อาลากาชู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก Ala kachuu)
หญิงคนหนึ่ง (คนแรกจากด้านขวา) และชายสี่คนบนหลังม้าซึ่งเตรียมจะ "ลักพาตัว" เธอในทุ่งหญ้าสเตปป์คีร์กีซระหว่าง ค.ศ. 1871–1872

อาลากาชู (คีร์กีซ: ала качуу; แปลว่า รวบแล้วหนี) เป็นรูปแบบหนึ่งของการลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวที่ยังคงปฏิบัติกันอยู่ในประเทศคีร์กีซสถาน[1] ศัพท์นี้สามารถใช้ได้กับการกระทำที่หลากหลายตั้งแต่การพากันหนีโดยยินยอมไปจนถึงการลักพาตัวโดยไม่ได้รับความยินยอม[2] และระดับหรือขนาดของ "การลักพาตัว" ที่เกิดขึ้นจริงนั้นยังเป็นที่โต้เถียง แหล่งข้อมูลบางแห่งชี้ว่า ปัจจุบันเจ้าสาวจำนวนอย่างน้อยหนึ่งในสามของคีร์กีซสถานมาจากการพาตัวไปโดยไม่เต็มใจ[3]

วิธีการแบบฉบับของอาลากาชูที่ไม่ได้เกิดจากความยินยอมได้แก่การที่ชายหนุ่มลักพาตัวหญิงสาวไปไม่ว่าจะด้วยการใช้กำลังหรือด้วยกลอุบาย โดยมักมีเพื่อนหรือญาติผู้ชายติดตามไปด้วย พวกเขาจะพาเธอไปที่บ้านของครอบครัวชายคนนั้นแล้วขังเธอไว้ในห้อง ญาติผู้หญิงของชายคนนั้นจะโน้มน้าวให้เธอสวมผ้าคลุมศีรษะของหญิงที่แต่งงานแล้วเพื่อเป็นเครื่องแสดงการยอมรับ บางครั้งถ้าหญิงคนนั้นไม่ฟังคำเกลี้ยกล่อมและยืนยันความปรารถนาที่จะกลับบ้าน ญาติของเธอเองก็จะพยายามโน้มน้าวให้เธอเห็นด้วยกับการแต่งงาน

อาลากาชูถูกระงับไปในสมัยโซเวียต แต่หลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต วิถีปฏิบัตินี้ก็เริ่มกลับมาอีกครั้ง มีรายงานที่ขัดแย้งกันว่าอาลากาชูยังคงดำเนินต่อไปในรูปแบบดั้งเดิมหรือไม่ แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่า วิถีปฏิบัตินี้แต่เดิมเป็นเพียงรูปแบบหนึ่งของการพากันหนี ไม่ใช่การขโมยตัวหญิงสาว บางครั้งการลักพาตัวอาจเป็นเพียงธรรมเนียมการแต่งงานอย่างหนึ่งซึ่งหญิงคนนั้นร่วมปฏิบัติด้วยความเต็มใจ บางคนถือว่าการถูกลักพาตัวนั้นเป็นเกียรติเพราะแสดงให้เห็นว่าหญิงคนนั้นมีค่าพอที่จะเป็นภรรยา[4]

แม้ว่าการลักพาตัวเจ้าสาวจะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในคีร์กีซสถาน แต่รัฐบาลคีร์กีซสถานก็ถูกกล่าวหาว่าไม่ดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อปกป้องผู้หญิงจากวิถีปฏิบัตินี้[5][6]

ความเป็นมา[แก้]

ความเป็นมาของการลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวในคีร์กีซสถานยังคงเป็นประเด็นโต้เถียง อำนาจปกครองของจักรวรรดิรัสเซียและสหภาพโซเวียตในเวลาต่อมาทำให้วิถีปฏิบัติโบราณของชนร่อนเร่ต่าง ๆ กลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตซึ่งตามมาด้วยการประกาศเอกราชของชาติในเอเชียกลาง หลายชาติได้รื้อฟื้นขนบธรรมเนียมเก่า ๆ เพื่อยืนยันเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของตน[7] การปฏิเสธการลักพาตัวมักถูกมองว่าเป็นการปฏิเสธเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมคีร์กีซ[8] วิถีปฏิบัตินี้ยังเกี่ยวข้องกับการแสดงความเป็นชาย[9] การศึกษาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ท้าทายคำกล่าวอ้างที่ว่าการลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวเป็นที่แพร่หลายในสมัยโบราณ การศึกษาของบรรดานักประวัติศาสตร์คีร์กีซและรัสเซิล ไคลน์บาก นักวิชาการฟุลไบรต์ ชี้ให้เห็นว่า การลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวพบได้น้อยในสมัยก่อนโซเวียตและมาเพิ่มขึ้นอย่างมากในคริสต์ศตวรรษที่ 20[10] อัตราการลักพาตัวเจ้าสาวที่เพิ่มขึ้นนี้อาจเกี่ยวโยงกับความขัดสนในการจ่ายสินสอด[11]

ความชุก[แก้]

ปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งคือคำถามว่าอาลากาชูเกิดขึ้นบ่อยเพียงใด การสํารวจข้อมูลเหยื่ออาชญากรรมครั้งล่าสุดในคีร์กีซสถาน (ค.ศ. 2015) ได้รวมความผิดอาญาฐานลักพาตัวหญิงสาวไปแต่งงานไว้ด้วย ร้อยละ 14 ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วตอบว่าพวกเธอถูกลักพาตัวมาในขณะนั้น และสองในสามของกรณีเหล่านี้เกิดจากความยินยอม โดยฝ่ายหญิงรู้จักฝ่ายชายมาก่อนและตกลงกันไว้ล่วงหน้าแล้ว หมายความว่าประมาณร้อยละ 5 ของการแต่งงานในคีร์กีซสถานปัจจุบันเป็นกรณีอาลากาชู[12] การศึกษาด้วยระเบียบวิธีเดียวกันนี้ในคาซัคสถานเมื่อ ค.ศ. 2018 พบว่าประมาณร้อยละ 1–1.5 ของการแต่งงานในคาซัคสถานปัจจุบันเป็นผลมาจากอาลากาชู[13]

การศึกษาโดยนักวิจัยรัสเซิล ไคลน์บาก พบตัวเลขสูงกว่านั้น กล่าวคือ ประมาณครึ่งหนึ่งของการแต่งงานทั้งหมดของชาวคีร์กีซเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาว และสองในสามของการลักพาตัวเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากความยินยอม[14]

ค่าสินสอด[แก้]

จากการศึกษาใน ค.ศ. 1992 ค่าสินสอดของเจ้าสาวชาวดุงกานอยู่ระหว่าง 240–400 รูเบิล ชายชาวดุงกานที่ยากจนจึงหาเจ้าสาวที่เป็นชาวคีร์กีซ หรือแต่งงานกับหญิงชาวตาตาร์หรือชาวซาร์ต (หมายถึงผู้คนจากกลุ่มชาติพันธุ์ใดก็ตามที่ตั้งรกรากในเมืองแทนที่จะร่อนเร่อย่างบรรพชน) นอกจากนี้ ชาวดุงกานยังแอบลักพาตัวหญิงสาวชาวคีร์กีซไปเป็นเจ้าสาวอีกด้วย[15]

ความถูกต้องตามกฎหมาย[แก้]

แม้จะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย[16] แต่อาลากาชูก็เป็นวิธีหาคู่ครองวิธีหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในพื้นที่ชนบทหลายแห่งของคีร์กีซสถาน[17] ประเด็นนี้ค่อนข้างเป็นที่สับสนจากการใช้ศัพท์ "ลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาว" ของคนในท้องถิ่นเพื่อหมายถึงวิธีปฏิบัติในหลายระดับตั้งแต่การลักพาตัวโดยใช้กำลังและการข่มขืน ไปจนถึงลักษณะที่คล้ายกับการพากันหนีซึ่งมาจากความร่วมมือของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง และพ่อแม่ของทั้งสองจำต้องยินยอมหลังเกิดเหตุ

ผู้ลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวมักไม่ค่อยถูกดำเนินคดี ความไม่เต็มใจที่จะบังคับใช้กฎหมายในประเด็นนี้ส่วนหนึ่งมาจากระบบกฎหมายแบบพหุนิยมในคีร์กีซสถาน กล่าวคือ หมู่บ้านหลายแห่งมีสภาผู้อาวุโสปกครองตามกฎหมายจารีตประเพณีโดยพฤตินัยและอยู่ห่างไกลจากระบบกฎหมายของรัฐ[18] ศาลของสภาผู้อาวุโสซึ่งได้รับมอบหมายให้ชี้ขาดตัดสินคดีครอบครัว ทรัพย์สิน และการละเมิดมักไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวอย่างจริงจัง ในหลายกรณี สมาชิกสภาได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานแต่งงานของเจ้าสาวที่ถูกลักพาตัวและยังสนับสนุนให้ครอบครัวของเจ้าสาวยอมรับการแต่งงาน[19]

ตัวอย่าง[แก้]

ในรูปแบบหนึ่งของการลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวในคีร์กีซสถาน ฝ่ายชายตัดสินใจว่าเขาต้องการแต่งงานและขอให้พ่อแม่ของเขาเลือกเจ้าสาวที่เหมาะสมให้ หรือพ่อแม่บอกกับเขาว่าถึงเวลาแล้วที่เขาจะต้องลงหลักปักฐานและพวกเขาได้พบคนที่มีภูมิหลังและคุณลักษณะเหมาะสม (การลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวอาจคล้ายกับการคลุมถุงชนในแง่นี้ แต่การเตรียมการเกิดขึ้นจากฝ่ายเดียว) ฝ่ายชายและญาติหรือเพื่อนผู้ชายของเขาจะร่วมกันลักพาตัวฝ่ายหญิง (ในสมัยร่อนเร่กระทำบนหลังม้า ปัจจุบันมักใช้รถยนต์) และพาเธอไปที่บ้านของครอบครัว เมื่อถึงที่นั่น ญาติผู้หญิงของฝ่ายชายจะพยายามโน้มน้าวให้ฝ่ายหญิงยอมรับการแต่งงานและพยายามโพกผ้าสีขาวบนศีรษะของเธอเพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงการตกลงยินยอม[20] พวกเขาอาจเกลี้ยกล่อมโดยชี้ให้เห็นข้อดีต่าง ๆ ของการดำรงชีวิตฉันผัวเมียเพื่อแสดงให้เห็นว่าเธอจะได้อะไรบ้างจากการเข้าเป็นสมาชิกครอบครัว หลายครอบครัวอาจใช้กำลังหรือขู่ว่าจะสาปแช่งฝ่ายหญิงหากเธอไม่ยินยอม ซึ่งเป็นการขู่ที่มักได้ผลในประเทศที่มีความเชื่อเรื่องโชคลาง[21] บางครอบครัวจะกักขังเธอเป็นเวลาหลายวันเพื่อให้เริ่มใจอ่อน ในขณะที่บางครอบครัวจะปล่อยเธอไปหากเธอยังคงต่อต้าน ตัวอย่างเช่น เธออาจไม่ยอมนั่งลงหรือไม่ยอมกินอาหารซึ่งเป็นสัญญาณว่าเธอกำลังปฏิเสธการต้อนรับของพวกเขา ในช่วงเวลานี้ ฝ่ายชายมักไม่ได้พบฝ่ายหญิงจนกว่าเธอจะตกลงแต่งงานหรืออย่างน้อยก็ตกลงที่จะอยู่ในบ้านต่อไป ครอบครัวของหญิงที่ถูกลักพาตัวอาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน โดยอาจขอให้ฝ่ายหญิงอยู่ในบ้านของฝ่ายชายต่อไป (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพวกเขาเชื่อว่าการแต่งงานครั้งนี้จะเป็นที่ยอมรับของสังคมหรือเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายหญิงและครอบครัวของเธอ) หรือคัดค้านการแต่งงานด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานาและช่วยปลดปล่อยฝ่ายหญิง[22]

ในรูปแบบอื่น ๆ ของการลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวในคีร์กีซสถานและพื้นที่อื่น ๆ ของเอเชียกลาง ทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายอาจไม่ได้รู้จักกันมาก่อนที่จะมีการลักพาตัว[23] บางครั้งแทนที่เจ้าบ่าวและครอบครัวจะเลือกหญิงคนใดคนหนึ่งเป็นเป้าหมายเฉพาะ พวกเขากลับตัดสินใจเลือกครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งแทน ด้วยวิธีนี้ทำให้พวกเขาสามารถลักพาตัวพี่สาวหรือน้องสาวมาแทนได้หากหญิงที่พวกเขาต้องการไม่อยู่บ้านในขณะนั้น[24] เช่นเดียวกับในสังคมอื่น ๆ ชายที่ต้องพึ่งการลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวมักไม่เป็นที่พึงปรารถนาทางสังคมด้วยเหตุผลหลายประการ พวกเขาอาจมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรง มีประวัติอาชญากรรม หรือเป็นผู้ใช้สารเสพติด[25]

ในกระบวนการลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวบางครั้งอาจมีการข่มขืนด้วย[26] และแม้ว่าจะไม่มีการร่วมเพศเกิดขึ้นจริง แต่เมื่อฝ่ายหญิงถูกขังค้างคืนแม้เพียงคืนเดียว ความบริสุทธิ์ของเธอก็จะตกเป็นที่เคลือบแคลง เมื่อเกียรติของเธอเสื่อมเสียไปแล้วตามความเชื่อในวัฒนธรรมนั้น เธอก็จะเหลือทางเลือกอื่น ๆ น้อยมากสำหรับการแต่งงาน ดังนั้นหลังจากถูกขังไว้หนึ่งคืน ฝ่ายหญิงจึงมักถูกกดดันจากวัฒนธรรมให้แต่งงานกับฝ่ายชาย[21] มลลักษณ์ทางสังคมผูกติดอยู่กับการปฏิเสธที่จะแต่งงานหลังจากถูกลักพาตัวแนบแน่นเสียจนทำให้หญิงที่ถูกลักพาตัวมักรู้สึกว่าเธอไม่มีทางเลือกนอกจากการยินยอม และบางคนที่ไม่ยอมรับก็ถึงกับฆ่าตัวตายหลังการลักพาตัว[27]

ตามข้อมูลจากสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ณ กรุงบิชเคก มีหญิงชาวอเมริกันสองคนถูกลักพาตัวไปเป็นเจ้าสาวในชนบทของคีร์กีซสถานเมื่อ ค.ศ. 2007 หนึ่งในสองคนนี้ถูกขังไว้เป็นเวลาหลายวันก่อนจะหนีออกมาได้[28]

อ้างอิง[แก้]

  1. Noriko Hayahi (November 4, 2013). "Grab and Run: Kyrgyzstan's Bride Kidnappings". newsweek.com.
  2. "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-31. สืบค้นเมื่อ 2013-09-11.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  3. Smith, Craig S. (April 30, 2005). "Abduction, Often Violent, a Kyrgyz Wedding Rite". The New York Times.
  4. "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-06-17. สืบค้นเมื่อ 2008-07-02.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  5. "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-10. สืบค้นเมื่อ 2008-07-02.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  6. [1]
  7. Human Rights Watch, Reconciled to Violence: State Failure to Stop Domestic Abuse and Abduction of Women in Kyrgyzstan, pp. 87-88, http://hrw.org/reports/2006/kyrgyzstan0906/kyrgyzstan0906webwcover.pdf; Handrahan, pp. 212-213.
  8. Hanrahan, p. 222.
  9. International Human Rights Law and Bride Kidnapping in Kyrgyzstan, http://www.eurasianet.org/departments/insight/articles/eav012400.shtml เก็บถาวร 2016-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน; Handrahan, p. 222.
  10. Russ Kleinbach & Lilly Salimjanova, Kyz ala kachuu and adat: Non-consensual bride kidnapping and tradition in Kyrgyzstan, Central Asian Survey, (June 2007) 26:2, 217 - 233, at 230, available at "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-20. สืบค้นเมื่อ 2008-10-18.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์).
  11. Aijan Rakhimdinova, Kyrgyz Bride Price Controversy, Institute of War and Peace Reporting, Dec. 22, 2005, http://www.iwpr.net/?p=wpr&s=f&o=258820&apc_state=henpwpr
  12. Gorby, Kyrgyzstan Public Safety Survey, Civil Union “For Reforms and Results” (2015) page 30-31 http://wp.unil.ch/icvs/news/information-and-data-from-kyrgyzstan/ เก็บถาวร 2019-09-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  13. Van Dijk, J.J.M., Van Kesteren, J.N., Trochev, A. & Slade, G. (2018 final draft) Criminal Victimization in Kazakhstan in an international perspective; new findings from the International Crime Victims Survey. NI-CO, Astana, Belfast. https://sites.google.com/view/icvs-crime/homepage/recentadditions/kazakhstan[ลิงก์เสีย]
  14. Kleinbach & Salimjanova, Kyz ala kachuu and adat: Non-consensual bride kidnapping and tradition in Kyrgyzstan, Central Asian Survey, (June 2007) 26:2, 217 - 233.
  15. Asian Folklore Institute, Society for Asian Folklore, Nanzan Daigaku. Jinruigaku Kenkyūjo, Nanzan Shūkyō Bunka Kenkyūjo (1992). Asian folklore studies, Volume 51. Nanzan University Institute of Anthropology. p. 256. สืบค้นเมื่อ 2010-06-28.{{cite book}}: CS1 maint: uses authors parameter (ลิงก์)
  16. Bride kidnapping is criminalized in Article 155 of the Criminal code. See Russ Kleinbach & Lilly Salimjanova, Kyz ala kachuu and adat: Non-consensual bride kidnapping and tradition in Kyrgyzstan, Central Asian Survey, (June 2007) 26:2, 217 - 233, available at "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-20. สืบค้นเมื่อ 2008-10-18.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์).
  17. United States State Department, Kyrgyz Republic: Country Reports on Human Rights Practices - 2007, March 11, 2008.
  18. See Judith Beyer, Kyrgyz Aksakal Courts: Pluralistic Accounts of History, Journal of Legal Pluralism, 2006; Handrahan, pp. 212-213.
  19. Human Rights Watch, Reconciled to Violence, p. 106
  20. PBS, Kyrgyzstan: The Kidnapped Bride, https://www.pbs.org/frontlineworld/stories/kyrgyzstan/thestory.html; Handrahan, Lori, Hunting for Women, International Feminist Journal of Politics, 6:2,(2004) pp. 207 — 233, at 209; Alex Rodriguez, Kidnapping a Bride Practice Embraced in Kyrgyzstan, Augusta Chronicle, July 24, 2005.
  21. 21.0 21.1 Craig S. Smith, Abduction, Often Violent, a Kyrgyz Wedding Rite, N.Y. Times, April 30, 2005.
  22. Human Rights Watch, Reconciled to Violence: State Failure to Stop Domestic Abuse and Abduction of Women in Kyrgyzstan, p. 86, http://hrw.org/reports/2006/kyrgyzstan0906/kyrgyzstan0906webwcover.pdf
  23. Human Rights Watch, Reconciled to Violence: State Failure to Stop Domestic Abuse and Abduction of Women in Kyrgyzstan, p. 91, http://hrw.org/reports/2006/kyrgyzstan0906/kyrgyzstan0906webwcover.pdf; Craig S. Smith, Abduction, Often Violent, a Kyrgyz Wedding Rite, N.Y. Times, April 30, 2005.
  24. Luong, Pauline Jones. The transformation of Central Asia : states and societies from Soviet rule to independence. Ithaca: Cornell University Press, 2004.
  25. See Rodriguez, Kidnapping a Bride Practice Embraced in Kyrgyzstan.
  26. Human Rights Watch, Reconciled to Violence: State Failure to Stop Domestic Abuse and Abduction of Women in Kyrgyzstan
  27. Burulai Pusurmankulova, Bride Kidnapping: Benign Custom Or Savage Tradition?, June 15, 2004, Voice Of Freedom Initiative Of The Human Rights Working Group, "Archived copy". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-23. สืบค้นเมื่อ 2007-02-25.{{cite web}}: CS1 maint: archived copy as title (ลิงก์)
  28. Warden Message, United States Embassy, Kyrgyzstan, http://bishkek.usembassy.gov/december_10_2007.html เก็บถาวร 2010-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน