เอ็ลเซ็ท 127 กราฟ เซ็พเพอลีน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แอลแซด 127 กราฟ เซปเปลิน)
กราฟ เซ็พเพอลีน LZ 127 กำลังลดระดับเพื่อร่อนลงจอด ภาพถ่ายประมาณปี 1929-30 โดย Alexander Cohrs

เรือเหาะเยอรมันเซ็พเพอลีน หมายเลข 127 (เยอรมัน: Deutsches Luftschiff Zeppelin #127 หรือชื่อทะเบียนคือ เด-เอ็ลเซ็ท 127 (D-LZ 127) เป็นเรือเหาะของบริษัทเรือเหาะอากาศเซ็พเพอลีน (Luftschiffbau Zeppelin)

การเดินเรือ[แก้]

เอ็ลเซ็ท127 ออกทำการบินในช่วง ค.ศ. 1928 ถึง 1937 ตั้งชื่อตามกราฟแฟร์ดีนันท์ ฟ็อน เซ็พเพอลีน ผู้บุกเบิกกิจการบินด้วยเรือเหาะ และผู้ก่อตั้งบริษัทลุฟชิฟบาว เซบเปลิน

เรือเหาะลำนี้มีชื่อเสียงในจากการบินมากกว่า 590 เที่ยวบิน เป็นระยะทางมากกว่าหนึ่งล้านไมล์ (1.7 ล้านกิโลเมตร) [1] และสร้างสถิติต่างๆ มากมาย รวมทั้งการเดินทางรอบโลก โดยเดินทางข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก 133 ครั้ง มหาสมุทรแปซิฟิก 1 ครั้ง บรรทุกผู้โดยสารทั้งสิ้น 13,110 คน [1] โดยไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ [2]

การก่อสร้าง[แก้]

เรือเหาะกราฟ เซ็พเพอลีน สร้างขึ้นตามคำสั่งของด็อกเตอร์ฮูโก เอ็กเคนเนอร์ ผู้จัดการบริษัท ลุฟชิฟบาว เซ็พเพอลีน โดยในช่วงเริ่มแรกบริษัทได้ขอทุนสร้างจากรัฐบาลสาธารณรัฐไวมาร์แต่ถูกปฏิเสธ เอ็กเคนเนอร์จึงหันไประดมเงินทุนจากผู้ลงทุนทั่วประเทศเยอรมนี เขายังรับหน้าที่เป็นผู้บังคับการเรือเหาะในการเดินทางครั้งสำคัญหลายครั้ง เรือเหาะมีขนาดความยาว 236.53 เมตร (776 ฟุต) เส้นผ่านศูนย์กลาง 30.48 เมตร (100 ฟุต) มีปริมาตร 105,000 ลบ.ม. ภายในบรรจุก๊าซไฮโดรเจน ใช้เครื่องยนต์มายบาคขนาด 550 แรงม้า 5 เครื่อง ทำความเร็วสูงสุดได้ 128 กิโลเมตร/ชั่วโมง

การเกิดอุบัติเหตุ[แก้]

ภายหลังการเกิดอุบัติเหตุของเอ็ลเซ็ท 129 ฮินเดินบวร์ค ในปี ค.ศ. 1937 เรือเหาะไฮโดรเจนทุกลำของบริษัทไม่ได้ถูกนำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์อีกเลย เนื่องจากผู้โดยสารไม่มั่นใจในความปลอดภัย หลังจากปลดประจำการกราฟ เซ็พเพอลีนถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ และถูกรื้อถอนในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1940 ตามคำสั่งของแฮร์มันน์ เกอริง พร้อมกับเอ็ลเซ็ท 130 กราฟ เซ็พเพอลีน 2 เพื่อนำวัสดุไปใช้สร้างเครื่องบินรบใช้งานในสงครามโลกครั้งที่สอง

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Brewer, G. Daniel. Hydrogen Aircraft Technology. Boca Raton, Florida: CRC Press, 1991. ISBN 0-8493-5838-8., p. 2.
  2. Puget Sound Airship Society. Zeppelin Airships 1918-1940, 2007. Retrieved: 5 July 2008.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]