เจเน็ต จี. ทราเวล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจเน็ต จี. ทราเวล
เจเน็ต จี. ทราเวล แพทย์ของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี ขณะสรุปข่าว
แพทย์ประจำตัวประธานาธิบดี
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. 1961 – ค.ศ. 1965
ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี, ลินดอน บี. จอห์นสัน
ก่อนหน้าฮาวเวิร์ด แมกครัม สไนเดอร์
ถัดไปจอร์จ จี. เบิร์กลีย์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด17 ธันวาคม ค.ศ. 1901(1901-12-17)
เสียชีวิต1 สิงหาคม ค.ศ. 1997(1997-08-01) (95 ปี)
เชื้อชาติอเมริกัน
ญาติจอห์น วิลลาร์ด และเจเน็ต เอลิซา (เดวิดสัน) ทราเวล
การศึกษาวิทยาลัยเวลเลสลีย์
อาชีพแพทย์และนักวิจัยทางการแพทย์
เป็นที่รู้จักจากแพทย์ประจำตัวของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี
ผลงานเด่นอาการปวดกล้ามเนื้อและการทำงานผิดปกติ คู่มือจุดกดเจ็บ

เจเน็ต เกรม ทราเวล (อังกฤษ: Janet Graeme Travell; 17 ธันวาคม ค.ศ. 1901 – 1 สิงหาคม ค.ศ. 1997) เป็นแพทย์และนักวิจัยทางการแพทย์ชาวอเมริกัน[1]

ชีวิตตอนต้นและการศึกษา[แก้]

เธอเกิดใน ค.ศ. 1901 โดยเป็นลูกของจอห์น วิลลาร์ด และเจเน็ต เอลิซา (เดวิดสัน) ทราเวล โดยได้รับอิทธิพลอย่างมากจากอาชีพแพทย์ของบิดา ทราเวลได้ตัดสินใจที่จะประกอบอาชีพด้านการแพทย์ กระทั่งในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1929 ที่นครนิวยอร์ก เจเน็ตแต่งงานกับจอห์น วิลเลียม กอร์ดอน เพาเวล ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการลงทุน พวกเขามีลูกสาวสองคน ได้แก่ เจเน็ตและเวอร์จิเนีย ครั้นอายุได้ 95 ปี ทราเวลเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวที่บ้านของเธอในนอร์แทมป์ตัน รัฐแมสซาชูเซตส์

เธอเป็นที่จดจำในฐานะแพทย์ประจำตัวของประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี และเป็นนักวิจัยเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องจุดกดเจ็บซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดต่างที่ของกล้ามเนื้อโครงร่าง

อาชีพ[แก้]

ในอาชีพการงานของเธอ ดร. ทราเวลได้บุกเบิกเทคนิคต่าง ๆ ในการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง รวมถึงการฝังเข็มคลายจุด อาชีพของเธอเริ่มต้นด้วยการแสวงหาการศึกษาที่วิทยาลัยเวลเลสลีย์ และเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาขณะที่เธอเรียนต่อปริญญาโทจากวิทยาลัยการแพทย์มหาวิทยาลัยคอร์เนลในนครนิวยอร์ก ทราเวลได้พำนักอยู่ที่โรงพยาบาลนิวยอร์กเป็นเวลาสองปี ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นศัลยแพทย์ประจำรถพยาบาลสำหรับกองกำลังตำรวจในนครนิวยอร์ก หลังจากเสร็จสิ้นการอยู่อาศัย ทราเวลกลายเป็นนักวิจัยที่โรงพยาบาลเบลเลอวู ซึ่งเธอได้ศึกษาผลกระทบของถุงมือจิ้งจอกในผู้ป่วยที่เป็นปอดอักเสบเฉพาะกลีบ เมื่อตำแหน่งผู้วิจัยในมหาวิทยาลัยของเธอสิ้นสุดลง ทราเวลได้กลับไปที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้สอนในภาควิชาเภสัชวิทยา และต่อมาได้เป็นรองศาสตราจารย์ด้านเภสัชวิทยาคลินิก ขณะทำงานให้แก่คอร์เนล เธอยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านหทัยวิทยาของโรงพยาบาลซีวิวในเกาะสแตเทน

ทราเวลรับทุนการศึกษาโจไซอา เมซี จูเนียร์ ที่โรงพยาบาลเบทอิสราเอลในนิวยอร์กเพื่อศึกษาโรคหลอดเลือดแดงตั้งแต่ ค.ศ. 1939 ถึง 1941 ในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งนี้เองที่เธอเริ่มสนใจอาการเจ็บกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นเครื่องหมายแสดงอาชีพในภายหลังของเธอ งานวิจัยของเธอได้ผลิตเทคนิคการดมยาสลบแบบใหม่สำหรับการรักษาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งหลังที่เจ็บปวด ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จอย่างมากในหมู่ผู้ป่วย เทคนิคของทราเวลได้รวมถึงการใช้การฉีดโพรเคนและสเปรย์น้ำเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวด สเปรย์ดังกล่าวยังคงเป็นที่นิยมในการรักษาด้วยเวชศาสตร์การกีฬาในปัจจุบัน

จากความสำเร็จของเธอในการบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อโครงร่าง ส่งผลให้ทราเวลเป็นผู้หญิงคนแรกที่เป็นแพทย์ประจำตัวประธานาธิบดี ทราเวลถูกเรียกโดยศัลยแพทย์กระดูกและข้อส่วนบุคคลของวุฒิสมาชิกจอห์น เอฟ. เคนเนดี เพื่อช่วยรักษาอาการปวดหลัง เนื่องด้วยเคนเนดีต้องทนทุกข์ทรมานจากความเจ็บปวดสาหัสซึ่งอาจเป็นผลมาจากการผ่าตัดหลังแบบลุกลามที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อเคนเนดีชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 1960 เขาได้แต่งตั้งเธอเป็นแพทย์ประจำตัว[2] การรักษาของเธอรวมถึงการใช้เก้าอี้โยกกับเก้าอี้นวมโยกที่เข้าคู่กันเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหลัง ในกระบวนการนี้ทำให้เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชน ซึ่งเห็นประธานาธิบดีในภาพโยกเก้าอี้ของเขาในห้องทำงานรูปไข่[3] เธอยังคงทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำตัวของประธานาธิบดีต่อไปหลังจากการลอบสังหารจอห์น เอฟ. เคนเนดี โดยมีลินดอน บี. จอห์นสัน เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของเขา เธอยังคงดำเนินต่อผ่านการเลือกตั้งใหม่ของจอห์นสัน แต่ตัดสินใจลาออกจากทำเนียบขาวใน ค.ศ. 1965

ขณะดำรงตำแหน่งแพทย์ประจำตัวประธานาธิบดี ทราเวลยังรับตำแหน่งรองศาสตราจารย์ด้านการแพทย์คลินิกที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน ใน ค.ศ. 1961 แม้หลังจากออกจากทำเนียบขาว เธอยังคงสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในคณะแพทยศาสตร์ เธอดำรงตำแหน่งรองศาสตราจารย์คลินิกใน ค.ศ. 1961–1970, ศาสตราจารย์คลินิกกิตติคุณ คณะแพทยศาสตร์ใน ค.ศ. 1970–1988 และศาสตราจารย์คลินิกกิตติมศักดิ์ คณะแพทยศาสตร์ตั้งแต่ ค.ศ. 1988 จนกระทั่งเสียชีวิตใน ค.ศ. 1997 ซึ่งทราเวลยังคงทำงานด้านการแพทย์จนถึงตอนปลาย ได้แก่ การเขียนบทความ, การบรรยาย และการเข้าร่วมการประชุม[4]

การวิจัย[แก้]

ความสนใจส่วนตัวของเธอทำให้เธอต้องชันสูตร, บรรยาย และชี้แจงปรากฏการณ์ของอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง ซึ่งเป็นจุดรองจากจุดกดเจ็บ ที่เขียนขึ้นครั้งแรกในคริสต์ทศวรรษ 1920 โดย ดร. ดัดลีย์ เจ. มอร์ตัน[5] เธอได้ดึงความสนใจไปที่บทบาทของ "นิ้วเท้าของมอร์ตัน" และภาระในการก่อให้เกิดความเจ็บปวดทั่วร่างกาย

การวิจัยของทราเวลส่งผลให้เกิดบทความทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 100 บทความ รวมถึงหนังสือที่ประพันธ์ร่วมกับเดวิด จี. ไซมอนส์ ที่ได้รับการยกย่องใน ค.ศ. 1983 อย่างมัยโอฟาสเชียลเพนแอนด์ดิสฟังชัน: เดอะทริกเกอร์พอยต์แมนนวล (Myofascial Pain and Dysfunction: The Trigger Point Manual) นอกจากนี้ เธอยังเขียนอัตชีวประวัติชื่อออฟฟิศเอาเออส์: เดย์แอนด์ไนต์ (Office Hours: Day and Night) ซึ่งให้ความกระจ่างเกี่ยวกับอาชีพและชีวิตของเธอ

อ้างคำพูด[แก้]

"ฉันอาศัยอยู่ในโลกที่พิเศษมาก - โลกแห่งความรักและความปลอดภัย; ความงามและความสงบสุข; โอกาส, การผจญภัย และความหลากหลาย; ความท้าทายและความสำเร็จ รวมถึงความชื่นชมยินดีของเพื่อนร่วมงานของฉัน ฉันมีทุกสิ่งที่ฉันต้องการเพียงพอและไม่มีอะไรเหลือเฟือ" ดร. ทราเวล, บันทึกของผู้เขียนถึงออฟฟิศอาวเวอส์: เดย์แอนด์ไนต์ ค.ศ. 1968[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. Powell, Virginia (2003). "A Daughter's Recollection". Texas Heart Institute Journal. 30 (1): 8–12. PMC 152828. PMID 12638664.
  2. Lewis, David D. (January 25, 1961). "Kennedy Selects Woman Doctor". The Terre Haute Tribune. Terre Haute, IN. United Press International. สืบค้นเมื่อ January 30, 2017 – โดยทาง Newspapers.com. สิ่งพิมพ์เผยแพร่เข้าถึงแบบเปิด อ่านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
  3. Guide to the Janet G. Travell Papers, 1910-1997, Special Collections Research Center, Estelle and Melvin Gelman Library, The George Washington University
  4. Guide to the Janet G. Travell Papers, 1910-1997, Special Collections Research Center, Estelle and Melvin Gelman Library, The George Washington University
  5. ""Morton's Toe"". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-29. สืบค้นเมื่อ 2021-11-14.
  6. "The President's Physician: The life and legacy of Dr. Janet G. Travell" (2003) เก็บถาวร 2010-06-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, Special Collections Research Center, Estelle and Melvin Gelman Library, George Washington University.

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]