ข้ามไปเนื้อหา

แซฟไฟร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ไพลิน)
ไพลิน
การจำแนก
ประเภทแร่ อัญมณี
สูตรเคมีAl2O3
คุณสมบัติ
สีทุกสี ยกเว้นสีแดง
โครงสร้างผลึกระบบสามแกนราบ เฮกซะโกนาล[1]
ค่าความแข็ง9.0
ความวาววาวแบบแก้ว
สีผงละเอียดขาว
ความถ่วงจำเพาะ3.95-4.03
จุดหลอมเหลว2030 - 2050 °C

แซฟไฟร์ (อังกฤษ: sapphire) เป็นพลอยตระกูลคอรันดัม มีหลายสี แต่โดยทั่วไปมักหมายถึงเฉพาะที่มีสีน้ำเงิน ในประเทศไทย เดิมเรียกว่า นิลกาฬ (นิลก็ยังหมายถึงพลอยอีกชนิดหนึ่ง) แต่ปัจจุบันนิยมเรียกว่า ไพลิน ตามชื่อของแหล่งกำเนิดจากเหมืองพลอย ในจังหวัดไพลิน ประเทศกัมพูชา ที่ในช่วงหนึ่งมีการนำเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก [2]

แซฟไฟร์จัดเป็นแร่ในประเภท (Species) คอรันดัม (Corundum) เช่นเดียวกับทับทิม (Ruby) ซึ่งพลอยคอรันดัมนี้เป็นพลอยที่มีความแข็งรองลงมาจากเพชร จึงทำให้แซฟไฟร์ เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปทำเครื่องประดับ

ชาวเปอร์เซียโบราณเชื่อกันว่าแซฟไฟร์ คือ "หินที่มาจากฟ้า" เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าโลก ตั้งอยู่บน แซฟไฟร์ ขนาดมหึมา จึงทำให้สะท้อนแสงแดด ออกไปสู่ท้องฟ้ามีสีน้ำเงิน ตามตำนานกล่าวว่า แซฟไฟร์เป็นพลอยของกษัตริย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันภัยอันตราย ทำให้เชื่อกันว่าผู้ที่สวมใสแซฟไฟร์จะมีชีวิตที่สดใส มีพลังในการดำรงชีวิต และแซฟไฟร์นี้สามารถปกป้องอันตรายแก่ผู้ที่สวมใส่ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังถือเอาแซฟไฟร์นี้เป็นสัญลักษณ์ของความจริงใจ และมั่นคงอีกด้วย

ปัจจุบันหากพูดถึงแซฟไฟร์ คำเดียวจะหมายถึง Blue Sapphire หรือ ไพลิน มาจากภาษาเปอร์เชีย "Saffir" หรือจากภาษากรีก "Sappheiros" แปลว่า สีน้ำเงิน หรือจากภาษาสันสกฤต "ศนิปฺริย" (ศนิ = พระเสาร์, ปฺริย = ผู้เป็นที่รัก) แปลว่าของมีค่าของเทพแซทเทิร์น (ในเทพปกรณัมโรมัน) [3] [4] อย่างไรก็ตาม ในภาษาสันสกฤตยังมีคำเรียกแซฟไฟร์สีน้ำเงินว่า "อินฺทฺรนีล" หมายถึง "สีน้ำเงินเหมือนพระอินทร์"

ในสมัยโบราณ จะเรียกพลอยคอรันดัมที่มีสีน้ำเงินว่าแซฟไฟร์ แต่ในความเป็นจริงพลอยคอรันดัมมีได้หลากสี เช่น สีเหลือง, ชมพู, ม่วง, เขียว เป็นต้น ดังนั้นหากเราต้องการจะเรียกพลอยคอรันดัมชนิดอื่นที่ไม่ใช่ไพลิน (Blue Sapphire) เราจะต้องระบุสีด้วย เช่น Yellow Sapphire (บุษราคัม), Green Sapphire (เขียวส่อง), Pink Sapphire (พลอยชมพู) เป็นต้น

ในปัจจุบันแซฟไฟร์ส่วนใหญ่มักผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนหรือที่เราเรียกกันว่าการเผา (Heated) ซึ่งมีทั้งการเผาเก่า และเผาใหม่ แต่โดยทั่วไปการเผาใหม่ก็ได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไปในตลาดพลอย เพราะการเผาจะทำให้สีดีของแซฟไฟร์ดีขึ้นและอยู่คงทนถาวร

แซฟไฟร์เป็นพลอยประจำเดือนเกิดของผู้ที่เกิดเดือนกันยายน และแซฟไฟร์ยังถือเป็นสัญลักษณ์ที่คู่รักนิยมมอบเป็นของขวัญให้แก่กันในโอกาสครบรอบการแต่งงานในปีที่ 5, 15, 23 และ ปีที่ 45 แซฟไฟร์ได้รับความนิยมในหมู่คนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • Ruby&Sapphire by Richard W. Hughes, Pratical Gem Handbook, GemA; Gem Reference Guide, GIA; แร่, กรมทรัพยากรธรณี ศัพท์บัญญัติอัญมณี, มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ไพลิน