทีม Aces ชนะ 31 แพ้ 3 โคบีจบการเล่นบาสเก็ตบอลระดับมัธยมด้วยการเป็นผู้เล่นที่ทำคะแนนรวมสูงสุดตลอดกาลของ เพนซิลเวเนียตอนใต้ คือ 2,883 คะแนน แซงหน้านักบาสเก็ตบอลระดับตำนานทั้ง Wilt Chamberlain และ Lionel Simmons เขายังได้รับรางวัลมากมายจากผลงานการเล่นปีสุดท้ายของเขา ไม่ว่าจะเป็นรางวัล Naismith High School Player of the Year, Gatorade Men's National Basketball Player of the Year, McDonald's All-American และ SA Today All-USA First Team player ในปี 1996 โคบีสร้างความฮือฮาโดยการพา Brandy Norwood นักร้อง R&B สาวชื่อดังไปที่งานเต้นรำเมื่อจบการศึกษา แต่เขาทั้งสองก็เป็นเพียงแค่เพื่อนกันเท่านั้น ถึงแม้ว่าโคบีจะสอบวัดระดับ SAT ได้ถึง 1,080 คะแนน และมีทุนการศึกษาสำหรับนักกีฬาจากหลายต่อหลายมหาวิทยาลัยรออยู่ แต่ไบรอันต์วัย 17 ปี ก็ตัดสินใจที่จะเข้าสู่วงการบาสเก็ตบอลอาชีพ NBA แทน ทำให้เขาเป็นถูกรุมล้อมไปด้วยสื่อมากมายที่ยังไม่คุ้นเคยกับเด็กที่จบมัธยมแล้วเลือกจะเข้าเป็นนักบาสเก็ตบอล NBA โดยไม่เรียนมหาวิทยาลัยก่อน โคบีเคยกล่าวว่า ถ้าหากเขาเลือกเรียนมหาวิทยาลัย เขาจะเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University)

บาสเกตบอลอาชีพ NBA[แก้]

NBA Draft ปี 1996[แก้]

ผู้เล่นตำแหน่งการ์ดคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเลือกเข้าสู่เอ็นบีเอ ตั้งแต่จบมัธยมปลาย ไบรอันต์ได้รับเลือกเป็นอันดับที่ 13 จากการดร๊าฟรอบแรกโดยทีม ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์ ในปี 1996 อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของไบรอันต์ในขณะนั้นเห็นว่าโคบีไม่ควรจะเล่นให้กับทีมชาร์ล็อตต์ และทีมชาร์ล็อตต์เองก็คิดที่จะแลกเปลี่ยนตัวผู้เล่นกับทีมเลเกอส์อยู่แล้ว ก่อนหน้าการดร้าฟตัวผู้เล่นนั้น โคบี้มีโอกาสได้ร่วมฝึกซ้อมกับทีมในลอสแอนเจลิส ซึ่งเขาได้ต่อกรในสนามกับอดีตผู้เล่นของเลเกอส์ คือ แลร์รี่ ดรู และ ไมเคิล คูเปอร์ จนสะดุดตา เจอร์รี่ เวสต์ ผู้จัดการทีมในขณะนั้น ในที่สุดเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ปี 1996 Jerry West ตัดสินใจแลกตัวผู้เล่นเซ็นเตอร์ตัวจริงของทีมเลเกอส์ คือ วเลด ดีวาซ ไปให้ทีมฮอร์เน็ตส์ เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการดร้าฟตัวไบรอันต์ และเนื่องจากโคบีเพิ่งอายุได้ 17 ปี พ่อแม่ของเขาต้องร่วมเซ็นสัญญากับเลเกอส์ จนกระทั่งโคบี้สามารถเซ็นสัญญาเองได้เมื่ออายุครบ 18 ปี ก่อนจะเปิดฤดูกาล

สามฤดูกาลแรก (ปี 1996-99)[แก้]

ช่วงปีแรกนั้น ไบรอันต์ต้องเป็นตัวสำรองให้กับการ์ดรุ่นพี่อย่าง Eddie Jones และ Nick Van Exel ในขณะนั้น โคบีคือผู้เล่นที่มีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์(ปัจจุบันสถิตินี้โดนทำลายโดยเพื่อนร่วมทีมเลเกอส์ ชื่อ Andrew Bynum) และยังเป็นผู้เล่นตัวจริงที่อายุน้อยที่สุดที่เคยมีมาด้วย ในช่วงเริ่มต้นเขาอาจไม่ได้ลงเล่นมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็มีโอกาสได้ลงเล่นมากขึ้น เขาจบฤดูกาลแรก (1996-97) ด้วยเวลาลงสนามเฉลี่ย 15.5 นาทีต่อเกม สร้างชื่อจนกลายเป็นจอมเหินเวลาและขวัญใจของแฟน ๆ ด้วยการคว้าแชมป์ Slam Dunk Contest ได้รับเลือกให้ติดทีมอันดับสองของ NBA All Rookies พร้อมกับเพื่อนร่วมทีม ชื่อ Travis Knight นาทีสุดท้ายของฤดูกาลนั้นของเขาจบลงด้วยหายนะ เมื่อชู้ตบอลพลาดแบบไม่โดนห่วง (air ball) ถึง 3 ครั้ง ในช่วงเวลาสำคัญ คือ ลูกแรกเขาชู้ตสุดท้ายที่จะทำให้ทีมชนะพลาด ก่อนจะหมดเวลาปกติ ทำให้เกมต้องเข้าสู่ช่วงต่อเวลา และในช่วงท้ายของการต่อเวลายังยิงสามคะแนนพลาดอีก 2 ครั้ง ทำให้ทีมเลเกอส์ต้องตกรอบแรกใน Playoffs (ระบบแพ้คัดออก เล่นแบบชนะ 4 ใน 7 เกม) ให้กับทีม Utah Jazz หลังการแข่งขัน แชคิล โอนีล (Shaquille O'Neal) เพื่อนร่วมทีมในตอนนั้น ให้ความเห็นว่า "ไบรอันต์เป็นคนเดียวในตอนนั้นที่กล้าพอจะชู้ตลูกเหล่านั้น"

ในปีที่สองของการเล่น โคบีได้โอกาสลงเล่นมากขึ้น และเริ่มแสดงฝีมือให้เห็นว่าเขาเป็นการ์ดหนุ่มที่มีพรสวรรค์ เขาทำคะแนนเฉลี่ยสูงขึ้นกว่าปีแรกจาก 7.6 เป็น 15.4 แต้มต่อเกม เขาได้ลงเล่นมากขึ้นเมื่อเลเกอส์ใช้แผน "ผู้เล่นตัวเล็ก" ทำให้โคบีรับตำแหน่งปีกตัวเล็ก (Small Forward) และได้ลงเล่นพร้อมกับการ์ดรุ่นพี่ที่เขาต้องเป็นตัวสำรองให้เป็นประจำ แม้ว่าจะได้แค่อันดับรองและพลาดตำแหน่งผู้เล่นสำรองยอดเยี่ยม (NBA's Sixth Man of The Year)ไป แต่ด้วยความนิยมจากแฟน ๆ ทำให้เขาได้รับเลือกให้ติดทีมรวมดารา และกลายเป็นผู้เล่นที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ NBA ที่ได้เป็นตัวจริงในเกมรวมดารา NBA All-Star ปีนั้น เพื่อนร่วมทีมของเขาคือ Shaquille O'Neal, Eddie Jones และ Nick Van Exel ก็ได้รับคะแนนเสียงจากแฟนเช่นกัน ทำให้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1983 ที่มีผู้เล่นจากทีมเดียวกันถึง 4 คนได้ร่วมทีมเดียวกันในเกมรวมดารา คะแนนเฉลี่ย 15.4 คะแนนของโคบียังเป็นคะแนนสูงสุดสำหรับผู้เล่นที่ไม่ได้เป็นตัวจริงของทีมในฤดูกาลปกติอีกด้วย

ในฤดูกาล 1998-99 ขึ้นมาเป็นการ์ดแนวหน้าของลีกอย่างรวดเร็ว เมื่อการ์ดตัวจริงทั้งสองคน คือ Nick Van Exel และ Eddie Jones ถูกเทรดออกไป โคบีลงเล่นเป็นตัวจริงทุกเกมตลอด 50 เกม ในปีที่ NBA มีปัญหา lockout ระหว่างฤดูกาลนั้น โคบีได้ต่อสัญญากับทีมออกไปอีก 6 ปี เป็นมูลค่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้เขาได้อยู่กับทีมเลเกอส์ไปจนถึงฤดูกาล 2003-04 แม้ว่าเขาเพิ่งจะเริ่มอาชีพการเล่นบาสเก็ตบอลได้ไม่นาน แต่สื่อกีฬาต่าง ๆ ก็เริ่มเปรียบเทียบความสามารถของเขากับผู้เล่นระดับโลกอย่าง Michael Jordan และ Magic Johnson แล้ว อย่างไรก็ตาม ใน playoffs ปีนั้น เลเกอส์ก็โดน San Antonio Spurs กวาดเรียบ 4 เกมรวดในเกมรอบชิงชนะเลิศของฝั่งตะวันตก (Western Conference semi-finals)

แชมป์ 3 สมัยซ้อน (ปี 2000-02)[แก้]

ในไม่ช้าชะตาชีวิตของไบรอันต์ก็เปลี่ยนไปเมื่อ ฟิล แจ็คสัน เข้ามารับหน้าที่โค้ชให้กับทีมเลเกอส์ ในปี 1999 หลังจากพัฒนาตัวเองมาหลายปี โคบีกลายมาเป็นผู้เล่นตำแหน่งการ์ดตัวทำคะแนน (ชู้ตติง การ์ด) ชั้นแนวหน้า ได้รับเลือกให้ติดทีมรวมเอ็นบีเอ, ออล สตาร์ และทีมรับยอดเยี่ยม ปีนี้ ลอสแอนเจลิส เลเกอส์ กลายมาเป็นทีมเต็งที่จะได้แชมป์ ภายใต้การนำทีมของ โคบี ไบรอันต์ และ แชคิล โอนีล ที่ผสมผสานการเล่นของเซ็นเตอร์กับการ์ดได้อย่างยอดเยี่ยม และด้วยแผนการบุกแบบสามเหลี่ยม (Triangle Offense) ซึ่ง ฟิล แจ็คสัน เคยใช้พาทีมชิคาโก บูลส์ คว้าแชมป์ไปแล้วถึง 6 สมัย ก็ทำให้ทั้งสามคนพาทีม เลเกอส์ได้แชมป์เอ็นบีเอ ถึง 3 ปีซ้อน ในปี 2000, 2001 และ 2002

โคบีเริ่มต้นฤดูกาล 1999-2000 ด้วยการพลาดการลงสนามถึง 6 สัปดาห์เมื่อเขาได้รับบาดเจ็บที่มือ ในเกมอุ่นเครื่องก่อนเริ่มฤดูกาลที่แข่งกับทีมวอชิงตัน วิซาร์ดส เมื่อเขากลับมาลงสนามได้ เขาลงเล่นมากกว่า 38 นาทีต่อเกม และทำผลงานเฉลี่ยต่อเกมสูงขึ้น รวมถึงการเป็นผู้เล่นที่ทำ แอสซิสต์และสตีล สูงสุดของทีมด้วย คู่หูโอนีลกับไบรอันต์พร้อมด้วยเพื่อนร่วมทีมที่แข็งแกร่งพาทีมชนะถึง 67 เกม เป็นสถิติการชนะสูงสุดเป็นอันดับ 5 ในประวัติศาสตร์เอ็นบีเอ โอนีลได้รับตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่าในฤดูกาลปกติ และโคบีได้รับเลือกให้ติดทีมผู้เล่นยอดเยี่ยมอันดับสอง (All-NBA Second Team) และ ทีมรับยอดเยี่ยม (All Defensive Team) เป็นครั้งแรกในชีวิต(เป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้รับเลือกติดทีมรับยอดเยี่ยม) ขณะที่ต้องรับบทพระรองของทีมในรอบเพลย์ออฟ ไบรอันต์ก็มีผลงานที่โดดเด่น รวมถึงการทำ 25 คะแนน 11 รีบาวน์ 7 แอสซิสต์ และ 4 บล็อก ในเกม 7 ของรอบชิงชนะเลิศฝั่งตะวันตก ที่มเลเกอส์ เจอกับพอร์ตแลนด์ เทรล เบลเซอร์ส เขายังเป็นคนส่งบอลทำ alley-hoop ให้กับโอนีลทำให้ทีมชนะผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศด้วย ในรอบชิงชนะเลิศ พวกเขาต้องพบกับทีมอินเดียนา เพเซอร์ส ไบรอันต์ได้รับบาดเจ็บที่ข้อเท้าในช่วงควอเตอร์ที่ 2 ของเกมที่ 2 ต้องออกจากการแข่งขัน และไม่ได้ลงเล่นในเกมที่ 3 เมื่อเขากลับมาลงเล่นในเกมที่ 4 ไบรอันต์ทำคะแนนไป 22 คะแนนในครึ่งหลัง เขาต้องขึ้นเป็นผู้นำทีมเมื่อ โอนีล ทำ ฟาวล์เอ้าท์ ต้องออกจากการแข่งขัน ในช่วงท้ายของการต่อเวลา โคบีชู้ตทำคะแนนสุดท้ายให้ทีมขึ้นนำ 120-118 และด้วยชัยชนะในเกมที่ 6 ทำให้เลเกอส์ได้กลับมาครองแชมป์อีกครั้งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1988

ถ้าดูตามสถิติแล้ว ในฤดูกาล 2000-01 โคบีทำผลงานได้แทบไม่ต่างกับฤดูกาลก่อนหน้า นอกจากทำคะแนนเฉลี่ยได้มากขึ้นถึง 6 คะแนนต่อเกม(28.5) เป็นอีกปีนึงที่เขาทำแอสซิสต์สูงสุดในทีม ปีนี้ยังเป็นปีที่ความไม่ลงรอยกันระหว่างโอนีลกับไบรอันต์เริ่มที่จะเปิดเผยมากขึ้น อย่างไรก็ตามเลเกอส์ก็ยังชนะได้ถึง 56 เกม แม้จะน้อยกว่าปีที่แล้ว 11 เกม และทำสถิติในรอบเพลย์ออฟด้วยการชนะ 15 แพ้ 1 ด้วยการกวาดพอร์ตแลนด์ เทรล เบลเซอร์ส, ซาคราเมนโต้ คิงส์ และ ซานอันโตนีโอ สเปอร์ส ก่อนที่จะแพ้เกมแรกในรอบชิงชนะเลิศ กับ ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตีซิกเซอส์ ในช่วงต่อเวลา แล้วกลับมาชนะ 4 เกมรวดคว้าแชมป์สมัยที่ 2 ติดต่อกัน ไบรอันต์ได้ลงสนามมากกว่าเดิมในช่วงเพลย์ออฟและทำให้ผลงานเฉลี่ยของเขาเพิ่มขึ้นเป็น 29.4 คะแนน 7.3 รีบาวน์ 6.1 แอสซิสต์ต่อเกม และในช่วงเพลย์ออฟนั้นเอง แชคีล โอนีล เพื่อนร่วมทีมประกาศว่า โคบีคือผู้เล่นที่ดีที่สุดในเอ็นบีเอ ไบรอันต์ได้รับเลือกให้ติดทีมยอดเยี่ยมอันดับสอง (All-NBA Second Team) และ ทีมรับยอดเยี่ยม (NBA All Defensive Team) เป็นปีที่สองติดต่อกัน และยังได้รับเลือกให้ติดทีมรวมดารา (NBA All-Star) เป็นผู้เล่นตัวจริง เป็นปีที่สามติดต่อกันด้วย (เว้นปี 1999 ที่ไม่มีการแข่งขัน All-Star)

ในฤดูกาล 2001-02 โคบีลงสนามในฤดูกาลปกติถึง 80 เกมเป็นครั้งแรกในอาชีพการเล่น เขายังคงทำผลงานเฉลี่ยต่อเกม 25.2 คะแนน 5.5 รีบาวน์ 5.5 แอสซิสต์ ซึ่งเป็นการทำแอสซิสต์สูงที่สุดในทีมอีกครั้งนึง เขาสถิติที่ดีที่สุดในอาชีพการเล่นด้วยการชู้ตที่แม่นยำถึง 46.9% ได้รับเลือกให้ติด ทีมรวมดารา และ ทีมรับยอดเยี่ยม อีกครั้ง และได้รับเลือกให้ติด ทีมยอดเยี่ยมอันดับหนึ่ง (All-NBA First Team) เป็นครั้งแรกในชีวิต เลเกอส์ชนะ 58 เกม เป็นอันดับสองของฝั่งตะวันตก รองจากคู่แข่งร่วมรัฐ คือ ซาคราเมนโต้ คิงส์ ถนนในรอบเพลย์ออฟไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบสำหรับเลเกอส์เหมือนปีที่ผ่านมา แม้พวกเขาจะกวาด พอร์ตแลนด์ในรอบแรก เอาชนะ สเปอร์ส 4-1 เกม แต่พวกเขาเสียเปรียบ ซาคราเมนโต้ เนื่องจากทำอันดับได้แย่กว่าตอนฤดูกาลปกติ และต้องกลับไปเล่นที่บ้านของ ซาคราเมนโต้ ในเกมสุดท้าย เพราะการแข่งขันยื้ดเยื้อไปถึงเกมที่ 7 เป็นครั้งแรกที่เลเกอส์ต้องแข่งถึงเกมสุดท้ายแบบนี้ในรอบชิงชนะเลิศของฝั่งตะวันตก นับตั้งแต่ปี 2000 อย่างไรก็ตาม เลเกอส์ก็สามารถเอาชนะและเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ในรอบชิงชนะเลิศ ไบรอันต์ ทำคะแนนเฉลี่ย 26.8 แต้ม ด้วยเปอร์เซนต์การชู้ต 51.4% รีบาวน์ 5.8 ครั้ง และแอสซิสต์ 5.3 ครั้งต่อเกม รวมถึงทำคะแนนรวมเท่ากับ 1 ใน 4 ของคะแนนรวมของทีม ด้วยวัยเพียง 23 ปี เขากลายเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ได้แชมป์เอ็นบีเอ 3 สมัย การเล่นของเขาเป็นที่จดจำและยกย่องในการเล่นช่วงควอร์เตอร์ที่ 4 ของเกม โดยเฉพาะในสองรอบสุดท้ายของเพลย์ออฟ ทำให้เขามีชื่อในการเป็นผู้เล่นที่ทีมพึ่งพาได้ในช่วงเวลาสำคัญ

ไปไม่ถึงฝั่งฝัน (ปี 2002-2004)[แก้]

ในฤดูกาล 2002-2003 ไบรอันต์ทำคะแนนเฉลี่ย 30 แต้มต่อเกม และจารึกประวัติศาสตร์ด้วยการทำคะแนน 40 แต้มหรือมากกว่า ติดต่อกันถึง 9 เกม ทำให้เดือนกุมภาพันธ์ เขาทำคะแนนเฉลี่ย 40.6 แต้มต่อเกม และในฤดูกาลเดียวกันนี้เอง เขายังทำ 6.9 รีบาวน์ 5.9 แอสซิสต์ และ 2.2 สตีลต่อเกมอีกด้วย โคบีได้รับโหวตให้ติดทีม All-NBA และ All-Defensive 1st Team อีกครั้ง และมาเป็นอันดับ 3 ในการโหวตให้รับรางวัล MVP หลังจากทำสถิติ ชนะ 50 แพ้ 32 ครั้ง ในฤดูกาลปกติ เลเกอส์ กลับพ่ายแพ้ให้กับ ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ในรอบรองชนะเลิศฝั่งตะวันตก ก่อนที่สเปอร์จะเข้าไปคว้าแชมป์เอ็นบีเอได้ใน 6 เกม

ฤดูกาลถัดมา 2003-2004 เลเกอส์ ได้ตัวผู้เล่นระดับออลสตาร์ อย่างคาร์ล มาโลน และแกรี่ เพย์ตัน มาร่วมทีมเพื่อจะมุ่งสู่การคว้าแชมป์เอ็นบีเออีกครั้ง ก่อนฤดูกาลแข่งขันจะเริ่มต้น โคบี ไบรอันต์ ถูกจับกุมข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ ทำให้เขาพลาดการลงสนามบางเกมเนื่องจากต้องไปปรากฏตัวที่ศาล หรือบางครั้งต้องไปขึ้นศาลก่อนแล้วจึงเดินทางตามมาที่สนามแข่งขันในวันเดียวกัน ในเกมสุดท้ายของฤดูกาลปกติ โคบีชู้ตลูกสุดท้ายก่อนหมดเวลาถึง 2 ครั้ง ทำให้ทีมชนะเป็นผู้นำในโซนแปซิฟิก ช่วงสุดท้ายของควอเตอร์ที่ 4 ไบรอันต์ยิงสามแต้ม ทำให้คะแนนเสมอกันและต้องต่อเวลา เกมสูสียืดเยื้อจนต้องต่อเวลาเป็นครั้งที่สอง ก่อนที่ไบรอันต์จะยิงลูกสุดท้ายให้เลเกอส์ชนะไป 105-104 คะแนน ทีมที่ประกอบไปด้วยผู้เล่นตัวจริงซึ่งน่าจะได้เข้าสู่หอเกียรติยศในอนาคตทั้ง 4 คนอย่าง โอนีล, มาโลน, เพย์ตัน และไบรอันต์ นำพาทีมให้เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้อีกครั้ง แต่ทีม Detroit Pistons ก็ดับฝันของพวกเขาใน 5 เกม ในรอบเพลย์ออฟนั้น โคบีเฉลี่ยต่อเกม 22.6 คะแนน กับ 4.4 แอสซิสต์ และชู้ตเพียง 35.1% เมื่อฤดูกาลสิ้นสุดลง ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทีมก็เกิดขึ้นเมื่อ โค้ชฟิล แจ็คสันไม่ได้ต่อสัญญาและรูดี้ ทอมจาโนวิข มารับช่วงเป็นโค้ชต่อ ผู้เล่นหลักอย่าง แชคีล โอนีล โดนเทรดไปอยู่ ไมอามี่ ฮีต แลกกับ ลามาร์ โอดอม, คารอน บัตเลอร์ และ ไบรอัน แกรนต์ ส่วนโคบีก็ปฏิเสธข้อเสนอของ ลอส แอนเจลิส คลิปเปอร์ส และจรดปากกาเซ็นสัญญา 7 ปี กับเลเกอส์

ความผิดหวังในรอบเพลย์ออฟ (ปี 2004-2007)[แก้]

โคบี ขณะชู้ตลูกโทษให้กับทีมในปี 2005

ไบรอันต์ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงฤดูกาล 2005-06 ด้วยชื่อเสียงที่ย่ำแย่จากสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปีก่อน เรื่องเสียหายเรื่องหนึ่งก็คือคำวิพากษ์วิจารณ์ของ อดีตโค้ช ฟิล แจ็กสัน ที่เขียนไว้ในหนังสือ The Last Season: A Team in Search of its Soul ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในฤดูกาล 2003-004 ในหนังสือนั้น แจ็กสัน กล่าวถึงโคบีว่า เป็นคนที่ "ไม่สามารถที่จะโค้ช (สั่งสอนแนะนำ)ได้"

ฤดูกาลผ่านไปได้แค่ครึ่งทาง รูดี้ ทอมจาโนวิช ก็ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าโค้ชของเลเกอส์กะทันหันด้วยปัญหาสุขภาพ ทำให้ผู้ช่วยโค้ช แฟรงก์ แฮมเบล็น ต้องมารับหน้าที่แทน แม้ว่าโคบีจะทำคะแนนเฉลี่ยต่อเกมสูงสุดเป็นอันดับสองของลีก แต่เลเกอส์ก็ล้มลุกคลุกคลานและไม่สามารถเข้ารอบเพลย์ออฟได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ ทำให้โคบีโดนลดระดับโดยรวมลง ไม่ได้รับเลือกให้ติดทีมรับยอดเยี่ยม ถูกลดไปอยู่ในทีม All-NBA อันดับสาม ในระหว่างฤดูกาลนั้นไบรอันต์ยังไปมีเรื่องมีราวกับ เรย์ อัลเลน และ คาร์ล มาโลน ด้วย

ฤดูกาล 2005-06 เรียกได้ว่าเป็นทางแยกสำคัญในอาชีพนักบาสเก็ตบอลของไบรอันต์ เมื่อ ฟิล แจ็กสัน กลับเข้ามาคุมทีมอีกครั้ง ไบรอันต์เห็นพ้องกับทีมที่นำโค้ชกลับมา และทั้งสองก็ทำงานด้วยกันได้อย่างดี ช่วยกันพาทีมกลับเข้าสู่รอบเพลย์ออฟได้อีกครั้ง การทำคะแนนของไบรอันต์พุ่งขึ้นสูงสุดในชีวิตการเล่นอาชีพ วันที่ 20 ธันวาคม 2005 เขาทำคะแนนได้ 62 คะแนน ในสามควอเตอร์ ที่เจอกับ ดัลลัส มาเวอริกส์ เมื่อเข้าสู่ควอเตอร์ที่สี่ ไบรอันต์ก็ทำคะแนนมากกว่าทีมมาเวอริกส์ทั้งทีมไปแล้วด้วยคะแนน 62-61 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่มีผู้เล่นทำแบบนี้ได้ในเวลาแค่ สามควอเตอร์ นับตั้งแต่ปรับเวลา Shot clock มาเหลือ 24 วินาที ต่อมาเมื่อเลเกอส์พบกับทีม ไมอามี่ ฮีท ในวันที่ 16 มกราคม 2006 ไบรอันต์ กับ แชคิล โอนีล ก็กลายเป็นหัวข้อข่าวดังเมื่อทั้งสองจับมือและกอดกันก่อนเริ่มเกม นับเป็นการสิ้นสุดความขัดแย้งระหว่างทั้งสองที่ยาวนานมาตั้งแต่ โอนีล ออกจากลอสแอนเจลิสไป หนึ่งเดือนต่อมาในเกม All-Star 2006 ทั้งสองก็ยังพูดคุยหัวเราะกันหลายต่อหลายครั้ง

วันที่ 22 มกราคม 2006 ไบรอันต์ทำคะแนน 81 แต้ม ในเกมที่เอาชนะ โตรอนโต้ แร็ปเตอร์ส ไปได้ 122-104 นอกจากจะเป็นการทำลายสถิติสูงสุดของทีม ที่ เอลกิน เบย์เลอร์ เคยทำไว้ 71 คะแนนแล้ว ยังเป็นการทำคะแนนสูงสุดอันดับสองในประวัติศาสตร์เอ็นบีเอ เป็นรองเพียงแค่ วิลต์ แชมเบอร์เลน ที่ทำไว้ 100 แต้มเมื่อปี 1962 เท่านั้น ในเดือนเดียวกันนั้นเอง โคบียังกลายเป็นผู้เล่นคนแรกนับแต่ปี 1964 ที่ทำคะแนน 45 แต้มหรือมากกว่า 4 เกมติดต่อกัน มีเพียงแชมเบอร์เลน และเบย์เลอร์เท่านั้นที่เคยทำแบบนี้ได้ สถิติในเดือนมกราคมของไบรอันต์ ทำคะแนนเฉลี่ย 43.4 แต้มต่อเกม สูงสุดเป็นอันดับแปดในประวัติศาสตร์การทำคะแนนเฉลี่ยในเดือนเดียวของเอ็นบีเอ และเป็นคนเดียวที่ทำได้นอกจาก แชมเบอร์เลน เมื่อจบฤดูกาล 2005-06 ไบรอันต์จารึกประวัติศาสตร์ของทีมในหนึ่งฤดูกาล ในการทำคะแนนมากกว่า 40 แต้ม (27 เกม)และทำคะแนนรวมสูงสุด 2,832 แต้ม เขาได้รางวัลผู้เล่นที่ทำคะแนนสูงสุดในลีกเป็นครั้งแรก (35.4 แต้มต่อเกม) จากการโหวตผู้เล่นทรงคุณค่าแห่งปี 2006 เขาได้คะแนนรวมเป็นอันดับสี่ แต่ได้รับการโหวตให้เป็นอันดับหนึ่งถึง 22 เสียง เป็นรองเพียงแค่ผู้ชนะคือ สตีฟ แนช ทีม ลอสแอนเจลิส เลเกอส์ ทำสถิติ ชนะ 45 แพ้ 37 ชนะมากกว่าฤดูกาลก่อนหน้า 11 เกม และผู้เล่นทั้งทีมดูจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง

ต่อมาในฤดูกาลนั้น มีข่าวว่า ไบรอันต์ จะเปลี่ยนหมายเลขเสื้อ จากหมายเลข 8 เป็นหมายเลข 24 เมื่อเริ่มต้นฤดูกาล 2006-07 หมายเลขเสื้อของไบรอันต์ที่เขาใส่เป็นครั้งแรกตอนเรียนมัธยมปลายคือ เบอร์ 24 ก่อนจะเปลี่ยนไปใส่เบอร์ 33 หลังจากฤดูกาลจบลง โคบีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทีเอ็นที ว่าเขาอยากใส่เบอร์ 24 มาตั้งแต่ตอนเริ่มเล่นในเอ็นบีเอแล้ว แต่ตอนนั้นมีคนใช้เบอร์นี้อยู่ และจะใช้เบอร์ 33 ก็ไม่ได้ เพราะเบอร์นี้ถูกยกเลิกการใช้เพื่อเป็นเกียรติกับ คารีม อับดุล-จับบาร์ ตัวโคบีเองใส่หมายเลข 143 ตอนอยู่ที่ค่ายอาดิดาส ABC ก็เลยเอาเลขมารวมกัน ได้เป็นเลข 8 ในรอบแรกของเพลย์ออฟ เลเกอร์เล่นได้ดีและขึ้นนำทีม ฟินิกส์ ซันส์ 3-1 เกม เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในเกมสี่ เมื่อโคบีชู้ตลูกสุดท้ายในช่วงเวลาปกติทำให้เกมต้องตัดสินในช่วงต่อเวลา และยังชู้ตลูกสุดท้ายทำให้ทีมชนะในช่วงต่อเวลาอีกด้วย ในเกมที่ 6 ที่เหลือเวลาอีกเพียงหกวินาที พวกเขาก็จะปราบทีมซันส์ได้แล้ว แต่พวกเขากลับพลาดท่า แพ้ไปในช่วงต่อเวลา 126-118 และแม้ว่า โคบีจะทำคะแนนเฉลี่ย 27.9 แต้มต่อเกมในการสู้กับฟินิกส์ ซันส์ เลเกอส์ก็พังไม่เป็นท่าและพ่ายตกรอบเพลย์ออฟใน 7 เกม ช่วงปิดฤดูกาล 2006 ไบรอันต์ต้องผ่าตัดเข่า ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมทีมชาติเพื่อแข่งบาสเก็ตบอลชิงแชมป์โลก ประจำปี 2006 ได้

ในช่วงฤดูกาล 2006-07 ไบรอันต์ได้รับเลือกให้เล่นในเกม All-Star เป็นครั้งที่ 9 และในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ เขาทำ 31 คะแนน 6 แอสซิสต์ และ 6 สตีล ทำให้เขาได้รับรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าของเกมออล สตาร์เป็นครั้งที่สอง ตลอดฤดูกาลนั้นไบรอันต์มีส่วนในเหตุการณ์ในสนามหลายครั้ง วันที่ 28 มกราคม ขณะที่กระโดดชู้ตลูกสำคัญที่อาจทำให้ทีมชนะ เขาพยายามจะประชิดตัวเพื่อเรียกฟาวล์จาก มานู จิโนบิลี่ การ์ดของ ซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส แต่กลับเหวี่ยงศอกใส่หน้าของ จิโนบิลี่ ซึ่งต่อมาทางเอ็นบีเอได้ตรวจสอบจากภาพและตัดสินห้ามไบรอันต์ลงเล่นในเกมต่อมา ด้วยเหตุผลว่า โคบี "เคลื่อนไหวแบบผิดธรรมชาติ" คือ จงใจเหวี่ยงศอกไปด้านหลัง หลังจากนั้น ในวันที่ 6 มีนาคม ดูเหมือนว่า โคบี จะทำแบบเดิมอีก คราวนี้เป็นการเหวี่ยงแขนใส่ มาร์โก้ ยาริก การ์ดของ มินเนโซต้า ทิมเบอร์วูลฟ์ส วันที่ 7 มีนาคม เอ็นบีเอจึงห้ามไบรอันต์ลงเล่นอีกหนึ่งเกม เมื่อกลับมาลงเล่นในวันที่ 9 มีนาคม เขาศอกใส่หน้า ไคล์ คอร์เวอร์ แต่ครั้งนี้ เอ็นบีเอพิจารณาว่า เป็นการ ฟาวล์รุนแรง แบบที่ 1

วันที่ 17 มีนาคม โคบีทำคะแนนสูงสุดในฤดูกาล คือ 65 แต้ม ในเกมที่เลเกอส์เปิดบ้านรับ พอร์ตแลนด์ เทรล เบลเซอร์ ช่วยให้ทีมชนะหลังจากแพ้รวดมา 7 เกม เป็นการทำคะแนนสูงสุดอันดับสองในชีวิตการเล่น 11 ปี เกมถัดมาไบรอันต์ทำ 50 คะแนน เมื่อเจอกับ มินเนโซต้า ทิมเบอร์วูลฟ์ส และ ทำ 60 คะแนนในบ้านของ เมมฟิส กริซลีย์ กลายเป็นผู้เล่นคนที่สองของเลเกอส์ที่ทำ 50 คะแนนหรือมากกว่าติดต่อกันสามเกม ไม่เคยมีใครทำมาก่อนหลังจากที่ ไมเคิล จอร์แดน ทำไว้เมื่อปี 1984

ปิดฉาก 20 ปี (ปี 2016)[แก้]

หลังจากฟื้นฟูตัวเองจากอาการบาดเจ็บเพื่อกลับมาเล่นในฤดูกาล 2015-16 ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ 20 ทำให้โคบีผ่านสถิติของจอห์น สต๊อกตัน ที่ 19 ฤดูกาล สำหรับผู้เล่นที่ลงเล่นให้กับหนึ่งทีมด้วยจำนวนฤดูกาลที่มากที่สุด และในวันที่ 29 พฤษจิกายน 2015 โคบีได้ประกาศว่าจะเลิกเล่นบาสเกตบอลอาชีพโดยได้เขียนจดหมายบอกกล่าวต่อสาธารณะรวมถึงจัดพิมพ์แจกให้กับแฟน ๆ ที่เข้าชมการแข่งขันในเกมพบกับ อินเดียน่า เพเซอร์ส และเพื่อเป็นเกียรติแก่ตัวเขาเองทีมในเอ็นบีเอแต่ละทีมได้ทำวิดีโอพรีเซนต์เพื่อเป็นเกียรติให้กับโคบีและเปิดในช่วงก่อนแข่งในการเล่มเกมเยือนพบคู่แข่งแต่ละทีมเป็นครั้งสุดท้าย รวมถึงการได้รับคะแนนโหวตจากแฟน ๆ เป็นอันดับ 1 ถึง 1.9 ล้านโหวต ให้ลงเล่นเล่นเกมออล สตาร์ ในปี 2016 เป็นครั้งสุดท้ายแซงหน้าสตีเฟน เคอร์รี่ อันดับ 2 ที่ 1.6 ล้านโหวต และจบเกมด้วย 10 คะแนน 6 รีบาวด์ และ 7 แอสซิสต์

ท้ายที่สุด ในวันที่ 13 เมษายน 2016 โคบีลงเล่นเกมสุดท้ายในอาชีพของเขาและเป็นเกมสุดท้ายต่อหน้าแฟน ๆ ของทีมในสนามเหย้าสเตเปิล เซ็นเตอร์ โดยก่อนเกมได้มีการพูดยกย่องถึงตัวเขาเองโดย ตำนานของทีม เออร์วิน "เมจิก" จอห์นสัน และวิดีโอพรีเซนต์เพื่อขอบคุณและอวยพรโคบีทั้งจากอดีตเพื่อนร่วมทีมอย่างแชคิล โอนีล และพาว กาซอล ตัวแทนผู้เล่นจากทีมอื่นอย่างสตีเฟน เคอร์รี่ จากโกลเดน สเตต วอร์ริเออร์ส ดเวย์น เวด จากไมอามี ฮีต เลบอรน เจมส์ จากคลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส และอดีตโค้ชฟิล แจ็กสัน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความพิเศษอีกคือ ได้มีการนำพื้นไม้พิเศษที่สกรีนหมายเลข 8 และ 24 มาใช้เป็นกรณีพิเศษรวมถึงยังมีการประกาศชื่อของโคบีทุกครั้งที่ทำแต้มได้ โคบีถูกเปลี่ยนตัวออกในควอเตอร์ที่สี่ขณะเหลือเวลาอยู่ 4.1 วินาที ด้วย 60 คะแนน 4 รีบาวด์ 4 แอสซิสต์ 1 สตีล และ 1 บล็อก ปิดฉากการเล่นบาสเกตบอลอาชีพเป็นระยะเวลาถึง 20 ปี นอกจากนี้ในวันที่ 24 สิงหาคม 2016 ทางการเมืองลอส แอนเจลิส ได้ประกาศให้วันดังกล่าวเป็น "วันโคบี ไบรอันต์" (Kobe Bryant Day) โดยมีที่มาจากเสื้อหมายเลข 8 ซึ่งแทนด้วยเดือนสิงหาคม และหมายเลข 24 ซึ่งแทนด้วยวันที่เพื่อเป็นการยกย่องในสิ่งที่โคบีได้ทำให้กับเมือง

การเสียชีวิต[แก้]

เฮลิคอปเตอร์รุ่น N72EX รุ่นที่ประสบอุบัติเหตุ

โคบี ไบรอันต์เสียชีวิตในอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่เมืองกาลาบาซัส รัฐแคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 2020 หนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้นรวมถึงเจียนนา ลูกสาววัย 13 ปีของโคบีด้วย[4]

การไว้อาลัย[แก้]

แฟนบาสเกตบอลจำนวนมากออกมาไว้อาลัยให้แก่โคบี บริเวณหน้าสนาม สเตเปิล เซนเตอร์

   การสูญเสียสุดยอดนักบาสระดับตำนานผู้นี้ ได้สร้างความเสียใจให้กับบรรดาแฟนๆ ทั่วโลก รวมถึงเพื่อนร่วมอาชีพและคนดังหลากหลายวงการที่ออกมาโพสต์ไว้อาลัยให้กับการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของโคบี ไบรอันท์ ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยอดีตคู่หูอย่าง ชาคิล โอนีล ได้โพสต์อาลัยถึงโคบีว่า "ไม่มีคำพูดใดๆ ที่จะถ่ายทอดความรู้สึกอันเจ็บปวดนี้ได้ ผมต้องเผชิญความโศกเศร้าด้วยการสูญเสียหลานสาวจิอันนาและน้องชายสุดที่รักของผม คู่หูของผมที่ร่วมคว้าแชมป์มาด้วยกัน เขาคือเพื่อนของผม และคือครอบครัวของผม"

     ส่วน คารีม อับดุล-จาบบาร์ ตำนานนักบาสฯ เอ็นบีเอ กล่าวถึงรุ่นน้องว่า "เป็นเรื่องยากสำหรับผมที่จะใช้ถ้อยคำเพื่อบอกว่าผมรู้สึกอย่างไร โคบีเป็นแฟมิลีแมนที่มหัศจรรย์ เขารักภรรยาและลูกสาว อีกทั้งยังเป็นนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมที่สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกๆ เจเนเรชั่น"

     รวมถึง ไมเคิล จอร์แดน หนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดตลอดกาลของบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอ โพสต์ว่า "ผมยังคงอยู่ในอาการช็อกกับข่าวการเสียชีวิตของโคบีและจิอันนา ไม่มีคำพูดใดจะสามารถบรรยายความเจ็บปวดที่ผมกำลังรู้สึก ผมรักโคบี เขาเปรียบเสมือนน้องชายของผม เรามักพูดคุยกันอยู่เสมอ และแน่นอนผมโคตรคิดถึงบทสนทนาเหล่านั้นเลย เขาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว และเป็นหนึ่งในคนที่เก่งที่สุดในสนามที่ครั้งหนึ่งผมเคยต่อกรด้วย โคบีเป็นทั้งคุณพ่อที่มหัศจรรย์ และนำความภาคภูมิใจสู่ลูกสาวให้รักในเกมบาสเก็ตบอล ผมและภรรยาขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งไปถึงวาเนสซา องค์กรเลเกอร์ส และแฟนๆ บาสเก็ตบอลทั่วโลก"

     ขณะที่อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ก็ได้โพสต์ข้อความอาลัยในทวิตเตอร์ว่า "โคบีถือเป็นตำนานในสนาม และกำลังจะเริ่มเขียนตำนานบทต่อไป การสูญเสียจิอันนาเป็นเรื่องที่หัวใจสลายสำหรับเราในฐานะคนเป็นพ่อเป็นแม่ ผมและมิเชลขอส่งมอบความรักและสวดภาวนาให้กับวาเนสซา (ภรรยาของโคบี) และสมาชิกในครอบครัวของไบรอันท์"

     เช่นเดียวกับ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่แสดงความเสียใจว่า "นี่ถือเป็นข่าวที่เลวร้ายมากสำหรับวงการกีฬา เพราะโคบีถือเป็นนักบาสเก็ตบอลผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาล เราต่างทราบกันดีว่าชายผู้นี้รักครอบครัวมาก และเขากำลังมีแผนงานในอนาคตที่จะทำเพื่อสนับสนุนวงการกีฬา ผมขอแสดงความเสียใจต่อวาเนสซา และครอบครัวของไบรอันท์ ขอพระเจ้าคุ้มครอง"

     นอกจากนี้ยังมีบุคคลดังในวงการกีฬาอื่นๆ ที่ร่วมโพสต์ไว้อาลัยให้กับโคบี ไม่ว่าจะเป็น ลิโอเนล เมสซี, เนย์มาร์, คิลิยัน เอ็มบัปเป้, ปอล ป๊อกบา และราฮีม สเตอร์ลิง รวมถึงสโมสรฟุตบอลทั่วโลก ลิเวอร์พูล, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, เชลซี, อาร์เซนอล, บาร์เซโลนา, เรอัล มาดริด และเอซี มิลาน เป็นต้น

เครดิต: ธนพงษ์ วสุธนทรัพย์ / GQ Thailand Magazine

อันดับ[แก้]

โคบี ไบรอันต์ ถือเป็นผู้เล่นที่ทำคะแนนรวมสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ตลอดกาลของเอ็นบีเอ

ตัวเลขข้างล่างนี้เป็นการนับรวมเฉพาะ จำนวนคะแนน รีบาวด์ แอสซิสต์ สตีล บล็อก การชู้ต 3 คะแนน ฤดูกาล และเกมที่ลงเล่นในเอ็นบีเอและทีมทั้งในฤดูกาลปกติและรอบเพลย์-ออฟส์

NBA[แก้]

  • 33,643 คะแนน อันดับ 4 ตลอดกาล
  • รีบาวด์ (ไม่ติดอันดับ)
  • 6,306 แอสซิสต์ อันดับ 29 ตลอดกาล
  • 1,944 สตีล อันดับ 14 ตลอดกาล
  • บล็อก (ไม่ติดอันดับ)
  • 3 คะแนนลง 1,827 ครั้ง อันดับ 11 ตลอดกาล
  • 20 ฤดูกาล อันดับ 4 ร่วม ตลอดกาล
  • ลงเล่น 1,346 เกม อันดับ 11 ตลอดกาล

เอ็นบีเอ เพลย์-ออฟส์[แก้]

  • 5,640 คะแนน อันดับ 3 ตลอดกาล
  • 1,119 รีบาวด์ อันดับ 36 ตลอดกาล
  • 1,040 แอสซิสต์ อันดับ 9 ตลอดกาล
  • 310 สตีล อันดับ 6 ตลอดกาล
  • 114 บล็อก (ไม่ติดอันดับ)
  • 3 คะแนนลง 292 ครั้ง อันดับ 4 ตลอดกาล
  • เข้าไปเล่นในรอบเพลย์-ออฟส์ 15 ครั้ง อันดับ 15 ร่วม ตลอดกาล
  • ลงเล่น 220 เกม อันดับ 5 ตลอดกาล

ทีม[แก้]

  • 33,643 คะแนน อันดับ 1 ตลอดกาล
  • 7,047 รีบาวด์ อันดับ 3 ตลอดกาล
  • 6,306 แอสซิสต์ อันดับ 2 ตลอดกาล
  • 1,944 สตีล อันดับ 1 ตลอดกาล
  • 640 บล็อก อันดับ 5 ตลอดกาล
  • 3 คะแนนลง 1,827 ครั้ง อันดับ 1 ตลอดกาล
  • 20 ฤดูกาล อันดับ 1 ตลอดกาล
  • ลงเล่น 1,346 เกม อันดับ 1 ตลอดกาล

ทีมในรอบเพลย์-ออฟส์[แก้]

  • 5,640 คะแนน อันดับ 1 ตลอดกาล
  • 1,119 รีบาวด์ อันดับ 6 ตลอดกาล
  • 1,040 แอสซิสต์ อันดับ 2 ตลอดกาล
  • 310 สตีล อันดับ 2 ตลอดกาล
  • 144 บล็อก อันดับ 4 ตลอดกาล
  • 3 คะแนนลง 292 ครั้ง อันดับ 1 ตลอดกาล
  • เข้าไปเล่นในรอบเพลย์-ออฟส์ 15 ครั้ง อันดับ 1 ตลอดกาล
  • ลงเล่น 220 เกม อันดับ 1 ตลอดกาล

ข้อมูล ณ วันที่ 20 มิถุนายน 2016

ผลงานในการแข่งขันบาสเกตบอล[แก้]

  • คว้าแชมป์เอ็นบีเอ สแลม ดังก์ คอนเทสต์ 1997
  • ติดทีมออล สตาร์ 18 ครั้ง 1998, 2000–2016
  • แชมป์เอ็นบีเอ 5 สมัย ปี 2000 2001 2002 2009 2010
  • รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าเกมรอบชิงชนะเลิศ 2009 2010
  • รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่า 2008
  • รางวัลผู้เล่นทำแต้มมากที่สุด 2 สมัย 2006 2007
  • ติดทีมรวมเอ็นบีเอ 11 สมัย ปี 2002-2004 2006-2013
  • ทีมรวมเอ็นบีเอชุดที่สอง 2 สมัย ปี 2000 2001
  • ทีมรวมเอ็นบีเอชุดที่สาม 2 สมัย ปี 1999 2005
  • ทีมรวมแนวรับ 9 สมัย ปี 2000 2003-2004 2006-2011
  • ทีมรวมแนวรับชุดที่สอง 2 สมัย ปี 2001 2002
  • ทีมรวมรุกกี้ชุดที่สอง 1997
  • รางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าเกมออล สตาร์ 4 สมัย ปี 2002, 2007, 2009, 2011

อ้างอิง[แก้]

  1. Mallozzi, Vincent (December 24, 2006). "'Where's Kobe? I Want Kobe.'". The New York Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ December 23, 2021.
  2. Ding, Kevin (January 8, 2008). "Kobe Bryant's work with kids brings joy, though sometimes it's fleeting". Orange County Register. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 25, 2012.
  3. NBA Staff (n.d.). "Kobe Bryant Bio". NBA.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ March 6, 2010. สืบค้นเมื่อ August 5, 2007.
  4. Kobe Bryant is killed in helicopter crash in Calabasas. Winton, Richard and Dan Woike, Los Angeles Times, January 26, 2020


อ้างอิงผิดพลาด: มีป้ายระบุ <ref> สำหรับกลุ่มชื่อ "lower-alpha" แต่ไม่พบป้ายระบุ <references group="lower-alpha"/> ที่สอดคล้องกัน