เจ้าจอมมารดากลีบ ในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าจอมมารดากลีบ
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
บุตร9 พระองค์

เจ้าจอมมารดากลีบ เป็นพระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยต้องโทษคดีทำเสน่ห์ยาแฝดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว​ ถูกเนรเทศไปอยู่เมืองสุโขทัย ภายหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว​สวรรคต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว​ทรงพระราชทานอภัยโทษให้ และให้กลับไปอยู่สุโขทัยตามเดิม

ประวัติ[แก้]

เจ้าจอมมารดากลีบ สันนิษฐานว่าคงจะเป็นธิดาของเจ้าบ้านผ่านเมือง หรือกรมการเมือง หรือบิดาเป็นผู้มีเชื้อสายเมืองสุโขทัย เพราะหลังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตแล้วได้กลับไปอยู่ที่สุโขทัย เจ้าจอมมารดากลีบได้ถวายตัวเป็นพระสนมในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังทรงดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ หลังจากพระราชสวามีได้รับพระราชทานบวรราชาภิเษกเป็นพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว หม่อมกลีบ จึงเลื่อนเป็น เจ้าจอมมารดากลีบ

เจ้าจอมมารดากลีบเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏในพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 4 ความว่า[1]

"วังหน้า เปนหนุ่มแข็งแรง ขี่ช้างน้ำมัน ขี่ม้าเทศสูงสามศอกเศษ ยิงปืนทุกวัน ชอบการทหารมาก มีวิทยาคมดี ฤๅษีมุนี แพทย์หมอมีวิทยานับถือเข้าอยู่ด้วยมาก ผู้หญิงก็รักมาก เลี้ยงลูกเมียดี เจ้ากลีบเปนพระมเหษี เฮอมายิสตีข้างใน..."

เนื่องด้วยมีฝีมือทำอาหาร จึงได้เป็นนายห้องเครื่อง คือเป็นหัวหน้าห้องครัววังหน้าด้วย แต่แล้วมีผู้มากราบทูลว่าเจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์ยาแฝด จึงได้โปรดคณะตระลาการในบวรพระราชวัง ไต่สวนชำระความ แต่หลังการไต่สวนก็โปรดฯให้เจ้าจอมมารดากลีบพ้นจากหน้าที่ห้องเครื่อง ให้ พระยาราชโยธามาคุมแทน ส่วนเครื่องเสวยก็ให้ผู้ชายทำทั้งหมด ป้องกันมิให้มีเรื่องนินทาเช่นนี้เกิดขึ้นอีก[2] ต่อมาทรงประชวรเสวยพระกระยาหารไม่ได้ เหล่าข้าราชบริพารหลายคนจึงกราบทูลเสนอให้เจ้าจอมมารดากลีบกลับเข้ามาทำเครื่องเสวยใหม่ ข้าราชการเข้าชื่อกันค้ำประกัน พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงรับสั่งให้เจ้าจอมมารดากลีบกลับเข้ามาคุมห้องเครื่องทำพระกระยาหารให้เสวยตามเดิม พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ยังคงประชวรไม่หาย วันหนึ่งเจ้าจอมมารดากลีบทำก๋วยเตี๋ยวไปถวาย ก็ทอดพระเนตรเห็นขนเส้นหนึ่งอยู่ในชามก๋วยเตี๋ยว จึงเกิดความคลางแคลงพระทัยขึ้นมาอีก[3]

ในเดือนต่อมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาเยี่ยมอาการประชวรของพระอนุชา พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงกราบบังคมทูลเรื่องสงสัยว่าเจ้าจอมมารดากลีบจะทำเสน่ห์ยาแฝด[4] ขอพระราชทานให้คณะตระลาการวังหลวงไต่สวน คณะตระลาการวังหลวงก็ลงความเห็นว่า เจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์ยาแฝดจริง เหล่าลูกขุนจึงปรึกษาโทษว่า ให้ริบราชบาทว์ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วให้นำไปประหารชีวิตเสีย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงคลางแคลงพระทัยว่า เรื่องที่เจ้าจอมมารดากลีบทำเสน่ห์นี้คงจะไม่ใช่เป็นเรื่องจริง และไม่ได้เกี่ยวกับอาการประชวรของพระอนุชา จึงทรงพระราชหัตถ์เลขาให้งดโทษประหารไว้ทั้งหมด เนรเทศเจ้าจอมมารดากลีบไปอยู่สุโขทัย[5]

พระราชโอรส-พระราชธิดา[แก้]

เจ้าจอมมารดากลีบมีพระราชโอรสและพระราชธิดากับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว 9 พระองค์[6] (บ้างว่า 12 พระองค์)[3] ได้แก่

  1. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุบผา (พ.ศ. 2382 - พ.ศ. 2390)
  2. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าตลับ (ประสูติ พ.ศ. 2384 สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์)
  3. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง (ประสูติ พ.ศ. 2391 สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์)
  4. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจำเริญ (6 สิงหาคม พ.ศ. 2393 - 13 กันยายน พ.ศ. 2450)
  5. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโตสินี (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2394 - 25 มิถุนายน พ.ศ. 2458)
  6. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชาย (ประสูติ พ.ศ. 2397 สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์)
  7. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง (ประสูติ พ.ศ. 2397 สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์)
  8. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง (ประสูติ พ.ศ. 2398 สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์)
  9. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชาย (ประสูติ พ.ศ. 2400 สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์)

อ้างอิง[แก้]

  1. วิบูล วิจิตรวาทการ. สตรีสยามในอดีต. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ:เดือนตุลา. 2542, หน้า 245
  2. "เวียงวัง ตอนที่ 287 : "พระอาการทรงพระประชวร"". เด็กดี. 19 เมษายน 2553. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "ทำเสน่ห์พระปิ่นเกล้าฯ จนมีโอรสธิดา ๑๒ พระองค์". ผู้จัดการ. 31 กรกฎาคม 2558. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-08-08. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. "คดียาแฝด เจ้าจอมมารดากลีบ". ไทยรัฐ. 21 กรกฎาคม 2559. สืบค้นเมื่อ 16 กรกฎาคม 2560. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. พระราชพงศาวดาร-กรุงรัตนโกสินทร์-รัชชกาลที่-๔/๑๖๒-พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต
  6. กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ (2554). ราชสกุลวงศ์ (PDF). กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. p. 136. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-02-02. สืบค้นเมื่อ 2017-07-16.