เทศกาลดำขาว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เทศกาลดำขาว
Carnaval de Negros y Blancos
ขบวนพาเหรดในเทศกาลดำขาว เมืองปัสโต
ประเภทเทศกาล
วันที่2–7 มกราคม
ความถี่ทุกปี
ที่ตั้งปัสโต ประเทศโคลอมเบีย
ประเดิมค.ศ. 1546
เว็บไซต์carnavaldepasto.org

เทศกาลดำขาว (สเปน: Carnaval de Negros y Blancos) เป็นเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในพื้นที่โคลอมเบียตอนใต้ที่จัดขึ้นในวันที่ 2–7 มกราคมของทุกปี โดยมีจุดเด่นคือชุดโทนสีขาวดำออกของผู้ร่วมงานในขบวนพาเหรด ซึ่งเป็นการสื่อถึงสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวกันหรือความเท่าเทียม[1] เทศกาลจะมีการแบ่งเป็นสองช่วง คือ วันสีขาวที่มีขบวนแห่ซึ่งผู้เข้าร่วมแต่งกายชุดหลากสี และวันสีดำซึ่งผู้ร่วมงานต้องวาดใบหน้าเป็นสีดำ[2] เริ่มแรกเทศกาลนี้จัดขึ้นที่เมืองปัสโต แต่ต่อมาก็แพร่หลายมากขึ้น จนมีการจัดในหลาย ๆ เมืองในจังหวัดนาริญโญและทางตะวันตกเฉียงใต้ของโคลอมเบีย[3] เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2009 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเทศกาลดำขาวเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม[4][5]

ประวัติ[แก้]

ต้นกำเนิด[แก้]

ขบวนพาเหรดใหญ่เมื่อปี 2007

เทศกาลดำขาวมีต้นกำเนิดในสมัยอาณานิคม และมีจุดกำเนิดจากชาวเมสติโซ โดยเป็นการผสมผสานระหว่างหลากหลายวัฒนธรรมที่พบในเมืองปัสโต คือ วัฒนธรรมในภูมิภาคแอนดีส แอมะซอน และแปซิฟิก รวมถึงความเชื่อพื้นเมืองในการเฉลิมฉลองพระจันทร์ (กิยา), พิธีกรรมเต้นรำบูชาพระจันทร์ในเวลาเก็บเกี่ยวของชาวปัสโตและชาวกิยาซิงกา, และพิธีกรรมบูชาพระอาทิตย์เพื่อให้คุ้มครองผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ได้เกิดการผสมผสานกับศาสนาคริสต์จากอิทธิพลจากชาวสเปน จนมาเป็นเทศกาลในเมืองปัสโตนี้ โดยได้มีจัดขึ้นครั้งแรกในปี 1546

ผู้เข้าร่วม ฮูเอโกเดเนกริโตส จะต้องทาสีใบหน้าเป็นสีดำ (ค.ศ. 2007)

กิจกรรม ฮูเอโกเดเนกริโตส เป็นหนึ่งในกิจกรรมสำคัญของเทศกาลดำขาว มีจุดกำเนิดในช่วงวันก่อนวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ ณ เวลานั้นจะเล่นกันในหมู่ชาวผิวขาวและชาวเมสติโซ เดิมกิจกรรมนี้จัดเป็นวันหยุดสำหรับชาวผิวสีในกรันเกากา ภูมิภาคที่เมืองปัสโตตั้งอยู่ ในปี 1607 เกิดกบฏทาสในเรเมดิโอส จังหวัดอันติโอเกีย ซึ่งทำให้เกิดความแตกตื่นในหมู่ชาวผิวสี จึงมีการเรียกร้องให้วันที่ 5 มกราคมเป็นวันหยุดเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์และเป็นการรักษาสันติภาพในสังคม โดยชาวผิวสีในเกากาจะออกมาเต้นรำกับเพลงแอฟริกาและทาสีกำแพงสีขาวอันโด่งดังของเมืองเป็นสีดำ ซึ่งกิจกรรมนี้ได้แพร่กระจายจนถึงตอนใต้ของประเทศ

ฮูเอโกเดบลังโกส อีกส่วนสำคัญของเทศกาล มีจุดกำเนิดในช่วงเช้ามืดของวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ (6 มกราคม) ในปี 1912 โดยได้สร้างกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อเป็นการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ การละเล่น ความสัมพันธ์ และความสนุกสนานในชีวิตประจำวัน โดยมีเรื่องเล่าว่า

ที่ซ่องโสเภณีแห่งหนึ่งที่ตั้งอยูในกาเยเรอัล ซึ่งเป็นที่อยู่ของหญิงร็อบบี มีกลุ่มช่างตัดเสื้อจากร้านตัดเสื้อชื่อดังของดอนอังเฮล ซารามา ซึ่งในกลุ่มนั้นก็มีอังเฮล มาริอา โลเปซ และมักซิโม เอราโซ ด้วย ทั้งสองคนพาหญิงร็อบบี้เหล่านั้นไปหยิบเครื่องสำอางฝรั่งเศสของหญิงที่เป็นที่ต้องการตัวมากที่สุด และเกลี่ยแป้งพร้อมน้ำหอมบนใบหน้าของหญิงเหล่านั้นท่ามกลางเสียงร้องว่า บิบันโลสบลังกิโตส! (¡Vivan los Blanquitos!)

โดย บิบันโลสบลังกิโตส! เป็นการตอบสนองต่อ ฮูเอโกเดเนกริโตส ที่ได้รับการคิดค้นก่อนหน้า เรื่องเล่านี้จะถูกนำไปเล่าต่อเป็นมุกตลกขำขัน โดยมีกลุ่มคนที่จะออกไปเล่นมุกนี้ให้กับผู้ที่เดินทางกลับจากโบสถ์หลังเข้าร่วมพิธีในวันสมโภช พร้อมกับพูดว่า ดำและขาวจงเจริญ! (Long live the Blacks and long live the Whites!)[6] พฤติการณ์เกลี่ยแป้งพร้อมน้ำหอมบนใบหน้าจะถูกนำไปปรับใช้ในเทศกาลต่อไป

การก่อตั้ง[แก้]

ภาพด้านข้างของ ปาชาการ์นิวัล ในขบวนพาเหรดใหญ่ (ค.ศ. 2006)
ครอบครัวกัสตัญเญดาใน ค.ศ. 2007

ในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1920 เทศกาลดำขาวได้มีการปรับปรุงรูปแบบเทศกาลให้มีความเหมาะสมและสวยงามยิ่งขึ้น โดยมีการคำนึงถึงวัน เวลา และสถานที่ที่จัดงาน ในวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1926 เป็นครั้งแรกที่มีการจัดขบวนพาเหรด โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยนาริญโญเป็นผู้จัด และได้เลือกโรเมเลีย มาร์ติเนซ เป็นราชินีผู้นำขบวนในครั้งนี้ ผู้ร่วมงานได้แต่งกายด้วยชุดงานรื่นเริงและเต้นรำไปกับดนตรีท้องถิ่น พาเหรดครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของเทศกาล ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวันสมโภช

ในวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1929 ได้มีขบวนแห่ของนักขี่ม้ากว่าร้อยคนเข้ามาเชียร์เกมของคนผิวดำและคนผิวขาว เนื่องด้วยสถานที่จัดกิจกรรมนี้ตั้งอยู่ใกล้กับกองพันโบยากา ในเวลาบ่ายสามโมง เมื่อคนขี่ม้าเตรียมตัวแห่ ก็ได้มีอีกขบวนแห่ของครอบครัวกัสตัญเญดามาร่วมขบวนแห่ด้วย ครอบครัวนี้เดิมมีถิ่นฐานในอันติโอเกีย แต่เดินทางมาร่วมขบวนแห่ที่ปัสโต ซึ่งหลังจากใช้เวลาหลายปีเดินทางในปูตูมาโย ในขบวนแห่ของครอบครัวนี้มีพ่อ แม่ เด็กผู้หญิงสองคน เด็กชายสองคน และชายหนุ่มอีกสามคน พร้อมคนงานคอยต้อนล่อ หมูและแกะ อีกทั้งยังมีกรงลากที่มีนกแก้วและลิหลายตัว จากนั้นได้มีเสียงตะโกนแห่งประวัติศาสตร์ว่า "บิบาลาฟามิเลียกัสตัญเญดา" ("ครอบครัวกัสตัญเญดาจงเจริญ") ของตอร์เรส อาเรยาโน ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นธรรมเนียมสำคัญของเทศกาล

ครอบครัวกัสตัญเญดาได้รับการตีความเป็นหลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นภาพการ์ตูนที่ปรากฏในวันที่ 4 มกราคม โดยภาพวาดนี้ยังเป็นภาพล้อเลียนครอบครัวบูเชลิ อาเยร์เบ ซึ่งมีดอนฮูเลียน บูเชลิ อาเยร์เบ ที่ต่อมาจะเป็นผู้ว่าการคนแรกของจังหวัดนาริญโญ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ขบวนพาเหรดของครอบครัวกัสตัญเญดาได้รับการนำมาเป็นกิจกรรมเปิดเทศกาลจนกระทั่งเริ่มมีกิจกรรม การ์นาบาลิโต ("คาร์นิวัลเด็ก")

ในคริสต์ทศวรรษ 1930–1940 มีการปรับโครงสร้างเทศกาลให้มีความชัดเจน ให้มีความโดดเด่นของศิลปะพื้นบ้าน ผ่านการสร้างงานประติมากรรมและรถแห่

การพัฒนาและการฟื้นฟูเทศกาล[แก้]

ติงกุนนี รถแห่ที่ได้รับรางวัลรถแห่ยอดเยี่ยมในปี 2006

ในคริสต์ทศวรรษ 1950 ได้มีการปรับปรุงขบวนแห่ โดยรถแห่จะมีหุ่นที่สามารถขยับได้ ซึ่งสร้างครั้งแรกโดยศิลปินอัลฟอนโซ ซัมบราโน ในช่วงเวลาเดียวนายกเทศมนตรีเมืองปัสโต (บางครั้งพร้อมกับผู้ว่าการจังหวัดนาริญโญ) ได้เข้ามาควบคุมการจัดงานเทศกาล โดยได้มีการสนับสนุนทุนในการจัดทำรถแห่และจัดตั้งรางวัลรถแห่ยอดเยี่ยม

ในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 มีการจัดหาวงดนตรีเชิงพาณิชย์ระดับชาติและนานาชาติเพื่อ วงที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ Los Melódicos ของเวเนซุเอลา, Billo's Caracas Boys และ Ecuadorian Medardo ในช่วงเวลานั้นได้มีลุยส์ เกงกวน เป็นตากล้องคนแรกที่สร้างสถิติด้วยการถ่ายวีดิทัศน์ด้วยฟิล์ม (ขาวดำ) ขนาด 8 มม., ซูเปอร์ 8 และ 16 มม. ในงานคาร์นิวัล ใน ค.ศ. 1966 ดอนมาริโอ เฟร์นันโด โรดริเกซ ที่เกิดขึ้นในย่านโบลิบาร์ การ์นาบาลิโตหรือคาร์นิวัลสำหรับเด็ก งานฉลองที่เป็นอิสระนี้จะใช้เวลาอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษในการเข้าร่วมโครงการอย่างเป็นทางการ

การเข้ามาของทางหลวงสายแพนอเมริกันในคริสต์ทศวรรษ 1970 และรวมเมืองปัสโตในแผนเศรษฐกิจของโคลอมเบีย ส่งผลให้มีการปรับปรุงเทศกาล โดยได้มีรูปแบบการจัดงานที่แตกต่างจากเดิม มีเพลงใหม่และกระแสวัฒนธรรมที่เพิ่มมากขึ้น ด้วยกระแสวัฒนธรรมนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ และจำนวนประชากรในปัสโตที่เพิ่มขึ้น ทำให้จำเป็นต้องมีการสร้างกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ และรูปแบบการจัดงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถรักษาขนบธรรมเนียมเดิมไว้ โดยได้สร้างให้ครอบคลุมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล โดยจะมีถูกบังคับใช้ในเมืองปัสโตและเมืองใกล้เคียง

ศตวรรษที่ 21[แก้]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ตามกฎหมายฉบับที่ 706 เทศกาลดำขาวได้รับการระบุเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของประเทศโดยพรรคคองเกรสโคลอมเบีย[3] พร้อมกันนั้นได้มีการจัดสร้าง "จัตุรัสเทศกาลและวัฒนธรรม" เป็นสถานที่จัดเทศกาลโดยเฉพาะ นอกจากนี้แล้วเทศกาลยังได้รับการบรรจุเข้าในแผนรัฐบาลสำหรับปัสโต เมื่อวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 2009 เทศกาลดำขาวได้รับการยกย่องโดยยูเนสโกให้เป็นผลงานชิ้นเอกด้านมุขปาฐะและมรดกที่ไม่เป็นกายภาพของมนุษยชาติซึ่งต่อมาจะพัฒนามาเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม[4][5]

ลำดับเทศกาล[แก้]

เทศกาลดำขาวจะประกอบด้วยสี่ช่วงหลัก ได้แก่ การ์นาบาลิโต ("คาร์นิวัลเด็ก"), การมาถึงของครอบครัวกัสตัญเญดา, วันสีดำ, และวันสีขาว โดยช่วงสุดท้ายถือเป็นช่วงที่ความสำคัญที่สุดเนื่องจากมีขบวนพาเหรดใหญ่ นิกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมก่อนเทศกาลอีกด้วย โดยมักจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคม และในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วันที่ 7 มกราคมถือเป็นวันสุดท้ายของเทศกาล โดยมีการเฉลิมฉลอง "วันหนูตะเภา" ซึ่งคนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวจะได้เพลิดเพลินกับอาหารประจำภูมิภาค[7]

ช่วงก่อนเทศกาล[แก้]

ในโคลอมเบีย จะมีการขยายระยะเวลาเทศกาลส่งท้ายปี โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคมด้วยการเฉลิมฉลองก่อนวันฉลองแม่พระปฏิสนธินิรมลหรือ "วันแห่งเทียนน้อย" ต่อด้วยการเฉลิมฉลองโนวีนา (16–24 ธันวาคม) และคริสต์มาส (25 ธันวาคม)

ในช่วงเวลานี้จะมีการเฉลิมฉลองวันหน้าโง่ในวันที่ 28 ธันวาคม และวันส่งท้ายปีเก่าในวันที่ 31 ธันวาคม ถือเป็นการนำเข้าสู่เทศกาลดำขาว

อ้างอิง[แก้]

  1. "เทศกาลสำคัญในโคลอมเบีย | CheapTickets.co.th™". www.cheaptickets.co.th.
  2. "เทศกาลแบล็คส์ แอนด์ ไวท์ส Black and White Festival colombia | derechoambientalcolombiano" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  3. 3.0 3.1 Colombian Senate (26 November 2001). "Law 706 of 2001" (ภาษาสเปน). Colombian Senate. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 July 2011. สืบค้นเมื่อ 25 September 2009.
  4. 4.0 4.1 UNESCOPRESS (30 September 2009). "Press Release No. 2009-105". UNESCO. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 October 2009. สืบค้นเมื่อ 30 September 2009.
  5. 5.0 5.1 "UNESCO - Carnaval de Negros y Blancos". ich.unesco.org (ภาษาอังกฤษ).
  6. More in Zarama de la Espriella, Germán; Muñoz Cordero Lydia Inés, "Carnival of Blacks and Whites", Pasto, Autonomous Corporation of the Carnivals of the Municipality of Pasto, 1992.
  7. Corpocarnaval (2007). "Blacks and Whites' Press Kit" (ภาษาสเปน). สืบค้นเมื่อ 25 September 2009. [ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]