อเล็คซันเดอร์พลัทซ์

พิกัด: 52°31′18″N 13°24′48″E / 52.52167°N 13.41333°E / 52.52167; 13.41333
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Alexanderplatz)

52°31′18″N 13°24′48″E / 52.52167°N 13.41333°E / 52.52167; 13.41333

อเล็คซันเดอร์พลัทซ์
ทัศนียภาพจัตุรัสจากหอโทรทัศน์
นาฬิกาเวลาโลก (Weltzeituhr) ในจัตุรัส

อเล็คซันเดอร์พลัทซ์ (เยอรมัน: Alexanderplatz, ออกเสียง: [ʔalɛkˈsandɐˌplats] ( ฟังเสียง)) เป็นลานจัตุรัสเปิด (Platz) ขนาดใหญ่และเป็นศูนย์กลางการขนส่งมวลชนแห่งหนึ่งในเบอร์ลินชั้นใน ประเทศเยอรมนี ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำชเปรและอาสนวิหารเบอร์ลิน (แบร์ลีเนอร์โดม) ชาวเบอร์ลินมักเรียกจัตุรัสแห่งนี้กันสั้น ๆ ว่า "อาเล็คส์" (Alex) จัตุรัสแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีการสัญจรคับคั่งมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน โดยมีผู้สัญจรผ่านกว่า 360,000 คนต่อวัน ซึ่งในปี ค.ศ. 2009 ถือเป็นจัตุรัสที่คับคั่งที่สุดอันดับที่ 4 ในทวีปยุโรป[1]

แต่เดิมบริเวณนี้เคยเป็นตลาดค้าปศุสัตว์ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่การเสด็จเยี่ยมเบอร์ลินโดยจักรพรรดิอเล็กซานเดอร์ที่ 1 แห่งรัสเซีย เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1805 อเล็คซันเดอร์พลัทซ์ทวีความสำคัญขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากการก่อสร้างสถานีรถไฟในชื่อเดียวกัน (Bahnhof Alexanderplatz) และตลาดที่อยู่ใกล้ ๆ ทำให้บริเวณนี้กลายเป็นศูนย์กลางการค้าสำคัญ อเล็คซันเดอร์พลัทซ์รุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 เมื่อจัตุรัสแห่งนี้พร้อมกับพ็อทซ์ดาเมอร์พลัทซ์เป็นศูนย์รวมของชีวิตกลางคืนในเบอร์ลิน และเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยาย แบร์ลีน-อเล็คซันเดอร์พลัทซ์ โดยอัลเฟรท เดอบลีน ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1929[2]

หลังจากการรวมชาติเยอรมนี อเล็คซันเดอร์พลัทซ์ก็เปลี่ยนรูปร่างไปอย่างต่อเนื่อง ตึกรอบ ๆ หลายหลังถูกปรับปรุงใหม่ และถึงแม้ว่าจะมีการสร้างระบบรถรางและพื้นที่สีเขียวรอบพื้นที่ แต่อเล็คซันเดอร์พลัทซ์ยังคงรักษาบุคลิกสังคมนิยมของมันอยู่ สิ่งหนึ่งที่ยังคงแสดงถึงบุคลิกนี้ เช่น "น้ำพุแห่งมิตรภาพระหว่างประชาชน" (Brunnen der Völkerfreundschaft) ซึ่งเต็มไปด้วยกราฟฟิตี สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์จำนวนมากตั้งอยู่ในบริเวณรอบอเล็คซันเดอร์พลัทซ์ เช่น โรเทิสราทเฮาส์ (Rotes Rathaus, ที่ว่าการเมืองสีแดง) ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของรัฐบาลเบอร์ลินในสมัยก่อน พาลัสท์แดร์เรพูบลีค (Palast der Republik, วังแห่งสาธารณรัฐ) ตึกรัฐสภาของอดีตเยอรมนีตะวันออก

อ้างอิง[แก้]

  1. Der Tagesspiegel: Investor plant höchstes Haus Berlins (เยอรมัน)
  2. Bernhardt, Oliver (2007). Alfred Döblin (ภาษาเยอรมัน). Munich: Deutscher Taschenbuch Verlag. ISBN 978-3-423-31086-4.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]