เสนาะฉันท์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เสนาะฉันท์ เป็นพระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์


ลักษณะคำประพันธ์ โคลงสี่สุภาพ

จุดมุ่งหมายในการแต่ง แสดงความสามารถของกวี และเพื่อส่งเข้าประกวดราชบัณฑิตยสภา เมื่อ พ.ศ. 2470

ที่มาของเรื่อง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ได้ทรงนิพนธ์ไว้และทรงส่งเข้าประกวดราชบัณฑิตยสภา เมื่อพ.ศ. 2470 ได้ทรงเขียนบันทึกไว้ว่า "ชวดรางวัล" ซึ่งหมายความว่า ไม่ได้รางวัล แต่อย่างไรก็ดี บทโคลงนี้เป็นที่นิยมยกย่องกันมานานว่า มีความไพเราะ ใช้โวหารลึกซึ้งคมคาย เด่นเป็นพิเศษที่มีการใช้โวหารอุปมาต่างๆ กันไปโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอุปมาว่า เสียงของกวีนิพนธ์นั้น เสนาะยิ่งกว่าเสียงแห่งนกการเวก เสียงนกการเวกนั้นไพเราะปานใด หนังสือไตรภูมิโลกวินิจฉัยกถา ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) กวีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้พรรณนาไว้ ดังนี้ เสียงนกการเวกส่งสำเนียงหวานไพเราะดังกึกก้อง สัตว์จตุบาททั้งหลายได้ยินยังเคลิบเคลิ้ม เสือโคร่งไล่ติดตามเนื้อน้อย ๆ ยังลืมตน เคลิบเคลิ้มฟังเสียงไพเราะ ฝ่ายเนื้อน้อย ๆ ก็ลืมกลัวหยุดฟังเสียงนกเช่นกัน หมู่ปักษาชาติทั้งหลายได้ฟังเสียงนกการเวกต่างก็ราปีกหยุดฟังเสียงนิ่งราวรูปปั้นที่มีบุคคลนำไปติดไว้บนเพดาน แม้แต่ปลาก็ลืมตนลอยตัวตรง ๆ หยุดฟังเสียงนกการเวกเช่นกัน ชื่อ "เสนาะฉันท์" นี้ มิใช่เป็นชื่อที่ท่านผู้ทรงนิพนธ์ได้ตั้งไว้ หากแต่เป็นชื่อที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อสะดวกในการอ้างอิงถึงในหนังสือเล่มนี้ คำว่า "ฉันท์" หมายถึงคำประพันธ์ทุกชนิด

ถอดคำประพันธ์ บทที่ 1 ฟ้าร้องเสียงกระหึ่มกึกก้องท้องฟ้า เสียงปี่พาทย์ดีดสีบรรเลงอันน่าเพลิดเพลิน ไม่อาจทำให้สะเทือนอารมณ์ได้เท่ากับความไพเราะของบทกวี ถ้อยคำของสาวงามอันเป็นที่รักไม่อาจเทียบเท่าความไพเราะของกวีนิพนธ์ บทที่ 2 นกการเวกที่เปล่าเปลี่ยวใจส่งเสียงร้องดังระงมถึงสวรรค์ ไม่อาจเทียบได้กับความไพเราะของกวีนิพนธ์อันลึกซึ้ง อาทิตย์และจันทร์ส่องแสงอยู่กลางฟ้า ทำให้โลกเจิดจรัส หรือยามเมฆครึ้มที่บดบังแสง ก็ยังไม่งามเท่ากับคำพรรณนาของกวีนิพนธ์

คุณค่าในการอ่าน โคลงสี่สุภาพทั้ง 2 บทนี้เป็นที่นิยมยกย่องกันมานานว่ามีความไพเราะ มีโวหารลึกซึ้ง คมคายและมีลักษณะเด่นในการใช้โวหารภาพพจน์ เป็นบทกวีที่ดีเด่นในเชิงเปรียบเทียบ โดยอุปมาว่าเสียงไพเราะของกวีนิพนธ์นั้น ไพเราะยิ่งกว่าเสียงแห่งนกการเวก

ในด้านการใช้คำ จะเห็นได้ว่ากวีใช้คำที่ง่าย ถึงแม้จะไม่มีปรากฏอยู่ในพจนานุกรมก็ตาม เช่นคำว่า พรึ้ม สะดิ้งฤดี แสงสอึ้ง ซึ่งการอ่านบทกวีนี้ต้องอาศัยจินตนาการและการอ่านออกเสียง จึงจะสมบูรณ์ทั้งรสคำและรสความ