ปลาหมอคิวปิโด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Biotodoma cupido)
ปลาหมอคิวปิโด
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
สกุล: Biotodoma
สปีชีส์: B.  cupido
ชื่อทวินาม
Biotodoma cupido
(Heckel, 1840)
ชื่อพ้อง
  • Geophagus cupido Heckel, 1840

ปลาหมอคิวปิโด หรือ ปลาหมอคิวปิด (อังกฤษ: Greenstreaked eartheater, Cupid cichlid) เป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Biotodoma cupido จัดอยู่ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae)

มีลักษณะแบนข้าง ส่วนหัวโค้งมน ปลายปากแหลมเล็กน้อย ดวงตาใหญ่มีเส้นสีดำพาดผ่านในแนวตั้ง ปากมีขนาดเล็กอยู่ในตำแหน่งกลางของหน้า บริเวณแก้มมีเส้นสีเขียวสะท้อนแสง ซึ่งเมื่อปลาโตขึ้นจะเพิ่มขึ้นด้วย ลำตัวเป็นสีเหลืองน้ำผึ้งฉาบด้วยสีฟ้าเขียว ครีบอกเรียวยาวที่ก้านครีบแรกเป็นสีเหลือบเขียวฟ้าเหมือนลายที่บริเวณหน้า ขอบครีบหลังมีสีฟ้าอมเขียว ครีบก้นมีขนาดใหญ่เป็นสีชมพูอ่อน ขอบบนล่างของครีบเป็นก้านครีบแข็งใหญ่สีเหลือบฟ้าขาว ที่ลำตัวเหนือเส้นข้างลำตัวมีจุดสีดำขนาดใหญ่เห็นชัดเจน

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 14 เซนติเมตร พบกระจายพันธุ์ในแหล่งน้ำที่มีกระแสน้ำไม่แรงนัก พื้นท้องน้ำมีเศษซากใบไม้และอินทรียวัตถุทับถมกัน ทำให้มีสภาพน้ำเป็นกรดอ่อน ๆ ในทวีปอเมริกาใต้ แถบประเทศเปรูจนถึงชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกของประเทศบราซิล เช่น แม่น้ำอเมซอน, โอริโนโค และกายอานา ซึ่งปลาในแต่ละแหล่งน้ำอาจมีความแตกต่างกันบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในลักษณะและสีสัน มีพฤติกรรมการหากินโดยกินสัตว์น้ำขนาดเล็กและแพลงก์ตอนตามพื้นน้ำ

พฤติกรรรมเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ ปลาเพศเมียจะมีขนาดและครีบต่าง ๆ ใหญ่กว่าเพศผู้ โดยปลาทั้งคู่จะขุดหลุมตื้น ๆ เพื่อวางไข่ และมีพฤติกรรมขับไล่ปลาหรือสัตว์อื่นที่ผ่านเข้ามาใกล้ ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัวประมาณ 3 วัน เมื่อฟักเป็นตัวแล้ว ปลาเพศเมียจะนำลูกไปเลี้ยงไว้ในหลุมที่ขุดไว้ ส่วนเพศผู้จะทำหน้าที่เสมือนยามรักษาความปลอดภัยภายนอก

เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม นับได้ว่าเป็นปลาหมอสีชนิดหนึ่งที่มีความสวยงามและไม่ดุร้าย และจะยิ่งเพิ่มความสวยงามของสีสันขึ้นเมื่อต้องกับแสงแดด อีกทั้งสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในตู้เลี้ยง แต่สำหรับในประเทศไทย เป็นปลาที่ค่อนข้างหายากเนื่องจากมีการนำเข้ามาจำหน่ายเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น

ซึ่งในชื่อวิทยาศาสตร์นั้น คำว่า Biotos มาจากภาษากรีกหมายถึง "ชีวิต" ผสมกับคำว่า domos หมายถึง "ม้า" และคำว่า cupio มาจากภาษาละตินซึ่งหมายถึง "Cupidus" หรือคิวปิด ซึ่งเป็นกามเทพ ในความหมายซึ่งผู้อนุกรมวิธาน (โยฮานน์ ยาค็อบ เฮ็กเคล) ต้องการสื่อความหมายว่า ตกหลุมรักปลาชนิดนี้ตั้งแต่แรกพบ[1]

อ้างอิง[แก้]

  1. ป.ปลาระเบิด(เกร็ดกระจาย), ปลาระเบิดเชื้อเชิญ คิวปิโด ปลาหมอกามเทพ สีหวานจ๋อย คอลัมน์ Cichild Coner หน้า 88-92 นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 15 ปีที่ 2: กันยายน 2011

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]