แผ่นดินไหวในประเทศเฮติ พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก แผ่นดินไหวในเฮติ พ.ศ. 2553)
แผ่นดินไหวในประเทศเฮติ พ.ศ. 2553
พระราชวังแห่งชาติเฮติที่เสียหายหนักหลังแผ่นดินไหว
เวลาสากลเชิงพิกัด2010-01-12 21:53:10
รหัสเหตุการณ์ ISC14226221
USGS-ANSSComCat
วันที่ท้องถิ่น12 มกราคม 2553 (2553-01-12)
เวลาท้องถิ่น16:53:10 EST
ขนาด7.0 Mw
ความลึก13 กิโลเมตร (8.1 ไมล์)
ศูนย์กลาง18°28′N 72°32′W / 18.46°N 72.53°W / 18.46; -72.53พิกัดภูมิศาสตร์: 18°28′N 72°32′W / 18.46°N 72.53°W / 18.46; -72.53
พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเฮติ, สาธารณรัฐโดมินิกัน
ความเสียหายทั้งหมด7.8 – 8.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ[1]
ระดับความรุนแรงที่รู้สึกได้X (อนุภาพรุนแรง) [2]
ค่าความเร่งสูงสุดของพื้นดิน0.5 g[3]
สึนามิมี[4]
ผู้ประสบภัยเสียชีวิต 100,000 ถึง 316,000 คน[5]

แผ่นดินไหวในประเทศเฮติ พ.ศ. 2553 เป็นเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว ซึ่งมีความรุนแรง 7.0 ตามมาตราขนาดโมเมนต์ โดยศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากกรุงปอร์โตแปรงซ์ เมืองหลวงของประเทศเฮติ ไปราว 25 กิโลเมตร แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 16:53 น. ตามเวลาท้องถิ่น (21:53 น. ตามเวลาสากลเชิงพิกัด) ของวันอังคารที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2553[6] หรือตรงกับเวลา 04.53 นาฬิกา ในเช้าวันพุธที่ 13 มกราคม ตามเวลาประเทศไทย[7] จนถึงวันที่ 24 มกราคม ได้บันทึกว่าเกิดอาฟเตอร์ช็อกซึ่งวัดขนาดความรุนแรงได้กว่า 4.5 หรือมากกว่า เมือ่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ได้มีการประมาณว่ามีผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวมากกว่า 3 ล้านคน; รัฐบาลเฮติรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 217,000 และ 230,000 คน ประมาณการผู้ได้รับบาดเจ็บ 300,000 คน และอีก 1,000,000 ไม่มีที่อยู่อาศัย โดยยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น[8][9] นอกจากนี้รัฐบาลยังประมาณว่ามีบ้านเรือน 250,000 หลัง และอาคารพาณิชย์อีกกว่า 30,000 หลัง พังทลายหรือเสียหายอย่างหนัก[10]

หลายประเทศได้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ภัยพิบัติด้วยการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม รับประกันที่จะส่งเงินสนับสนุนและส่งทีมกู้ภัยและทีมแพทย์ วิศวกร และพนักงานช่วยเหลือ ระบบการสื่สาร สิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ โรงพยาบาล และเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว ซึ่งขัดขวางความพยายามช่วยชีวิตและให้การสนับสนุน; ความสับสนที่ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ ความคับคั่งของการจราจรทางอากาศ และปัญหาเกี่ยวกับการลำดับก่อนหลังของเที่ยวบิน ยิ่งทำให้การช่วยเหลือในช่วงแรกยิ่งซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อวันที่ 22 มกราคม สหประชาชาติได้หมายเหตุว่าช่วงเวลาฉุกเฉินของปฏิบัติการกู้ภัยใกล้จะหมดลงแล้ว และในวันต่อมา รัฐบาลเฮติประกาศยกเลิกการค้นหาผู้รอดชีวิตเพิ่มเติม

ลักษณะทางธรณีวิทยา[แก้]

กลุ่มรอยเลื่อนในบริเวณประเทศเฮติ

ประเทศเฮติตั้งอยู่บนรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกแคริบเบียน และแผ่นอเมริกาเหนือ แต่แผ่นดินไหวในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากรอยต่อระหว่างแผ่นเปลือกโลกเหล่านี้ แต่เกิดจากรอยเลื่อน ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักโดยเฉพาะเมืองหลวง กรุงปอร์โตแปรงซ์ สาเหตุเป็นเพราะว่าเมืองตั้งอยู่ในบริเวณอ่าว ซึ่งดินบริเวณอ่าวจะเป็นดินอ่อนมีลักษณะเป็นโคลนชุ่มด้วยน้ำ (เช่นเดียวกับในกรุงเทพมหานคร) ซึ่งสามารถขยายแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวให้รุนแรงขึ้นได้[11]

ความเสียหาย[แก้]

ความเสียหายของทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงปอร์โตแปรงซ์
ความเสียหายบริเวณใจกลางกรุงปอร์โตแปรงซ์

แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง เช่น อาคารบ้านเรือนพังพินาศจำนวนมาก[12] รวมทั้งทำเนียบประธานาธิบดี, อาคารรัฐสภา, กระทรวงการคลัง, กระทรวงแรงงาน, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงวัฒนธรรม, สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ, อาคารสถานทูต, โรงเรียน, โรงแรมและโรงพยาบาล ที่พังถล่มลงมาทับผู้คน รวมถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เสียหายอย่างหนัก โดยนายปัน กีมุน เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า "แผ่นดินไหวที่เฮติถือเป็นหายนะครั้งรุนแรงที่สุดเท่าที่องค์กรนานาชาติเคยประสบมา"[13]

กระทรวงกิจการภายในของเฮติออกแถลงการณ์ว่า ได้รับคำยืนยันมีผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงเป็นจำนวนกว่า 110,000 คนแล้ว โดยตัวเลขล่าสุดจำนวนผู้เสียชีวิตนับตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 12 มกราคม เป็นต้นมา คือ 111,499 คน

ตัวเลขผู้เสียชีวิตดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากที่เคยประเมินไว้ว่ามีอย่างน้อย 50,000 คน ส่วนผู้บาดเจ็บจากแผ่นดินไหวมี 193,891 คน และอีกกว่า 609,000 คน ต้องอาศัยอยู่ในค่ายพักชั่วคราว 500 แห่ง เจ้าหน้าที่เฮติแสดงความวิตกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตอาจทะลุ 200,000 คน

ความช่วยเหลือ[แก้]

ด้านความช่วยเหลือจากนานาชาติ หลาย ๆ ประเทศได้ให้การช่วยเหลือต่าง ๆ โดยแต่ละประเทศที่เข้าช่วยเหลือเฮติในครั้งนี้ ต่างก็เร่งระดมเงินและลำเลียงสิ่งของและอุปกรณ์ช่วยเหลือมาทางเครื่องบิน แต่ต้องประสบปัญหาการบินขึ้นลง เพราะสนามบินกรุงปอร์โตแปรงซ์ มีขนาดเล็ก อีกทั้งการลำเลียงของลงจากเครื่องเป็นไปอย่างล่าช้า เที่ยวบินช่วยเหลือหลายลำต้องบินวนนานกว่า 2 ชม. กว่าจึงจะลงจอดได้ ขณะเดียวกัน ถนนหนทางบางแห่งได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว และมีซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนหล่นมากีดขวางเส้นทาง[14]

ความช่วยเหลือจากนานาชาติ ในขณะนี้ มีทั้งความช่วยเหลือจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และส่วนบุคคล ดังนี้ [15]

  •  สหรัฐ - ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แถลงมอบเงินช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหวในเฮติเบื้องต้น 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,300 ล้านบาท) พร้อมกันนี้ยังได้ขอให้อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2 ท่าน คือ นายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช และนายบิล คลินตัน ช่วยกันระดมเงินช่วยเหลืออีกแรง ส่วนความช่วยเหลือภาคสนาม สหรัฐฯ กำลังส่งทหาร 3,500 นาย เจ้าหน้าที่และแพทย์รวม 300 คน รวมทั้งเรืออีกหลายลำพร้อมทหารหน่วยนาวิกโยธิน 2,200 นาย เข้าปฏิบัติภารกิจกู้ภัยช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหวในเฮติ
  •  เยอรมนี - ได้บริจาคเงินช่วยเหลือ เป็นจำนวน 1 ล้านยูโร
  •  ชิลี - บริจาคเงิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารพัฒนาระหว่างอเมริกา (ไอเอดีบี) - ให้เงินช่วยเหลือฉุกเฉินจำนวน 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนธนาคารโลกเตรียมส่งเจ้าหน้าที่ เพื่อไปประเมินความเสียหายและช่วยฟื้นฟูเฮติ
  •  ไทย - รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือแก่เฮติ เป็นเงินจำนวน 2 หมื่นดอลลาร์และนอกจากนี้ยังส่งเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมอีกราว 30 ล้านบาทรวมถึงข้าวสารอีก 2,000,000 ตัน โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงการที่รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเฮติที่ประสบภัยแผ่นดินไหวจำนวน 2 หมื่นดอลลาร์ น้อยเกินไปหรือไม่ว่าอาจจะมีการเพิ่มการช่วยเหลือด้านอื่น เช่น ส่งทหารช่างเข้าไปช่วยสนับสนุนฟื้นฟูหรือไม่ว่า "เข้าใจว่านั่นเป็นเงินช่วยเหลือก้อนแรกที่อยู่ในขอบเขตอำนาจที่จะทำได้ก่อน ที่เหลือนายกรัฐมนตรีคงจะได้ติดตามดูตามสถานการณ์ว่าควรจะช่วยเหลืออย่างไร ซึ่งก็มีข้อเสนอว่าอาจส่งทหารช่าง ทหารเสนารักษ์ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ซึ่งนายกฯคงมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศประเมินสถานการณ์ดูว่ามีอะไรบ้าง ที่เราสมควรจะช่วยเหลือ แต่ปัญหาคือประเทศนี้อยู่ไกลจากเรามาก ไม่เหมือนกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นที่ประเทศอินโดนีเซีย หรือฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นเพื่อนบ้าน เมื่อเกิดเหตุเราขนข้าวของไปได้ กรณีที่เฮติคงเป็นการช่วยเหลือเรื่องเงินทองหรือบุคลากร ซึ่งนายกฯคงจะเรียกผู้เกี่ยวข้องไปหารือต่อไป ซึ่งการช่วยเหลือก้อนแรกก็เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"
รวมถึงรายได้ทั้งหมดที่ได้จากค่าตั๋วเข้าชมการแข่งขันฟุตบอลคิงส์คัพ 2010

ส่วนสหประชาชาติแถลงที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า ยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นเจ้าหน้าที่ของยูเอ็นมีแล้วอย่างน้อย 36 คน และยังสูญหายอีกจำนวนมาก พร้อมเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมลงขันช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในเฮติแล้วราว 268.5 ล้านดอลลาร์ (ราว 8,860.5 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ยังมีเหล่าดาราคนดังทั้งวงการหนังและวงการเพลงต่างพร้อมใจออกมาช่วยระดมเงิน บริจาคกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง อาทิ คู่สามี-ภรรยาคนดัง แบรด พิตต์ และแองเจลีนา โจลี บริจาคเงินช่วยเหลือ 1 ล้านดอลลาร์ผ่านองค์กร "แพทย์ไร้พรมแดน" จอร์จ คลูนีย์ เตรียมจัดรายการพิเศษออกอากาศทางเครือข่ายของเอ็มทีวีในวันที่ 22 ม.ค.นี้ ระดมหาเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเฮติ เช่นเดียวกับนักแสดงสาวอลิสซา มิลาโน ทูตสันถวไมตรีขององค์การยูนิเซฟ ไวเคลฟ ฌ็อง นักร้องดังแนวฮิพฮอพที่เกิดในเฮติ นักร้องสาวชากีรา คริส มาร์ติน จากวงโคลด์เพลย์ แห่งอังกฤษ โอปราห์ วินฟรีย์ เจ้าแม่รายการทอล์กโชว์ ดาวตลกเบน สติลเลอร์ และแลนซ์ อาร์มสตรอง นักปั่นน่องทอง ที่เตรียมช่วยระดมทุนหาเงินบริจาคช่วยเหลือชาวเฮติ ขณะที่นางมิเชล โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐฯ เรียกร้องประชาชนร่วมบริจาคผ่านแคมเปญส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ซึ่งได้เงินมา 5.9 ล้านดอลลาร์ และมอบให้หน่วยงานกาชาดดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

วันเดียวกัน สมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงต่างประเทศ (เอชเอฟพีเอ) ฝ่ายจัดงานมอบรางวัลลูกโลกทองคำ (โกลเดน โกลบส์) ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมเบเวอร์ลี ฮิลตัน ย่านเบเวอร์ลี ฮิลส์ รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ในคืนวันที่ 17 ม.ค.นี้ ตามเวลาท้องถิ่น แถลงยังเดินหน้าจัดงานตามกำหนด โดยระหว่างงานจะมีการระดมเงินบริจาคให้ได้ 100,000 ดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเฮติ ผ่านกองทุนช่วยเหลือ "เยเล เฮติ" ของนักร้องฮิพฮอพ ไวเคลฟ ฌ็อง

อ้างอิง[แก้]

  1. Amadeo, Kimberly. "Haiti's 2010 Earthquake Caused Lasting Damage". The Balance. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 October 2019. สืบค้นเมื่อ 19 October 2019.
  2. H. Kit Miyamoto; Amir S. J. Gilani; Ken Wong (1 October 2011). "Massive Damage Assessment Program and Repair and Reconstruction Strategy in the Aftermath of the 2010 Haiti Earthquake". Earthquake Spectra. 27 (1): 219–237. doi:10.1193/1.3631293. S2CID 110899301.
  3. Lin, Rong-Gong; Allen, Sam (26 February 2011). "New Zealand quake raises questions about L.A. buildings". Los Angeles Times. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 March 2011. สืบค้นเมื่อ 27 February 2011.
  4. Lessons to be learned from Haiti's tsunami เก็บถาวร 4 สิงหาคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน BBC News, 25 February 2010
  5. "Earthquakes with 50,000 or More Deaths". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 June 2013. สืบค้นเมื่อ 17 March 2012. U.S. Geological Survey, Earthquakes with 50,000 or More Deaths
  6. USGS Magnitude 7.0 - HAITI REGION". http://earthquake.usgs.gov/earthquakes/eqinthenews/2010/us2010rja6/ เก็บถาวร 2010-01-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved 13 January 2010.
  7. ข่าวไทยรัฐออนไลน์ - "4ไทยในเฮติรอด". http://www.thairath.co.th/today/view/58873. ข้อมูล ณ วันที่ 15 มกราคม 2553.
  8. "Haiti raises earthquake's death toll to 230,000". Associated Press. 10 February 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-02-13. สืบค้นเมื่อ 2010-04-08.
  9. "Haiti will not die, President Rene Preval insists". BBC News. 12 February 2010. สืบค้นเมื่อ 12 February 2010.
  10. Clarens Renois (5 February 2010). "Haitians angry over slow aid". The Age. สืบค้นเมื่อ 5 February 2010.
  11. [1] แผ่นดินไหวเฮติ - Haiti Earthquake, จากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา, สืบค้นวันที่ 17 เมษายน 2553
  12. คม ชัด ลึก - "ชี้แผ่นดินไหวเฮติคล้าย2012วันสิ้นโลก". http://www.komchadluek.net/detail/20100114/44493/ชี้แผ่นดินไหวเฮติคล้าย2012วันสิ้นโลก.html . ข้อมูล ณ วันที่ 14 มกราคม 2553.
  13. ชาวเฮติที่รอดชีวิตอยู่ในสภาพสิ้นหวัง - ThaiPBS.http://www.thaipbs.or.th/s1000_obj/front_page/page/1035.html?content_id=235024. ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2553
  14. ทั่วโลกพร่อมให้ความช่วยเหลือเฮติ - MCOT.http://news.mcot.net/international/inside.php?value=bmlkPTEzNDQ4NyZudHlwZT10ZXh0. ข้อมูล ณ วันที่ 14 มกราคม 2553
  15. ไทยรัฐออนไลน์ - มีพระราชสาส์นเสียพระราชหฤทัยชาวเฮติประสบภัย .http://news.mcot.net/international/inside.php?value=bmlkPTEzNDQ4NyZudHlwZT10ZXh0. ข้อมูล ณ วันที่ 16 มกราคม 2553