ข้ามไปเนื้อหา

โบตั๋น (พรรณไม้)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โบตั๋น
P. suffruticosa
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Plantae
หมวด: Magnoliophyta
ชั้น: Magnoliopsida
อันดับ: Saxifragales
วงศ์: Paeoniaceae
Raf.[1]
สกุล: Paeonia
L.
ชนิด
ดูในเนื้อหา

โบตั๋นมีชื่อในภาษาไทยว่า "นางพญานิรมล" เป็นไม้ดอกสกุล Paeonia ซึ่งเป็นสกุลเดียว ในวงศ์ Paeoniaceae เป็นพืชพื้นเมืองของเอเชีย, ตอนใต้ของทวีปยุโรป และตะวันตกของอเมริกาเหนือ ในอดีต โบตั๋นมักถูกจัดอยู่ในวงศ์ Ranunculaceae

พืชสกุลโบตั๋นส่วนใหญ่เป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงประมาณ 0.5–1.5 เมตร บางชนิดเป็นพุ่ม ลำต้นมีเนื้อไม้ สูง 1.5-3 เมตร ลักษณะของใบเป็นใบประกอบ มีแฉกลึก ดอกใหญ่ และมักมีกลิ่นหอม มีหลายสี ตั้งแต่ แดง บานเย็น เหลือง จนถึงขาว มักออกดอกในช่วงต้นฤดูร้อน

ชื่อ

[แก้]

ชื่อ "โบตั๋น" ในภาษาไทย มาจากชื่อดอกไม้นี้ในภาษาฮกเกี้ยน "บ๊อตั๊น" (จีน: 牡丹; เป่อ่วยยี: bó͘-tan) แต่บางคนก็ว่า มาจากชื่อในภาษาจีนกลางว่า "หมู่ตัน" (พินอิน: mǔ dān)[2]

โบตั๋นนั้น ในภาษาอังกฤษเรียกว่า peony โดยมีตำนานเล่าว่า ตั้งตามชื่อของไพอัน (Paean) ศิษย์คนหนึ่งของเอสเคลปิอัส เทพเจ้าแห่งการแพทย์ของกรีกโบราณ ต่อมาเอสเคลปิอัสอิจฉาลูกศิษย์ของตน เทพเซอุสช่วยไพอันให้พ้นภัยโดยสาปให้กลายร่างเป็นดอกโบตั๋น [3]

ชนิด

[แก้]

สัญลักษณ์และการใช้

[แก้]
ถาดอาหารไม้ลงยาฝังทอง จากราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279), นกหางยาวสองตัว หมายถึงการมีอายุยืนยาว ดอกโบตั๋นอยู่บนสุดของภาพ หมายถึง ความมั่งคั่ง
โบตั๋น โดยศิลปินจีน Wang Qian, ราชวงศ์หยวน (ค.ศ.1271-1368).
ภาพโบตั๋น โดยศิลปินจีน Yun Shouping, คริสต์ศตวรรษที่ 17

ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ในงานศิลปะมายาวนาน และหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติของจีน โดยถือเป็นดอกไม้แห่งจักรพรรดิและความร่ำรวย กับนิยมใช้ในเชิงสัญลักษณ์ในศิลปะจีนอีกด้วย [4] เมื่อ ค.ศ.1903 ราชวงศ์ชิงประกาศให้โบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติ ปัจจุบันนี้ไต้หวันใช้ดอกเหมยเป็นดอกไม้ประจำชาติ ขณะที่สาธารณรัฐประชาชนจีนไม่ได้ใช้เป็นดอกไม้ประจำชาติตามกฎหมายอีกแล้ว และต่อมาเมื่อปี 1994 มีการเสนอให้ใช้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำชาติอีก โดยการทำประชามติ แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับ กระทั่ง ค.ศ. 2003 มีการเสนอดังกล่าวอีกครึ่งหนึ่ง และยังไม่มีการเลือกใช้ดอกโบตั๋นอีกเช่นกัน

เมืองลั่วหยาง เมืองหลวงเก่าที่มีชื่อเสียงของจีน มีชื่อเสียงในฐานะศูนย์กลางการปลูกดอกโบตั๋นที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในประวัติศาสตร์จีน มักจะยกย่องโบตั๋นจากลั่วหยางว่างดงามที่สุดในแผ่นดิน ปัจจุบันยังมีการจัดนิทรรศการและการแสดงดอกโบตั๋นในเมืองนี้ปีละนับสิบๆ ครั้ง

ในประเทศญี่ปุ่น ดอกโบตั๋นชนิด Paeonia lactiflora เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า ebisugusuri (แปลว่า ยาจากต่างแดน) ตามตำรับยาของญี่ปุ่น ถือว่ารากโบตั๋นใช้รักษาอาการชักได้ นอกจากนี้ยังปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ โบตั๋นชนิด Paeonia suffruticosa ในญี่ปุ่น ถือว่าเป็น เจ้าแห่งบุปผา และชนิด Paeonia lactiflora ถือว่า เป็น อัครเสนาบดีแห่งบุปผา"[5]

ภาษาญี่ปุ่นเรียกโบตั๋นว่า โบตัน (牡丹) ก่อนสมัยเมจิ เนื้อจากสัตว์สี่เท้าไม่นิยมบริโภคมากนัก เนื่องจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา เมื่อเอ่ยถึงเนื้อสัตว์จึงเลี่ยงมาใช้ชื่อดอกไม้แทน คำว่า โบตัน ถูกใช้เรียกเนื้อหมูป่า มาตั้งแต่ครั้งนั้นจนปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพราะเนื้อหมูป่าเมื่อแล่เป็นชิ้นบางๆ จะคล้ายกับดอกโบตั๋นนั่นเอง ในทำนองเดียวกัน ชาวญี่ปุ่นใช้ดอกซากุระแทนคำเรียกเนื้อม้า

ในรัฐอินเดียนา ของสหรัฐอเมริกา ใช้ดอกโบตั๋นเป็นดอกไม้ประจำรัฐมาตั้งแต่ ค.ศ. 1957 โดยใช้แทนดอก zinnia ที่เคยใช้เป็นดอกไม้ประจำรัฐมาตั้งแต่ ค.ศ.1931

โบตั๋นนิยมปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ เพราะมีดอกสวยงามและใหญ่มาก ทั้งยังมีกลิ่นหอมด้วย

ภาพโบตั๋น

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Angiosperm Phylogeny Group (2009). "An update of the Angiosperm Phylogeny Group classification for the orders and families of flowering plants: APG III" (PDF). Botanical Journal of the Linnean Society. 161 (2): 105–121. doi:10.1111/j.1095-8339.2009.00996.x. สืบค้นเมื่อ 2013-07-06.
  2. พจนานุกรม จีน-ไทย ฉบับใหม่ โดย เธียรชัย เอี่ยมวรเมธ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: บริษัท รวมสาส์น (1977) จำกัด, 2537.
  3. Flowers in Greek Mythology เก็บถาวร 2008-09-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, VALENTINE floral creations. เรียกข้อมูล 23 มิถุนายน 2008.
  4. Terese Tse Bartholomew, Hidden Meanings in Chinese Art (San Francisco: Asian Art Museum/Chong-Moon Lee Center for Asian Art and Culture), 2006.
  5. Sasaki, Sanmi. 2005. Chado: The Way of Tea: A Japanese Tea Master's Almanac. Translated from the Japanese by Shaun McCabe and Iwasaki Satoko. Boston: Tuttle. Page 247.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Paeonia ที่วิกิสปีชีส์