เทียบ คงลายทอง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เทียบ คงลายทอง เป็นบุตรของนายแปลก และนางสอน เกิดเมื่อ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ที่อำเภอธนบุรี กรุงเทพมหานคร เริ่มเรียนดนตรีจากบิดาด้วยการหัดเป่าขลุ่ยตั้งแต่เล็ก ครั้นอายุได้ 9 ปี จึงเรียนฆ้องวงใหญ่จากทองดี ชูสัตย์ ผู้มีศักดิ์เป็นปู่ของจางวางทั่ว พาทยโกศล ต่อมาเรียนปี่ในกับจุ ภิญโญอยู่ระยะหนึ่ง เมื่ออายุประมาณ 16 ปี บิดาได้พาไปฝากตัวเป็นศิษย์พระยาเสนาะดุริยางค์ (แช่ม สุนทรวาทิน)

เทียบเข้าเป็นคนปี่ในวงปี่พาทย์ของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี เสนาบดีกระทรวงวังในสมัยรัชการที่ ๖ ต่อมาเมื่ออายุครบเกณฑ์ทหารก็เข้ารับราชการทหารสังกัดกรมทหารรักษาวัง เมื่อพ้นราชการทหารเมื่อ พ.ศ. 2469 ได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กกองพิณพาทย์หลวง กรมมหรสพ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว พ.ศ. 2478 เทียบโอนมาสังกัดแผนกดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และรับราชการในกรมศิลปากรเรื่อยมาจนเกษียณอายุราชการ

เทียบบรรเลงดนตรีได้ทุกเครื่องมือ แต่ที่มีชื่อเสียงที่สุด คือ ปี่ ฝีมือปี่ของครูเทียบนั้นโด่งดังมาตั้งแต่การประชันวงปี่พาทย์ที่วังบางขุนพรหม เมื่อ 19 มกราคม พ.ศ 2466 เทียบเป่าปี่ในคู่กับเทวาประสิทธิ์ พาทยโกศล บุตรชายจางวางทั่ว ผลปรากฏว่า สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตประทานเงินคนละ ๑ ชั่ง เท่ากัน นอกจากนี้เทียบยังเคยไปแสดงฝีมือเพื่อเผยแพร่นาฎศิลป์และดนตรีไทยในต่างประเทศ เช่น ลาว พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย เยอรมันและญี่ปุ่น

เทียบได้ร่วมบันทึกเสียงกับกรมศิลปากรเพื่อเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของชาติหลายเพลง ผลงานที่เทียบภาคภูมิใจคือ การเป่าปี่แสดงฝีมือเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระตำหนักไทยเรือนต้น ภายในพระราชวังจิตรลดารโหฐาน นอกจากฝีมือทางดนตรีแล้ว เทียบมีฝีมือทางช่างกลึงปี่ตัดลิ้นปี่และทำกำพวดปี่ด้วย ได้ทำปี่ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวาย ๑ เลา ณ พระราชวังไกลกังวล เมื่อ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2517 และได้ถวายแบบฝึกหัดเป็นโน้ตสากล และเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกหลายครั้ง

ชีวิตครอบครัว สมรสกับสว่าง วิเชียรปัญญา มีบุตรธิดาด้วยกันทั้งสิ้น 12 คน เทียบถึงแก่กรรมด้วยโรคไต เมื่อ 27 มกราคม พ.ศ. 2525

อ้างอิง[แก้]