ข้ามไปเนื้อหา

แอกเซสพอยต์ไร้สาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แอกเซสพอยต์ไร้สาย (อังกฤษ: wireless access point) หรือ WAP หรือเรียกสั้น ๆ ว่า AP คือ อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่ช่วยให้อุปกรณ์ไร้สายอื่น ๆ สามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายแบบมีสายได้โดยการใช้เทคโนโลยีของเครือข่ายแลนไร้สายหรือมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แอกเซสพอยต์มักจะเชื่อมต่อกับเราเตอร์ด้วยสายเคเบิล (ผ่านเครือข่ายแบบมีสาย) ซึ่งอาจเป็นอุปกรณ์แยกต่างหากหรือเป็นส่วนหนึ่งของเราเตอร์นั้น แอกเซสพอยต์นั้นแตกต่างจากฮอตสปอตซึ่งเป็นตำแหน่งทางกายภาพที่สามารถเข้าถึงเครือข่าย Wi-Fi

พื้นฐาน

[แก้]
รูปแสดงเราเตอร์ของ Linksys รุ่น "WAP54G" มี Wireless Access Point ที่ทำงานบนมาตรฐาน 802.11g ในตัว
แผงวงจรแบบฝังตัวรุ่น RouterBOARD 112 ที่ใช้ขั้วต่อสายอากาศแบบ U.FL-RSMA pigtail และแผงวงจรเสริม PCI Wi-Fi ขนาดเล็กรุ่น R52 ซึ่งผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สาย (WISP) ทั่วโลกใช้กันอย่างกว้างขวาง

ก่อนที่จะมีเครือข่ายไร้สาย การตั้งค่าระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในธุรกิจ, บ้าน หรือ โรงเรียน มักจะต้องวางเคเบิลจำนวนมากผ่านผนังและเพดาน เพื่อให้อุปกรณ์เครือข่ายที่ใช้งานอยู่ในอาคารทั้งหมดสามารถเข้าถึงเครือข่ายหลักได้ ผู้ใช้เครือข่ายสามารถที่จะเพิ่มอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายที่ใช้สายเคเบิลน้อยหรือไม่ต้องใช้สายเคเบิลเลยด้วยการติดตั้ง WAP ปรกติแอกเซสพอยต์เชื่อมต่อโดยตรงกับระบบอีเทอร์เน็ตแบบใช้สาย จากนั้นแอกเซสพอยต์จะเชื่อมต่อไร้สายโดยความถี่วิทยุเพื่อให้อุปกรณ์ลูกข่ายทั้งหลาย สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายใช้สายได้มากที่สุด AP ส่วนใหญ่เชื่อมต่ออุปกรณ์ไร้สายได้หลายตัว แอกเซสพอยต์ที่ทันสมัยส่วนใหญ่รองรับมาตรฐานการส่งและรับข้อมูลโดยใช้ความถี่วิทยุที่มีการกำหนดโดย IEEE ที่เรียกว่ามาตรฐาน IEEE 802.11

มาตรฐานข้อมูลไร้สาย

[แก้]

มีมาตรฐานข้อมูลไร้สายมากมายที่ได้รับการแนะนำสำหรับจุดเชื่อมต่อไร้สายและเทคโนโลยีเราเตอร์ไร้สาย มีการสร้างมาตรฐานใหม่เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเชื่อมต่อไร้สายที่เร็วขึ้น เราเตอร์ไร้สายบางรุ่นสามารถใช้งานร่วมกับเทคโนโลยี Wi-Fi รุ่นเก่าได้ เนื่องจากอุปกรณ์จำนวนมากผลิตขึ้นเพื่อใช้กับมาตรฐานที่เก่ากว่า[1]

การใช้งานทั่วไป

[แก้]

การใช้งานขององค์กรโดยทั่วไปจะเกี่ยวข้องกับการติดตั้งแอกเซสพอยต์หลายตัวเข้ากับเครือข่ายแบบใช้สายเพื่อให้อุปกรณ์ลูกข่ายสามารถติดต่อแบบไร้สายไปยังระบบแลนของสำนักงานใหญ่ได้ WAP มีการจัดการโดย WLAN Controller ซึ่งจะทำการปรับเปลี่ยน พลังงานของคลื่นความถี่วิทยุ, ช่องสัญญาณ, การยืนยันตัวตน และการรักษาความปลอดภัยโดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ Controller หลายตัวยังสามารถสร้างกลุ่มการเคลื่อนที่แบบไร้สาย เพื่อให้มีการโรมมิงระหว่างคอนโทรลเลอร์ด้วยกัน คอนโทรลเลอร์สามารถจัดเป็นส่วนหนึ่งของโดเมนการเคลื่อนที่เพื่อให้ลูกข่ายสามารถเข้าถึงสถานที่ทำงานได้ทั่วภูมิภาค สิ่งนี้ช่วยประหยัดเวลาลูกข่ายและค่าใช้จ่ายด้านธุรการเพราะจะสามารถเชื่อมโยงหรือยืนยันตัวตนใหม่ได้หลาย ๆ ครั้ง

ตัวอย่างเครือข่ายไร้สายที่ใช้ WAP ในการเข้าถึงเครือข่ายหลักที่ใช้สายแบบอีเทอร์เน็ต

ฮอตสปอตเป็นการใช้งานสาธารณะทั่วไปของ AP ซึ่งลูกข่ายไร้สายสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าเป็นเครือข่ายอะไรหรือของใครในขณะนั้นโดยเฉพาะ แนวคิดนี้ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดาในเมืองใหญ่ที่มีการรวมกันของร้านกาแฟ, ห้องสมุด และแอกเซสพอยต์ส่วนบุคคล ที่ยอมให้ลูกข่ายเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่ผู้ใช้มีการเคลื่อนที่ไปรอบ ๆ การรวบรวมของฮอตสปอตที่เชื่อมต่อกันจะเรียกว่าเครือข่าย Lily Pad

แอกเซสพอยต์ใช้กันโดยทั่วไปในเครือข่ายไร้สายภายในบ้านที่มี AP เพียงตัวเดียว จะใช้เชื่อมต่อเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดในบ้าน ส่วนใหญ่จะเป็นเราเตอร์ไร้สายที่หมายถึงการรวมกันของ อุปกรณ์ได้แก่ แอกเซสพอยต์, เราเตอร์หนึ่งตัว และสวิตช์อีเทอร์เน็ต บางอุปกรณ์รวมโมเด็มบรอดแบนด์เข้าไปด้วย ในสถานที่ที่เป็นบ้านส่วนใหญ่จะมีแอกเซสพอยต์ของตัวเองและอยู่ในระยะทำการของแอกเซสพอยต์ของเพื่อนบ้าน จึงเป็นไปได้สำหรับคนเข้าใจเทคนิคที่จะปิดการเข้ารหัสลับของพวกเขาและจัดตั้งเป็นเครือข่ายชุมชนไร้สาย แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธว่ายังมีความต้องการเครือข่ายแบบมีสาย

แอกเซสพอยต์ยังอาจทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการของเครือข่ายที่ทำการเจรจาต่อรองกับอุปกรณ์ลูกข่ายแต่ละรายที่อยู่ใกล้เคียงที่สามารถร้องขอการส่งข้อมูลได้ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ของการติดตั้งเครือข่าย IEEE 802.11 จะไม่ใช้ความสามารถนี้ โดยจะใช้วิธีสุ่มหลอกแบบกระจายที่เรียกว่า CSMA/CA แทน

แอกเซสพอยต์แบบไร้สาย เปรียบเทียบกับ เครือข่าย Ad-hoc

[แก้]

อาจมีความสับสนระหว่างจุดเชื่อมต่อไร้สายกับเครือข่ายไร้สายเฉพาะกิจ เครือข่ายเฉพาะกิจเป็นการเชื่อมต่อระหว่างสองอุปกรณ์หรือมากกว่าโดยไม่ต้องใช้จุดเชื่อมต่อไร้สาย นั่นคืออุปกรณ์จะสื่อสารกันเองโดยตรงถ้าอยู่ในรัศมีทำการ เครือข่ายแบบเฉพาะกิจจะใช้ในสถานการณ์เช่นต้องการทำการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างรวดเร็วหรือใช้เล่นเกมใน LAN ที่มีผู้เล่นหลายคน เพราะการติดตั้งเป็นเรื่องง่ายและไม่จำเป็นต้องมีจุดเชื่อมต่อ เนื่องจากรูปแบบ peer-to-peer ของการเชื่อมต่อเฉพาะกิจที่มีความคล้ายคลึงกับบลูทูธ จึงมักจะไม่แนะนำการติดตั้งแบบถาวร[2]

การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายเฉพาะกิจโดยใช้คุณสมบัติเช่น Internet Connection Sharing ของวินโดวส์อาจทำงานได้ดีกับอุปกรณ์จำนวนไม่มากที่อยู่ใกล้ ๆ กัน การจราจรทางอินเทอร์เน็ตจะมาบรรจบกันที่โหนดที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตโดยตรง อาจทำให้มีความหนาแน่นติดขัดสำหรับโหนดที่เปิดใช้งานแบบอินเทอร์เน็ต แอกเซสพอยต์มีข้อได้เปรียบที่ชัดเจนด้วยความเป็นไปได้ของการมีจุดเชื่อมต่อได้หลายจุดที่สามารถเชื่อมต่อเข้ากับเครือข่ายแลนใช้สาย

ข้อจำกัด

[แก้]

ตามมาตรฐานของ IEEE 802.11 โดยทั่วไปแล้ว แอกเซสพอยต์หนึ่งตัวจะสามารถสื่อสารกับลูกข่ายได้ 10–25 ตัว[3] ภายในรัศมี 103 เมตร อย่างไรก็ตามรัศมีทำการของ AP ที่เกิดขึ้นจริง อาจแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญโดยขึ้นอยู่กับตัวแปร เช่นตำแหน่งที่ติดตั้งเป็นในที่ร่มหรือกลางแจ้ง, ระดับความสูงเหนือพื้นดิน, สิ่งกีดขวาง, อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ที่อาจรบกวนสัญญาณโดยการกระจายคลื่นความถี่เดียวกัน, ชนิดของเสาอากาศ, สภาพอากาศ, คลื่นความถี่วิทยุ, และการส่งออกพลังงานของอุปกรณ์เหล่านั้น ผู้ออกแบบเครือข่ายสามารถขยายรัศมีทำการของแอกเซสพอยต์โดยการใช้อุปกรณ์ทวนสัญญาณและ reflector ที่สามารถขยายหรือสะท้อนสัญญาณวิทยุ เพื่อการส่งสัญญาณที่ดีขึ้น ในการทดลองการใช้เครือข่ายไร้สายสามารถใช้งานได้เป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร[4]

ภายในรัศมีทำการที่สัญญาณจากแอกเซสพอยต์หลายตัวอยู่ในที่เดียวกัน ส่วนใหญ่ความถี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับการใช้งานเครือข่ายไร้สายจะสามารถใช้ได้เพียงจำนวนจำกัด โดยปกติ WAP ที่อยู่ติดกันจะใช้ช่องความถี่ที่แตกต่างกันในการสื่อสารกับลูกข่าย เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการรบกวนระหว่างสองระบบที่อยู่ใกล้เคียง อุปกรณ์ไร้สายสามารถ "ฟัง" การจราจรข้อมูลที่ความถี่อื่น ๆ และสามารถสลับจากความถี่หนึ่งไปยังอีกความถี่หนึ่งอย่างรวดเร็วเพื่อการรับสัญญาณที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในความถี่ที่จำกัดจะกลายเป็นปัญหาในพื้นที่ใจกลางเมืองที่แออัดไปด้วยอาคารสูงเมื่อมีการใช้ WAP หลายตัว ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวสัญญาณที่ซ้อนทับกันจะกลายเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดการรบกวน ซึ่งส่งผลให้เกิดสัญญาณข้อมูลขาดหายและเกิดข้อผิดพลาด[5]

เครือข่ายไร้สายจะล่าช้ากว่าเครือข่ายแบบมีสาย ในแง่ของการเพิ่มความกว้างช่องสัญญาณและการเพิ่มอัตรา throughput ในขณะที่อุปกรณ์ไร้สายทั่วไปสำหรับตลาดผู้บริโภค (ปี ค.ศ. 2010) สามารถทำงานด้วยความเร็ว 300 เมกะบิต/วินาที (IEEE 802.11n) หรือ 54 เมกะบิต/วินาที (IEEE 802.11g) ด้วยค่าใช้จ่ายที่เท่ากัน ฮาร์ดแวร์ระบบที่ใช้สายสามารถทำความเร็วได้ถึง 1000 เมกะบิต/วินาที (กิกะบิตอีเทอร์เน็ต) อุปสรรคหนึ่งในการเพิ่มความเร็วของการสื่อสารไร้สายมาจากการใช้งาน Wi-Fi ที่ใช้สื่อกลางการสื่อสารร่วมกัน ดังนั้นแอกเซสพอยต์หนึ่งตัวสามารถที่จะทำงานได้น้อยกว่าเกือบครึ่งของอัตราที่แท้จริงสำหรับการรับส่งข้อมูลทางอากาศ ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วที่ความเร็ว 54 MBit/s จะนำส่งข้อมูลบนโพรโทคอล TCP/IP ได้จริงเพียง 20 ถึง 25 Mbit/s เท่านั้น ความคาดหวังของผู้ใช้เครือข่ายใช้สายเดิมคือคาดว่าจะได้รับความเร็วที่ดีขึ้น และผู้ใช้การเชื่อมต่อแบบไร้สายก็ต้องการที่จะเห็นเครือข่ายไร้สายสามารถตามทันเครือข่ายใช้สายได้

ในปี ค.ศ. 2012 แอกเซสพอยต์ที่ใช้มาตรฐาน 802.11n และอุปกรณ์ลูกข่ายมีส่วนแบ่งการตลาดมากพอสมควร และเมื่อมีการสรุปมาตรฐาน 802.11n ในปี ค.ศ. 2009 ปัญหาโดยปรกติของการรวมผลิตภัณฑ์จากผู้ขายหลายรายที่แตกต่างกันมีให้เห็นไม่มาก

การรักษาความปลอดภัย

[แก้]

การเข้าถึงแบบไร้สายมีการพิจารณาเรื่องความปลอดภัยเป็นพิเศษ เครือข่ายใช้สายจำนวนมากมีรากฐานการรักษาความปลอดภัยด้วยการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพ, ความไว้วางใจผู้ใช้ทั้งหมดในเครือข่ายท้องถิ่น แต่ถ้าแอกเซสพอยต์เชื่อมต่อกับเครือข่ายใช้สาย ใครก็ตามที่อยู่ในรัศมีทำการของ AP นั้น (ซึ่งมักจะขยายออกไปไกลกว่าพื้นที่ที่ตั้งใจไว้) สามารถเชื่อมโยงเข้ากับเครือข่ายได้

ทางออกที่พบมากที่สุดคือ การเข้ารหัสการจราจรไร้สาย แอกเซสพอยต์ที่ทันสมัยจะมาพร้อมกับการเข้ารหัสในตัว รุ่นแรกของการเข้ารหัสคือโพรโทคอล WEP ได้รับการพิสูจน์ว่า crack ง่าย ขณะที่รุ่นที่สองและสามคือ WPA และ WPA2 ได้รับการพิจารณาว่าการรักษาความปลอดภัยได้ดี[6] ถ้าใช้รหัสผ่านหรือวลีรหัสผ่านที่แข็งแกร่งพอ

แอกเซสพอยต์ไร้สายบางตัวสนับสนุนการยืนยันตัวตนแบบเดียวกับฮอตสปอต โดยการใช้โพรโทคอล RADIUS และเซิร์ฟเวอร์ authentification อื่น ๆ

แอกเซสพอยต์เฉพาะงาน

[แก้]
ตัวอย่างของแอกเซสพอยต์ไร้สายรุ่นสำหรับอุตสาหกรรม

แอกเซสพอยต์รุ่นสำหรับอุตสาหกรรมจะแข็งแรงทนทานด้วยฝาโลหะและตั้งบนรางมาตรฐาน DIN ซึ่งสามารถทนต่ออุณหภูมิ, ความชื้นสูง และการสัมผัสกับน้ำ, ฝุ่นและน้ำมัน การรักษาความปลอดภัยแบบไร้สายใช้มาตรฐาน WPA- PSK, WPA2, IEEE 802.1x/RADIUS, WDS, WEP, TKIP และ การเข้ารหัส CCMP (AES) สิ่งที่แตกต่างจากรุ่นสำหรับผู้บริโภคก็คือ แอกเซสพอยต์ไร้สายรุ่นสำหรับอุตสาหกรรมยังสามารถทำหน้าที่เป็น บริดจ์, เราเตอร์ หรือลูกข่ายตัวหนึ่งได้

ดูเพิ่ม

[แก้]
  • Femtocell – สถานีฐานท้องถิ่น โดยใช้มาตรฐานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น UMTS แทนที่จะเป็น Wi-Fi
  • LWAPP – Lightweight Access Point Protocol ใช้ในการจัดการชุดการเชื่อมต่อขนาดใหญ่ของ WAP
  • Wi-Fi Array – ระบบของการเชื่อมต่อหลาย ๆ แอกเซสพอยต์
  • WiMAX – มาตรฐานไร้สายสำหรับพื้นที่กว้าง มีองค์ประกอบร่วมกันกับ Wi-Fi เล็กน้อย
  • Ad-hoc Network – ประเภทของเครือข่ายไร้สายเฉพาะกิจแบบกระจายอำนาจ
  • Wireless LAN – เครือข่ายที่ประกอบด้วยแอกเซสพอยต์หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งจุด บวกกับอุปกรณ์หนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งอุปกรณ์

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Wireless Routers Guide: Everything You Need To Know". Breech.co. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 ตุลาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2018.
  2. Chris Hoffman (22 กันยายน 2016). "What's the Difference Between Ad-Hoc and Infrastructure Mode Wi-Fi?". สืบค้นเมื่อ 16 ธันวาคม 2017.
  3. "Designing and Building a Campus Wireless Network" (PDF). MCNC. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-07-31. สืบค้นเมื่อ 2022-08-04. For areas that have high bandwidth and a concentrated area of users (i.e. classrooms in a 1:1 computing school), plan for approximately 15-25 data users per AP. When wireless devices are used for high bandwidth applications or concurrent use such as online testing, an even greater number of APs may be required to achieve a density closer to 10-15 users per AP.
  4. Ermanno Pietrosemoli. "Setting Long Distance WiFi Records: Proofing Solutions for Rural Connectivity". Fundación Escuela Latinoamericana de Redes University of the Andes (Venezuela). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 ธันวาคม 2018. สืบค้นเมื่อ 17 มีนาคม 2012.
  5. "The overlapping channel problem". Jisc community.
  6. Zhang, Yan; Zheng, Jun; Ma, Miao (1 มกราคม 2008). Handbook of Research on Wireless Security. Idea Group Inc (IGI). ISBN 978-1-59904-899-4.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]