ไอดี 4 สงครามวันดับโลก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไอดี 4 สงครามวันดับโลก
ไฟล์:Independence-day-poster03.jpg
ใบปิดภาพยนตร์
กำกับโรแลนด์ เอ็มเมอริค
เขียนบทดีน เฟดลิน
โรแลนด์ เอ็มเมอริค
อำนวยการสร้างดีน เดฟลิน
นักแสดงนำเจฟฟ์ โกลด์บลุม
วิลล์ สมิธ
บิลล์ พูลแมน
มาร์กาเร็ต โคลิน
วิวิก้า เอ. ฟ็อก
จัดด์ เฮิร์สช
แมรี่ แม็คดอนเนลล์
โรเบิร์ต ล็อกเกีย
แรนดี้ เควด
ผู้จัดจำหน่ายทเวนตีส์เซ็นจูรีฟ็อกซ์
วันฉายสหรัฐ 3 กรกฎาคม 1996
ไทย 9 สิงหาคม 1996[1]
ความยาว145 นาที
(โรงภาพยนตร์)
153 นาที
(ฉบับปรับปรุง)
ประเทศสหรัฐอเมริกา
ภาษาอังกฤษ
ทุนสร้างประมาณ 75,000,000 ดอลลาร์[2]
ทำเงิน817,400,000 ดอลลาร์[2]
ก่อนหน้านี้ไม่มี
ต่อจากนี้Independence Day: Resurgence (2016)
ข้อมูลจาก All Movie Guide
ข้อมูลจาก IMDb
ข้อมูลจากสยามโซน

ไอดี 4 สงครามวันดับโลก (อังกฤษ: Independence Day; ตัวย่อ: ID4) เป็นภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันในแนววิทยาศาสตร์ ฉายในปี ค.ศ. 1996 กำกับโดย โรแลนด์ เอ็มเมอริค สร้างโดยบริษัท ทเวนตีส์เซ็นจูรีฟ็อกซ์ ความยาว 145 นาที

เนื้อเรื่อง[แก้]

วันที่ 2 กรกฎาคม จู่ ๆ ทั่วโลกก็เกิดโกลาหลเมื่อพบว่าสัญญานการสื่อสารถูกรบกวนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์หรือดาวเทียม พร้อมกันนั้นก็มีผู้พบสัญญาณที่เชื่อว่ามาจากจานบินที่กำลังมุ่งหน้ามาทางโลก ซึ่งสัญญาณนั้นถูกส่งมาจากดวงจันทร์ โดยจากภาพถ่ายดาวเทียมปรากฏให้เห็นยานแม่ขนาดความกว้างกว่า 550 กิโลเมตร หรือ 1 ใน 4 ของดวงจันทร์ และยานแม่ได้ส่งยานลูกนับสิบๆ ลำ โดยแต่ละลำก็มีขนาดใหญ่กว่า 15 ไมล์ และกำลังเคลื่อนเข้าสู่เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยประธานาธิบดี วิทมอร์ และคณะไม่รู้จะรับมืออย่างไรกับสถานการณ์

ผู้เชี่ยวชาญคอมพิวเตอร์ของสถานีโทรทัศน์ เดวิด ลีวินสัน อ่านสัญญาณนั้นออกและเชื่อว่ามันเป็นสัญญาณบอกให้โจมตีโลกพร้อมกัน จึงรีบไปที่ทำเนียบขาวพร้อมกับพ่อของเขาเพื่อเตือนประธานาธิบดีก่อนจะสายเกินไป ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ผู้กองสตีเว่น ฮิลเลอร์ นักบินผู้ไม่กลัวใครของกองทัพสหรัฐ ถูกเรียกตัวไปประจำหน้าที่โดยไม่ได้อยู่ร่วมฉลองวันชาติพร้อมกับครอบครัว

ณ ทำเนียบขาว เดวิดได้อธิบายถึงการที่ดาวเทียมไร้ผลซึ่งเกิดจากการติดต่อระหว่างจานบินทั่วโลก และจากตามที่คำนวณได้เหลือเวลาเพียง 27 นาทีก่อนที่จานบินจะโจมตี ในขณะเดียวกันทางรัฐบาลกำลังส่งเฮลิคอปเตอร์แบบติดไฟพิเศษขึ้นไปติดต่อกับมนุษย์ต่างดาว แต่ก็ถูกตอบรับด้วยการยิงกลางอากาศ จึงมีคำสั่งให้อพยพคนในเมืองทั้งหมด โดยเหลือเวลาอีก 1 นาที ประธานาธิบดี เดวิด จูเลี่ยน และผู้ติดตาม ยกเว้นภรรยาของประธานาธิบดี ได้ขึ้น แอร์ฟอร์ซวัน หนีออกจากเมือง และก็เป็นดั่งคำทำนายของเดวิด เมื่อจานบินทุกลำพร้อมกันยิงแสงทำลายอาคารบ้านเรือนพร้อมกันทั่วโลก ทั้ง ตึกเอ็มไพร์สเตท, ตึกไครสเลอร์, ทำเนียบขาว มีผู้รอดชีวิตเพียงไม่กี่คน

วันที่ 3 กรกฎาคม ผู้กองฮิลเลอร์และทหารจำนวนหนึ่งได้พยายามที่ใช้เครื่องบินรบสู้กับจานบิน แต่จานบินนั้นมีเกราะสนามพลังอยู่ทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้เลยแม้แต่น้อย ผู้กองฮิลเลอร์จึงล่อจานบินลำหนึ่งให้ไปชนกับภูเขาและได้นำร่างของมนุษย์ต่างดาวซึ่งสลบอยู่ไปหาฐานทัพที่เขาเห็นระหว่างบิน ในระหว่างที่อยู่บนแอร์ฟอร์ซวัน จูเลี่ยน พ่อของเดวิดก็ได้เสนอความคิดเพี้ยนๆ ขึ้นมาถึงเรื่องแอเรีย 51 สถานที่ ๆ เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐเก็บศพมนุษย์ต่างดาวไว้ แต่กลายเป็นว่าสถานที่แห่งนี้มีจริง และทั้งหมดก็มุ่งหน้าไปที่แอเรีย 51 ในขณะนั้นผู้กองฮิลเลอร์ก็มาถึง แอเรีย 51 พร้อมกับร่างของมนุษย์ต่างดาว ซึ่งประธานาธิบดีและคนของเขาก็ตามมาถึง และได้พบความจริงว่า แอเรีย 51 นั้นได้มีการจับตัวมนุษย์ต่างดาว 3 ตัวที่เสียชีวิตจากยานตกในปี ค.ศ. 1947

หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ ดร.โอเคน ได้ทำการผ่าตัดมนุษย์ต่างดาวที่ผู้กองฮิลเลอร์จับมาได้ แต่ทว่ามันหลุดรอดออกมาพร้อมสะกดจิตเขาไว้ มนุษย์ต่างดาวได้สื่อสารกับประธานาธิบดีผ่านทาง ดร.โอเคน และได้รู้ว่าพวกมันเหมือนฝูงตั๊กแตนที่อพยพไปเพื่อหาแหล่งอาหารไปเรื่อย ๆ เมื่ออาหารหมดก็จะอพยพไปดาวอื่นต่อไป มนุษย์ต่างดาวใช้พลังจิตทำร้ายประธานาธิบดีวิทมอร์ แต่สุดท้ายก็ถูกฆ่าตาย วิทมอร์สั่งให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์โจมตี แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำอะไรจานบินแม้แต่น้อย

วันที่ 4 กรกฎาคม ท่ามกลางความสิ้นหวัง เดวิดพยายามหาทางที่จะเจาะระบบเกราะสนามพลังให้ได้ และพบว่าไวรัสคอมพิวเตอร์สามารถปิดเกราะของจานบินได้ชั่วคราว พวกเขาจึงเตรียมการใช้จานบินลำที่ตกลงมาในปี ค.ศ. 1947 ขึ้นไปอัปโหลดไวรัสบนยานแม่และวางระเบิดนิวเคลียร์ภายในยาน ส่วนนักบินที่เหลือให้รวมตัวเพื่อทำลายจานบินขณะที่เกราะยังปิดอยู่ และได้ใช้รหัสมอสเพื่อส่งข้อความไปยังฐานทัพทั่วโลกเพื่อให้โจมตี

หลังจากที่แผนการใช้ไวรัสประสบผล ประธานาธิบดีวิทมอร์ได้ขับเครื่องบินรบคู่กับนักบินคนอื่นร่วมกันโจมตีจานบินและยานเอเลี่ยนเหนือแอเรีย 51 ถึงจานบินจะไร้สนามพลังแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรจานบินได้มากนัก และจานบินเตรียมพร้อมที่จะยิง แอเรีย 51 เนื่องด้วยเครื่องบินส่วนใหญ่มิสไซล์หมด วิทมอร์จึงสั่งถอยทัพ รัสเซลล์ เคสส์ ซึ่งยังเหลือมิสไซล์อีกลูกหนึ่ง แต่มิสไซล์ขัดลำ เขาจึงใช้วิธีแบบกามิกาเซ่ตรงเข้าไปยังฐานยิงลำแสงทำลายล้างของจานบิน ทำให้จานบินเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่และถูกทำลายในที่สุด ส่วนกองทัพที่เหลืออยู่ทั่วโลกก็รู้จุดอ่อนของจานบิน ขณะเดียวกันผู้กองฮิลเลอร์และเดวิดได้วางระเบิดบนยานแม่ และทั้งคู่ก็หนีออกมาอย่างปลอดภัย ถือว่าเป็นชัยชนะของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง

ไฟล์:Independence-day-poster04.jpg
โปสเตอร์ภาพยนตร์แบบที่ 2

นักแสดง[แก้]

ความสำเร็จ[แก้]

Independence Day เป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดในปีที่ออกฉาย เป็นภาพยนตร์ที่สามารถเรียกคนให้ออกจากบ้านเข้าโรงภาพยนตร์ชมได้ เนื่องจากขณะนั้นมีการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ที่แอตแลนต้า อยู่ด้วย ทำรายได้ทั่วโลกที่เข้าฉาย ทำสถิติทำรายได้อันดับหนึ่งในบ๊อก ออฟฟิศ ยาวนานถึง 3 เดือน และได้ชนะเลิศรางวัลออสการ์ ใน 1 สาขา คือ สาขาเทคนิคพิเศษยอดเยี่ยม[3] [4]

สำหรับการฉายในประเทศไทย เข้าฉายวันแรกในวันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม ค.ศ. 1996 นับเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ราคาค่าเข้าชมเพิ่มจาก 60 บาท เป็น 70 บาท[1] [note 1] ในขณะที่ลิขสิทธิ์วิดีโอเป็นของ ซีวีดี อินเตอร์เนชั่นแนล โดยที่มีการบันทึกเสียงในระบบ THX

ภาคต่อ[แก้]

ในกลางปี ค.ศ. 2010 ทางทีมผู้สร้างประกาศจะสร้างภาคต่อของ Independence Day ถึง 2 ภาคด้วยกัน โดยเบื้องต้นอาจใช้ชื่อว่า "ID4-ever: Part I" และ "ID4-ever: Part II" โดยเรื่องราวจะเกิดหลังจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์ภาคแรก ซึ่งโรแลนด์ เอ็มเมอริค ผู้กำกับฯ ต้องการตัวนักแสดงนำอย่าง วิลล์ สมิธ กลับมารับบทเดิม[5] แต่ทว่าต่อมามีข่าวปรากฏว่า สมิธได้ปฏิเสธที่จะมารับบทเดิมนี้อีก เลยอาจจะเป็นไปได้ว่าทางผู้สร้างอาจจะปรับบทให้ ไมเคิล บี. จอร์แดน ซึ่งในภาคแรกรับบทเป็นลูกเลี้ยงของสมิธมารับบทนำแทนก็เป็นได้[6] ที่สุดก็มีการประกาศว่าจะใช้ชื่อว่า ไอดี 4: สงครามใหม่วันบดโลก (Independence Day: Resurgence) กำหนดฉายราววันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 โดยมีเนื้อหาต่อจากภาคที่แล้ว และตัวละครเก่าจะใช้นักแสดงคนเดิม แต่ได้เปลี่ยนสถานะใหม่ และมีนักแสดงสาวชาวฮ่องกง คือ แองเจลาเบบี ร่วมแสดงด้วย โดยใช้เงินทุนสร้างกว่า 200 ล้านเหรียญ[7]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. ข้อมูลหลังใบปิดภาพยนตร์

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 จาก siamzone
  2. 2.0 2.1 "Independence Day (1996)". Box Office Mojo. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 23, 2016. สืบค้นเมื่อ February 5, 2009.
  3. "movies & tv (อังกฤษ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-29. สืบค้นเมื่อ 2012-09-05.
  4. Did Independence Day win any awards?
  5. "แฟนหนัง ID4 เฮ! ภาคต่อ 2-3 กำลังจะมา". สนุกดอตคอม. 7 October 2010. สืบค้นเมื่อ 23 February 2014.
  6. "ความคืบหน้าภาคต่อ ID4 "วิล สมิธ" ปฏิเสธข้อเสนอ". ผู้จัดการออนไลน์. 10 February 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-30. สืบค้นเมื่อ 23 February 2014.
  7. "10 ข้อมูลใหม่ภาคต่อ "ID4" Independence Day: Resurgence". ผู้จัดการออนไลน์. 25 June 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-06-26. สืบค้นเมื่อ 5 July 2015.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]