แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อยู่ที่บ้านดอนตาเพชร ที่อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี

มีหลายอย่างซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันว่าบ้านดอนตาเพชรคือบริเวณที่ตะวันตกและตะวันออกมาพบกัน แบบอย่างที่มาจากทางตะวันออกที่พบที่นี่คือตุ้มหูและจี้ห้อยคอ หรือ ลิง-ลิง-โอ เป็นรูปสัตว์ที่มีเขาสองหัวสำหรับห้อยคอ และตุ้มหูที่มียอดแหลมประดับสามยอด ที่เป็นเหมือนเครื่องประดับทั่วไปในบริเวณเอเชียตะวันออก ซึ่งพบว่าเป็นโบราณวัตถุชนิดนี้เป็นวัตถุชิ้นหนึ่งซึ่ง พวกซาหวีนในเวียดนามปัจจุบันใช้กันมาก ซึ่งนี่เองที่เป็นหลักฐานสำคัญว่าพื้นที่บริเวณนี้มีการติดต่อสัมพันธ์กับภายนอกทางทะเลที่มีความเก่าแก่ นอกจากนี้จี้ห้อยคออีกชนิดหนึ่งที่พบคือจี้ห้อยคอรูปสิงห์เผ่น ซึ่งเป็นแบบอย่างมาจากทางตะวันตกคืออินเดีย นอกจากนี้ลูกปัดหินสีที่พบบริเวณนี้ยังพบในแถบอินเดียอีกด้วย

อาจสรุปได้ว่าแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชรเคยเป็นชุมชนโบราณที่มีการติดต่อทางทะเลกับทั้งอินเดียและทางตะวันออก

แหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร ค้นพบครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2518 เมื่อโรงเรียนวัดสาลวนาราม ได้ให้นักเรียนช่วยกันขุดหลุมดินเพื่อปักเสารั้ว ได้พบหลักฐานโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก

สำหรับการขุดสำรวจทางโบราณคดีได้ทำการขุดสำรวจทั้งสิ้น สี่ ครั้งด้วยกันครั้งที่ 1 โดย กรมศิลปากรได้มอบหมาย ครั้งที่ 2 ดำเนินงานขุดค้นศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2523 – 2524 และ ครั้งที่ 3 ดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2527 – 2528 ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือระหว่างกรมศิลปากรกับมหาวิทยาลัยลอนดอน ครั้งที่ 4 ดำเนินงานขุดค้นศึกษาในช่วงวันที่ 9 สิงหาคม ถึง 12 กันยายน พ.ศ. 2543 ภายใต้ชื่อโครงการศึกษาและพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและกรมศิลปากร

มีอายุอยู่ที่ประมาณ 2500 ปีมาแล้วหรืออยู่ในยุคเหล็ก

โบราณวัตถุที่พบ[แก้]

  • เครื่องมือเหล็ก ชนิดต่างๆ ที่ค้นพบมีลักษณะเป็นลักษณะของโลหะที่มีปลายแหลม ที่มีหลากหลายขนาด หลากหลายรูปทรง บางชนิดมีลักษณะโค้งงอแต่ส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดจะมีปลายแหลม
  • เครื่องสำริด เครื่องใช้สำริดที่พบนั้นโดยมากคือ ภาชนะสำริด ที่มีลวดลาย มองเห็นเป็นลายเส้นต่างๆ ที่มีทั้งเส้นโค้ง เส้นยาว เส้นรูปวงกลม ลวดลายที่อยู่บนภาชนะสำริดเหล่านั้นเป็นลวดลายสลักเป็นรูปผู้หญิงแสดงสัดส่วนทางสรีรวิทยาแบบอินเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีความสัมพันธ์กับอินเดียแล้วในยุคนั้น ที่เป็นไปได้ว่าภาชนะนี้เป็นสิ่งของที่ทำในดินแดนประเทศไทยและส่งไปขายยังอินเดีย หรือเป็นคนอินเดียที่อยู่ในบริเวณนั้นเป็นคนผลิตขึ้นมาเอง
  • เครื่องประดับ เครื่องประดับที่พบในแหล่งนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
    • เครื่องประดับจำพวกสำริด เครื่องประดับที่พบเป็นกำไลสำริด ข้อมือสำริด ข้อเท้าสำริด และแหวนสำริด เป็นเครื่องสวมใส่ ซึ่งอาจหมายถึงการแสดงฐานะในสังคม ซึ่งจากสิ่งของที่พบเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าที่นี่มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการหล่อขึ้นรูปสำริดที่ดี เพราะได้เครื่องประดับที่มีความบางและละเอียดเป็นพิเศษ
    • ลูกปัดหินสี คือเครื่องประดับอีกประเภทที่พบและถือเป็นลักษณะเด่นที่สุดที่นี่ ลูกปัดหินสีที่พบมีหลากหลายลักษณะและขนาดทั้งทรงกลม ทรงทุ่นกลม ทรงเหลี่ยม หลายชนิดมีทั้งที่มีลาดลายและไม่มีลวดลายบนตัวหิน ลูกปัดหินสีที่พบเหล่านี้ซึ่งเป็นรูปแบบที่เป็นอิทธิพลอินเดียโดยตรง และจากจุดนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงการติดต่อกับอินเดียอย่างชัดเจน หินสีที่พบมากที่สุด คือ หินสีส้ม หรือที่เรียกว่า หินคาร์นีเลียน และเทคโนโลยีการตกแต่งลายลูกปัดด้วยความร้อนเป็นลักษณะของลูกปัดหินสีที่นักวิชาการ เรียกว่า เอทชบีดส์ ซึ่งเป็นลูกปัดที่สวยงามกว่าลูกปัดรุ่นก่อนๆ

อ้างอิง[แก้]