เรื่องปรัมปราเอ็นร้อยหวาย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เอ็นร้อยหวายเป็นเรื่องเล่ามุขปาฐะที่เล่าต่อ ๆ กันมาในหมู่ชาวปาตานีว่าเป็นวิธีการหนึ่งที่ทางการสยามใช้เพื่อควบคุมและกวาดต้อนเชลยชาวปาตานีมายังกรุงรัตนโกสินทร์ โดยระบุว่าเป็นการเอาหวายมาร้อยที่เอ็นเหนือส้นเท้าของเชลย (วิธีการอื่น เช่น เจาะใบหูผูกพ่วงกัน) อย่างไรก็ตาม งานวิจัยเรื่อง "ข้อเท็จจริงเอ็นร้อยหวาย ประวัติศาสตร์บาดแผลสยาม-ปาตานี (ปัตตานี)" โดยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2561 ระบุว่าไม่พบเรื่องดังกล่าวในเอกสารโบราณใด ๆ[1]

สมาน อู่งามสิน ซึ่งเป็นผู้วิจัยหลัก ระบุว่าหลักฐานเท่าที่พบเป็นเอกสารในชั้นหลัง ซึ่งพบครั้งแรกในหนังสือ "ปาตานี: ประวัติศาสตร์และการเมืองในโลกมลายู" ที่เขียนโดย อารีฟีน บินจิ, อับดุลลอฮุ ลออแมน และซูฮัยมีย์ ฮิสมาแอล โดยในหนังสือดังกล่าวมีข้อความว่า "พระยากลาโหมได้นำเชลยมลายูปาตานี 400 คนลงเรือไปยังกรุงเทพฯ ระหว่างเดินทาง บางคนกระโดดจากเรือลงทะเลหลบหนี [...] ดังนั้นเพื่อไม่ให้ชาวปาตานีกระโดดเรือหนีลงทะเล ทหารสยามจึงใช้วิธีตัดหวายมาร้อยที่เอ็นเหนือส้นเท้าของเชลยเหล่านั้น ผูกพ่วงต่อกันหลายๆ คน เชลยที่เป็นหญิง ก็เอาหวายเจาะใบหู"[1] นอกจากนี้ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เสริมว่า เรื่องเล่านี้ไม่มีผู้แต่งชัดเจนด้วย จึงมีลักษณะเป็นความทรงจำร่วมทางสังคมมากกว่าเป็นเรื่องจริง[1] ด้านสุเนตร ชุตินธรานนท์ตรวจสอบหลักฐานซึ่งเป็นภาพแกะสลักต่าง ๆ มาและสรุปว่าไม่พบว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่พบการกวาดต้อนเชลยด้วยการเจาะเอ็นร้อยหวาย[1]

นายแพทย์จิรันดร์ อภินัน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูก ข้อ เอ็น และเท้า ระบุว่า หากเจาะเอ็นร้อยหวายมีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อถึงขั้นเอ็นขาดและอาจทำให้เคลื่อนไหวไม่ได้ จึงไม่สามารถเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพได้[1]

ขณะที่กำพล จำปาพันธ์ นักประวัติศาสตร์ แม้จะยอมรับว่าไม่มีเอกสารต้นฉบับยืนยันจริง แต่ได้ตั้งข้อสังเกตอยู่หลายประการ เขาชี้ว่าสมานเองก็มองว่าเรื่องเอ็นร้อยหวายใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ โดยเขาสรุปไว้ว่า "การเจาะเอ็นร้อยหวายสามารถทำได้ในขอบเขตจำกัดเท่านั้นกับเชลยศึกที่เป็นคนระดับนำ ซึ่งอาจก่อการลุกขึ้นสู้และก่อความวุ่นวาย จึงพิจารณาได้ว่าเป็นแค่เพียงการลงโทษ (punishment) เป็นตัวอย่างเพื่อมิให้เชลยศึกอื่นๆ เอาเยี่ยงเอาอย่าง"[2] กำพลตั้งข้อสังเกตว่างานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1.5 ล้านบาท[2]

เขายกตัวอย่างวรรณกรรมเรื่อง รำพันพิลาป ของสุนทรภู่ (แต่งเมื่อปี 2385) ที่มีตอนหนึ่งเล่าว่าโจรสลัดมีการใช้วิธีเจาะเอ็นร้อยหวาย ซึ่งแปลว่าวิธีการดังกล่าวใช่ว่าจะไม่เคยมีการกล่าวถึง

สาคเรศเขตแคว้นทุกแดนดาว ดูเรือชาวเมืองใช้ใบไปมา
เรือสลัดตัดระกำร้อยลำหวาย ทำเรือค่ายรายแล่นล้วนแน่นหนา
น้าวกระเชียงเสียงเฮสุเรสุรา ใส่เสื้อผ้าโพกนั้นลงยันต์ราย
เหมือนเรือเปล่าเสากระโดงลดลงซ่อน ปลอมเรือจรจับบรรดาลูกค้าขาย
ตัวคนได้ไม่ล้างให้วางวาย เจาะตีนหวายร้อยส้นทุกคนไป

และสุดท้ายกำพลระบุว่าถึงแม้เรื่องเอ็นร้อยหวายจะไม่จริง แต่การปฏิบัติอย่างทารุณของชาวสยามต่อชาวปาตานีอย่างอื่นก็มี เช่น ฟรานซิส ไลต์ บันทึกไว้ว่า "[ชาวปาตานี]ทั้งชายหญิง คนแก่ และเด็ก ที่ไม่ได้ทำบาปกรรม ถูกจับมัดแล้วโยนลงบนพื้นดิน แล้วขบวนช้างก็เดินเหยียบจนตาย"[2]

มีการตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องเล่านี้อาจทำหน้าที่เป็นเสมือนข่าวลือในการต่อสู้กับอำนาจรัฐในช่วงความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ในปี 2565 มีการ์ดเกม "Patani Colonial Territory" ที่นำเสนอเรื่องเอ็นร้อยหวายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเกม จึงทำให้ถูกวิจารณ์ว่าต้องการสร้างความเกลียดชังและแตกแยก และฝ่ายความมั่นคงเข้ายึดเกมดังกล่าว[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 แสงทอง, พิเชฐ (มกราคม–เมษายน 2561). "หน้าที่ของอนุภาค "เอ็นร้อยหวาย": เรื่องเล่า ข่าวลือ ในประวัติศาสตร์ ความขัดแย้งชายแดนใต้". รูสมิแล. 39 (1): 7–12. สืบค้นเมื่อ 4 December 2022.{{cite journal}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 2.2 จำปาพันธ์, กำพล (4 December 2022). "เจาะ 'เอ็นร้อยหวาย' ในสมรภูมิความทรงจำ กรณีสยามกวาดต้อนชาวปัตตานี มีใช้วิธีทารุณไหม?". The People. สืบค้นเมื่อ 4 December 2022.
  3. "มาตามนัด! เปิดตัว-แข่งเล่น "การ์ดเกมปาตานี" จนท.พรึ่บ คนร่วมน้อย". สำนักข่าวอิศรา. 3 December 2022. สืบค้นเมื่อ 4 December 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]