เอ็มเม็ทท์ ทิลล์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอ็มเม็ทท์ ทิลล์
เกิดเอ็มเม็ทท์ หลุยส์ ทิลล์
25 กรกฎาคม ค.ศ. 1941(1941-07-25)
ชิคาโก รัฐอิลลินอย สหรัฐ
เสียชีวิต28 สิงหาคม ค.ศ. 1955(1955-08-28) (14 ปี)
ดริว รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐ[1]
สาเหตุเสียชีวิตลงประชาทัณฑ์ (ถูกอาวุธปืนยิง และตัดอวัยวะ)
สุสานสุสานเบอร์โอ๊ก
แอลซิป รัฐอิลลินอย
การศึกษาโรงเรียนประถมเจมส์ แม็กคอช
บิดามารดาเมมี ทิลล์
หลุยส์ ทิลล์

เอ็มเม็ทท์ หลุยส์ ทิลล์ (อังกฤษ: Emmett Louis Till; 25 กรกฏาคม ค.ศ. 1941 – 28 สิงหาคม ค.ศ. 1955) เป็นเด็กชายชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาวัย 14 ปี ซึ่งถูกลักพาตัว ทรมาน และลงประชาทัณฑ์ในรัฐมิสซิสซิปปีใน ค.ศ. 1955 ภายหลังจากถูกกล่าวหาว่าได้ล่วงเกินสตรีผิวขาวนามว่า แคโรลีน ไบรอัน ในร้านขายของชำของครอบครัวของเธอ การที่ทิลล์ถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยม และข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้สังหารล้วนถูกพิพากษาให้พ้นผิด ทำให้ประวัติศาสตร์อันยาวนานของการบีฑาชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาในสหรัฐอย่างรุนแรงกลายเป็นที่สนใจ หลังการเสียชีวิตแล้วทิลล์ได้กลายเป็นสัญรูปของขบวนการสิทธิพลเมือง[2]

ทิลล์เกิดและเติบโตในเมืองชิคาโก รัฐอิลลินอย ในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1955 เขาได้ไปเยี่ยมญาติใกล้กับเทืองมันนี รัฐมิสซิสซิปปี ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ เขาพูดคุยกับแคโรลีน ไบรอัน สตรีผิวขาววัย 21 ปี เจ้าของร้านของชำขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่นั่น แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ร้านจะกลายเป็นข้อพิพาท แต่ทิลล์ถูกกล่าวหาว่าเกี้ยวพา สัมผัสตัว หรือผิวปากใส่ไบรอัน ปฏิสัมพันธ์กับไบรอันอาจเป็นการละเมิดหลักความประพฤติที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับการปฏิบัติตัวของชายผิวดำต่อหญิงผิวขาวในภาคใต้ยุคจิมโครว์ หลายคืนหลังเหตุการณ์ในร้าน รอย ผู้เป็นสามีและ เจ.ดับเบิลยู. มิลัม น้องชายต่างมารดาของเขาซึ่งพกพาอาวุธ ไปยังบ้านลุงของทิลล์และลักพาตัวเอ็มเม็ทท์ จากนั้นทุบตีและตัดอวัยวะก่อนสังหารเขาด้วยการยิงอาวุธปืนเข้าที่ศีรษะ และถ่วงศพให้จมลงไปในแม่น้ำทัลลาฮัตชี สามวันต่อมา มีการพบศพที่อวัยวะขาดและขึ้นอืดของเขาและกู้ขึ้นจากแม่น้ำ

ศพของทิลล์ได้ถูกส่งกลับไปยังชิคาโกซึ่งแม่ของเขายืนกรานที่จะจัดงานศพสาธารณะแบบเปิดฝาโลงศพ งานศพนี้จัดขึ้นที่โบสถ์โรเบิร์ตนิกายศาสนจักรพระเจ้าในคริสต์ (Church of God in Christ)[3] ต่อมากล่าวกันว่า "'งานศพเปิดฝาโลงที่จัดโดยเมมี ทิลล์ แบรดลีย์[note 1] เปิดเผยให้โลกเห็นมากกว่าศพที่ขึ้นอืดและอวัยวะขาดของเอ็มเม็ทท์ ทิลล์ ลูกชายของเธอเท่านั้น การตัดสินใจของเธอได้มุ่งเน้นความสนใจที่ไม่ใช่เฉพาะคตินิยมเชื้อชาติในสหรัฐ และความป่าเถื่อนของการลงประชาทัณฑ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงข้อจำกัดและความเปราะบางของระบอบประชาธิปไตยของอเมริกาด้วย[4] ผู้คนนับหมื่นเข้าร่วมงานศพหรือเห็นศพที่อยู่ในโลงศพเปิด และนิตยสารและหนังสือพิมพ์สำหรับคนผิวดำจัดพิมพ์ภาพของศพที่ถูกตัดอวัยวะของเขา ได้ปลุกระดมการสนับสนุนของประชาชนผิวดำและความเห็นอกเห็นใจของคนขาวทั่วทั้งสหรัฐ มีการพิจารณาอย่างเข้มข้นต่อการขาดสิทธิพลเมืองของคนผิวดำในรัฐมิสซิสซิปปี โดยหนังสือพิมพ์ทั่วสหรัฐได้วิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐ แม้ในช่วงแรกหนังสือพิมพ์และข้าราชการบังคับใช้กฎหมยท้องถิ่นจะประณามความรุนแรงต่อทิลล์และเรียกร้องความยุติธรรม แต่พวกเขาตอบสนองต่อข้อวิจารณ์ระดับชาติด้วยการปกป้องคนรัฐเดียวกัน เท่ากับเป็นการสนับสนุนฆาตกรช่วงหนึ่ง

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1955 คณะลูกขุนซึ่งประกอบด้วยคนผิวขาวทั้งหมด วินิจฉัยว่าไบรอันท์และมิลัมนั้นไม่มีความผิดในการฆ่าทิลล์ ทั้งสองได้รับการคุ้มครองจากการห้ามฟ้องดำเนินคดีอาญาซ้ำ (double jeopardy) ชายสองคนได้ออกมายอมรับอย่างเปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับนิตยสารลุคในปี ค.ศ. 1956 ว่า พวกเขาทรมานและสังหารเด็ก โดยขายเรื่องเล่าในสิ่งที่พวกเขาลงมือเป็นเงิน 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ[5] การฆ่าทิลล์ได้ถูกมองว่าเป็นแรงกระตุ้นสำหรับขบวนการสิทธิพลเมืองในขั้นถัดไป ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1955 เริ่มมีการคว่ำบาตรรถโดยสารประจำทางมอนต์โกเมอรีในรัฐแอละแบมาและกินเวลายาวนานกว่าหนึ่งปี จนศาลสูงสุดสหรัฐวินิจฉัยว่า รถโดยสารที่แบ่งแยกสีผิวขัดต่อรัฐธรรมนูญ นักประวัติศาสตร์ระบุว่า เหตุการณ์แวดล้อมชีวิตและความตายของทิลล์ยังคงส่งผลต่อมาถึงปัจจุบัน มีการก่อตั้งคณะกรรมการอนุสรณ์เอ็มเม็ทท์ ทิลล์ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 อาคารศาลเทศมณฑลซัมเนอร์ได้รับการบูรณะและมีศูนย์สื่อความหมายเอ็มเม็ทท์ ทิลล์ (Emmett Till Interpretive Center) มีสถานที่ 51 แห่งในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ตั้งขึ้นเพื่อรำลึกถึงทิลล์ รัฐบัญญัติต่อต้านการลงประชาทัณฑ์เอ็มเม็ทท์ ทิลล์ ซึ่งเป็นกฏหมายสหรัฐที่จัดให้การลงประชาทัณฑ์เป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชังในระดับสหพันธรัฐ มีการลงนามเป็นกฏหมาย เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 2022 โดยประธานาธิบดี โจ ไบเดิน[6]

เชิงอรรถ[แก้]

  1. At the time of Emmett's murder in 1955, Emmett's mother was often referred to by using her second husband's name as, Mamie Till Bradley. In 1957, she married Gene Mobley and then became known as Mamie Till Mobley.

อ้างอิง[แก้]

  1. Thompson, Wright (July 22, 2021). "His name was Emmett Till". The Atlantic. สืบค้นเมื่อ July 24, 2021.
  2. Brown, DeNeen L. (July 12, 2018). "Emmett Till's mother opened his casket and sparked the civil rights movement". The Washington Post. สืบค้นเมื่อ February 26, 2020.
  3. Brandon, Elissaveta M. "Eleven historic places in America that desperately need saving". Smithsonian. สืบค้นเมื่อ October 20, 2020.
  4. Jr, Deborah Gray White, Mia Bay, Waldo E. Martin (2013). Freedom on My Mind: A History of African Americans, with Documents. Boston: Bedford/St. Martin's. p. 637. ISBN 978-0-312-64884-8.
  5. "Getting Away with Murder | American Experience | PBS". www.pbs.org (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2022-04-09.
  6. McDaniel, Eric; Moore, Elena (2022-03-29). "Lynching is now a federal hate crime after a century of blocked efforts". NPR. สืบค้นเมื่อ 2022-03-29.