เอกซ์แคลิเบอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เซอร์เบดิเวียร์ขว้างดาบเอกซ์แคลิเบอร์ลงไปในน้ำ ภาพวาดประกอบเรื่อง Le Morte d'Arthur ของทอมัส แมโลรี ค.ศ. 1894

เอกซ์แคลิเบอร์ (อังกฤษ: Excalibur) คือดาบในตำนานของกษัตริย์อาร์เทอร์ ที่เล่าลือว่ามีอำนาจวิเศษ หรือมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิ์อันชอบธรรมในการปกครองแผ่นดินอังกฤษ ในบางครั้งก็เรียกดาบเอกซ์แคลิเบอร์ว่า "ดาบในศิลา" (Sword in the Stone) ซึ่งใช้ในการพิสูจน์สิทธิ์ครองแผ่นดินของอาร์เทอร์ แต่ในงานเขียนหลายเวอร์ชันอาจแยกดาบทั้งสองนี้เป็นคนละเล่มกัน ดาบเอกซ์แคลิเบอร์นี้ปรากฏอยู่ในตำนานกษัตริย์อาร์เทอร์มานานแล้ว ในภาษาเวลส์สมัยใหม่เรียกดาบนี้ว่า คาเลดฟุลค์ (Caledfwlch)

ในตำนานอาร์เทอร์ฉบับวีรคติ มีหลายเรื่องที่บอกว่าอาร์เทอร์เป็นเจ้าของดาบเอกซ์แคลิเบอร์ ในเรื่อง เมอร์ลิน ของรอแบร์ เดอ บอรง อาร์เทอร์ได้ครองบัลลังก์เนื่องจากสามารถดึงดาบออกจากศิลาได้ ตามท้องเรื่องนั้นกล่าวว่า ไม่มีผู้ใดจะดึงดาบออกจากศิลาได้หากมิใช่ "กษัตริย์ที่แท้จริง" ซึ่งใช้ในการค้นหากษัตริย์หรือทายาทที่แท้จริงของยูเทอร์ เพนแดรกอน โดยมากเชื่อกันทั่วไปว่าดาบในศิลานี้ก็คือเอกซ์แคลิเบอร์ ในภายหลังได้มีการระบุอย่างชัดแจ้งในงานเขียนที่เรียกชื่อว่า Vulgate Merlin Continuation ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในตำนานลานเซลอตกับจอกศักดิ์สิทธิ์[1] แต่ในตำนานยุคหลังจาก Vulgate Merlin เรื่องกลับกลายเป็นว่า ท่านหญิงแห่งทะเลสาบเป็นผู้มอบดาบเอกซ์แคลิเบอร์ให้แก่อาร์เทอร์หลังจากที่เขาได้ขึ้นครองบัลลังก์แล้ว นางเรียกดาบนี้ว่า "เอกซ์แคลิเบอร์ ดาบอันสามารถตัดเหล็กกล้า" ในเรื่อง Vulgate Mort Artu อาร์เทอร์สั่งให้กริฟลิตขว้างดาบลงไปในทะเลสาบแห่งมนตรา หลังจากล้มเหลวถึง 2 ครั้งเขาจึงสามารถทำตามคำสั่งพระราชาผู้บาดเจ็บหนักได้ โดยมีมือหนึ่งยื่นขึ้นจากทะเลสาบมารับดาบไว้ ในฉบับแปลภาษาอังกฤษของแมโลรีภายหลังได้เปลี่ยนตัวผู้ขว้างดาบเป็นเบดิเวียร์[2]

แมโลรีเก็บเอาตำนานเกี่ยวกับดาบทั้งสองเรื่องมาใส่ใน Le Morte d'Arthur ของเขา แล้วสร้างความสับสนโดยเรียกดาบทั้งสองว่า เอกซ์แคลิเบอร์ ทั้งคู่ ในฉบับภาพยนตร์ เรื่อง Excalibur ได้พยายามแก้ไขความสับสนนี้ โดยสรุปรวมเป็นดาบเล่มเดียวกัน ในตอนแรกอาร์เทอร์ดึงขึ้นมาจากศิลาก่อน หลังจากนั้นดาบแตกเป็นเสี่ยง ๆ แล้วท่านหญิงแห่งทะเลสาบจึงซ่อมดาบเล่มเดิมนั้นขึ้นใหม่

อ้างอิง[แก้]

  1. Merlin: roman du XIIIe siècle ed. M. Alexandre (Geneva: Droz, 1979)
  2. Lancelot-Grail: The Old French Arthurian Vulgate and Post-Vulgate in Translation trans. N. J. Lacy (New York: Garland, 1992-6), 5 vols

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]