แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัม (United Liberation Front of Asom) เป็นกลุ่มก่อการร้ายในอัสสัมซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย กล่าวอ้างว่ามีการก่อตั้งในเขตทางประวัติศาสตร์ของอาหม “รัง ฆาร์” เมื่อ 7 เมษายน พ.ศ. 2522 มีรายงานเมื่อ พ.ศ. 2529 ว่าองค์กรนี้มีการติดต่อกับสภาสังคมนิยมแห่งชาตินาคาแลนด์และกลุ่มกบฏกะชีนในพม่า กลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ตั้งค่ายฝึกในบังกลาเทศได้เมื่อ พ.ศ. 2532 และเริ่มก่อความรุนแรงเมื่อ พ.ศ. 2533 ผู้นำหลักขององค์กรคือ ปะเรศ พารุอะห์

คำกล่าวอ้างของ ULFA[แก้]

แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมกล่าวว่าองค์กรของตนเป็นองค์กรปฏิวัติทางการเมือง โดยใช้กองกำลังปลดปล่อยต่อต้านรัฐบาลอินเดียเพื่อตั้งรัฐอัสสัมที่เป็นเอกราช โดยอัสสัมนั้นไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของอินเดียในทางประวัติศาสตร์

ULFA กับรัฐบาลอินเดีย[แก้]

รัฐบาลอินเดียถือว่าแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมเป็นองค์กรก่อการร้ายและถูกคว่ำบาตรในฐานะองค์กรนอกกฎหมาย มีการปราบปรามโดยใช้กำลัง นอกจากนั้น อินเดียยังกล่าวว่าแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมมีความเชื่อมโยงกับองค์กรต่อต้านอินเดียในปากีสถานและบังกลาเทศ

แนวคิดและการสนับสนุนจากจีน[แก้]

แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมมีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์และมีความเกี่ยวข้องกับลัทธิเหมา มีฝ่ายบริหารที่ได้รับการฝึกมาจากปากีสถาน George Fernandes อดีตรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอินเดียกล่าวว่าแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมได้รับการสนับสนุนทางอาวุธจากจีน

กิจกรรมหลัก[แก้]

การลอบสังหาร[แก้]

การลอบสังหารของแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมที่สำคัญได้แก่การสังหาร สุเรนทรา พอล เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2533 ใน พ.ศ. 2534 วิศวกรชาวรัสเซียถูกลักพาตัวและถูกฆ่า ใน พ.ศ. 2540 สัญชัย โฆเส นักกิจกรรมทางสังคมซึ่งสำเร็จการศึกษาจากอินเดียถูกฆ่า เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงที่ถูกลอบสังหารคือ นาเคน ศรรมะ ที่ถูกฆ่าเมื่อ พ.ศ. 2543 และยังมีการลอบสังหารที่ไม่สำเร็จอีกมาก

ใน พ.ศ. 2546 แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมถูกกล่าวหาว่าได้ฆ่าแรงงานชาวพิหารเพื่อเป็นการตอบโต้ที่มีการข่มขืนเด็กหญิงชาวอัสสัมบนรถไฟในพิหาร เหตุการณ์นี้กลายเป็นชนวนให้มีการต่อต้านพิหารในอัสสัม

เมื่อ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2547 มีเหตุระเบิดในอัสสัมและมีผู้เสียชีวิต 10-15 คน รวมทั้งเด็กนักเรียนด้วย ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำของแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัม ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2550 แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมได้ฆ่าคนงานชาวพิหารที่พูดภาษาฮินดีราว 62 คน และได้วางระเบิดในคุวาหาตีเมื่อ 15 มีนาคม พ.ศ. 2550 มีผู้บาดเจ็บ 6 คน

ความเสียหายทางเศรษฐกิจ[แก้]

แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมเคยกล่าวอ้างความรับผิดชอบต่อการวางระเบิดเป้าหมายทางเศรษฐกิจ เช่น ท่อส่งน้ำมัน รถไฟ และที่ทำการรัฐบาล รวมทั้งการโจมตีเมื่อ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2548

การรับสมาชิกใหม่[แก้]

มีรายงานเกี่ยวกับการรับสมาชิกใหม่ของแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมในเขตชนบท

กิจกรรมทางการเมือง[แก้]

หลัง พ.ศ. 2527 และก่อนถูกคว่ำบาตรเมื่อ พ.ศ. 2533 แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมมีกิจกรรมทางการเมืองมากมาย ในทันทีหลังจากการรื้อทำลายมัสยิดบาบรีเมื่อ พ.ศ. 2535 แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมได้ออกมาระงับความอลหม่านระหว่างชาวฮินดูและชาวมุสลิมในบริเวณโหชัยของตำบลนาเคาน์ โดยการแสดงอาวุธอย่างเปิดเผย

ยังคงมีการบรรยายผ่านสื่อพื้นบ้านเช่นหนังสือพิมพ์อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะปัญหาทางการเมืองที่เน้นคำถามเกี่ยวกับความเป็นชาติซึ่งเป็นหัวข้อโต้แย้งในอัสสัม แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมเคนเรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรการเลือกตั้งในท้องถิ่นสองครั้ง

การระดมทุน[แก้]

แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมมีชื่อเสียงเกี่ยวกับการปล้นธนาคารในช่วงแรก ปัจจุบันมีการรายงานอย่างกว้างขวางว่ามีการขู่เข็ญนักธุรกิจ ข้าราชการ และนักการเมืองเพื่อระดมทุน

กิจกรรมอื่นๆ[แก้]

มีรายงานว่าแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมยังคงมีค่ายฝึกอยู่ในบังกลาเทศและภูฏานแม้ว่าจะถูกทำลายโดยกองทัพภูฏานเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 นอกจากนี้ แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติโบโดแลนด์ด้วย

SULFA: ULFA ที่ยอมมอบตัว[แก้]

เริ่มเกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 โดยรัฐบาลอินเดียพยายามหยุดและแยกสมาชิกของแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัม และเริ่มสำเร็จหลังการเสียชีวิตของ เหรัก ชโยติ มหันตะเมื่อ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ใน พ.ศ. 2535 สมาชิกแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมกลุ่มใหญ่ออกมามอบตัวต่อรัฐบาล โดยกลุ่มนี้ได้รับอนุญาตให้ติดอาวุธเพื่อป้องกันตนเองจากกลุ่มเดิมและให้ฝากเงินกับธนาคารได้ ทำให้กลุ่มแนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมที่ยอมมอบตัวมีความสำคัญทั้งทางการเมืองและธุรกิจในอัสสัม

การเจรจา[แก้]

แนวร่วมสมาพันธ์กู้ชาติแห่งอัสสัมมีการเจรจากับรัฐบาลอินเดียเกี่ยวกับสถานะของพวกเขาในการต่อรอง แต่รัฐบาลอินเดียปฏิเสธ ข้อเสนอสำหรับการเจรจานี้ได้แก่

  • การเจรจาต้องเกิดขึ้นในประเทศที่สาม
  • การเจรจาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของสหประชาชาติ
  • ระเบียบวาระการประชุมต้องรวมหัวข้ออำนาจอธิปไตยในอัสสัมด้วย

ใน พ.ศ. 2547 รัฐบาลอินเดียปฏิเสธข้อเรียกร้องสองข้อแรกและพร้อมจะเจรจาในหัวข้ออำนาจอธิปไตยเท่านั้น

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]