ข้ามไปเนื้อหา

แอนนาแอนด์เดอะคิง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แอนนาแอนด์เดอะคิง
กำกับแอนดี เทนเนนต์
เขียนบทสตีฟ เมียร์สัน
ปีเตอร์ ไครกส์
อำนวยการสร้างLawrence Bender
Ed Elbert
นักแสดงนำโจดี้ ฟอสเตอร์
โจว เหวินฟะ
ผู้จัดจำหน่าย20th Century Fox
วันฉาย17 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ความยาว149 นาที
ภาษาอังกฤษ/ไทย/ฝรั่งเศส
ทุนสร้าง92 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทำเงิน113,996,937 ดอลลาร์สหรัฐ

แอนนาแอนด์เดอะคิง (อังกฤษ: Anna and the King) เป็นภาพยนตร์ซึ่งเข้าฉายในปี พ.ศ. 2542 มีโครงเรื่องจากนวนิยายเรื่อง แอนนากับพระเจ้ากรุงสยาม เป็นเรื่องราวของแอนนา ลีโอโนเวนส์ ครูสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยมี โจว เหวินฟะ แสดงเป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โจดี้ ฟอสเตอร์ แสดงเป็น แอนนา ลีโอโนเวนส์ และ ไป่ หลิง แสดงเป็น ทับทิม ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 2 รางวัล (สาขากำกับศิลป์ยอดเยี่ยม และสาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม) แต่ไม่ได้รับรางวัล

ในการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ เดิมผู้สร้างได้ขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย แต่ไม่ได้รับอนุญาต [ต้องการอ้างอิง] จึงได้ย้ายสถานที่ถ่ายทำเป็นที่ประเทศมาเลเซีย โดยมีเผ่าทอง ทองเจือ เป็นที่ปรึกษาของกองถ่ายทำ

ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกห้ามฉายในประเทศไทยตามคำสั่งของนายชวน หลีกภัย เนื่องจากภาพยนตร์มีเนื้อหาบางส่วนที่บิดเบือนประวัติศาสตร์

โจดี ฟอสเตอร์ กับ โจว เหวินฟะ ในภาพยนตร์

โครงเรื่อง

[แก้]

ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องราวของแอนนา ลีโอโนเวนส์และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แอนนาเป็นแม่หม้ายที่เข้ามาในประเทศสยามพร้อมกับหลุยส์ลูกชายของเธอเพื่อที่จะเข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้พระราชทายาททั้งหมด 68 พระองค์

เหตุผลที่ภาพยนตร์ถูกห้ามฉาย

[แก้]

นิตยสาร FLICKS ฉบับที่ 136 (ประจำวันที่ 5-11 พฤษภาคม 2549) คอลัมน์ THAIFLICKSISSUE (วิกฤษ ศิษย์พยายาม) สรุปเหตุผลที่รัฐบาลและคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ตัดสินใจห้ามฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในประเทศไทย โดยแบ่งออกเป็น 33 ข้อคือ[ต้องการอ้างอิง]

  1. ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นว่า ประตูพระบรมมหาราชวังเป็นสีทองทั้งหมด แต่ความจริงประตูพระบรมมหาราชวังเป็นสีแดง
  2. แหม่มแอนนาและบุตรชายของเธอนั่งรถลากจากท่าเรือมาที่พระบรมมหาราชวังผ่านหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่ความจริงกษัตริย์และหรือประชาชนไม่สามารถนั่งรถผ่านหน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
  3. ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นว่า วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) มีภิกษุจำพรรษา แต่ความจริงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ไม่มีภิกษุจำพรรษา
  4. คำพูดของหลุยส์ตอนที่อยู่ในตำหนักอาศัยค่อนข้างดูถูกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยการนำเอาพระองค์ไปเปรียบเทียบกับพ่อของตนเองซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  5. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงเปิดประตูให้แหม่มแอนนา แต่ความจริงในพระบรมมหาราชวังมีข้าราชบริพารเปิดประตูให้
  6. จำนวนพระราชทายาทในภาพยนตร์ไม่ตรงกับความจริง ภาพยนตร์บอกว่า พระองค์มีพระราชทายาททั้งหมด 68 พระองค์ (พ.ศ. 2405) แต่ความจริงมี 56 พระองค์ (มีพระชนชีพ 46 พระองค์ และสิ้นพระชนม์ 10 พระองค์) อีกทั้งตลอดเรื่องเจ้าจอมมารดาเที่ยง พระราชโอรส และพระราชธิดาถูกทำให้ดูต่ำต้อยกว่าแหม่มแอนนา
  7. เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) และหลุยส์ชกต่อยกัน แหม่มแอนนาโยนแผนที่ประเทศสยามซึ่งมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  8. เจ้าจอมทับทิมถวายตัวในห้องพระบรรทมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) มีพระพุทธรูปที่จุดเทียนบูชาดูราวกับว่า พระองค์ต้องการให้พระพุทธรูปมองดูการกระทำซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  9. ภิกษุกวาดลานหน้าปราสาทเทพบิดร แต่ความจริงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ไม่มีภิกษุจำพรรษา
  10. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงว่าราชการแผ่นดินร่วมกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) และแม่ทัพอาลักษณ์ มีบุ้งกี๋วางอยู่หลังกำแพงแก้วซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  11. แหม่มแอนนาสอนให้ข้าราชบริพารรู้จักวิธีรินไวน์ ดูราวกับว่าข้าราชบริพารมีสติปัญญาต่ำต้อย
  12. แหม่มแอนนาไปหาเจ้าจอมทับทิมซึ่งห่มจีวรเป็นพระภิกษุณี โกนผมแต่ไม่โกนคิ้ว แต่ความจริงภิกษุณีต้องโกนคิ้วเช่นเดียวกับภิกษุ
  13. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงปัดพระมหาพิชัยมงกุฎล้ม แต่ความจริงพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นสิ่งสูงค่ามาก กษัตริย์ไม่อาจทำล้ม
  14. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงนั่งเรือพระที่นั่งอนันตนาคราชไปส่งแหม่มแอนนาที่บ้านพัก มีการสบตาเหมือนพระเอกส่งนางเอกซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  15. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พระองค์ทรงช้าง ทรงสูบซิการ์เหมือนในภาพยนตร์จีน และทรงชักชวนให้หลุยส์สูบซิการ์จนถูกแหม่มแอนนาต่อว่าดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  16. แม่ทัพอาลักษณ์กำลังจะยิงพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เขากล่าวว่า เขาจะโค่นล้มราชวงศ์จักรีถือเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์และราชวงศ์
  17. การแสดงโขนใช้ดนตรีจีน แต่ความจริงต้องใช้วงปี่พาทย์ซึ่งประกอบด้วยเครื่องดนตรีไทยชนิดต่าง ๆ ครบชุด
  18. การประหารชีวิตเจ้าจอมทับทิมกับพระครูปลัดใบฎีกามีการตัดศีรษะทั้งสองหน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) แต่ความจริงไม่เคยมีการประหารชีวิตใครต่อหน้าพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
  19. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงขอโทษแหม่มแอนนาต่อหน้าขุนนาง แต่ความจริงไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดขอโทษใครต่อหน้าขุนนาง
  20. พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงต้องพระแสงปืนจนพระโลหิตกระจาย และสวรรคตที่ริมแม่น้ำเป็นฉากที่ดูรุนแรงเกินไป
  21. บทสนทนาหลายบทใช้คำราชาศัพท์ไม่ถูกต้อง เช่น ตอนที่แหม่มแอนนาสนทนากับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) ใช้คำว่า “พระองค์” แต่ความจริงต้องใช้คำว่า “ทูลกระหม่อม”
  22. ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงดูอ่อนแอและทรงต้องฟังแหม่มแอนนาซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  23. แหม่มแอนนาสามารถอยู่ใต้พระมหาเศวตฉัตรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) แต่ความจริงไม่มีใครสามารถอยู่ใต้พระมหาเศวตฉัตรได้นอกจากพระบรมวงศานุวงศ์
  24. แหม่มแอนนาสามารถนั่งข้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) และมีข้าราชบริพารเชิญพัดโบกให้ แต่ความจริงไม่มีใครสามารถให้ข้าราชบริพารเชิญพัดโบกได้นอกพระบรมวงศานุวงศ์
  25. แม่ทัพอาลักษณ์กล่าวหาว่า ราชวงศ์จักรีถูกควบคุมโดยขุนนาง ประหารชีวิตสมเด็จพระเจ้าตากสิน และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงยอมรับว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงถูกหักหลังจริงซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  26. ภาพยนตร์ใช้นักแสดงชาติอื่นแต่งตัวเลียนแบบภิกษุ และพูดภาษาไทยไม่ชัด
  27. ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (รัชกาลที่ 5) เจ้าจอมมารดาเที่ยง และเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง) ให้ความเคารพต่อแหม่มแอนนาอย่างมากซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  28. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงผูกระเบิดที่สะพาน และทรงต่อสายฉนวนด้วยพระองค์เอง แต่ความจริงกษัตริย์ทรงทำไม่ได้
  29. แหม่มแอนนาพูดถึงสามีของตนเอง และทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ว่าตอนนี้เธอไม่คิดถึงสามีของเธอ ดูราวกับว่าเธอบอกรักพระองค์ซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  30. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงโอบกอดแหม่มแอนนา และทรงใช้พระปราง (แก้ม) ของพระองค์มาแนบที่แก้มของแหม่มแอนนาต่อหน้าสาธารณชนซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  31. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ตรัสขอบคุณแหม่มแอนนาที่ทำให้แผ่นดินสยามรักษาเอกราชซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  32. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) ทรงจูบพระโอษฐ์ (ปาก) ของเจ้าฟ้าจันทรมณฑลต่อหน้าพระราชอาคันตุกะซึ่งไม่ใช่ธรรมเนียมของประเทศสยาม และดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง
  33. ภาพยนตร์ยกย่องแหม่มแอนนาราวกับว่า ถ้าไม่มีแหม่มแอนนาประเทศสยามอาจตกเป็นอาณานิคมของประเทศอื่นซึ่งดูไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง

อ้างอิง

[แก้]
  • นิตยสาร FLICKS ฉบับที่ 136 (ประจำวันที่ 5-11 พฤษภาคม 2549) คอลัมน์ THAIFLICKSISSUE