โขนกลางแปลง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โขนกลางแปลง เป็นการแสดงโขนแสดงกลางแจ้ง บนพื้นดิน หรือกลางสนามหญ้า สันนิษฐานว่าเป็นการแสดงโขนประเภทแรก จัดแสดงตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่ไม่ทราบต้นกำเนิดแน่ชัด

โขนกลางแปลงนี้แสดงเรื่องรามเกียรติ์ ตอน ยกรบ ปะทะทัพเป็นพื้น เป็นการแสดงการรบกันระหว่างกองทัพฝ่ายพระรามและกองทัพฝ่ายทศกัณฐ์ โดยใช้ตำรวจเลข แสดงเป็นพลยักษ์ และใช้ทหารมหาดเล็กแสดงเป็นพลลิงจำลองการต่อสู้กันของพระรามและทศกัณฐ์จึงต้องใช้ผู้แสดงจำนวนมาก และเนื่องจากเป็นการจำลองการรบ จึงใช้ผู้ชายเท่านั้นในการแสดง

ผู้แสดงส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชบริพาร การจัดแสดงโขนประเภทนี้ในสมัยโบราณจึงมีแต่พระมหากษัตริย์ หรือเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงเท่านั้น ที่จะสามารถจัดการแสดงได้ เนื่องด้วยต้องใช้กำลังคนและกำลังทรัพย์เป็นจำนวนมาก ปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการแสดงในสมัยกรุงศรีอยุธยามีเพียงวงที่เรียกว่า เครื่องห้า ต่อมาในสมัยธนบุรีเพิ่มวงปี่พาทย์ให้มีสองวงเป็นอย่างน้อย ปลูกเป็นร้านยกขึ้นตั้งวงปี่พาทย์ เพื่อให้ผู้บรรเลงเห็นตัวโขนได้ในระยะไกล และมีความเป็นไปได้ว่าวงปี่พาทย์ที่บรรเลงประกอบการแสดงโขนกลางแปลงในอดีตน่าจะมีมากกว่าสองวง เมื่อตัวโขนเข้าไปใกล้วงไหนวงนั้นก็จะบรรเลง ส่วนการดำเนินเรื่องใช้เพียงการพากย์ เจรจาเท่านั้น ไม่มีการขับร้อง