โรคพยาธิหอยโข่ง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โรคพยาธิหอยโข่ง
สาขาวิชาโรคติดเชื้อ

โรคพยาธิหอยโข่งหรือโรคพยาธิปอดหนู (อังกฤษ: Angiostrongyliasis) เป็นโรคติดเชื้อพยาธิหอยโข่งหรือพยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) จากการทานหอยทาก ทากหรือมอลลัสกาที่ดิบหรือปรุงไม่สุก รวมถึงทานผักและผลไม้หรือดื่มน้ำที่ไม่สะอาด การติดเชื้อพยาธิหอยโข่งในมนุษย์ก่อให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือเยื่อหุ้มสมองกับสมองอักเสบ[1] แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องรับการรักษา อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีอาการร้ายแรง อาจมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทส่วนกลางจนถึงขั้นเสียชีวิต[2]

พยาธิหอยโข่งเป็นนีมาโทดาที่อาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงในปอดของหนู จึงมีอีกชื่อคือพยาธิปอดหนู (rat lungworm) ตัวเต็มวัยมีลักษณะเรียว ยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร[3] ไข่พยาธิจะอาศัยอยู่ในมูลของหนู ซึ่งเป็นอาหารของทากหรือมอลลัสกา[4] เมื่อมนุษย์ได้รับเชื้อเข้าไปจะมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ถึง 1 เดือน[5] อาการแรกเริ่มได้แก่ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียนและอ่อนแรง ก่อนจะมีไข้ ปวดคอและศีรษะ รวมถึงมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทและดวงตา[6]

การตรวจหาพยาธิหอยโข่งเป็นไปได้ยาก แพทย์จึงใช้วิธีการตรวจอีโอซิโนฟิลในน้ำหล่อสมองไขสันหลังเพื่อวินิจฉัยโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ รวมถึงการสแกนสมองและตรวจสารน้ำในร่างกาย[7] การรักษานิยมใช้ยาฆ่าพยาธิ เช่น อัลเบนดาโซล (albendazole), มีเบนดาโซล (mebendazole) หรือไอเวอร์เมกติน (ivermectin) ร่วมกับยาแก้อักเสบ[8] วิธีป้องกันมักมีการแนะนำให้หลีกเลี่ยงการทานทากหรือมอลลัสกาดิบและการดื่มน้ำที่ปนเปื้อน[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. Baheti NN; Sreedharan M; และคณะ (2008). "Eosinophilic meningitis and an ocular worm in a patient from Kerala, south India". J. Neurol. Neurosurg. Psychiatry. 79 (271).
  2. David, John T. and Petri, William A Jr. Markell and Voge’s Medical Parasitology. St. Louis, MO: El Sevier, 2006.
  3. "โรคพยาธิหอยโข่ง". Faculty of Tropical Medicine, Mahidol University. สืบค้นเมื่อ December 17, 2018.
  4. "Angiostrongyliasis". CDC. สืบค้นเมื่อ December 17, 2018.
  5. L. Ramirez-Avila (2009). "Eosinophilic Meningitis due to Angiostrongylus and Gnathostoma Species" (PDF). Emerging Infections. 48: 322–327. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2018-03-08. สืบค้นเมื่อ 2018-12-16.
  6. "Angiostrongylus - Disease". CDC. สืบค้นเมื่อ December 17, 2018.
  7. "Immunological diagnosis of human angiostrongyliasis due to Angiostrongylus cantonensis (Nematoda: Angiostrongylidae)". Science Direct. สืบค้นเมื่อ December 17, 2018.
  8. "Human angiostrongyliasis" (PDF). University of Hawaii at Manoa. สืบค้นเมื่อ December 17, 2018.
  9. "Angiostrongylus - Prevention & Control". CDC. สืบค้นเมื่อ December 17, 2018.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]

การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก