นาฬิกาเวลาโลก (อเล็คซันเดอร์พลัทซ์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
นาฬิกาเวลาโลก ด้านในภาพสังเกตเห็นชื่อกรุงเทพฯ

นาฬิกาเวลาโลก (อังกฤษ: World Clock) หรือ เวลท์ไซทัวร์ (เยอรมัน: Weltzeituhr) หรือรู้จักในชื่อ เวลานาฬิกาโลกยูเรนัส (เยอรมัน: Urania-Weltzeituhr) เป็นนาฬิกาเวลาโลกขนาดใหญ่ทรงหมุนบนแท่นตั้งอยู่บนจัตุรัสอเล็คซันเดอร์พลัทซ์ในเขตมิตเตอ เบอร์ลิน ตัวเลขซึ่งปรากฏบนโลหะรูปวงกลมของนาฬิกาบอกเวลาปัจจุบันใน 148 นครทั่วโลก[1] นาฬิกาโลกนี้ตั้งขึ้นในปี 1969 และกลายมาเป็นจุดนัดพบและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญนับจากนั้น นาฬิกาโลกได้รับการประกาศเป็นอนุสรณ์อันมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในปี 2015 โดยรัฐบาลของเยอรมนี[2]

นครในเขตเวลาที่ไม่เป็นชั่วโมงพอดีจาก UTC จะแสดงเวลาที่เลื่อนออก (offset) เป็นนาทีเขียนอยู่ข้างชื่อนคร เช่น นิวเดลี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเวลามาตรฐานอินเดีย (IST) ซึ่งเร็วกว่าเวลากลางเกรนิชอยู่ 5 ชั่วโมง 30 นาที บนนาฬิกาเขียนว่า "NEW DELHI +30`"

ประวัติศาสตร์[แก้]

ภาถ่ายเมื่อ 3 ตุลาคม 1969 ไม่นานหลังเปิดสู่สาธารณชน

นาฬิกาโลกขนาดสิบหกตันนี้เปิดสู่สาธารณชนในวันที่ 30 กันยายน 1969 ไม่นานหลังครบรอบยี่สิบปีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี ควบคู่กับหอโทรทัศน์เบอร์ลิน (Fernsehturm) การตั้งนาฬิกานี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทในการขยายและจัดระเบียบจัตุรัสอเล็คซันเดอร์พลัทซ์ ที่ซึ่งหลังสิ้นสุดการพัฒนาตามแผน จัตุรัสขยายขนาดขึ้นกว่าสี่เท่าเมื่อเทียบกับหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุด

นาฬิกานี้เป็นผลงานออกแบบโดยนักออกแบบ เอริช โฌห์น ซึ่งในเวลานั้นเป็นลูกจ้างในกลุ่มวางแผนเพื่อพัฒนาอเล็คซันเดอร์พลัทซ์ ภายใต้กำกับการของวัลแทร์ โวมัคคา ก่อนจะมาออกแบบนาฬิกานี้ เขาเป็นอาจารย์อยู่ที่ วิทยาลัยศิลปะประยุกต์และบริสุทธิ์ ไวเบนเซ (Kunsthochschule Berlin-Weißensee) โดยสอนวิชาการออกแบบผลิตภัณฑ์ เขามีแนวคิดจะสร้างนาฬิกาขึ้นกลางจัตุรัสนี้หลังเห็นซากของนาฬิกาสาธารณะ อูรานีอาซ็อยเลอ (Uraniasäule) หรือรู้จักในชื่อ เว็ตแตร์ซ็อยเลอ (Wettersäule) ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง และมาค้นพบหลังการฟื้นฟูสภาพจัตุรัสเมื่อปี 1966[3]

การก่อสร้างนาฬิกานี้ใช้วิศวกรและผู้ชำนาญการอื่นรวมแล้วมากกว่า 120 คน ซึ่งรวมถึงประติมากร ฮันส์-ฌัวอาชิม คูนช์ และมีบริษัทเกไทรเบฟาบริก โคสวิก (Getriebefabrik Coswig) ที่มีบทบาทมากในการก่อสร้างเช่นกัน[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. Helmut Caspar: Ärger mit der Weltzeituhr am Alex. Städtenamen sind nicht korrekt. In: Märkische Allgemeine Zeitung, 24/25 December 1997.
  2. Uwe Aulich: Denkmalschutz für DDR-Häuser am Alex. In: Berliner Zeitung, 14 July 2015, S. 15.
  3. Auskunft des Gestalters der Weltzeituhr, Erich John.
  4. Homepage von Weltzeituhr Berlin Alexanderplatz Kunsch Metallbau; Referenzobjekte, retrieved 23 July 2018.