เอ็มวี ทอร์ เน็กซัส

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เอ็มวี ทอร์ เน็กซัส เป็นเรือสินค้าชนิดเทกองอเนกประสงค์ของไทย ที่ลูกเรือถูกกลุ่มคนร้ายคาดว่าเป็นโจรสลัดโซมาเลียจับเป็นตัวประกัน

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข้อมูลจากโครงการช่วยเหลือนักเดินเรือประจำภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก (เอสเอพี) ว่า ลูกเรือ 27 คนของเรือลำดังกล่าวถูกคนร้ายคาดว่าเป็นโจรสลัดโซมาเลีย 12 คน[1] จับเป็นตัวประกัน[2] โดยผู้อำนวยการเอสเอพี แอนดรูว์ มาวังกูรา เปิดเผยว่า เรือลำดังกล่าวถูกเข้ายึดห่างจากซาลาลาห์ ประเทศโอมาน ไปทางตะวันออก 350 กิโลเมตร ขณะมุ่งหน้าออกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังเดินทางไปยังบังกลาเทศ[2]

เอ็มวี ทอร์ เน็กซัส เป็นเรือสินค้าชนิดเทกองอเนกประสงค์ ต่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 บรรทุกน้ำหนักสูงสุด 20,377 ตัน เป็นของบริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด[2]

โดยก่อนหน้านี้ ในวันที่ 23 ธันวาคม เรือ "เอ็มวี ทอร์ นอติลุส" ได้ถูกโจรสลัดบุกเข้ายึดเรือพร้อมอาวุธเช่นกัน แต่กัปตันได้รับคำแนะนำจากเรือรบหลวงสิมิลันให้ใช้มาตรการป้องกันโจรสลัด โดยการขับเรือโต้คลื่นและส่ายไปมา จนทำให้โจรสลัดไม่สามารถบุกขึ้นเรือได้[2]

การช่วยเหลือ[แก้]

เรือลำดังกล่าวอยู่ในระหว่างการประสานขอความช่วยเหลือนับตั้งแต่เวลา 13.30 น. ของวันที่ 24 ธันวาคม โดยพลเรือเอกเถกิงศักดิ์ วังแก้ว เสนาธิการทหารเรือ ระบุว่า หมู่เรือปราบปรามโจรสลัด เรือหลวงสิมิลัน ได้ตรวจสอบเรือลำดังกล่าว ซึ่งในวันที่ 26 ธันวาคม มีรายงานว่า ขณะที่เรือหลวงสิมิลันกำลังติดตามเข้าไปช่วยเหลือลูกเรือ ระหว่างทางได้พบกับเรือต้องสงสัยอาจเป็นเรือแม่ของเรือโจรสลัด สามารถใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าสกัด และขึ้นเรือตรวจค้นได้สำเร็จ จนได้ข้อมูลของเรือที่หายไป[1] อย่างไรก็ตาม ขณะพยายามเข้าใกล้เรือเพื่อปฏิบัติการ ได้รับวิทยุคำขู่ว่าหากเข้าใกล้ในระยะ 20 ไมล์ จะทำร้ายลูกเรือ ทำให้เรือหลวงสิมิลันรักษาระยะห่างเฝ้าติดตามต่อไป[3] ขณะนี้โจรสลัดกำลังพยายามนำเรือเข้าสู่ประเทศโซมาเลีย คาดว่าน่าจะถึงในวันที่ 30 ธันวาคม[1] เสนาธิการทหารเรือเชื่อว่าโจรสลัดจะนำเรือที่ยึดมาได้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของโจรสลัด แล้วจึงจะมีการเจรจาเรียกค่าไถ่ ซึ่งไม่เคยปรากฏว่าโจรสลัดโซมาเลียจะทำร้ายตัวประกันที่ผ่านมา[4]

วันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2553 กษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้มีการประสานงานติดต่อกับหลายประเทศ โดยมีทหารเรือบนฝั่งบาห์เรนที่ประสานงานประมาณ 10 นาย ยืนยันว่าจะไม่มีการจู่โจมเรือลำดังกล่าวเพื่อความปลอดภัยของลูกเรือ[5]

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553 บริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด ได้ออกแถลงการณ์ของบริษัท กรณีเรียกร้องเงินค่าไถ่ให้กับเรือทอร์ เน็กซัส โดยมีเนื้อหาระบุว่าขณะนี้ทางบริษัทยังไม่ได้รับการติดต่อจากโจรสลัดแต่อย่างใด โดยทางผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสายงานธุรกิจขนส่งของบริษัท ได้ระบุว่า "บริษัทพร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการเจรจา เพื่อนำลูกเรือและเรือกลับมาอย่างปลอดภัยให้เร็วที่สุด"[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 โจรสลัดโซมาเลียขู่ฆ่า 27 ลูกเรือไทย. ไทยรัฐ. (28 ธันวาคม 2553). สืบค้น 29-12-2553.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 โจรสลัดโซมาเลีย ปล้น-ยึด เรือขนสินค้าไทย. ไทยรัฐ. (27 ธันวาคม 2553). สืบค้นเมื่อ 28-12-2553.
  3. ทัพเรือเกาะติดสถานการณ์โจรสลัดจับ 27 คนไทยเป็นตัวประกัน[ลิงก์เสีย]. สืบค้นเมื่อ 29-12-2553.
  4. ทร.ยันเร่งช่วย27ลูกเรือไทยถูกโจรสลัดจับ. TNNNews. (28 ธันวาคม 2553). สืบค้นเมื่อ 29-12-2553.
  5. บัวแก้วแจงรอเจรจากับโจรสลัดโซมาเลีย. คมชัดลึก. (28 ธันวาคม 2553). สืบค้น 30-12-2553.
  6. แถลงการณ์ของบริษัท กรณีการเรียกร้องเงินค่าไถ่ให้กับเรือทอร์ เน็กซัส. โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์. (29 ธันวาคม 2553). สืบค้น 29-12-2553.

ดูเพิ่ม[แก้]