เจ้าหญิงคาราบู

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เมรี เบเคอร์
ภาพ "เจ้าหญิงคาราบู" โดย เอ็น. แบรนไวต์[1]
เกิดเมรี วิลล์ค็อกส์
11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1792(1792-11-11) (ตามคำกล่าวอ้าง)
วิทเทอร์ริดจ์ เดวอนเชียร์ อังกฤษ
เสียชีวิต24 ธันวาคม ค.ศ. 1864(1864-12-24) (72 ปี)
ถนนมิลล์ เบดมินสเตอร์ บริสตอล อังกฤษ
ที่ฝังศพสุสานฮีบรอนโรด บริสตอล อังกฤษ
ชื่ออื่น
  • เจ้าหญิงคาราบู
  • คาราบูเจ้าหญิงแห่งจาวาซู
  • เบเคอร์สเตนต์
  • เมรี เบอร์เกสส์
อาชีพผู้นำเข้าปลิงดูดเลือด ผู้ปลอมตัวเป็นผู้อื่น
มีชื่อเสียงจากแสร้งเป็นเจ้าหญิงคาราบู
ถูกกล่าวหาเป็นผู้จรจัด
ปลอมตัวเป็นผู้อื่น
รับโทษจำคุก
สถานะทางคดีได้รับอภัยโทษ
คู่สมรสริชาร์ด เบเคอร์ (สมรส 1828)
บุตรเมรี แอนน์ เบเคอร์ (บุตรหญิง) (ค.ศ. 1829–1900)
บิดามารดา
  • โทมัส วิลล์ค็อกส์ (บิดา)
  • เมรี เบอร์เกสส์ (มารดา)

เมรี เบเคอร์ (11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1792 (ตามคำกล่าวอ้าง)[2] ที่วิทเทอริดจ์ เดวอนเชียร์ อังกฤษ – 24 ธันวาคม ค.ศ. 1864 ที่บริสตอล อังกฤษ) ชื่อสกุลก่อนสมรสว่า วิลล์ค็อกส์ เป็นชาวอังกฤษซึ่งอ้างตนเป็นเจ้าหญิงคาราบู โดยแสร้งว่ามาจากอาณาจักรบนเกาะอันห่างไกลแห่งหนึ่ง และหลอกลวงชาวเมืองในเกาะบริเตนอยู่หลายเดือน

ประวัติ[แก้]

ภาพ "เจ้าหญิงคาราบู" โดย เอ็ดเวิร์ด เบิร์ด (ค.ศ. 1817)[1]

วันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1817 ช่างซ่อมรองเท้าผู้หนึ่งในหมู่บ้านอาเมินดส์เบอรี เทศมณฑลกลอสเตอร์เชอร์ ประเทศอังกฤษ พบหญิงสาวผู้หนึ่งอยู่ในอาการงงงวย สวมเสื้อผ้าแปลกประหลาด พูดจาด้วยภาษาที่เข้าใจยาก ภรรยาของนายช่างจึงพาเธอไปพบพนักงานควบคุมดูแลคนยากไร้ พนักงานผู้นั้นมอบเธอให้อยู่ในความดูแลของแซมยวล วอร์รอลล์ เจ้าหน้าที่แมจิสเตรตประจำเทศมณฑล วอร์รอลล์ และเอลิซาเบธ ภรรยาชาวอเมริกันของเขา ต่างไม่เข้าใจสิ่งที่หญิงสาวผู้นั้นสื่อสาร นอกเสียจากว่าเธอเรียกขานตนเองว่าคาราบู และเธอสนใจใคร่รู้ในจิตรกรรมจีน พวกเขาจึงส่งเธอไปยังโรงแรมในท้องถิ่น ณ ที่นั้นเธอเรียกรูปสับปะรดที่มีผู้วาดเขียนไว้ว่า "นานัส" ซึ่งเป็นภาษาอินโดนีเซียแปลว่าสับปะรด และยืนกรานจะหลับนอนบนพื้น วอร์รอลล์จึงประกาศว่าเธอเป็นผู้ขอทาน และควรถูกดำเนินคดีที่เมืองบริสตอลฐานเป็นผู้เร่ร่อน

เธอถูกพิพากษาจำคุก ระหว่างเธออยู่ในคุก มีกะลาสีเรือชาวโปรตุเกสผู้หนึ่งนามว่า แมนูเอล เอย์เนสโซ (หรือเอเนส) ปรากฏตัวขึ้นและกล่าวว่าตนพูดภาษาของเธอได้ จากนั้นก็แปลเรื่องราวของเธอให้ทุกคนฟังว่า เธอคือเจ้าหญิงคาราบูจากเกาะจาวาซูในมหาสมุทรอินเดีย ถูกโจรสลัดจับตัวขึ้นเรือมายาวนาน จนถึงช่องแคบบริสตอล จึงตัดสินใจกระโจนลงจากเรือ และว่ายน้ำขึ้นฝั่ง

วอร์รอลล์กับภรรยาจึงพาคาราบูออกจากคุกมาอยู่ที่บ้านพวกตน และหญิงสาวผู้เป็นเสมือนเชื้อพระวงศ์แปลกประหลาดนี้ก็กลายเป็นที่ชื่นชอบของเหล่าผู้สูงศักดิ์ในท้องถิ่นเป็นเวลาหลายสิบสัปดาห์[3] เธอใช้ธนู ใช้ดาบ ว่ายน้ำด้วยร่างกายเปลือยเปล่า และสวดภาวนาต่อพระเจ้าที่เธอเรียกนามว่า อัลลอฮ์ผู้สูงส่ง เธอยังได้รับเสื้อผ้าอาภรณ์พิสดารต่าง ๆ และภาพเขียนของเธอได้รับการเผยแพร่ซ้ำ ๆ ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ต่อมามีบุคคลผู้หนึ่งนามว่า ดอกเตอร์วิลกินสัน มายืนยันว่าเธอเป็นเจ้าหญิงจริงแท้ โดยนำหนังสือ แพนโทกราเฟีย ของเอดมันด์ ฟราย์ ซึ่งเป็นสารานุกรมอักษรศาสตร์ มารับรองภาษาที่เธอใช้ ทั้งระบุว่า ร่องรอยบนศีรษะเธอเป็นผลมาจากการผ่าตัดแบบตะวันออก[4] หนังสือพิมพ์ต่างนำเสนอเรื่องราวการผจญภัยของเจ้าหญิงคาราบูผู้นี้ จนเธอมีชื่อเสียงโด่งดังขึ้นมาในระดับชาติ

อักขระของชาวเกาะจาวาซู ตามที่เธอระบุ

แต่ที่สุดแล้วความจริงก็ปรากฏเมื่อหญิงผู้หนึ่งชื่อ นีล ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรือนกินนอน จดจำเธอได้จากภาพที่ลงใน วารสารบริสตอล แล้วนำความมาแจ้งแก่วอร์รอลล์กับภรรยา จึงได้ทราบกันว่า หญิงสาวผู้กล่าวอ้างเป็นเจ้าหญิงนี้ ที่แท้คือ เมรี วิลล์ค็อกส์ บุตรสาวของช่างทำรองเท้าในหมู่บ้านวิทเทอร์ริดจ์[5] เคยรับจ้างเป็นสาวใช้ไปทั่วประเทศอังกฤษ แต่ไม่มีที่ใดให้ตั้งรกรากได้ จึงปั้นแต่งภาษาของตนเองขึ้นจากจินตนาการและคำศัพท์ภาษาโรมานี พร้อมเสกสรรค์เรื่องราวและบุคลิกภาพอันผิดประหลาดขึ้น เพื่อให้เป็นที่สนใจ ส่วนร่องรอยบนศีรษะนั้นเป็นแผลจากการบำบัดรักษาด้วยครอบแก้ว ณ โรงพยาบาลฝีมือหยาบแห่งหนึ่งในนครลอนดอน ภรรยาของวอร์รอลล์เกิดเห็นใจเธอขึ้นมา จึงจัดแจงให้เธอได้เดินทางไปยังนครฟิลาเดเฟียในสหรัฐ เธอออกเดินทางในวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1817

ครั้นวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 1817 มีจดหมายลงพิมพ์ใน วารสารบริสตอล อ้างว่ามาจากเซอร์ฮัดสัน โลว์ ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลจักรพรรดินโปเลียนอยู่บนเกาะเซนต์เฮเลนา จดหมายนั้นว่า ขณะที่เรืออันมุ่งหน้ามายังนครฟิลาเดเฟียและบรรทุกเจ้าหญิงคาราบูมาด้วยนั้นถูกพายุซัดเข้ามาใกล้เกาะเซนต์เฮเลนา เจ้าหญิงคาราบูได้กระโจนลงเรือลำน้อยแล้วแจวมายังเกาะอย่างเด็ดเดี่ยว เป็นที่ประทับพระทัยพระจักรพรรดิยิ่งนัก ถึงขนาดที่พระองค์เสด็จไปขอให้พระสันตะปาปาทรงอนุญาตให้เสกสมรสกับนาง แต่เรื่องนี้ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน[6]

เมื่ออยู่ในสหรัฐ เธอได้สวมบทบาทเจ้าหญิงต่อไปเป็นเวลาสั้น ๆ โดยได้ปรากฏตนบนเวทีที่วอชิงตันฮอลล์ นครฟิลาเดเฟีย ในฐานะเจ้าหญิงคาราบู แต่ไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร[7] เธอติดต่อกับวอร์รอลล์และภรรยาเป็นครั้งสุดท้ายด้วยจดหมายจากนครนิวยอร์กเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1817 ในจดหมายนั้นเธอพร่ำบ่นถึงการที่ตนตกเป็นผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่ไปเสียแล้ว[7] ดูเหมือนว่าเธอจะกลับไปนครฟิลาเดลเฟียอีกครั้งจนกระทั่งลาจากสหรัฐไปใน ค.ศ. 1824 เพื่อกลับประเทศอังกฤษ[7]

ใน ค.ศ. 1824 เมื่อเธอกลับถึงเกาะบริเตนแล้ว เธอได้แสดงตัวเป็นเจ้าหญิงคาราบูอยู่อีกชั่วขณะหนึ่ง ณ ถนนนิวบอนด์ แต่ไม่มีผู้ใดเชื่อถือ[7] เธออาจจะได้เดินทางต่อไปยังประเทศฝรั่งเศสและประเทศสเปนเป็นเวลาสั้น ๆ ด้วยฐานะปลอมแปลงดังกล่าว แต่ไม่ช้าก็หวนคืนสู่ประเทศอังกฤษดังเดิม

ชีวิตในภายหลัง[แก้]

ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1828 ปรากฏว่าเธอใช้ชีวิตอย่างหญิงม่ายอยู่ในเขตเบดมินสเตอร์ เทศมณฑลซัมเมอร์เซต โดยใช้ชื่อว่า เมรี เบอร์เกสส์ (ซึ่งที่จริงแล้วเป็นชื่อญาติผู้หนึ่งของเธอ) ณ ที่นั้นเธอสมรสกับริชาร์ด เบเคอร์ และในราว ค.ศ. 1829 ก็มีบุตรหญิงด้วยกันชื่อ เมรี แอนน์[8] ครั้น ค.ศ. 1839 มีข่าวว่าเธอขายปลิงดูดเลือดให้แก่โรงพยาบาลผู้ป่วยบริสตอล ต่อมาในวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1864 เธอเสียชีวิตเพราะหกล้ม ศพเธอฝังไว้ที่สุสานฮีบรอนโรดในเมืองบริสตอล[7] บุตรสาวของเธอสืบทอดธุรกิจต่อ โดยอาศัยลำพังอยู่ในเขตเบดมินสเตอร์นั้น ณ บ้านหลังหนึ่งซึ่งมากไปด้วยแมว จนกระทั่งเสียชีวิตเพราะอัคคีภัยในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1900[9][10]

ในวัฒนธรรมประชานิยม[แก้]

ภาพยนตร์[แก้]

ไมเคิล ออสติน และจอห์น เวลส์ เขียนบทภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่อง พรินเซสคาราบู โดยมีฟีบี เคตส์ แสดงเป็นเจ้าหญิงคาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 1994 ได้เสียงวิจารณ์ระคนกัน

วรรณกรรม[แก้]

แคเทอรีน จอห์นสัน ประพันธ์นวนิยายเรื่อง เดอะคิวเรียสเทลออฟพรินเซสคาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 2015[11]

ละครเวที[แก้]

เรื่องราวเจ้าหญิงคาราบูได้รับการดัดแปลงเป็นละครเวทีหลายเรื่อง ซึ่งรวมถึงเรื่อง คาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 2004 ลอรา เบแนนตี และเรื่อง พรินเซสคาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 2016 เป็นละครเพลงเต็มรูปแบบ

การ์ตูน[แก้]

แอนทวน โอซานาม และจูเลีย แบกซ์ นำเรื่องราวเจ้าหญิงคาราบูมาเขียนเป็นการ์ตูนเรื่อง พรินเซสคาราบู เผยแพร่ใน ค.ศ. 2016

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Baring-Gould, Sabine (1908). "Caraboo". Devonshire Characters and Strange Events. London: John Lane. pp. 35–47.
  2. X, Mr. "Caraboo: A Hypertext Edition of John Matthew Gutch's Narrative". www.resologist.net. สืบค้นเมื่อ 2018-04-09.
  3. Brian Haughton. "Local Legends: Bristol's Princess Caraboo". BBC. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-01-24. สืบค้นเมื่อ 2024-04-04.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  4. "The Times". 6 June 1817. p. 4.
  5. Anonymous (1817). Carraboo, Carraboo. The singular adventures of Mary Baker, alias princess of Javasu. London. สืบค้นเมื่อ 27 November 2023 – โดยทาง nrs.harvard.edu.
  6. Sitwell, Edith (1958). English Eccentrics. Penguin. ISBN 0140032738.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 Oxford Dictionary of National Biography (online ed.). Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/41062. {{cite encyclopedia}}: |title= ไม่มีหรือว่างเปล่า (help) (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร)"Baker [née Willcocks], Mary [alias Princess Caraboo]". Oxford Dictionary of National Biography (online ed.). Oxford University Press. doi:10.1093/ref:odnb/41062. (Subscription or UK public library membership required.)
  8. "The History Press | The mysterious Princess Caraboo". www.thehistorypress.co.uk (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2018-04-09.
  9. "Mary Baker – The Princess Caraboo – Geri Walton". Geri Walton (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2014-11-05. สืบค้นเมื่อ 2018-04-09.
  10. "Princess Caraboo from the Island of Javasu". Jane Austen (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). 2011-07-17. สืบค้นเมื่อ 2018-04-09.[ลิงก์เสีย]
  11. Johnson, Catherine (2015). The Curious Tale of the Lady Caraboo. London: Corgi Books. ISBN 9781448197583.