เลขย่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เลขย่อ (อังกฤษ: numeronym) คือคำที่มีตัวเลขซึ่งถูกใช้ในการย่อ การออกเสียงตัวอักษรและตัวเลขอาจอ่านคล้ายกับคำเต็ม ตัวอย่างเช่น K9 ใช้แทน canine (อ่านว่า เค + ไนน์) หรือเช่นในภาษาฝรั่งเศส K7 ใช้แทน cassette (อ่านว่า กา + เซท) เป็นต้น

อีกรูปแบบหนึ่งคือ ตัวอักษรที่อยู่ตรงกลางระหว่างอักษรขึ้นต้นและลงท้าย ถูกแทนที่ด้วยตัวเลขอันแสดงถึงจำนวนตัวอักษรที่ซ่อนไว้ เช่น i18n หมายถึง internationalization บางครั้งอักษรตัวสุดท้ายจะถูกนับและซ่อนไว้ด้วย จากข้อมูลของเทกซ์ เทกซิน เลขย่อประเภทนี้ตัวแรกของโลกคือ S12n ซึ่งเป็นชื่อบัญชีอีเมลที่ผู้ดูแลระบบออกให้กับพนักงานของ ดิจิตอล อีควิปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (DEC) ที่ชื่อ Jan Scherpenhuizen เพราะว่านามสกุลของเขายาวเกินไปสำหรับชื่อบัญชี เพื่อนร่วมงานมักจะอ่านชื่อของเขาไม่ได้จึงเรียกเขาว่า S12n ไปอย่างนั้น และการใช้งานเช่นนี้กลายเป็นวัฒนธรรมในองค์กรของ DEC [1]

ตัวเลขอาจใช้กำกับเพื่อแสดงจำนวนอักษรที่ซ้ำก่อนหรือหลังอักษรตัวอื่น เลขย่อประเภทนี้ใช้แทนชื่อหรือวลีที่มีอักษรขึ้นต้นเดียวกันหลายครั้งอาทิ W3 ใช้แทน World Wide Web และ W3C ใช้แทน World Wide Web Consortium เป็นต้น

กรณีที่พบได้น้อยกว่าคือ เลขย่อที่ประกอบด้วยตัวเลขเพียงอย่างเดียว เช่น 212 หมายถึง ชาวนิวยอร์ก, 4-1-1 หมายถึง ข้อมูลสารสนเทศ, 9-1-1 หมายถึง ช่วยเหลือ และ 101 หมายถึง การแนะนำเบื้องต้นสำหรับวิชาหนึ่ง ๆ คำประเภทนี้มีมานานแล้วหลายทศวรรษ รวมไปถึงรหัส 10 (10-code) ที่มีการใช้งานเมื่อก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง

แนวคิดการประกอบกับตัวเลขเป็นคำสามารถพบได้ในลีท ซึ่งบ่อยครั้งตัวเลขถูกแทนที่ให้กับอักษรที่คล้ายกันตามอักขรวิธี ตัวอย่างเช่น H4CK3D มีความหมายเหมือนกับ HACKED

แอน เอช. โซคานอฟ บรรณาธิการแห่งหนังสือ Microsoft Encarta College Dictionary ฉบับจัดพิมพ์ใหม่ ให้ความหมาย numeronym ว่า "หมายเลขโทรศัพท์อย่างหนึ่งที่สะกดเป็นคำหรือชื่อ" ตามที่ปรากฏบนแป้นโทรศัพท์ [2]

ตัวอย่าง[แก้]

คำต่าง ๆ บางครั้งอาจมีหลายความหมาย การย่อเช่นนี้จึงต้องอ้างอิงบริบทแวดล้อมเสมอ ตัวอย่างเช่น G11n ที่ย่อมาจาก globalization อาจหมายถึงความเตรียมพร้อมของซอฟต์แวร์เพื่อการเผยแพร่ระดับโลก [3] หรือหมายถึงแนวโน้มเชิงสังคมแบบโลกาภิวัตน์ก็ได้ ในบางกรณีมีการใช้อักษรตัวใหญ่หรือตัวเล็กเพื่อแยกแยะความต่างระหว่าง I/i และ L/l เป็นต้น

  • a11y - Accessibility (ความสามารถในการเข้าถึง)
  • c11y - Consumability
  • c14n - Canonicalisation / Canonicalization
  • d11n - Documentation (เอกสารอธิบายกำกับ)
  • E15 - Eyjafjallajökull (ภูเขาไฟเอยาฟยาตลาเยอคุตล์ในไอซ์แลนด์)[4]
  • g11n - Globalisation / Globalization (โลกาภิวัตน์, การเผยแพร่ระดับโลก)[5]
  • i14y - Interoperability (ความสามารถในการทำงานร่วมกัน)[6]
  • i18n - Internationalisation / Internationalization (สากลวิวัตน์, การทำให้เป็นสากล)
  • L10n - Localisation / Localization (การทำให้เป็นท้องถิ่น)
  • m10n - Mavenization
  • m12n - Modularisation / Modularization (การแบ่งเป็นโมดูล)[7]
  • m17n - Multilingualization (การทำให้มีหลายภาษา)
  • n11n - Normalisation / Normalization (การทำให้เป็นบรรทัดฐาน)
  • P13n - Personalisation / Personalization (การทำให้เป็นส่วนบุคคล, การปรับตามปัจเจกบุคคล)
  • P45 - Pneumonoultramicroscopicsilicovolcanoconiosis (โรคปอดชนิดหนึ่ง)
  • s10n - Subscription (การสมัครเป็นสมาชิก)
  • W3 - World Wide Web (เวิลด์ไวด์เว็บ)
  • W3C - World Wide Web Consortium (เวิลด์ไวด์เว็บคอนซอร์เทียม)
  • v11n - Versification (ศิลปะการทำให้เป็นบทกวี)[8]
  • v12n - Virtualization

อ้างอิง[แก้]

  1. Tex Texin. "Origin Of The Abbreviation I18n". สืบค้นเมื่อ September 14, 2005.
  2. Jeffrey McQuain. "Screening the Novel Words of Harry Potter". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 2010-04-12.
  3. Thierry Sourbier (2007-10-25). "Internationalization Encyclopedia:: globalization". i18n Encyclopedia. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-22. สืบค้นเมื่อ November 11, 2007.
  4. Faye Flam (2010-04-23). "Iceland a hot spot of volcanic activity". The Philadelphia Inquirer. สืบค้นเมื่อ 2010-04-23. Some scientists have come to abbreviate the volcano as E15, for the 15 letters that follow the E
  5. "Canonical XML". W3C. สืบค้นเมื่อ November 11, 2007.
  6. "INTEROPERABILITY.net". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-02. สืบค้นเมื่อ November 11, 2007.
  7. "Modularization of XHTML in XML Schema". W3C. สืบค้นเมื่อ November 11, 2007.
  8. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-14. สืบค้นเมื่อ 2010-09-05.