ไฟสัญญาณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ภาพแสดงไฟสัญญาณสีแดงบนปีกซ้ายของเครื่องบินสายการบินบริติชแอร์เวย์ โบอิง 757
ภาพแสดงไฟสัญญาณสีแดงบนปีกซ้ายของเครื่องบินสายการบินเซาท์แอฟริกันแอร์เวส์ โบอิง 747

ไฟสัญญาณ (อังกฤษ: Navigation light) คือ แหล่งกำเนิดแสงไฟสีติดตั้งอยู่บน เรือ อากาศยาน หรือ ยานอวกาศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงตำแหน่งของยานพาหนะ ทิศทางที่กำลังเคลื่อนที่ไป และ สถานะของยานพาหนะนั้นๆ สำหรับตำแหน่งที่ติดตั้งบนยานพาหนะนั้นถูกกำหนดโดยข้อตกลงระหว่างประเทศ

ไฟสัญญาณเดินเรือ[แก้]

ประวัติ[แก้]

เมื่อปี ค.ศ. 1838 สหรัฐอเมริกาได้มีการกำหนดให้เรือจักรไอน้ำที่เดินเรือ ในช่วงเวลาระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้นต้องติดตั้งและเปิดแสดงไฟสัญญาณหนึ่งดวงหรือมากกว่า โดยที่ไม่ได้มีข้อกำหนดถึงสีหรือตำแหน่งที่ติดตั้งเอาไว้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1848 สหราชอาณาจักรได้มีการกำหนดให้เรือจักรไอน้ำต้องติดตั้งและแสดงไฟสัญญาณด้านข้างสีแดงและสีเขียว รวมถึงติดตั้งและแสดงไฟสัญญาณสีขาวบนยอดเสาเรือ หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1849 รัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการแสดงไฟสัญญาณให้ครอบคลุมไปจนถึงเรือใบ

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1889 สหรัฐอเมริกาได้มีการจัดการประชุมนานาชาติทางทะเล (อังกฤษ: International Maritime Conference) เพื่อพิจารณากฎการเดินเรือสากลเพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยการชนกันของเรือในทะเล ผลคือ กฎการเดินเรือจากการประชุมวอชิงตัน (อังกฤษ: Washington Naval Conference) ได้ถูกลงมติยอมรับโดยสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1890 และมีผลใช้ในระดับสากลเมื่อปี ค.ศ. 1897[1]

สำหรับกฎการเดินเรือสากลเพื่อป้องกันอุบัติภัยการชนกันในทะเล (อังกฤษ: The International Regulations for Preventing Collisions at Sea) ได้ถูกกำหนดขึ้นในปี ค.ศ. 1972 เพื่อบังคับให้มีการติดตั้งและแสดงไฟสัญญาณเดินเรือบนเรือหรือพาหนะทางทะเล

ภาพแสดงไฟสัญญาณเดินเรือพื้นฐาน หมายเลข 2 แสดงภาพเมื่อผู้สังเกตหันหน้าเข้าหาหัวเรือ

ไฟสัญญาณเดินเรือพื้นฐาน[แก้]

เพื่อป้องกันอุบัติภัยในทะเล เรือหรือพาหนะทางทะเลต้องติดตั้งและแสดงไฟสัญญาณเดินเรือที่แสดงให้ทราบถึงประเภทและทิศทางสัมพันธ์ที่กำลังเดินทางไป เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเดินเรือว่าจะเกิดอุบัติเหตุขึ้นหรือไม่

เรือหรือยานพาหนะทางทะเลต้องแสดงไฟสัญญาณทางกราบขวาเป็นสีเขียว โดยที่สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หัวเรือไปทางกราบขวาจนถึง 112.5 องศานับจากหัวเรือ และไฟสัญญาณทางกราบซ้ายเป็นสีแดง โดยที่สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่หัวเรือไปทางกราบซ้ายจนถึง 112.5 องศานับจากหัวเรือ ไฟสัญญาณหัวเรือ คือไฟสัญญาณสีขาวที่สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงมุม 225 องศาโดยมีจุดกึ่งกลางอยู่ในทิศหัวเรือ สำหรับไฟสัญญาณสีขาวท้ายเรือ มีช่วงมุมที่สามารถสังเกตเห็นได้ 135 องศา(ดังรูป)[2]

เรือโฮเวอร์คราฟต์ หรือเร็วเร็วต่างๆที่แล่นใกล้ฝูงชนสามารถติดตั้งไฟกระพริบสีเหลืองเพื่อเพิ่มทัศนะวิสัยทั้งกลางวันและกลางคืนให้สามารถเป็นที่สังเกตได้ง่ายขึ้น

1) ไฟสัญญาณอากาศยาน
2) ไฟสัญญาณท้ายเครื่องบิน
3) ไฟสัญญาณป้องกันอุบัติภัย
4) ไฟแสดงสัญลักษณ์ชื่อสายการบิน

ไฟสัญญาณเดินเรือบอกสถานะ[แก้]

นอกเหนือจากไฟสัญญาณเดินเรือพื้นฐานดังที่กล่าวข้างต้น การใช้ไฟสัญญาณตามกฎการเดินเรือสากลเพื่อป้องกันอุบัติภัยการชนกันในทะเล (The International Regulations for Preventing Collisions at Sea) สามารถใช้เพื่อบอกสถานะและประเภทของเรือหรือยานพาหนะทางทะเลนั้น ๆ ได้ด้วย

ยกตัวอย่างเช่น

ในช่วงเวลากลางคืนหรือเมื่อทัศนวิสัยจำกัด เรือที่มีความยาวน้อยกว่า 50 เมตร ขณะจอดทอดสมออยู่ต้องแสดงสัญญาณไฟสัญญาณสีขาวที่สามารถมองเห็นได้รอบทิศทางหนึ่งดวง เรือที่มีความยาวตั้งแต่ 50 เมตรขึ้นไป ต้องแสดงไฟสัญญาณสีขาวที่สามารถมองเห็นได้รอบทิศทางหนึ่งดวงบริเวณหัวเรือ และอีกหนึ่งดวงบนเสาที่มีความสูงน้อยกว่าดวงแรกไปทางท้ายเรือ

ไฟสัญญาณอากาศยาน[แก้]

สำหรับไฟสัญญาณอากาศยานมีความคล้ายคลึงกันกับไฟสัญญาณเดินเรือ กล่าวคือ ไฟสัญญาณสีแดงบนขอบปีกซ้ายด้านหน้า และไฟสัญญาณสีเขียวบนขอบปีกขวาด้านหน้า โดยที่ทั้งสองไฟสัญญาณมีมุมมองที่สามารถมองเห็นได้ 110 องศานับจากหัวอากาศยานไปทางด้านข้างของแต่ละด้าน ไฟสัญญาณสีขาวท้ายเครื่องบิน 140 องศา และไฟสัญญาณสีขาวทางด้านหลังของปีกทั้งสองข้างและบนหางเครื่องบิน (ดังรูป)[3] โดยที่ไฟสัญญาณเหล่านี้เป็นไฟที่มีกำลังสูงในการส่องสว่างเพื่อป้องกันอันตรายจากอุบัติภัยการชนกันของเครื่องบิน[4]

ไฟสัญญาณยานอวกาศ[แก้]

ในปี ค.ศ. 2011 ได้มีการใช้ไดโอดเปล่งแสง (อังกฤษ: en:LED) เพื่อใช้งานสำหรับยานอวกาศ

ยานอวกาศ Cygnus ซึ่งเป็นยานอวกาศแบบไร้คนขับเพื่อใช้ในการขนส่งสิ่งของไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ ได้มีการติดตั้งไฟสัญญาณไดโอดเปล่งแสงประสิทธิภาพสูง 5 ดวง อันประกอบด้วย[5] ไฟสัญญาณกระพริบสีแดงทางด้านซ้าย ไฟสัญญาณกระพริบสีเขียวทางด้านขวา ไฟสัญญาณกระพริบสีขาว 2 ดวงบนยอดของตัวยานอวกาศ และ ไฟสัญญาณกระพริบสีเหลืองอีก 1 ดวงทางด้านท้ายของตัวยานอวกาศ

อ้างอิง[แก้]

  1. Handbook of the Nautical Rules of the Road Llana and Wisneskey
  2. The International Regulations for the Prevention of Collisions at Sea, Part C, Lights and Shapes | International Regulations for Preventing Collisions at Sea#Part C - Lights and shapes|International Regulations for the Prevention of Collisions at Sea, Part C, Lights and Shapes
  3. "14 CFR 25.1385, "Position light system installation"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากc=ecfr&SID=93d71915d59dec9ae7d43f0255dd12a3&rgn=div8&view=text&node=14:1.0.1.3.11.6.195.29&idno=14 แหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-22. สืบค้นเมื่อ 2012-12-09. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  4. "14 CFR 23.1401, "Anticollision light system"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-05-24. สืบค้นเมื่อ 2012-12-09.
  5. "ORBITEC Delivers First-Ever LED Lighting System for Orbital Science's Cygnus Module Spacecraft Navigation Lightingcaccessdate=2013-04-13".