โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง199 ซอยสุขุมวิท 22 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°43′38″N 100°33′54″E / 13.72722°N 100.56500°E / 13.72722; 100.56500
ข้อมูลอื่น
จำนวนห้อง1,251

โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค เดิมชื่อ โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในย่านสุขุมวิท ใกล้กับสถานีพร้อมพงษ์

ประวัติ[แก้]

โรงแรมนิวอิมพีเรียล ก่อตั้งโดยอากร ฮุนตระกูล ในปี พ.ศ. 2515 เป็นโรงแรมระดับสากลแห่งแรก ๆ ในกรุงเทพฯ มีห้องพัก 170 ห้อง ให้บริการแขกด้วยการต้อนรับแบบไทย หกปีต่อมา โรงแรมอิมพีเรียล อิมพาลา ซึ่งมีห้องพักจำนวน 197 ห้อง ได้เปิดให้บริการในซอยสุขุมวิท 24

ในระยะเวลากว่า 30 ปี จำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นจาก 100 คนเป็นเกือบ 2,827 คน สิ่งนี้ทำให้โรงแรมนิวอิมพีเรียลสามารถขยายกิจการได้อย่างกว้างขวาง รวมถึงการต่อเติมและก่อสร้างอาคารใหม่ โดยมีเครือข่ายโรงแรม 11 แห่งในกรุงเทพฯ ตอนกลางและจังหวัดสำคัญ

อาคารโรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2534 เพื่อรองรับการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปีเดียวกัน โดยถือเป็นโรงแรมเพื่อการจัดประชุมและสัมมนาขนาดใหญ่แห่งแรก ๆ ในกรุงเทพมหานคร[1] สองปีต่อมาโรงแรมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทอิมพีเรียล และในปี พ.ศ. 2537 อากรได้ขายกิจการโรงแรมในเครืออิมพีเรียลทั้งหมดให้กลุ่มทีซีซี[2][3]

ในปี พ.ศ. 2557 โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค ได้ปิดกิจการเพื่อปรับปรุงเป็นรูปแบบปัจจุบัน[4] ทั้งนี้ มีการเลิกจ้างพนักงานเดิมกว่า 800 คน นับเป็นหนึ่งในข่าวใหญ่ของอุตสาหกรรมโรงแรมไทยในขณะนั้น[5] ต่อมาในปี พ.ศ. 2559 ได้มีการเปิดโรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ซึ่งใช้ใช้งบประมาณในการปรับปรุง 3 พันล้านบาท[6] โดยถือเป็นโรงแรมแมริออท มาร์คีส์ แห่งแรกในเอเชียแปซิฟิก[7]

องค์ประกอบ[แก้]

โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจจากพระราชดำรัสและฉลองพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง[8] มีห้องพักทั้งหมด 1,251 ห้อง เป็นโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักมากที่สุดในกรุงเทพมหานคร[5] อีกทั้งยังมีร้านอาหาร สิ่งอำนวยความสะดวก และศูนย์ประชุม โดยห้องประชุมใหญ่ที่สุดรองรับผู้เข้าร่วมได้ 1,500 คน[9] โรงแรมตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 22 ใกล้เอ็มโพเรียม, เอ็มสเฟียร์ และอุทยานเบญจสิริ

อ้างอิง[แก้]

  1. "ปิดฉาก "อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค" สมบัติชิ้นสุดท้ายของ "อากร ฮุนตระกูล"". mgronline.com. 2014-09-30.
  2. เจ้าพ่อน้ำเมายึดไนท์บาร์ซาร์ "เขตช้าง สิงห์ห้ามเข้า" - รายงานพิเศษ
  3. "วัลลภา ไตรโสรัส ทำความรู้จักผู้บริหารหญิงแกร่ง ผู้บริหารสินทรัพย์แสนล้าน". Marketeer Online (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-11-24.
  4. "รร.อิมพีเรียลควีนส์ปาร์ค เบื้องหลัง "ประตูที่ปิดตาย"". mgronline.com. 2014-10-26.
  5. 5.0 5.1 isranews (2014-07-02). "อิมพีเรียล ควีนส์ปาร์ค สุขุมวิท 22 ปิดปรับปรุง เล็งเลิกจ้างพนง.กว่า 800 คน". สำนักข่าวอิศรา.
  6. "Hotel closes for revamp". Bangkok Post. 4 July 2014. สืบค้นเมื่อ 17 June 2015.
  7. แบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค แลนมาร์กแห่งใหม่ใจกลางมหานคร
  8. "แอบส่องโรงแรมใหม่ของเจ้าสัวเบียร์ช้าง เฉพาะค่ารีโนเวต 3,500 ล้านบาทเอง! - Ok Magazine Thailand" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-02-22.
  9. "Hotel near QSNCC in Bangkok | Bangkok Marriott Marquis Queen's Park". www.marriott.com.