เย็น แก้วมะณี
ปู่เย็น | |
---|---|
"ปู่เย็น" (เย็น แก้วมะณี) เฒ่าทระนงแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี | |
เกิด | พ.ศ. 2443 เมืองเพชรบุรี ประเทศสยาม |
เสียชีวิต | 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551 (108 ปี) จังหวัดเพชรบุรี ประเทศไทย |
สัญชาติ | ไทย |
ชื่ออื่น | เฒ่าทระนง |
อาชีพ | ชาวประมง |
คู่สมรส | เอิบ แก้วมะณี |
เย็น แก้วมะณี หรือ "ปู่เย็น" (พ.ศ. 2443 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551) เจ้าของสมญานาม "เฒ่าทระนง" แห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี
ประวัติ
[แก้]ปู่เย็นเกิดเมื่อปีฉลู พ.ศ. 2443 ที่จังหวัดเพชรบุรี เป็นบุตรของนายสุขและนางชม แก้วมะณี นับถือศาสนาอิสลาม มีที่อยู่ตามทะเบียนราษฎรเลขที่ 274/4 ถนนมาตยาวงศ์ ตำบลท่าราบ อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ท่านมีภรรยา 1 คนชื่อ นางเอิบ แก้วมะณี เป็นชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นับถือศาสนาพุทธ ทั้งสองอยู่ด้วยกันโดยไม่เปลี่ยนศาสนาและไม่มีบุตรธิดาเพราะปู่เย็นเป็นหมัน แต่ก็มีลูกสาวบุญธรรม 2 คน
ในสมัยหนุ่ม ๆ ปู่เย็นมีอาชีพรับจ้างเลี้ยงวัว เมื่อแก่ชราจึงอาศัยอยู่กับลูกสาวบุญธรรมคนหนึ่งและภรรยา จนกระทั่งเมื่อย่าเอิบผู้เป็นภรรยาเสียชีวิตในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2536 ปู่เย็นรู้สึกเสียใจมากร้องไห้นานถึง 3 เดือน หลังจากนั้นจึงตัดสินใจย้ายไปอาศัยอยู่ในเรือที่เชิงสะพานลำไยในแม่น้ำเพชรบุรี ดำรงชีวิตด้วยการดักอวนหาปลา ถ้าเหลือกินก็จะขายให้ในราคาถูก แต่ถ้าใครเอาเงินให้ปู่เย็นฟรี ๆ ท่านจะไม่รับและรู้สึกโกรธ เพราะอุปนิสัยของปู่เย็นคือไม่ต้องการให้ใครมาสงสาร มีแต่ความสงสารและเกรงใจคนอื่น ๆ
ภาพลักษณ์และชื่อเสียง
[แก้]ปู่เย็นเป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศเมื่อรายการ "คนค้นฅน" ซึ่งเป็นรายการสารคดีทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี นำเรื่องราวออกเผยแพร่ในชื่อตอน "ปู่เย็น เฒ่าทระนง" เมื่อคืนวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 และอีก 2 ตอนต่อมา และได้รับความนิยมจากผู้ชมทั่วประเทศ กระแสความนิยมปู่เย็นก็เกิดขึ้นจากคติการใช้ชีวิตซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเรียบง่าย ความพอเพียง และความอารมณ์ดีของตัวปู่เย็น กระทั่งมีการเรียกร้องให้นำเอารายการดังกล่าวมาออกอากาศอีกครั้ง
จากการที่กระแสความนิยมของปู่เย็นเกิดขึ้นทั่วประเทศนี่เอง ชื่อของปู่เย็นจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของแม่น้ำเพชรบุรีและจังหวัดเพชรบุรีไปโดยปริยาย และมีคนมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ ต่อมาปู่เย็นได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถโดยการรับพระราชทานเรือลำใหม่ซึ่งทำด้วยไฟเบอร์กลาส เพื่อใช้แทนเรือเหล็กลำเดิมที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2548 ซึ่งปู่เย็นได้อาศัยในเรือลำนี้มาตลอดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
แม้ปู่เย็นจะกลายเป็นคนดังแต่ปู่เย็นก็ยังคงใช้ชีวิตตามวิถีเดิมต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง ระยะหลังชื่อของปู่เย็นค่อยๆ เงียบหายไปตามกาลเวลา แต่มีข่าวคราวบ้างเป็นครั้งคราวเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น เหตุการณ์เรือของปู่เย็นล่มในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2551 เนื่องจากพายุฝน ต้องส่งเรือไปซ่อมที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา และได้มีการมอบเรือให้ปู่เย็นหลังซ่อมแซมเรียบร้อยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน จากเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรีจึงได้สั่งการให้มีคณะพยาบาลคอยตรวจสุขภาพปู่เย็นเป็นประจำทุกวัน วันละ 2 ครั้ง
การเสียชีวิต
[แก้]วันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2551 คณะพยาบาลที่มาตรวจอาการปู่เย็นเป็นประจำเพื่อตรวจสุขภาพของปู่เย็นตามปกติ แต่เกิดผิดสังเกตที่ไม่มีเสียงขานรับจากปู่เย็นจึงได้ลงไปที่เรือและพบว่าปู่เย็นนอนหมดสติไม่รู้สึกตัว คณะพยาบาลจึงได้รีบนำตัวปู่เย็นส่งโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเพื่อทำการช่วยชีวิต แต่ที่สุดปู่เย็นก็เสียชีวิตเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. เนื่องจากภาวะหัวใจล้มเหลว ขณะที่ปู่เย็นมีอายุได้ 108 ปี ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถได้พระราชทานเงินช่วยเหลืองานศพของปู่เย็นผ่านทางจังหวัดจำนวน 200,000 บาท โดยร่างของปู่เย็นได้มีการทำพิธีฝังศพที่กุโบร์ (สุสาน) ของมัสยิดกลางจังหวัดเพชรบุรี ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี[1]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ""ปู่เย็น" เฒ่าทรนงแห่งลุ่มน้ำเพชรบุรี". Postjung.com. 2016-01-19.