เหตุเหยียบกันเสียชีวิตในพนมเปญ
![]() พระสงฆ์สวดมนต์ให้แก่ผู้ตายบนสะพานที่เกิดเหตุ | |
วันที่ | 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 |
---|---|
เวลา | 21:30 ตามเวลาท้องถิ่น (14:30 UTC) |
ที่ตั้ง | สะพานระหว่างพนมเปญกับเกาะพิช ประเทศกัมพูชา |
เสียชีวิต | 347 คน |
บาดเจ็บไม่ถึงตาย | อย่างน้อย 755 คน[1] |
เหตุเหยียบกันเสียชีวิตในพนมเปญ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เมื่อมีประชาชนอย่างน้อย 347 คน[2] ถูกเหยียบจนเสียชีวิตระหว่างเทศกาลน้ำในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา มีรายงานว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 755 คน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ได้กล่าวว่า เหตุดังกล่าวเป็นโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่การปกครองของเขมรแดงระหว่างปี 2518-2522[3]
เบื้องหลัง[แก้]
เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปลายเทศกาลน้ำซึ่งกินระยะเวลา 3 วัน เพื่อเฉลิมฉลองการสิ้นสุดของฤดูมรสุมและการเปลี่ยนทิศทางการไหลของแม่น้ำโตนเลสาบซึ่งเกิดขึ้นสองครั้งในหนึ่งปี[4][5][6] รายงานเบื้องต้นได้เสนอว่าผู้เข้าร่วมเทศกาลได้รวมตัวกันบริเวณเกาะพิช ("เกาะเพชร") ดินแดนส่วนที่ยื่นเข้าไปในโตนเลสาบ เพื่อดูการแข่งพายเรือและต่อด้วยการแสดงคอนเสิร์ต[5] โดยมีประชาชนราว 4 ล้านคนเข้าร่วมเทศกาล[7]
เหตุการณ์ดังกล่าวนับเป็นเหตุเหยียบกันเสียชีวิตระหว่างเทศกาลในรอบหลายปี คนพายเรือ 5 คนจมน้ำเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2551 และคนพายเรืออีก 1 คนเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2552 คาดว่าเหตุดังกล่าวน่าจะเป็นเหตุที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในระหว่างเทศกาลน้ำ[7]
เหตุการณ์[แก้]
เหตุเหยียบกันเสียชีวิตเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 21.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น (14.30 UTC) บนสะพานข้ามแม่น้ำ[4][8] ถึงแม้ว่าพยานจะกล่าวว่ามีผู้ "ติดอยู่บนสะพาน" หลายชั่วโมงก่อนหน้าเหตุการณ์ดังกล่าว และเหยื่อไม่สามารถเคลื่อนที่ลงจากสะพานได้จนกระทั่งเกิดเหตุเหยียบกันเสียชีวิตแล้วมานานหลายชั่วโมง[7] โฆษกรัฐบาลกัมพูชา เขียว กันหะริด กล่าวว่า เหตุเหยียบกันเสียชีวิตนี้เกิดขึ้นหลังจากเกิดความตื่นตกใจที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึกหมดสติบนเกาะที่มีผู้คนอยู่แออัดนี้[9] ทำให้มีผู้เสียชีวิต 347 คน[2] และอีก 755 คนได้รับบาดเจ็บ[1] ส่วนหนึ่งได้รับบาดเจ็บสาหัส และโรงพยาบาลท้องถิ่นหลายแห่งต้องรับมือกับผู้ป่วยจนเกินความจุ เนื่องจากปริมาณของเหยื่อ[9][6] มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 456 คน แต่วันที่ 25 พฤศจิกายน รัฐบาลได้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการลงเหลือ 347 คน ตามตัวเลขที่เสนอโดยรัฐมนตรีกิจการสังคม อิธซัมเฮง[2]
พยานคนหนึ่งได้กล่าวว่าสาเหตุของเหตุเหยียบกันเสียชีวิตนี้มาจาก "มีคนบนสะพานมากเกินไป และคนที่อยู่บนปลายสะพานทั้งสองฝั่งก็ผลักกัน ซึ่งทำให้เกิดความตื่นตกใจในทันที การผลักกันทำให้คนที่อยู่ตรงกลางสะพานล้มลงกับพื้นและถูกเหยียบ"[10] ในขณะที่พยายามหลีกเลี่ยงจากการโดนเหยียบ เขากล่าวว่ามีคนดึงสายไฟฟ้าลงมา ทำให้มีคนจำนวนมากเสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าช็อตด้วย[10] คำกล่าวนี้ได้รับการสนับสนุนโดยแพทย์ที่ทำการรักษาผู้ป่วย ซึ่งกล่าวว่าการตายด้วยไฟฟ้าและการขาดอากาศหายใจเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะปฏิเสธคำกล่าวอ้างเกี่ยวกับการถูกไฟฟ้าช็อตก็ตาม[10]
นักหนังสือพิมพ์จากพนมเปญโพสต์กล่าวว่า เหตุเหยียบกันเสียชีวิตดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่กำลังตำรวจฉีดน้ำใส่ผู้ที่อยู่บนสะพานเพื่อพยายามที่จะไล่ให้คนลงจากสะพานหลังจากสะพานเริ่มแกว่งไปมา แต่การกระทำดังกล่าวได้ทำให้เกิดความตื่นตกใจของผู้ที่ติดอยู่บนสะพาน[11]
ปฏิกิริยา[แก้]
นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ฮุน เซน ได้กล่าวว่า "ด้วยเหตุการณ์อันน่าโศกสลดนี้ ผมต้องการจะแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเพื่อนร่วมชาติ และสมาชิกครอบครัวของเหยื่อ"[7] เขาได้สั่งให้มีการไต่สวนเหตุการณ์ดังกล่าว และประกาศให้วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันไว้อาลัยแห่งชาติ[11] รัฐบาลประกาศว่าการสืบสวนจะดำเนินการโดยคณะกรรมการชุดพิเศษซึ่งจะแสดงหลักฐานและคำให้การของพยานถึงเหตุการณ์ดังกล่าว[12] รายงานขั้นต้นของการสืบสวน ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน แสดงว่าเหตุเหยียบกันเสียชีวิตดังกล่าวเกิดขึ้นจากการแกว่งไปมาของสะพาน ทำให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนจำนวนมากบนสะพาน[13]
รัฐบาลประกาศจะจ่ายเงินจำนวนห้าล้านเรียล (1,250 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับแต่ละครอบครัวของเหยื่อผู้เสียชีวิต เช่นเดียวกับการจ่ายเงินจำนวนหนึ่งล้านเรียล (250 ดอลลาร์สหรัฐ) ให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ[14] เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน รัฐบาลประกาศว่ามีแผนที่จะสร้างสถูปเพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว[15]
วันที่ 23 พฤศจิกายน หนึ่งวันหลังจากเกิดเหตุ พระสงฆ์ราว 500 รูปได้เดินทางมายังสถานที่เกิดเหตุเหยียบกันเสียชีวิตเพื่อสวดมนต์ให้กับผู้ที่เสียชีวิต[16]
ศูนย์เพื่อสิทธิมนุษยชนกัมพูชา (CCHR) ประกาศเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม ว่า ทางศูนย์จะเริ่มต้นการสืบสวนของศูนย์เองในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โอ วิรัก ประธานศูนย์ กล่าวว่า "ผมหวังว่ารัฐบาลจะทำการสืบสวนต่อไป ผมไม่คิดว่าการสืบสวนระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียวจะเพียงพอ"[17]
อ้างอิง[แก้]

- ↑ 1.0 1.1 "Cambodia: 378 Dead In Festival Stampede". Sky News Online. 23 November 2010. สืบค้นเมื่อ 23 November 2010.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "Government decreases death toll in Cambodian stampede". CNN. 25 November 2010. สืบค้นเมื่อ 25 November 2010.
- ↑ เหยียบกันตายในกัมพูชาตายกว่า 300 ศพ เก็บถาวร 2010-11-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 23-11-2553.
- ↑ 4.0 4.1 "Cerca de 340 muertos en una estampida en la capital de Camboya", La Vanguardia, 22 November 2010, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-01-03, สืบค้นเมื่อ 2010-11-23.
- ↑ 5.0 5.1 Scores dead in stampede at Phnom Penh water festival, France24, 22 November 2010.
- ↑ 6.0 6.1 Scores killed in Cambodia festival stampede, BBC News, 22 November 2010.
- ↑ 7.0 7.1 7.2 7.3 "Cambodia Water Festival turns tragic with deadly stampede". Christian Science Moniter. 22 November 2010. สืบค้นเมื่อ 23 November 2010.
- ↑ "Une fête dégénère au Cambodge, près de 340 morts", Le Figaro, 22 November 2010
- ↑ 9.0 9.1 Sopheng Cheang (23 November 2010), At least 330 die in Cambodian stampede, Sydney Morning Herald.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 "Cambodia Water Festival turns to tragedy in Phnom Penh". The Guardian. 23 November 2010. สืบค้นเมื่อ 23 November 2010.
- ↑ 11.0 11.1 "Stampede in Cambodia kills hundreds, government says". CNN. 22 November 2010. สืบค้นเมื่อ 23 November 2010.
- ↑ "Cambodia to Investigate After Festival Stampede Leaves 347 Dead". BusinessWeek. 22 November 2010. สืบค้นเมื่อ 23 November 2010.
- ↑ "Swaying bridge 'set off Cambodian stampede'". The Independent. 25 November 2010. สืบค้นเมื่อ 25 November 2010.
- ↑ "At least 345 die in stampede at Cambodian festival". Forbes.com. 22 November 2010. สืบค้นเมื่อ 23 November 2010.[ลิงก์เสีย]
- ↑ "Cambodia to build stupa to commemorate dead in stampede". Xinhua. 24 November 2010. สืบค้นเมื่อ 25 November 2010.
- ↑ "Death Toll at Cambodia's Water Festival Rises as Nation Mourns". Voice of America. 23 November 2010. สืบค้นเมื่อ 23 November 2010.
- ↑ "Questions linger over bridge shocks". Phnom Penh Post. 08 December 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-11. สืบค้นเมื่อ 8 December 2010.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help)
พิกัดภูมิศาสตร์: 11°33′22″N 104°56′22″E / 11.556011°N 104.939497°E