ข้ามไปเนื้อหา

ปวดหลังส่วนล่าง

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ปวดหลังส่วนล่าง
(Low back pain)
ชื่ออื่นLower back pain, lumbago
ตำแหน่งของกระดูกสันหลังส่วนเอว (สีชมพู) เมื่อเทียบกับโครงกระดูก
การออกเสียง
สาขาวิชาออร์โทพีดิกส์ วิทยารูมาติก เวชศาสตร์ฟื้นฟู
การตั้งต้นอายุระหว่าง 20–40 ปี[1]
ระยะดำเนินโรค~65% ดีขึ้นใน 6 สัปดาห์[2]
ประเภทเฉียบพลัน (เป็นน้อยกว่า 6 สัปดาห์), กึ่งเรื้อรัง (6–12 สัปดาห์), เรื้อรัง (มากกว่า 12 สัปดาห์)[3]
สาเหตุปกติไม่พบเหตุเฉพาะ บางครั้งมีเหตุมูลฐานที่มีนัยสำคัญ[1][4]
วิธีวินิจฉัยการสร้างภาพทางการแพทย์ (ถ้ามีสัญญาณเตือน)[5]
การรักษาใช้ชีวิตตามปกติ, รักษาโดยไม่ใช้ยา, ยาแก้อักเสบ NSAID[2][6]
ความชุก~25% ในแต่ละเดือน[7][8]

อาการปวดหลังส่วนล่าง หรือ อาการปวดเอว (อังกฤษ: low back pain, lumbago) เป็นความผิดปกติสามัญที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ เส้นประสาทและกระดูกสันหลัง ระหว่างซี่โครงล่างกับรอยพับใต้ก้น โดยจะมีอาการปวดเป็นระดับ ๆ[4] โดยจำแนกตามระยะเวลาเป็นแบบเฉียบพลัน (ไม่เกิน 6 สัปดาห์) แบบกึ่งเรื้อรัง (6–12 สัปดาห์) หรือแบบเรื้อรัง (มากกว่า 12 สัปดาห์)[3] หรือจำแนกเพิ่มจากสาเหตุมูลฐานว่าเกิดจากกลไกทางกายภาพ (mechanical) ไม่ใช่กลไกทางกายภาพ (non-mechanical) หรือปวดต่างที่จากอวัยวะอื่น[5] อาการมักจะดีขึ้นในไม่กี่สัปดาห์ โดย 40–90% จะหายดีภายใน 6 สัปดาห์[2]

ในกรณีส่วนมาก มักไม่ระบุสาเหตุหรือหาสาเหตุไม่พบ โดยเชื่อว่ามีเหตุจากกลไกทางกายภาพ เช่น การเคล็ดของกล้ามเนื้อ หรือข้อต่อ[1][4] หากไม่หายปวดด้วยการรักษาหรือมี "สัญญาณเตือน" (red flags) เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีไข้ หรือมีปัญหากับความรู้สึกหรือการเคลื่อนไหวอย่างสำคัญ อาจต้องรับการตรวจเพิ่มเพื่อหาปัญหาที่ร้ายแรง[5] ในกรณีส่วนใหญ่ การเอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่แนะนำสำหรับอาการที่เป็นน้อยกว่า 6 สัปดาห์ (ที่ไม่มีสัญญาณเตือน)[9] แม้ระบุไว้เช่นนี้ แต่ก็มีการเอกซเรย์หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อวินิจฉัยอาการนี้เพิ่มขึ้น[10]

อาการบางกรณีเกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังที่เสียหาย การตรวจด้วยการให้ยกขาตั้งฉากกับตัวเมื่อนอน (straight leg raise) อาจช่วยระบุสาเหตุนี้[5] ในผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง ระบบประสาทที่ประมวลผลความเจ็บปวดอาจทำงานผิดปกติ ทำให้รู้สึกเจ็บปวดรุนแรงแม้เพราะเหตุการณ์ที่ไม่ร้ายแรง[11] อาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่ไม่เจาะจง (CNSLBP) เป็นภาวะกล้ามเนื้อและกระดูกที่พบได้บ่อยมากซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย แต่ยังมีผลต่อสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจของบุคคลด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างยิ่งหากสามารถคัดกรองปัญหาทางพันธุกรรม, วิถีชีวิตและพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และปัจจัยทางจิตสังคมควบคู่ไปกับปัญหาทางกล้ามเนื้อและกระดูก[12] อาการเรื้อรังนิยามว่า เป็นอาการปวดหลังที่นานกว่าสามเดือน[13]

อาการมักดีขึ้นในไม่กี่สัปดาห์หลังจากเริ่มมีอาการ ผู้ป่วย 40–90% จะหายดีภายใน 6 สัปดาห์[2] ควรทำกิจกรรมปกติให้มากที่สุดเท่าที่อาการปวดจะเอื้ออำนวย[2] แนะนำให้เริ่มรักษาด้วยวิธีที่ไม่ใช้ยา[6] รวมทั้งการประคบร้อน การนวด การฝังเข็ม หรือการจัดกระดูกสันหลัง[6] หากไม่ได้ผลพอ แนะนำให้ใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs)[6][14]

มีตัวเลือกอื่นอีกสำหรับผู้ที่ไม่ดีขึ้นด้วยการรักษาทั่วไป ยาโอปิออยด์อาจมีประโยชน์หากยาแก้ปวดธรรมดาได้ผลดีไม่พอ แต่โดยทั่วไปไม่แนะนำเนื่องจากผลข้างเคียง[15] รวมถึงอัตราการติดยาสูง การใช้ยาเกินขนาดโดยไม่ตั้งใจแล้วเสียชีวิต[16] การผ่าตัดอาจมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรังและความพิการเหตุหมอนรองกระดูกหรือช่องไขสันหลังตีบ[17][18] ไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจนของการผ่าตัดสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างที่ไม่ทราบสาเหตุ[17] อาการมักส่งผลต่ออารมณ์ ซึ่งอาจดีขึ้นได้ด้วยจิตบำบัดหรือยาแก้ซึมเศร้า[19][20] นอกจากนี้ยังมีการรักษาแพทย์ทางเลือกหลายอย่าง แต่ก็ไม่มีหลักฐานเพียงพอให้แนะนำอย่างมั่นใจ[21] หลักฐานการรักษาด้วยไคโรแพรกติก[22] และการจัดกระดูกสันหลังมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล[21][23][24][25]

ประมาณ 9–12% ของประชากรหรือ 632 ล้านคนทั่วโลก มีอาการปวดหลังส่วนล่างไม่ว่าจะนับเมื่อไรก็ตาม[26] เกือบ 25% รายงานว่ามีอาการในเดือนที่ผ่านมา[7][8] ประมาณ 40% ของประชากรจะมีอาการในช่วงหนึ่ง ๆ ของชีวิต[7] โดยอาจสูงถึง 80% ในประเทศพัฒนาแล้ว[27] ทั่วโลกอาการเป็นสาเหตุหลักของการเสียงาน การลางาน ความพิการ และการเกษียณก่อนอายุ[26] ปัญหามักเริ่มต้นเมื่อถึงอายุ 20–40 ปี[1] ผู้หญิงและผู้สูงอายุมีอัตราการเกิดอาการและความพิการที่สูงกว่า[13] อาการพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุระหว่าง 40–80 ปี โดยคาดว่าจะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเมื่อประชากรโดยรวมมีอายุมากขึ้น[7] ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก ในบรรดาคนไข้โรคต่าง ๆ ที่สามารถได้ประโยชน์จากการจัดการที่เน้นการฟื้นฟู คือการฟื้นสมรรถภาพการทำกิจวัตรและลดความพิการ นี่เป็นภาวะที่มีคนไข้จำนวนมากที่สุดที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟู[13]

อาการ

[แก้]

ในกรณีทั่วไป อาการปวดมักเกิดขึ้นหลังจากการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการยกของ บิดตัว หรือก้มตัวไปข้างหน้า อาการอาจเริ่มทันทีหรือหลังจากตื่นนอนในเช้าวันถัดไป ลักษณะอาการปวดอาจต่างกันไป ตั้งแต่กดเจ็บเฉพาะจุดไปจนถึงปวดกระจายเป็นบริเวณกว้าง อาจแย่ลงจากการเคลื่อนไหวบางอย่าง เช่น การยกขา หรือจากบางอิริยาบถ เช่น นั่งหรือยืน อาจปวดร้าวลงขา ซึ่งเรียกว่า อาการปวดหลังร้าวไปขา[28] หรือ อาการปวดตามประสาทไซแอติก[28] (sciatica)

อาการเฉียบพลันมักเกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงอายุ 20–40 ปี มักเป็นเหตุแรกที่ทำให้ไปหาหมอในวัยผู้ใหญ่[1] กว่าครึ่งหนึ่งจะเกิดอาการเกิดซ้ำอีก[29] แต่ละครั้งมักจะปวดมากกว่าครั้งแรก[1]

อาจมีปัญหาอื่น ๆ เกิดร่วม อาการเรื้อรังมักสัมพันธ์กับปัญหาการนอนหลับรวมถึงใช้เวลานานขึ้นกว่าจะหลับ, หลับ ๆ ตื่น ๆ, นอนได้สั้นลง และนอนอิ่มน้อยลง[30] ส่วนหนึ่งที่มีอาการเรื้อรังจะมีโรคซึมเศร้า (อาจถึง 50%)[19] หรือวิตกกังวล[21]เกิดร่วมด้วย

สาเหตุ

[แก้]
หมอนรองกระดูกเคลื่อนในภาพเอ็มอาร์ไอ เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการปวดหลังส่วนล่าง

อาการปวดหลังส่วนล่างไม่ใช่โรคโดยเฉพาะ แต่เป็นอาการจากปัญหาหลากหลายที่รุนแรงต่าง ๆ กัน[31] ส่วนใหญ่ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน[1] แต่เชื่อว่าเป็นผลจากปัญหากล้ามเนื้อหรือโครงกระดูกที่ไม่ร้ายแรง เช่น อาการเคล็ดหรือกล้ามเนื้อฉีก[32] โดยโรคอ้วน การสูบบุหรี่ น้ำหนักเพิ่มระหว่างตั้งครรภ์ ความเครียด สภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง และท่านอนที่ไม่เหมาะสม ล้วนเป็นปัจจัยให้เกิดอาการได้[32]

ยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดว่า ท่าทางการวางกระดูกสันหลังหรือกิจกรรมบางประเภทเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหรือไม่[33] สาเหตุที่เป็นไปได้ทั้งหมดรวมภาวะที่พบได้น้อยหลายอย่าง[5] สาเหตุทางกายภาพอาจรวมถึงโรคข้อเสื่อม, หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมหรือหมอนรองกระดูกเคลื่อน, กระดูกสันหลังหัก เช่น จากโรคกระดูกพรุน หรือในกรณีที่พบได้น้อย การติดเชื้อหรือเนื้องอกในกระดูกสันหลัง[34]

ผู้หญิงอาจมีอาการจากภาวะที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์ เช่น เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ถุงน้ำ/ซีสต์ที่รังไข่ มะเร็งรังไข่ หรือเนื้องอกมดลูก[35] เกือบครึ่งหนึ่งของหญิงตั้งครรภ์รายงานว่ามีอาการปวดหลังส่วนล่าง ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะท่าทางและจุดศูนย์ถ่วงได้เปลี่ยนแปลงไป แล้วทำให้เกิดความตึงเครียดต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูกรวมถึงกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ[36]

อาการสามารถแบ่งออกเป็นสี่ประเภทหลัก ได้แก่

พยาธิสรีรวิทยา

[แก้]

โครงสร้างของหลัง

[แก้]
กระดูกสันหลังส่วนเอวเทียบกับกระดูกสันหลังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย
กระดูกสันหลังส่วนเอวทั้ง 5 ข้อเป็นโครงสร้างหลักของบริเวณหลังส่วนล่าง
เส้นประสาทและกระดูกที่ประกอบเป็นกระดูกสันหลัง
โครงสร้างรอบ ๆ กระดูกสันหลังสามารถเป็นแหล่งที่มาของอาการปวดหลังส่วนล่างได้

บริเวณเอว (หรือหลังส่วนล่าง) อยู่ระหว่างซี่โครงล่างกับรอยพับใต้ก้น ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนเอวห้าชิ้น (L1-L5) และกระดูกใต้กระเบนเหน็บ (sacrum) ระหว่างกระดูกสันหลังมีหมอนรองกระดูกที่เป็นกระดูกอ่อนชนิดเส้นใย ทำหน้าที่เป็นเบาะรองเพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังเสียดสีกัน และช่วยปกป้องไขสันหลัง เส้นประสาทออกจากไขสันหลังผ่านช่องโดยเฉพาะ ๆ ระหว่างกระดูกสันหลัง ทำหน้าที่รับความรู้สึกและส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อ เสถียรภาพของกระดูกสันหลังมาจากเอ็นและกล้ามเนื้อบริเวณหลังและหน้าท้อง ข้อต่อเล็ก ๆ ที่เรียกว่าข้อต่อหน้าประกบ (facet joints) จำกัดและควบคุมการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง[38]

กล้ามเนื้อมัลทิฟิดัส (multifidus muscle) ทอดยาวขึ้นและลงตามแนวด้านหลังของกระดูกสันหลัง มีบทบาทสำคัญในการรักษาความตรงและความมั่นคงของกระดูกเมื่อเคลื่อนไหวโดยทั่วไป เช่น การนั่ง เดิน และยกของ[11] ปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อเหล่านี้มักพบในผู้มีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง เนื่องจากอาการปวดทำให้ใช้กล้ามเนื้อหลังอย่างไม่ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด[39] ปัญหากล้ามเนื้อจะยังคงอยู่แม้ว่าจะหายปวดแล้ว และอาจเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้กลับมาเป็นอีก[39] การฝึกให้ผู้มีอาการเรื้อรังใช้กล้ามเนื้อเหล่านี้อย่างถูกต้องเป็นส่วนหนึ่งที่แนะนำให้มีในโปรแกรมการฟื้นฟู[39]

หมอนรองกระดูกสันหลังมีแกนเป็นวุ้นและล้อมรอบด้วยวงแหวนที่เป็นเส้นใย[40] ในสภาพปกติ บริเวณส่วนมากของหมอนรองกระดูกจะไม่มีหลอดเลือดหรือเส้นประสาทมาเลี้ยง โดยส่วนรอบนอกเท่านั้นที่ได้รับเลือดและเส้นประสาท[40] ในหมอนรองกระดูกมีเซลล์พิเศษที่สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเลือดมาเลี้ยงโดยตรง[40] เมื่ออายุเพิ่มขึ้น หมอนรองกระดูกจะเสียความยืดหยุ่นและสมรรถภาพในการดูดซับแรงกระแทก[31] ซึ่งเพิ่มความเครียดเชิงกลต่อส่วนอื่น ๆ ของกระดูกสันหลัง ทำให้เอ็นของกระดูกสันหลังหนาขึ้นและกระดูกสันหลังเกิดกระดูกงอก[31] ผลที่ตามมาคือ ช่องที่ไขสันหลังและรากประสาทวิ่งผ่านจะตีบลง[31] เมื่อหมอนรองกระดูกเสื่อมสภาพจากการบาดเจ็บหรือโรค องค์ประกอบของมันก็จะเปลี่ยนไปด้วย โดยอาจมีเส้นเลือดและเส้นประสาทงอกเข้าไปข้างใน หรือเนื้อหมอนรองกระดูกที่เคลื่อนอาจกดทับรากประสาท[40] ทั้งหมดนี้อาจก่ออาการปวดหลังได้[40]

ความรู้สึกเจ็บ

[แก้]

ความเจ็บปวดเกิดขึ้นเป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่สร้างความเสียหายหรืออาจสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อของร่างกาย มีสี่ขั้นตอนหลักคือ การถ่ายโอนความรู้สึก การส่งความรู้สึก การรับรู้ความรู้สึก และการปรับเปลี่ยนความรู้สึก (modulation)[11] เซลล์ประสาทที่ตรวจจับความเจ็บปวดมีตัวเซลล์อยู่ในปมประสาทรากหลัง และมีเส้นใยประสาทที่ส่งสัญญาณไปยังไขสันหลัง[41]

กระบวนการรับรู้ความเจ็บปวดเริ่มต้นขึ้นเมื่อสิ่งเร้าที่ก่อความเจ็บปวดกระตุ้นปลายประสาทรับความรู้สึกที่เหมาะสม เซลล์ประสาทชนิดนี้จะเปลี่ยนพลังงานที่ได้รับเป็นสัญญาณไฟฟ้าผ่านการถ่ายโอนความรู้สึก เส้นใยประสาทหลายชนิดทำหน้าที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าจากเซลล์ถ่ายโอนสัญญาณไปยังบริเวณ posterior horn ของไขสันหลัง แล้วส่งต่อไปยังก้านสมอง และจากก้านสมองไปยังสมองส่วนต่าง ๆ เช่น ทาลามัสและระบบลิมบิก

ในทาลามัส สัญญาณความเจ็บปวดจะส่งต่อไปยัง insular cortex (ซึ่งเชื่อว่า มีบทบาททำให้ความเจ็บปวดเป็นความรู้สึกต่างกับความรู้สึกอื่น ๆ ในร่างกาย และจูงให้มีพฤติกรรมในการรักษาภาวะธำรงดุลของร่างกาย โดยเป็นความรู้สึกรวมทั้งความคันและความคลื่นไส้วิงเวียน) และ Anterior cingulate cortex (ซึ่งเชื่อว่า มีบทบาททางอารมณ์เกี่ยวกับความเจ็บปวด คือก่อทุกข์)[42] อนึ่ง ความเจ็บปวดที่กำหนดตำแหน่งได้อย่างแม่นยำจะทำให้คอร์เทกซ์รับความรู้สึกทางกายปฐมภูมิและทุติยภูมิทำงานด้วย[43] รวม ๆ แล้วในสมอง สัญญาณความเจ็บปวดจะได้รับการประมวลผลและให้บริบทในกระบวนการรับรู้ความเจ็บปวด ส่วนในขั้นตอนการปรับเปลี่ยน สมองสามารถควบคุมการส่งสัญญาณมาจากปลายประสาทโดยเพิ่มหรือลดการหลั่งสารสื่อประสาท[11]

บางส่วนของระบบการรับความเจ็บปวดและประมวลผลอาจทำงานผิดปกติ ทำให้เจ็บปวดโดยไม่มีสาเหตุจากภายนอก รับรู้ความเจ็บปวดมากเกินไปเมื่อมีสาเหตุโดยเฉพาะ หรือทำให้เจ็บปวดเพราะเหตุการณ์ที่ปกติไม่เจ็บ นอกจากนี้ กลไกการปรับเปลี่ยนความเจ็บปวดอาจทำงานผิดปกติ ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับอาการปวดเรื้อรัง[11]

การวินิจฉัย

[แก้]

เนื่องจากโครงสร้างของหลังส่วนล่างมีความซับซ้อน ความเจ็บปวดที่รายงานจะขึ้นอยู่กับบุคคลคือเป็นอัตวิสัย โดยได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ ทางสังคม ทำให้วินิจฉัยอาการปวดหลังส่วนล่างได้ไม่ง่าย[5] แม้สาเหตุส่วนใหญ่จะมาจากกล้ามเนื้อและข้อต่อ แต่ก็ต้องแยกออกจากปัญหาทางระบบประสาท เนื้องอกในกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังหัก และการติดเชื้อ เป็นต้น[3][1] รหัส ICD-10 สำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างคือ M54.5

การจำแนกประเภท

[แก้]

มีวิธีการจำแนกอาการปวดหลังส่วนล่างหลายวิธี โดยไม่มีมติว่าวิธีใดดีที่สุด[5] มีอาการสามประเภทโดยแบ่งตามสาเหตุ ได้แก่

  • เหตุกลไกทางกายภาพ (mechanical) เช่น การเคล็ดของกระดูกและกล้ามเนื้อที่ไม่ทราบสาเหตุ หมอนรองกระดูกเคลื่อน รากประสาทถูกกดทับ หมอนรองกระดูกหรือข้อเสื่อม และกระดูกสันหลังหัก
  • เหตุที่ไม่ใช่กลไกทางกายภาพ (non-mechanical) เช่น เนื้องอก การอักเสบ (เช่น spondyloarthritis) และการติดเชื้อ
  • เหตุปวดต่างที่จากอวัยวะภายใน เช่น โรคถุงน้ำดี โรคนิ่วไต การติดเชื้อในไต และท่อเลือดแดงโป่งพอง เป็นต้น[5]

ส่วนใหญ่ (ประมาณ 90% หรือมากกว่า) ของอาการปวดหลังส่วนล่างเกิดจากกลไกทางกายภาพหรือระบบกล้ามเนื้อและกระดูก[5][44] ในกลุ่มนี้ ประมาณ 75% จะไม่สามารถระบุสาเหตุโดยเฉพาะได้ แต่เชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อเคล็ดหรือเส้นเอ็นบาดเจ็บ[5][44] ในกรณีน้อยมาก จะเกิดจากปัญหาทั่วทั้งร่างกายหรือทางจิตวิทยา เช่น ไฟโบรไมอัลเจีย หรือโรคโซมาโตฟอร์ม (โรคทางร่างกายที่มีสาเหตุจากจิตใจ)[44]

อาการปวดหลังส่วนล่างสามารถจำแนกตามอาการได้ แบบปวดกระจายที่ไม่เปลี่ยนตามการเคลื่อนไหว จำกัดอยู่ที่หลังส่วนล่างโดยไม่ร้าวไปเกินก้น จัดเป็นอาการปวดแบบไม่รู้สาเหตุ (nonspecific) ซึ่งเป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด[5] อาการปวดที่ร้าวลงขาต่ำกว่าหัวเข่า เกิดขึ้นข้างเดียวในกรณีหมอนรองกระดูกเคลื่อน หรือเกิดขึ้นทั้งสองข้างในกรณีช่องกระดูกสันหลังตีบ และปวดมากน้อยโดยเปลี่ยนไปตามท่าทางหรือการปรับเปลี่ยนบางอย่าง จัดเป็นแบบรากประสาท (radicular) พบได้ใน 7% ของผู้ป่วย[5] อาการปวดที่มาพร้อมกับสัญญาณเตือนเช่น การบาดเจ็บ ไข้ ประวัติมะเร็ง หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างมีนัยสำคัญ อาจบ่งบอกถึงปัญหาร้ายแรง จึงจัดว่า "จำเป็นต้องได้รับการดูแลเร่งด่วนหรือเฉพาะทาง"[5]

อาการสามารถจำแนกตามระยะเวลาเป็นแบบเฉียบพลัน กึ่งเรื้อรัง (หรือกึ่งเฉียบพลัน) และเรื้อรังได้ ระยะเวลาที่แน่นอนสำหรับแต่ละประเภทอาจไม่มีมติเป็นสากล แต่โดยทั่วไป อาการปวดที่นานไม่เกิน 6 สัปดาห์จัดว่าเป็นแบบเฉียบพลัน อาการปวดที่นาน 6–12 สัปดาห์จัดเป็นแบบกึ่งเรื้อรัง และที่นานกว่า 12 สัปดาห์เป็นแบบเรื้อรัง[3] แนวทางการรักษาและพยากรณ์โรคอาจเปลี่ยนแปลงไปตามระยะเวลาของอาการ

สัญญาณเตือน

[แก้]
สัญญาณเตือน (red flags) ที่อาจแสดงว่ามีปัญหาร้ายแรง
สัญญาณเตือน[45] สาเหตุที่เป็นไปได้[1]
ประวัติโรคมะเร็ง มะเร็ง
น้ำหนักลดอย่างไม่ตั้งใจ
ควบคุมการถ่ายปัสสาวะอุจจาระไม่ได้ กลุ่มอาการการกดทับ
ของเส้นประสาท
บริเวณเอวส่วนล่าง

(Cauda equina syndrome[A])

กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือมีปัญหา
ด้านความรู้สึกอย่างมีนัยสำคัญ
เสียความรู้สึกบริเวณก้น (saddle anesthesia)
บาดเจ็บรุนแรงโดยเกี่ยวกับอายุ กระดูกหัก
การใช้ยาคอร์ติโคสเตอรอยด์เป็นเวลานาน
โรคกระดูกพรุน
อาการปวดรุนแรง
หลังการผ่าตัดกระดูกสันหลังช่วงเอว
ในปีที่ผ่านมา
การติดเชื้อ
มีไข้
การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
การกดภูมิคุ้มกัน
การใช้ยาเสพติดแบบฉีด

การมีสัญญาณเตือน (red flags) บ่งชี้ให้ตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาปัญหาที่ร้ายแรงกว่าซึ่งอาจต้องรักษาโดยด่วนหรือเฉพาะทาง[5][46] แต่การมีสัญญาณเตือนก็ไม่ได้หมายความว่ามีปัญหาที่มีนัยสำคัญ เพราะเป็นเพียงข้อบ่งชี้[47][48] และกรณีโดยมากที่มีสัญญาณเตือนก็ไม่มีปัญหามูลฐานที่ร้ายแรง[3][1] หากไม่มีสัญญาณเตือน การสร้างภาพเพื่อวินิจฉัยหรือการตรวจแหล็บในช่วง 4 สัปดาห์แรกหลังเริ่มมีอาการไม่พบว่ามีประโยชน์[5]

ประโยชน์ของสัญญาณเตือนหลายอย่างไม่มีหลักฐานที่ดี[49][47] ที่มีประโยชน์มากที่สุดในการตรวจหากระดูกหักได้แก่ อายุมากขึ้น การใช้คอร์ติโคสเตอรอยด์ และการได้รับบาดเจ็บอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะหากมีรอยที่ผิวหนัง[49] ตัวบ่งชี้ที่ดีที่สุดของมะเร็งคือประวัติการเป็นมะเร็งมาก่อน[49]

เมื่อตัดสาเหตุอื่นออกแล้ว ผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างที่ไม่ทราบสาเหตุมักได้รับการรักษาตามอาการโดยไม่มีการกำหนดสาเหตุที่แน่ชัด[3][1] การค้นหาปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้การวินิจฉัยซับซ้อนขึ้น เช่น ภาวะซึมเศร้า การใช้สารเสพติด หรือแรงจูงใจเกี่ยวกับการเรียกร้องเงินประกัน อาจมีประโยชน์[5]

การตรวจ

[แก้]
การยกขาขึ้นตั้งฉากกับตัวเมื่อนอน (straight leg raise test) สามารถใช้ตรวจอาการที่เกิดจากหมอนรองกระดูกเคลื่อน เมื่อจำเป็น การตรวจภาพเช่น เอ็มอาร์ไอ สามารถให้รายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับสาเหตุของอาการที่เกี่ยวกับหมอนรองกระดูก (ภาพแสดงหมอนรองกระดูกระดับ L4-L5 เคลื่อน)

มีข้อบ่งชี้ให้ถ่ายภาพเพื่อการวินิจฉัยหากมีสัญญาณเตือน หรือมีอาการทางระบบประสาทที่ไม่หาย หรืออาการปวดไม่ทุเลาหรือแย่ลง[5] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนะนำให้ถ่ายภาพตั้งแต่ต้น ๆ (ด้วยเอ็มอาร์ไอหรือเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์) ในกรณีที่สงสัยว่ามีมะเร็ง ติดเชื้อ หรือมีกลุ่มอาการ cauda equina syndrome[A][5] เอ็มอาร์ไอดีกว่าเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์เล็กน้อยในการระบุโรคหมอนรองกระดูก[5] ดีกว่าในการระบุช่องไขสันหลังตีบบางชนิด (เช่น ที่เกิดในช่องบรรจุไขสันหลัง) และเท่ากันสำหรับช่องไขสันหลังตีบบางชนิด (เช่น ซึ่งเกิดที่ช่องระหว่างกระดูกไขสันหลังเหตุกระดูก)[52]

มีการทดสอบทางกายภาพไม่กี่อย่างเท่านั้นที่มีประโยชน์[5] การตรวจด้วยการให้ยกขาขึ้นตั้งฉากกับตัวเมื่อนอน (straight leg raise) เกือบจะเป็นบวกเสมอในผู้ที่มีหมอนรองกระดูกเคลื่อน[5] การทำ lumbar provocative discography[B] อาจเป็นประโยชน์ในการระบุหมอนรองกระดูกระหว่างข้อโดยเฉพาะที่เป็นสาเหตุในผู้มีอาการเรื้อรังและรุนแรง[53] หัตถการเพื่อรักษา เช่น การบล็อกหลัง สามารถใช้ระบุระดับข้อที่มาของความเจ็บปวด[5] มีหลักฐานบางส่วนที่สนับสนุนให้ฉีดยาชนิดต่าง ๆ เช่นที่ข้อต่อหน้าประกบของกระดูกสันหลัง (facet joint injection), transforminal epidural injection และ sacroiliac injection เป็นการทดสอบวินิจฉัย[5] การทดสอบทางกายภาพอื่น ๆ เช่น การประเมินภาวะกระดูกสันหลังคด กล้ามเนื้ออ่อนแรงหรือฝ่อลีบ และการมีรีเฟล็กซ์บกพร่อง ส่วนใหญ่มีประโยชน์น้อย[5]

อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไปพบแพทย์มากที่สุด[54][55] แต่อาการที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็มักจะหายไปเอง[56] ดังนั้น หากประวัติผู้ป่วยและการตรวจร่างกายไม่ชี้ถึงโรคโดยเฉพาะ ๆ สมาคมแพทย์แนะนำไม่ให้ตรวจด้วยการถ่ายภาพเช่น เอกซเรย์ เอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ และเอ็มอาร์ไอ[55] ผู้ป่วยอาจต้องการตรวจ แต่หากไม่มีสัญญาณเตือน[57][58] ก็ถือว่าไม่จำเป็น[54][56] การตรวจด้วยภาพเพิ่มค่าใช้จ่ายและสัมพันธ์กับอัตราการผ่าตัดที่สูงขึ้นโดยไม่มีประโยชน์โดยรวม[59][60] รังสีที่ใช้ในการตรวจก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ[59] กรณีที่ทำภาพน้อยกว่า 1% ระบุสาเหตุที่เป็นปัญหาได้[54] การตรวจภาพถ่ายยังอาจพบความผิดปกติที่ไม่เป็นอันตราย ทำให้ผู้ป่วยต้องการตรวจเพิ่มโดยไม่จำเป็น หรือกังวลมากขึ้น[54]

การป้องกัน

[แก้]

แนะนำให้ออกกำลังกายเมื่อมีอาการปวดหลังส่วนล่างที่ระบุสาเหตุไม่ได้ วิธีลดความปวดที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือการยืดกล้ามเนื้อส่วนลำตัว สะโพก และขา ส่วนการผ่อนคลายและการออกกำลังกายเพื่อปรับปรุงท่าทางไม่ได้ทำให้ปวดน้อยลง[61]

การออกกำลังกายเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการให้ความรู้ดูจะมีประโยชน์เพื่อป้องกันอาการปวดหลังส่วนล่าง[62][63] การออกกำลังกายน่าจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการกลับมาของอาการในผู้ที่ปวดนานเกินหกสัปดาห์[64]

งานทบทวนอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังปี 2007 พบว่า ที่นอนแข็งไม่น่าจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้เท่าที่นอนแข็งปานกลาง[65] ส่วนการทบทวนในปี 2020 ระบุว่ายังไม่มีงานวิจัยยังเพียงพอที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับความแข็งของที่นอน[66] มีหลักฐานน้อยหรือแทบไม่มีเลยว่าสายรัดหลังช่วยป้องกันอาการมากกว่าการให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการยกของที่เหมาะสม[62][63] แผ่นรองในรองเท้าไม่ช่วยป้องกันอาการปวดหลังส่วนล่าง[62][67][63]

การศึกษาได้พิสูจน์แล้วการแทรกแซงเพื่อลดความเจ็บปวดและความพิการในการทำงาน จำต้องมีการแทรกแซงทางจิตวิทยาร่วมด้วย เพื่อปรับปรุงแรงจูงใจและทัศนคติของผู้ป่วยในเรื่องการฟื้นฟู การให้ความรู้เกี่ยวกับการบาดเจ็บและผลกระทบต่อสุขภาพจิตของบุคคลนั้นสำคัญพอ ๆ กับการฟื้นฟูร่างกาย อย่างไรก็ตาม การแทรกแซงเหล่านี้ควรดำเนินการร่วมกับโปรแกรมการออกกำลังกายบำบัดที่มีแนวทางชัดเจน โดยได้การช่วยเหลือจากนักกายภาพบำบัดที่เชี่ยวชาญ[12]

การจัดการ

[แก้]

คนส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลันหรือกึ่งเฉียบพลันมักดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปไม่ว่าจะรักษาหรือไม่[6] โดยมักดีขึ้นในเดือนแรก[6] แม้จะทำให้กลัวแล้วไม่ทำกิจกรรม แต่พบว่านี่ทำให้พิการยิ่งขึ้น[63] จึงแนะนำให้ทำกิจกรรมเป็นปกติ โดยหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้อาการแย่ลง และรู้จักดูแลตนเองเกี่ยวกับอาการ[6] การจัดการอาการปวดหลังส่วนล่างจะขึ้นอยู่กับสาเหตุสามประเภทหลัก ได้แก่ เหตุกลไกทางกายภาพ เหตุที่ไม่ใช่กลไก และเหตุอาการปวดต่างที่[68]

สำหรับอาการปวดเฉียบพลันที่สร้างปัญหาเพียงเล็กน้อยจนถึงปานกลาง เป้าหมายคือการฟื้นฟูให้ทำกิจได้ตามปกติ ให้กลับไปทำงานได้ และลดความเจ็บปวดให้น้อยที่สุด โดยปกติแล้ว ภาวะนี้ไม่ร้ายแรง สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องทำอะไรมาก และการฟื้นฟูจะดีขึ้นหากพยายามกลับไปทำกิจกรรมตามปกติโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทนความเจ็บปวดได้[3] การให้ทักษะรับมือกับอาการด้วยการยืนยันความจริงเหล่านี้ช่วยให้ฟื้นฟูได้เร็วขึ้น[1]

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างแบบกึ่งเรื้อรังหรือเรื้อรัง โปรแกรมการรักษาแบบสหวิทยาการอาจช่วยได้[69] สำหรับอาการแบบเรื้อรัง แนะนำให้เริ่มต้นการรักษาด้วยวิธีที่ไม่ใช้ยา[6] ซึ่งรวมถึงการออกกำลังกาย กายภาพบำบัดแบบสหวิทยาการ การฝังเข็ม การลดความเครียดอิงสติ (หลักฐานคุณภาพปานกลาง), ไท้เก๊ก โยคะ และการออกกำลังกายโดยควบคุมการเคลื่อนไหว (หลักฐานคุณภาพต่ำ)[6] หากวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผลพอ แนะนำให้ใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (NSAIDs)[6] ไม่แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอลและสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย เพราะไม่มีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการปวดหลังเฉียบพลันหรือกึ่งเรื้อรัง[6]

การออกกำลังกายเชิงกายภาพบำบัดเพื่อเสริมเสถียรภาพของกระดูกสันหลังส่วนเอว และการบำบัดด้วยมือ พบว่าลดอาการปวดของผู้ป่วยได้ การบำบัดด้วยมือและผลของการเสริมสเถียรภาพมีผลใกล้เคียงกันในการบรรเทาอาการ ซึ่งมีผลดีกว่าการออกกำลังกายทั่วไป[70] การออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในการลดอาการปวดหลังเป็นประเภทที่เสริมความแข็งแรงของแกนกลางลำตัวและประเภทผสม การออกกำลังกายที่แนะนำชนิดหนึ่งคือโปรแกรมออกกำลังกายแบบแอโรบิก โดยให้ออกกำลังกายรวม 12 ชั่วโมงในช่วง 8 สัปดาห์[71]

ความทุกข์ที่เกิดจากอาการส่งผลอย่างมากต่อความเจ็บปวดและความพิการโดยรวม ดังนั้น กลยุทธ์การรักษาที่มุ่งเปลี่ยนความเชื่อและพฤติกรรม เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม อาจมีประโยชน์[63]

การรักษาที่ผู้ป่วยปวดหลังส่วนล่างโดยมากทั่วโลกได้ ต่างกับที่แนะนำในแนวทางเวชปฏิบัติอย่างพอสมควร ปัจจัยรวมทั้งการมีให้บริการ การเข้าถึงได้ และรูปแบบการชำระค่าบริการ เช่น ประกันสุขภาพและระบบบริการสาธารณสุข[72]

การจัดการทางกายภาพ

[แก้]

อาการแบบเฉียบพลัน

[แก้]

แนะนำให้เพิ่มกิจกรรมทางกายโดยทั่วไป แต่ก็ไม่สัมพันธ์อย่างชัดเจนกับอาการปวด ความพิการ หรือการกลับไปทำงานได้เมื่อใช้รักษาอาการปวดเฉียบพลัน[64][73][74] มีหลักฐานคุณภาพต่ำถึงปานกลางที่สนับสนุนให้เดินสำหรับอาการปวดเฉียบพลัน[75] การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินเพิ่มเรื่อย ๆ (progressive walking) ดูเหมือนจะมีประโยชน์ต่ออาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลัน แนะนำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอาการปวดหลังเรื้อรัง และแนะนำหลังการผ่าตัด[66] การออกกำลังกายแบบเคลื่อนไหวไปในทางโดยเฉพาะ ๆ (directional exercise) ซึ่งมุ่งจำกัดอาการปวดหลังส่วนล่าง แนะนำสำหรับอาการแบบกึ่งเฉียบพลัน แบบเรื้อรัง และแบบร้าวลงขา การออกกำลังกายประเภทนี้จะได้ผลก็ต่อเมื่อช่วยจำกัดอาการปวดได้[66] ไม่แนะนำการออกกำลังกายที่มีแต่การยืดเหยียดเพียงอย่างเดียวสำหรับอาการแบบเฉียบพลัน การยืดเหยียดโดยเฉพาะหากมีช่วงการเคลื่อนไหวที่จำกัด อาจขัดขวางความก้าวหน้าของการรักษาในอนาคต เช่น การออกกำลังกายที่จำกัดการออกแรงเกินหรือที่จำกัดการเคลื่อนไหว[66] โยคะและไท้เก๊กไม่แนะนำสำหรับอาการแบบเฉียบพลันหรือกึ่งเฉียบพลัน แต่แนะนำสำหรับแบบเรื้อรัง[66]

กายภาพบำบัดด้วยวิธีแมคเคนซีมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่งสำหรับอาการเฉียบพลันที่เกิดซ้ำ แต่ประโยชน์ในระยะสั้นไม่ปรากฏว่ามีนัยสำคัญ[1] มีหลักฐานเบื้องต้นที่สนับสนุนการประคบร้อนอาการแบบเฉียบพลันและกึ่งเฉียบพลัน[76] แต่มีหลักฐานน้อยในการใช้การประคบร้อนหรือประคบเย็นสำหรับอาการแบบเรื้อรัง[77] มีหลักฐานอ่อนที่ชี้ว่าเข็มขัดพยุงหลังอาจช่วยลดจำนวนวันที่ขาดงาน แต่ไม่มีหลักฐานว่าสามารถช่วยลดอาการปวดได้[78] การบำบัดด้วยอัลตราซาวด์และคลื่นกระแทกไม่มีประสิทธิภาพ จึงไม่แนะนำ[79][80] การดึงกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar traction) ไม่มีประสิทธิภาพสำหรับอาการแบบร้าวลงขา[81] ยังไม่ชัดเจนด้วยว่าอุปกรณ์พยุงหลังส่วนเอวมีประสิทธิภาพในการรักษาหรือไม่[82]

อาการแบบเรื้อรัง

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายมีประสิทธิภาพในการลดความเจ็บปวด และช่วยปรับปรุงสมรรถภาพทางกาย, ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัว และสุขภาพจิตในผู้ที่มีอาการเรื้อรัง[83] ช่วยปรับปรุงการใช้การได้ในระยะยาว[77] และดูเหมือนจะลดอัตราการกลับเป็นซ้ำได้นานถึงหกเดือนหลังจากจบโปรแกรม[84] เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา การดูแลตามปกติ หรือยาหลอก การออกกำลังกายช่วยบรรเทาอาการปวดได้ตามหลักฐานที่มีความแน่นอนต่ำ[83] อย่างไรก็ตาม ก็มีผลเพียงเล็กน้อยในการปรับปรุงให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างไม่จำกัดยิ่งขึ้นตามหลักฐานที่มีความแน่นอนปานกลาง[83]

ไม่มีหลักฐานว่าการบำบัดด้วยการออกกำลังกายรูปแบบใดมีประสิทธิภาพมากกว่าวิธีอื่น [85][86] ดังนั้น จึงสามารถเลือกรูปแบบได้ตามความต้องการของผู้ป่วยหรือผู้ให้การรักษา ตามความพร้อมและค่าใช้จ่าย เทคนิคอเล็กซานเดอร์ (Alexander technique) ดูเหมือนจะมีประโยชน์สำหรับอาการปวดหลังเรื้อรัง[87] มีหลักฐานบ้างว่า โยคะอาจมีประโยชน์เล็กน้อย[88][89] หากผู้ป่วยมีแรงจูงใจ แนะนำให้ใช้โยคะและไท้เก๊กเพื่อเป็นการรักษาอีกอย่างสำหรับอาการเรื้อรัง แต่ไม่แนะนำสำหรับอาการเฉียบพลันหรือกึ่งเฉียบพลัน[66]

การออกกำลังกายเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหว ซึ่งใช้การเคลื่อนไหวที่ได้คำแนะนำและใช้กล้ามเนื้อปกติในงานง่าย ๆ แล้วค่อย ๆ ให้ทำงานที่ซับซ้อนขึ้น ลดความเจ็บปวดและปรับปรุงให้ทำกิจได้ดีขึ้น โดยโปรแกรมอาจทำนานถึง 20 สัปดาห์ แต่ก็ไม่มีผลต่างเมื่อเทียบกับการบำบัดด้วยมือและการออกกำลังกายรูปแบบอื่น [90] การออกกำลังกายเพื่อควบคุมการเคลื่อนไหวร่วมกับการบำบัดด้วยมือ ช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดได้ในระดับใกล้เคียงกับการสร้างกำลังและความแข็งแรงทั่วไป อย่างไรก็ตาม อย่างหลังเท่านั้นที่ช่วยเพิ่มความทนทานและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ พร้อมทั้งลดระดับความพิการที่ผู้ป่วยระบุเอง[91]

การบำบัดด้วยการออกกำลังกายในน้ำ (aquatic therapy) เป็นทางเลือกที่แนะนำสำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่นร่วมด้วย เช่น โรคอ้วนขั้นรุนแรง โรคข้อเสื่อม หรือภาวะอื่นที่จำกัดการรักษาด้วยการเดินเพิ่มเรื่อย ๆ (progressive walking) แนะนำการบำบัดในน้ำสำหรับผู้ที่มีอาการเรื้อรังหรือกึ่งเฉียบพลันร่วมกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ แต่ก็ไม่แนะนำสำหรับผู้ไม่มีปัญหาร่วมชนิดที่จำกัดการรักษาด้วยการเดินเพิ่มเรื่อย [66] มีหลักฐานคุณภาพต่ำถึงปานกลางที่สนับสนุนว่า การออกกำลังกายแบบพิลาทิสช่วยลดอาการปวดและความพิการในผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง[66][92] แต่ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าดีกว่าการออกกำลังกายรูปแบบอื่น ๆ ในการรักษา[92]

ผู้ป่วยอาการเรื้อรังที่ได้รับการฟื้นฟูแบบสหวิทยาการเชิงชีว-จิต-สังคม (MBR) มีแนวโน้มที่จะมีอาการปวดและความพิการลดลงมากกว่าผู้ที่ได้รับการรักษาแบบปกติหรือการรักษาทางกายภาพบำบัดเพียงอย่างเดียว MBR ยังมีผลบวกต่อการไปทำงานได้ของผู้ป่วยเมื่อเทียบกับกายภาพบำบัด ผลลัพธ์ของ MBR อยู่ในระดับปานกลาง และควรชั่งประโยชน์กับเวลาและทรัพยากรที่ต้องใช้ในโปรแกรม MBR[93]

การกระตุ้นเส้นประสาทส่วนปลาย (peripheral nerve stimulation) ซึ่งเป็นหัตถการที่ต้องผ่าต้องตัดน้อย อาจมีประโยชน์ในกรณีเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษาอื่น [94] แต่หลักฐานที่สนับสนุนก็ยังไม่แน่ชัด และยังไม่มีประสิทธิภาพสำหรับอาการปวดที่ร้าวลงขาอีกด้วย หลักฐานการใช้แผ่นรองในรองเท้าเป็นวิธีรักษายังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัด[67] การกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (TENS) ไม่พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาอาการเรื้อรัง[95] มีงานวิจัยน้อยที่รองรับให้ใช้เครื่องยืดหลังส่วนล่าง (lumbar extension machine) จึงไม่แนะนำ[66]

ยา

[แก้]

เมื่อการรักษาเบื้องต้นโดยไม่ใช้ยาไม่ได้ผลพอ จึงอาจแนะนำให้ใช้ยา[6] เนื่องจากยาแก้ปวดมีประสิทธิภาพบ้างเท่านั้น ผลที่คาดหวังจึงอาจต่างกับความเป็นจริง ซึ่งอาจลดความพึงพอใจ[19]

ยาที่มักจ่ายเป็นอันดับแรกคือพาราเซตามอล, ยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตอรอยด์ (คือ NSAID แต่ไม่รวมแอสไพริน) หรือยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งมักพอสำหรับคนส่วนใหญ่[19][6][96] ประโยชน์ของ NSAID เชื่อว่ามีเพียงเล็กน้อย[97][98] แต่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราเซตามอลซึ่งอาจไม่มีผลยิ่งกว่ายาหลอกในการบรรเทาอาการปวด, การปรับปรุงคุณภาพชีวิต หรือการทำกิจในชีวิตประจำวัน[99][100] แต่ NSAID มีความเสี่ยงผลข้างเคียงที่สูงขึ้น เช่น ไตวาย แผลในกระเพาะอาหาร โดยอาจรวมถึงปัญหาหัวใจ ดังนั้นจึงควรใช้ในขนาดต่ำสุดที่มีประสิทธิภาพและในระยะเวลาสั้นที่สุด[63] NSAIDs มีหลายกลุ่ม ไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าชนิดยับยั้ง COX-2 (COX-2 inhibitor) ให้ประโยชน์มากกว่า NSAID กลุ่มอื่น [97][19][101] นาพรอกเซนอาจปลอดภัยสุด[102] ยาคลายกล้ามเนื้ออาจมีประโยชน์[19]

คอร์ติโคสเตอรอยด์แบบออกฤทธิ์ทั่วร่างกายบางครั้งแนะนำสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่าง และอาจให้ประโยชน์เล็กน้อยในระยะสั้นสำหรับอาการแบบร้าวลงขา แต่ประโยชน์สำหรับอาการที่ไม่ร้าวลงขา รวมถึงขนาดยาและระยะเวลาที่เหมาะสมในการรักษายังไม่ชัดเจน[103]

ในปี 2022 ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (CDC) ได้ออกแนวทางสำหรับการใช้ยาโอปิออยด์ในการจัดการอาการปวดเรื้อรัง[15] โดยระบุว่า การใช้โอปิออยด์ไม่ใช่การรักษาที่แนะนำในการจัดการอาการปวดเรื้อรัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงรวมถึงการเสพติด การใช้ยาเกินขนาดโดยอุบัติเหตุ และการเสียชีวิต[16] กลุ่มผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ แนะนำไม่ให้ใช้โอปิออยด์ในระยะยาวอย่างทั่วไปสำหรับอาการเรื้อรัง[19][104]

ดังนั้น หากอาการปวดไม่ลดลงเพียงพอ อาจแนะนำให้ใช้โอปิออยด์ในระยะสั้น เช่น มอร์ฟีน[105][19] แม้ว่าผลที่ได้ในระยะยาวจะแย่กว่า[63] หากต้องใช้ยา ควรมีกำหนดการหยุดยาที่ชัดเจน เมื่อความเสี่ยงของยาเกินกว่าประโยชน์ที่ได้รับ[106]

ยาเหล่านี้เสี่ยงการเสพติด อาจมีปฏิกิริยาเชิงลบกับยาอื่น และเสี่ยงผลข้างเคียงสูงขึ้น เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และท้องผูก[19] การรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังด้วยโอปิออยด์เพิ่มความเสี่ยงใช้ยาอย่างผิดกฎหมายตลอดชีวิต[107] และผลของยาในระยะยาวสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างยังไม่แน่ชัด[108]

สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการเรื้อรัง อาจใช้โอปิออยด์ในผู้ที่ไม่สามารถใช้ NSAIDs ได้เนื่องจากเสี่ยงเกินไป เช่น ผู้มีเบาหวาน ปัญหากระเพาะอาหาร หรือปัญหาหัวใจ อาจมีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยบางคนที่มีอาการปวดเหตุโรคเส้นประสาท (neuropathic pain)[109]

ยาแก้ซึมเศร้ากลุ่ม SNRI อาจมีผลเล็กน้อยในการบรรเทาอาการเรื้อรัง แต่ก็มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ส่วนการใช้ยากลุ่ม SSRI และกลุ่มไตรไซคลิกขาดหลักฐาน[110] แม้ยากันชัก เช่น gabapentin, pregabalin และ topiramate บางครั้งใช้รักษาอาการเรื้อรัง แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่ามีประโยชน์[111] ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทานยังไม่พบว่ามีประโยชน์ในการรักษา[1][19] การฉีดยาที่ข้อต่อหน้าประกบ และการฉีดสเตียรอยด์เข้าหมอนรองกรดูก ไม่มีประสิทธิภาพในผู้ที่มีอาการปวดแบบไม่ร้าวลงขา แต่อาจพิจารณาสำหรับผู้มีอาการอย่างต่อเนื่องแบบร้าวลงขา[112] การฉีดสเตียรอยด์เข้าช่องเหนือเยื่อดูร่า (epidural corticosteroid injections) อาจให้ผลดีเล็กน้อยแต่ไม่แน่นอนในระยะสั้นสำหรับผู้ที่มีอาการร้าวลงขา และไม่มีประโยชน์ในระยะยาว[113] โดยยังเสี่ยงผลข้างเคียงด้วย[114]

การผ่าตัด

[แก้]

การผ่าตัดอาจมีประโยชน์สำหรับผู้ที่มีหมอนรองกระดูกเคลื่อน (herniated disc) ซึ่งทำให้ปวดร้าวลงขาอย่างรุนแรง ขาอ่อนแรงอย่างมาก มีปัญหาทางกระเพาะปัสสาวะ หรือควบคุมการถ่ายอุจจาระไม่ได้[17] และยังอาจมีประโยชน์สำหรับผู้มีช่องไขสันหลังตีบ[18] หากไม่พบปัญหาดังกล่าวข้างต้น ยังไม่มีหลักฐานที่ชี้ชัดของประโยชน์การผ่าตัด[17]

การผ่าตัดหมอนรองกระดูกบางส่วน (discectomy) ซึ่งเป็นการนำหมอนรองกระดูกที่กดทับเส้นประสาทแล้วทำให้ปวดขาออกบางส่วน อาจบรรเทาอาการปวดได้เร็วกว่าการรักษาแบบไม่ผ่าตัด[17] โดยมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าในช่วงหนึ่งปีแรก แต่ไม่ต่างกันในช่วง 4–10 ปี[17] การผ่าตัดแบบ microdiscectomy (เป็นการผ่าตัดแบบรุกล้ำน้อยกว่า) ยังไม่มีหลักฐานว่ามีผลลัพธ์ที่ดีกว่า discectomy ธรรมดา[17] สำหรับภาวะอื่น ๆ ส่วนใหญ่ ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอให้แนะนำการผ่าตัดเพื่อรักษา[17] ผลการผ่าตัดในระยะยาวต่อโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมยังไม่ชัดเจน[17] แม้ว่าการผ่าตัดแบบรุกล้ำน้อยกว่าจะทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันประสิทธิผลที่เพียงพอ[17]

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเฉพาะที่เหตุหมอนรองกระดูกเสื่อม มีหลักฐานสนับสนุนว่าการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง (spinal fusion) ให้ผลลัพธ์เทียบเท่ากับการทำกายภาพบำบัดอย่างหนัก และดีกว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการวิธีการแบบไม่ผ่าตัดที่ไม่หนักหน่วง[18] สำหรับผู้มีอาการจากเหตุกระดูกสันหลังเคลื่อน (ไม่ใช่แต่กำเนิด) ซึ่งไม่ดีขึ้นหลังจากรักษาด้วยวิธีดั้งเดิม อาจพิจารณาการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลัง[17] แม้ว่ามีผู้ได้ผลดีจากวิธีนี้น้อย[18] และการเปลี่ยนหมอนรองกระดูกอาจไม่เกิดผลที่ต่างอย่างสำคัญทางคลินิกเมื่อเทียบกับการเชื่อมกระดูกสันหลัง[115] มีวิธีการผ่าตัดเชื่อมกระดูกสันหลังหลายอย่าง แต่ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าวิธีใดดีกว่าวิธีอื่น[116] การเพิ่มอุปกรณ์ฝังในกระดูกสันหลังเมื่อเชื่อมกระดูกเพิ่มความเสี่ยง แต่ไม่ได้ลดอาการปวดหรือเพิ่มหน้าที่ในการทำงาน[10] ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนการกระตุ้นไขสันหลังด้วยขั้วไฟฟ้าที่ฝังในร่างกายเนื่องจากปัจจัยเสี่ยงและต้นทุน[117]

การแพทย์ทางเลือก

[แก้]

ยังไม่ชัดเจนว่าการแพย์ทางเลือกมีประโยชน์ต่ออาการปวดหลังที่ไม่เรื้อรังหรือไม่[118] แต่การดูแลทางไคโรแพรกติกหรือการจัดกระดูกสันหลัง (SMT) ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการรักษาที่แนะนำอื่น ๆ สำหรับอาการเรื้อรัง[119][120][24] แนวทางการรักษาของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน บางประเทศไม่แนะนำการจัดกระดูกสันหลัง บางประเทศระบุว่าเป็นทางเลือกเสริม และบางประเทศแนะนำให้ใช้ระยะสั้นสำหรับผู้ที่ไม่ดีขึ้นด้วยการรักษาอื่น[3] งานทบทวนปี 2017 แนะนำการจัดกระดูกสันหลังโดยอิงหลักฐานคุณภาพต่ำ[6] ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะแนะนำการจัดกระดูกสันหลังโดยให้ยาชาหรือยาอื่น [121] การจัดกระดูกสันหลังไม่มีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการออกกำลังกายควบคุมการเคลื่อนไหว[122]

หลักฐานที่สนับสนุนการรักษาด้วยการฝังเข็มเพื่อบรรเทาอาการแบบเฉียบพลันและเรื้อรังที่มีความสำคัญทางคลินิกนั้นอ่อนมาก[123] โดยไม่มีความแตกต่างกับการรักษาหลอกในการบรรเทาอาการปวดหรือการปรับปรุงคุณภาพชีวิต[123] มีหลักฐานที่อ่อนมากว่าการฝังเข็มอาจดีกว่าการไม่รักษาเลยเพื่อบรรเทาอาการโดยทันที[123] การทบทวนอย่างเป็นระบบปี 2012 รายงานว่า สำหรับผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง การฝังเข็มอาจช่วยลดอาการปวดได้เพียงเล็กน้อยเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา และได้ผลใกล้เคียงกับการใช้ยา แต่ก็ไม่ช่วยในเรื่องความพิการ[124] ประโยชน์มีเฉพาะช่วงหลังการรักษาแต่ไม่มีเมื่อติดตามผล[124] การฝังเข็มอาจเป็นทางเลือกสำหรับผู้มีอาการเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ เช่น การดูแลแบบอนุรักษนิยมและการใช้ยา[1][125] โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ป่วย กำลังการจ่ายค่าบริการ และการไปหาผู้เชี่ยวชาญที่เหมาะสมได้[123]

การนวดดูเหมือนจะมีประโยชน์ไม่มากสำหรับอาการแบบเฉียบพลัน[1] แต่ก็ยังดีกว่าไม่รักษา โดยมีประโยชน์เฉพาะในระยะสั้น[126] และไม่มีผลต่อการใช้งานได้[126] สำหรับอาการแบบเรื้อรัง การนวดดีกว่าการไม่ได้รับการรักษาทั้งในด้านความเจ็บปวดและการใช้งานได้ แต่ได้เพียงในระยะสั้น[126] อย่างไรก็ตาม คุณภาพโดยรวมของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำจนผู้วิจัยไม่มั่นใจว่าการนวดเป็นวิธีการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างที่มีประสิทธิภาพ[126] การนวดแนะนำให้ใช้กับผู้มีอาการแบบกึ่งเฉียบพลันและเรื้อรังบางราย แต่ควรใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น เช่น การออกกำลังกายแบบแอโรบิกหรือการฝึกความแข็งแรง สำหรับอาการที่ร้าวลงขา จะแนะนำให้ใช้การนวดก็ต่อเมื่ออาการปวดหลังส่วนล่างเป็นอาการหนึ่งเท่านั้น เครื่องช่วยนวดไม่แนะนำให้ใช้สำหรับรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างทุกรูปแบบ[66]

Prolotherapy ซึ่งเป็นการฉีดสารละลายเข้าไปในข้อต่อหรือบริเวณอื่นเพื่อก่อการอักเสบและกระตุ้นการรักษาตัวของร่างกาย ไม่พบว่ามีประสิทธิภาพเมื่อใช้เพียงอย่างเดียว แต่อาจมีประโยชน์เมื่อใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น[21]

ยาสมุนไพรโดยรวมมีหลักฐานสนับสนุนที่จำกัดมาก[127] สมุนไพรคือ Harpagophytum (อังกฤษ: Devil's claw) และ Salix alba (วิลโลว์ขาว) อาจช่วยลดจำนวนผู้ที่รายงานว่ามีอาการปวดรุนแรงได้ แต่สำหรับผู้ที่ใช้ยาแก้ปวดอยู่แล้ว ก็จะไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ[21] พริกในรูปของเจลหรือแผ่นแปะ พบว่าช่วยลดความเจ็บปวดและเพิ่มการใช้งานได้[21]

การบำบัดพฤติกรรม (behavioral therapy) อาจมีประโยชน์สำหรับอาการปวดเรื้อรัง[20] มีหลายรูปแบบ รวมถึงการเรียนรู้ให้เกิดพฤติกรรม (operant conditioning) ซึ่งใช้การเสริมแรงเพื่อลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์และเพิ่มพฤติกรรมที่ต้องการ, การบำบัดความคิดและพฤติกรรม ซึ่งช่วยให้สามารถกำหนดและแก้ไขความคิดและพฤติกรรมเชิงลบ และการวางเงื่อนไขแบบดั้งเดิม ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนการตอบสนองทางสรีรวิทยาของบุคคลต่อความเจ็บปวด[21] อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการบำบัดเหล่านี้ค่อนข้างน้อย[128] ผู้ให้บริการทางการแพทย์อาจจัดโปรแกรมที่รวมการบำบัดพฤติกรรมหลายรูปแบบเข้าด้วยกัน[21] หลักฐานยังไม่ชัดเจนว่าการลดความเครียดอิงสติ (MBSR) ช่วยลดความรุนแรงของอาการเรื้อรังหรือความพิการที่เกี่ยวข้องหรือไม่ แต่ชี้ว่า อาจช่วยผู้ป่วยให้ยอมรับความเจ็บปวดได้ดีขึ้น[129][130]

มีหลักฐานเบื้องต้นสนับสนุนการรักษาด้วย neuroreflexotherapy (NRT) เป็นการฝังชิ้นโลหะขนาดเล็กใต้ผิวหนังบริเวณหูและหลัง สำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างที่ไม่รู้สาเหตุ[131][132][21] การฟื้นฟูเชิงชีวจิตสังคมแบบสหวิทยาการ (MBR) ซึ่งเน้นรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้ แต่หลักฐานยังมีจำกัด[133] ไม่มีหลักฐานคุณภาพดีที่สนับสนุนการตัดเส้นประสาทด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (radiofrequency denervation) เพื่อบรรเทาอาการปวด[134]

พบว่าการใช้เทปติด (KT Tape หรือ elastic therapeutic tape) ไม่ดีกว่าวิธีอื่น ๆ ที่ยอมรับเพื่อบรรเทาอาการแบบเรื้อรังที่ไม่รู้สาเหตุ[135]

การให้ความรู้

[แก้]

มีหลักฐานที่ดีว่า การให้ความรู้สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่างได้ โดยการให้ความรู้เป็นเวลา 2.5 ชั่วโมงมีประสิทธิภาพมากกว่าการดูแลตามปกติเพื่อช่วยให้กลับไปทำงานได้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นี้มีประสิทธิภาพกับผู้มีอาการเฉียบพลัน ไม่ใช่ผู้มีอาการเรื้อรัง[136] อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการฝึกอบรมเพื่อป้องกันอาการปวดหลังในผู้ที่ทำงานยกย้ายพัสดุยังไม่ชัดเจน แต่หลักฐานคุณภาพปานกลางไม่พบว่าสามารถป้องกันอาการปวดหลัง[137]

พยากรณ์โรค

[แก้]

โดยรวมแล้ว อาการปวดหลังส่วนล่างแบบเฉียบพลันมีผลลัพธ์ที่ดี อาการปวดและความพิการมักดีขึ้นอย่างมากในช่วง 6 สัปดาห์แรก โดยมีการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ในอัตรา 40–90%[2] สำหรับผู้ที่ยังมีอาการหลังจาก 6 สัปดาห์ การฟื้นตัวทั่วไปจะช้ากว่า โดยจะดีขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ จนถึงหนึ่งปี หลังจากหนึ่งปี ความเจ็บปวดและความพิการในคนส่วนใหญ่มักอยู่ในระดับต่ำหรือแทบไม่มีเลย ความทุกข์ ประวัติการปวดหลังมาก่อน และความพึงพอใจในงานเป็นตัวพยากรณ์ผลลัพธ์ระยะยาวหลังจากมีอาการปวดเฉียบพลัน[2] ปัญหาทางจิตใจบางอย่าง เช่น ภาวะซึมเศร้าหรือความทุกข์ใจจากการสูญเสียงาน อาจยืดระยะเวลาของอาการ[19] หลังจากเกิดอาการครั้งแรก มากกว่าครึ่งจะเป็นซ้ำอีก[29]

สำหรับอาการเรื้อรัง ผลลัพธ์ระยะสั้นก็เป็นบวกเช่นกัน โดยดีขึ้นในช่วง 6 สัปดาห์แรก แต่จะดีขึ้นน้อยมากหลังจากนั้น หลังจากหนึ่งปี ผู้ที่มีอาการเรื้อรังมักยังคงปวดและพิการในระดับปานกลาง[2] ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อความพิการระยะยาวได้แก่ผู้ที่มีทักษะรับมือกับความเจ็บปวดได้ไม่ดี หรือกลัวการทำกิจกรรม โดยมีโอกาสได้ผลลัพธ์ไม่ดีมากกว่าปกติ 2.5 เท่าที่หนึ่งปี[138] ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ การรับมือกับความเจ็บปวดได้ไม่ดี การมีข้อจำกัดในการทำงาน สุขภาพโดยรวมที่ไม่ดี หรือมีปัจจัยทางจิตเวชหรือจิตใจที่เกี่ยวกับความเจ็บปวด (เช่น Waddell's signs)[138]

ความคาดหวังอาจมีอิทธิพลต่อการพยากรณ์โรค ผู้ที่มีความหวังเชิงบวกในการฟื้นตัวสัมพันธ์กับโอกาสที่สูงขึ้นในการกลับไปทำงานและการฟื้นตัวที่ดีกว่า[139]

ระบาดวิทยา

[แก้]

อาการปวดหลังส่วนล่างที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 วันและจำกัดกิจกรรมชีวิตเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย[7] ทั่วโลก ประมาณ 40% ของประชากรเคยมีอาการดังกล่าวในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต[7] โดยในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจสูงถึง 80%[27] ประมาณ 9–12% ของประชากรหรือราว 632 ล้านคน มีอาการในขณะนี้ซึ่งคำนวณเป็น 7,460 คนต่อประชากร 100,000 คนทั่วโลกในปี 2020[26] เกือบหนึ่งในสี่หรือ 23.2% รายงานว่ามีอาการ ณ ขณะหนึ่งในช่วงเวลาเดือน[7][8] อาการมักเริ่มระหว่างอายุ 20–40 ปี[1] แต่ก็พบบ่อยขึ้นตามอายุ โดยมากที่สุดในกลุ่มอายุ 85 ปี[26] ผู้สูงอายุได้รับผลกระทบจากอาการปวดหลังมากกว่า โดยมักสูญเสียสมรรถภาพในการเคลื่อนไหวและความเป็นอิสระ และมีโอกาสน้อยลงที่จะเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมและครอบครัว[26]

ผู้หญิงมีอัตราการเกิดอาการสูงกว่าผู้ชายในทุกช่วงอายุ โดยความต่างนี้จะชัดเจนขึ้นในผู้มีอายุมากกว่า 75 ปี[26] การทบทวนงานวิจัย เมื่อ ค.ศ. 2012 พบว่าอัตราการเกิดอาการในผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย ผู้ทบทวนคิดว่านี้อาจเป็นผลจากอัตราความเจ็บปวดที่สูงขึ้นเหตุโรคกระดูกพรุน ประจำเดือน และการตั้งครรภ์ในผู้หญิง หรืออาจเป็นเพราะผู้หญิงรายงานความเจ็บปวดมากกว่าผู้ชาย[7] ประมาณ 70% ของผู้หญิงมีอาการปวดหลังระหว่างตั้งครรภ์ และอัตราจะสูงขึ้นตามอายุครรภ์[140]

แม้ว่าสาเหตุของอาการโดยมากไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่ปัจจัยทางการยศาสตร์ในที่ทำงาน การสูบบุหรี่ และโรคอ้วน ก็สัมพันธ์กับอุบัติการณ์ของโรคประมาณ 30%[26] การมีกิจกรรมออกกำลังน้อยก็สัมพันธ์กับอาการด้วย[63] ปัจจัยทางการยศาสตร์ในที่ทำงานซึ่งสัมพันธ์กับอาการได้แก่ การยกของ การก้มตัว การสั่นสะเทือน งานที่ต้องใช้แรงมาก รวมถึงการนั่ง ยืน หรืออยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน[26] ผู้ที่ยังสูบบุหรี่อต่อเนื่องยู่ในปัจจุบันโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น มีโอกาสมีอาการมากกว่าผู้ที่เคยสูบบุหรี่ และผู้ที่เคยสูบบุหรี่ก็มีโอกาสเกิดอาการมากกว่าผู้ที่ไม่เคยสูบเลย[141]

จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากอาการปวดหลังส่วนล่างคาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของประชากรและตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น[26] โดยจะเพิ่มมากที่สุดในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง[63]

ประวัติ

[แก้]
ฮาร์วีย์ วิลเลียมส์ คุชชิง ในช่วงทศวรรษ 1920

อาการปวดหลังส่วนล่างปรากฏมาตั้งแต่ยุคสัมฤทธิ์ ตำราศัลยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดที่รู้จัก คือ เอกสารพาไพรัสของเอ็ดวิน สมิธ ซึ่งมีอายุราว 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ได้บรรยายถึงวิธีวินิจฉัยและรักษาอาการเคล็ดของกระดูกสันหลัง ฮิปโปกราแตส (ประมาณ 460–370 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นคนแรกที่ใช้คำศัพท์เกี่ยวกับอาการปวดหลังส่วนล่างและอาการปวดตามประสาทไซแอติก ต่อมาเกเลน (มีผลงานในช่วงกลางจนถึงปลายศตวรรษที่ 2) ได้อธิบายอาการนี้อย่างค่อนข้างละเอียด แพทย์จนถึงช่วงสิ้นสุดสหัสวรรษแรกมักแนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการก่อนรักษา ตลอดสมัยกลาง แพทย์พื้นบ้านใช้วิธีรักษาโดยอ้างอิงความเชื่อว่า โรคนี้เกิดจากภูตผีปีศาจ[142]

เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 แพทย์เชื่อว่าอาการปวดหลังส่วนล่างเกิดจากการอักเสบหรือความเสียหายของเส้นประสาท[142] คำว่า neuralgia (อาการปวดประสาท) และ neuritis (ประสาทอักเสบ) จึงปรากฏบ่อยในวรรณกรรมทางการแพทย์ของยุคนั้น[143] ความนิยมของสาเหตุที่เสนอดังกล่าวลดลงในระหว่างศตวรรษที่ 20[143] ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ศัลยแพทย์ประสาทชาวอเมริกัน ฮาร์วีย์ วิลเลียมส์ คุชชิง ได้เพิ่มการยอมรับการรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างด้วยการผ่าตัด[17] ช่วงทศวรรษ 1920 และ 1930 ก็เกิดทฤษฎีใหม่ ๆ เกี่ยวกับสาเหตุของอาการปวดหลัง โดยแพทย์เสนอว่าปัจจัยด้านระบบประสาทและจิตวิทยามีบทบาทร่วมกัน เช่น ประสาทเปลี้ย (neurasthenia) กับโรคฮิสทีเรียในผู้หญิง[142] โรครูมาติซึมที่กล้ามเนื้อ (ปัจจุบันเรียกว่า ไฟโบรไมอัลเจีย) ก็กล่าวถึงบ่อยขึ้นในช่วงเวลานั้น[143]

ต่อมาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น เอกซเรย์ ได้ให้เครื่องมือวินิจฉัยใหม่แก่แพทย์ และเปิดเผยให้เห็นว่าหมอนรองกระดูกสันหลังเป็นแหล่งที่มาของอาการปวดหลังในบางกรณี ในปี 1938 ศัลยแพทย์ออร์โทพีดิกส์ โจเซฟ เอส. บาร์ รายงานถึงกรณีผู้ป่วยอาการปวดร้าวลงขาที่เกี่ยวข้องกับหมอนรองกระดูก ผู้ดีขึ้นหรือหายดีหลังการผ่าตัดหลัง[143] จากผลงานนี้ ในช่วงทศวรรษที่ 1940 ทฤษฎีเกี่ยวกับหมอนรองกระดูกสันหลังจึงกลายเป็นแนวคิดหลักเกี่ยวกับอาการปวดหลังส่วนล่าง[142] จนถึงทศวรรษ 1980 โดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มจากเทคโนโลยีการถ่ายภาพใหม่ ๆ เช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเอ็มอาร์ไอ[143] แต่ต่อมาแนวคิดก็อ่อนแรงลง เมื่องานวิจัยพบว่า หมอนรองกระดูกเป็นสาเหตุของอาการปวดหลังเพียงส่วนน้อย ตั้งแต่นั้นมา แพทย์ได้ตระหนักว่า การระบุสาเหตุที่แน่ชัดทำไม่ค่อยได้ จึงตั้งโจทว่าจำเป็นต้องหาสาเหตุหรือไม่ เพราะส่วนใหญ่อาการจะหายไปใน 6–12 สัปดาห์ไม่ว่าจะรักษาหรือไม่[142]

สังคมและวัฒนธรรม

[แก้]

อาการปวดหลังส่วนล่างสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ในสหรัฐอเมริกา อาการเป็นปัญหาความเจ็บปวดซึ่งพบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ ทำให้ขาดงานมาก เป็นปัญหากล้ามเนื้อและกระดูกซึ่งพบบ่อยที่สุดในแผนกฉุกเฉิน[31] ในปี 1998 ประเมินว่าเป็นสาเหตุของค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพประจำปี 90,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.7 ล้านล้านบาท) โดยคนไข้ 5% ก่อค่าใช้จ่ายถึง 75%[31] ระหว่างปี 1990–2001 การผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังในสหรัฐเพิ่มขึ้นเกินกว่าสองเท่า แม้ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดและหลักฐานใหม่ ๆ จะไม่ได้ชี้ว่าควรทำเพิ่ม[10] ความเสียหายยังมาจากการสูญเสียรายได้และผลิตภาพ โดยอาการเป็นสาเหตุของวันขาดงานถึง 40% ในสหรัฐอเมริกา[144] อาการทำให้คนทำงานเกิดความพิการในอัตราที่สูงกว่าในประเทศแคนาดา สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และสวีเดนเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี[144] ในสหรัฐอเมริกา อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นเหตุก่อจำนวนปีที่มีชีวิตอยู่กับความพิการ (YLDs) เป็นอันดับแรกในบรรดาสาเหตุหลัก 25 ประการของความพิการและการบาดเจ็บระหว่างปี 1990–2016[145]

คนงานที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเฉียบพลันจากการบาดเจ็บที่ทำงาน อาจถูกนายจ้างขอให้ตรวจเอกซเรย์[146] แต่จริง ๆ ก็เหมือนกับอาการรูปแบบอื่น ๆ คือการตรวจด้วยเอ็กซเรย์ไม่จำเป็นยกเว้นจะมีสัญญาณเตือน[146] ความกังวลของนายจ้างเกี่ยวกับความรับผิดทางกฎหมายไม่ใช่ข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ และไม่ควรใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้ตรวจเมื่อไม่จำเป็น[146] ไม่ควรมีเหตุผลทางกฎหมายให้สนับสนุนบุคคลเพื่อเข้ารับการตรวจที่แพทย์เห็นว่าไม่จำเป็น[146]

การวิจัย

[แก้]

การเปลี่ยนหมอนรองกระดูกทั้งหมด (TDR) ยังเป็นการทดลองรักษาอยู่[40] แต่ไม่มีหลักฐานอย่างมีนัยสำคัญที่สนับสนุนว่าดีกว่าการผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar fusion)[17] นักวิจัยกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการปลูกสร้างหมอนรองกระดูกใหม่ด้วยการฉีด growth factor ของมนุษย์, ใช้วัสดุฝังใน, การบำบัดด้วยเซลล์ (cell therapy) และวิศวกรรมเนื้อเยื่อ (tissue engineering)[40]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Cauda equina syndrome (CES) เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มเส้นประสาทที่อยู่ใต้ปลายไขสันหลังซึ่งเรียกว่า cauda equina เกิดความเสียหาย[50] อาการรวมทั้งปวดหลังส่วนล่าง ปวดร้าวลงขา ชาบริเวณทวารหนัก และควบคุมการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้[51] อาการอาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรือค่อยเป็นค่อยไป[51]
  2. lumbar provocative discography (หรือ discography หรือ discogram) เป็นหัตถการวินิจฉัยที่ใช้ประเมินพยาธิสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลัง โดยปกติจะสงวนใช้กับผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังและรุนแรง ผู้ป่วยมักมีช่องว่างผิดปกติระหว่างข้อกระดูกสันหลังเมื่อดูผลการตรวจเอ็มอาร์ไอ มักใช้เมื่อการตรวจวินิจฉัยอื่นไม่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจนว่าหมอนรองกระดูกที่เป็นประเด็นเป็นต้นเหตุของความเจ็บปวด และกำลังพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัด

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 Casazza, BA (February 2012). "Diagnosis and treatment of acute low back pain". American Family Physician. 85 (4): 343–350. PMID 22335313.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 ((da C Menezes Costa, L)); Maher, CG; Hancock, MJ; McAuley, JH; Herbert, RD; Costa, LO (August 2012). "The prognosis of acute and persistent low-back pain: a meta-analysis". CMAJ. 184 (11): E613–E624. doi:10.1503/cmaj.111271. PMC 3414626. PMID 22586331.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 Koes, BW; van Tulder, M; Lin, CW; Macedo, LG; McAuley, J; Maher, C (December 2010). "An updated overview of clinical guidelines for the management of non-specific low back pain in primary care". European Spine Journal. 19 (12): 2075–2094. doi:10.1007/s00586-010-1502-y. PMC 2997201. PMID 20602122.
  4. 4.0 4.1 4.2 "Low Back Pain Fact Sheet". National Institute of Neurological Disorders and Stroke. 2015-11-03. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2016-03-05.
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 5.14 5.15 5.16 5.17 5.18 5.19 5.20 5.21 5.22 5.23 Manusov, EG (September 2012). "Evaluation and diagnosis of low back pain". Primary Care. 39 (3): 471–479. doi:10.1016/j.pop.2012.06.003. PMID 22958556.
  6. 6.00 6.01 6.02 6.03 6.04 6.05 6.06 6.07 6.08 6.09 6.10 6.11 6.12 6.13 Qaseem, A; Wilt, TJ; McLean, RM; Forciea, MA; Denberg, TD; Barry, MJ; และคณะ (April 2017). "Noninvasive Treatments for Acute, Subacute, and Chronic Low Back Pain: A Clinical Practice Guideline From the American College of Physicians". Annals of Internal Medicine. 166 (7): 514–530. doi:10.7326/M16-2367. PMID 28192789.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 7.6 7.7 Hoy, D; Bain, C; Williams, G; March, L; Brooks, P; Blyth, F; และคณะ (June 2012). "A systematic review of the global prevalence of low back pain". Arthritis and Rheumatism. 64 (6): 2028–2037. doi:10.1002/art.34347. PMID 22231424.
  8. 8.0 8.1 8.2 Vos, T; Flaxman, AD; Naghavi, M; Lozano, R; Michaud, C; Ezzati, M; และคณะ (December 2012). "Years lived with disability (YLDs) for 1160 sequelae of 289 diseases and injuries 1990-2010: a systematic analysis for the Global Burden of Disease Study 2010". Lancet. 380 (9859): 2163–2196. doi:10.1016/S0140-6736(12)61729-2. PMC 6350784. PMID 23245607.
  9. American Academy of Family Physicians; Choosing Wisely (2023). "Imaging for Low Back Pain". aafp.org. สืบค้นเมื่อ 2023-07-21.
  10. 10.0 10.1 10.2 Deyo, RA; Mirza, SK; Turner, JA; Martin, BI (2009). "Overtreating chronic back pain: time to back off?". Journal of the American Board of Family Medicine. 22 (1): 62–68. doi:10.3122/jabfm.2009.01.080102. PMC 2729142. PMID 19124635.
  11. 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 Salzberg, L (September 2012). "The physiology of low back pain". Primary Care. 39 (3): 487–498. doi:10.1016/j.pop.2012.06.014. PMID 22958558.
  12. 12.0 12.1 Herrero, Pablo; Val, Paula; Lapuente-Hernández, Diego; Cuenca-Zaldívar, Juan Nicolás; Calvo, Sandra; Gómez-Trullén, Eva María (2024-02-20). "Effects of Lifestyle Interventions on the Improvement of Chronic Non-Specific Low Back Pain: A Systematic Review and Network Meta-Analysis". Healthcare. 12 (5): 505. doi:10.3390/healthcare12050505. ISSN 2227-9032. PMC 10931043. PMID 38470617.
  13. 13.0 13.1 13.2 World Health Organization; Ageing and Health (AAH); Guidelines Review Committee; Maternal, Newborn, Child & Adolescent Health & Ageing (MCA) (2023). WHO guideline for non-surgical management of chronic primary low back pain in adults in primary and community care settings. World Health Organization. ISBN 978-92-4-008178-9.{{cite book}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  14. Cashin, Aidan G.; Wand, Benedict M.; O'Connell, Neil E.; Lee, Hopin; Rizzo, Rodrigo Rn; Bagg, Matthew K.; O'Hagan, Edel; Maher, Christopher G.; Furlan, Andrea D.; van Tulder, Maurits W.; McAuley, James H. (2023-04-04). "Pharmacological treatments for low back pain in adults: an overview of Cochrane Reviews". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2023 (4): CD013815. doi:10.1002/14651858.CD013815.pub2. ISSN 1469-493X. PMC 10072849. PMID 37014979.
  15. 15.0 15.1 Dowell, D; Ragan, KR; Jones, CM; Baldwin, GT; Chou, R (November 2022). "CDC Clinical Practice Guideline for Prescribing Opioids for Pain – United States, 2022". MMWR. Recommendations and Reports. 71 (3): 1–95. doi:10.15585/mmwr.rr7103a1. PMC 9639433. PMID 36327391.
  16. 16.0 16.1 Deyo, RA; Von Korff, M; Duhrkoop, D (January 2015). "Opioids for low back pain". BMJ. 350 (jan05 10): g6380. doi:10.1136/bmj.g6380. PMC 6882374. PMID 25561513.
  17. 17.00 17.01 17.02 17.03 17.04 17.05 17.06 17.07 17.08 17.09 17.10 17.11 17.12 Manusov, EG (September 2012). "Surgical treatment of low back pain". Primary Care. 39 (3): 525–531. doi:10.1016/j.pop.2012.06.010. PMID 22958562.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 Chou, R; Baisden, J; Carragee, EJ; Resnick, DK; Shaffer, WO; Loeser, JD (May 2009). "Surgery for low back pain: a review of the evidence for an American Pain Society Clinical Practice Guideline". Spine. 34 (10): 1094–1109. doi:10.1097/BRS.0b013e3181a105fc. PMID 19363455. S2CID 1504909.
  19. 19.00 19.01 19.02 19.03 19.04 19.05 19.06 19.07 19.08 19.09 19.10 Miller, SM (September 2012). "Low back pain: pharmacologic management". Primary Care. 39 (3): 499–510. doi:10.1016/j.pop.2012.06.005. PMID 22958559.
  20. 20.0 20.1 Henschke, N; Ostelo, RW; van Tulder, MW; Vlaeyen, JW; Morley, S; Assendelft, WJ; Main, CJ (July 2010). "Behavioural treatment for chronic low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2011 (7): CD002014. doi:10.1002/14651858.CD002014.pub3. PMC 7065591. PMID 20614428.
  21. 21.0 21.1 21.2 21.3 21.4 21.5 21.6 21.7 21.8 Marlowe, D (September 2012). "Complementary and alternative medicine treatments for low back pain". Primary Care. 39 (3): 533–546. doi:10.1016/j.pop.2012.06.008. PMID 22958563.
  22. Walker, BF; French, SD; Grant, W; Green, S (February 2011). "A Cochrane review of combined chiropractic interventions for low-back pain". Spine. 36 (3): 230–242. doi:10.1097/BRS.0b013e318202ac73. PMID 21248591. S2CID 26310171.
  23. Dagenais, S; Gay, RE; Tricco, AC; Freeman, MD; Mayer, JM (October 2010). "NASS Contemporary Concepts in Spine Care: spinal manipulation therapy for acute low back pain". The Spine Journal. 10 (10): 918–940. doi:10.1016/j.spinee.2010.07.389. PMID 20869008.
  24. 24.0 24.1 Rubinstein, SM; van Middelkoop, M; Assendelft, WJ; de Boer, MR; van Tulder, MW (February 2011). Rubinstein, SM (บ.ก.). "Spinal manipulative therapy for chronic low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews (2): CD008112. doi:10.1002/14651858.CD008112.pub2. hdl:1887/117578. PMID 21328304.
  25. Rubinstein, SM; Terwee, CB; Assendelft, WJ; de Boer, MR; van Tulder, MW (September 2012). "Spinal manipulative therapy for acute low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 9 (9): CD008880. doi:10.1002/14651858.CD008880.pub2. hdl:1871/48563. PMC 6885055. PMID 22972127.
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 26.5 26.6 26.7 26.8 Ferreira, ML; de Luca, K; Haile, LM; Steinmetz, JD; Culbreth, GT; Cross, M; และคณะ (June 2023). "Global, regional, and national burden of low back pain, 1990-2020, its attributable risk factors, and projections to 2050: a systematic analysis of the Global Burden of Disease Study 2021". The Lancet. Rheumatology. 5 (6): e316–e329. doi:10.1016/S2665-9913(23)00098-X. PMC 10234592. PMID 37273833.
  27. 27.0 27.1 Vinod Malhotra; Yao, Fun-Sun F.; Fontes, Manuel da Costa (2011). Yao and Artusio's Anesthesiology: Problem-Oriented Patient Management. Hagerstwon, MD: Lippincott Williams & Wilkins. pp. Chapter 49. ISBN 978-1-4511-0265-9. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-08.
  28. 28.0 28.1 "sciatica", Longdo Dict, อังกฤษ-ไทย: ศัพท์บัญญัติราชบัณฑิตยสถาน, สืบค้นเมื่อ 2025-03-24, ๑. อาการปวดหลังร้าวไปขา๒. อาการปวดตามประสาทไซแอติก[แพทยศาสตร์ ๖ ส.ค. ๒๕๔๔]
  29. 29.0 29.1 Stanton, TR; Latimer, J; Maher, CG; Hancock, MJ (April 2010). "How do we define the condition 'recurrent low back pain'? A systematic review". European Spine Journal. 19 (4): 533–539. doi:10.1007/s00586-009-1214-3. PMC 2899839. PMID 19921522.
  30. Kelly, GA; Blake, C; Power, CK; O'keeffe, D; Fullen, BM (February 2011). "The association between chronic low back pain and sleep: a systematic review". The Clinical Journal of Pain. 27 (2): 169–181. doi:10.1097/AJP.0b013e3181f3bdd5. PMID 20842008. S2CID 19569862.
  31. 31.0 31.1 31.2 31.3 31.4 31.5 Borczuk, P (July 2013). "An evidence-based approach to the evaluation and treatment of low back pain in the emergency department". Emergency Medicine Practice. 15 (7): 1–23, Quiz 23–24. PMID 24044786. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-14.
  32. 32.0 32.1 "Low Back Pain Fact Sheet". National Institute of Neurological Disorders and Stroke. National Institute of Health. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-19. สืบค้นเมื่อ 2013-07-12.
  33. Swain, CT; Pan, F; Owen, PJ; Schmidt, H; Belavy, DL (March 2020). "No consensus on causality of spine postures or physical exposure and low back pain: A systematic review of systematic reviews". Journal of Biomechanics. 102: 109312. doi:10.1016/j.jbiomech.2019.08.006. PMID 31451200. S2CID 201756091.
  34. "Fast Facts About Back Pain". National Institute of Arthritis and Musculoskeletal and Skin Diseases. National Institute of Health. September 2009. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-05. สืบค้นเมื่อ 2013-06-10.
  35. "Low back pain – acute". U.S. Department of Health and Human Services – National Institutes of Health. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-04-01. สืบค้นเมื่อ 2013-04-01.
  36. Majchrzycki, M; Mrozikiewicz, PM; Kocur, P; Bartkowiak-Wieczorek, J; Hoffmann, M; Stryła, W; และคณะ (November 2010). "[Low back pain in pregnant women]". Ginekologia Polska (ภาษาโปแลนด์). 81 (11): 851–855. PMID 21365902.
  37. Lane, DR; Takhar, SS (August 2011). "Diagnosis and management of urinary tract infection and pyelonephritis". Emergency Medicine Clinics of North America. 29 (3): 539–552. doi:10.1016/j.emc.2011.04.001. PMID 21782073.
  38. Floyd, R. T. (2008). Manual of structural kinesiology. Boston: McGraw-Hill Higher Education. ISBN 978-0-07-337643-1.
  39. 39.0 39.1 39.2 Freeman, MD; Woodham, MA; Woodham, AW (February 2010). "The role of the lumbar multifidus in chronic low back pain: a review". PM & R. 2 (2): 142–6, quiz 1 p following 167. doi:10.1016/j.pmrj.2009.11.006. PMID 20193941. S2CID 22246810.
  40. 40.0 40.1 40.2 40.3 40.4 40.5 40.6 Hughes, SP; Freemont, AJ; Hukins, DW; McGregor, AH; Roberts, S (October 2012). "The pathogenesis of degeneration of the intervertebral disc and emerging therapies in the management of back pain" (PDF). The Journal of Bone and Joint Surgery. British Volume. 94 (10): 1298–1304. doi:10.1302/0301-620X.94B10.28986. PMID 23015552. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2013-10-04. สืบค้นเมื่อ 2013-06-25.
  41. Patel, NB (2010). "Chapter 3: Physiology of Pain". ใน Kopf, A; Patel, NB (บ.ก.). Guide to Pain Management in Low-Resource Settings. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-05. สืบค้นเมื่อ 2017-05-26.
  42. Craig, AD (2003). "Pain mechanisms: labeled lines versus convergence in central processing". Annu. Rev. Neurosci. 26: 1–30. doi:10.1146/annurev.neuro.26.041002.131022. PMID 12651967.
  43. Romanelli, Pantaleo; Esposito, Vincenzo (2004). "The functional anatomy of neuropathic pain". Neurosurgery Clinics of North America. 15 (3): 257–268. doi:10.1016/j.nec.2004.02.010. สืบค้นเมื่อ 2025-05-02.
  44. 44.0 44.1 44.2 Cohen, SP; Argoff, CE; Carragee, EJ (December 2008). "Management of low back pain". BMJ. 337: a2718. doi:10.1136/bmj.a2718. PMID 19103627. S2CID 78716905.
  45. Davis, PC; Wippold, IIFJ; Cornelius, RS (2011). American College of Radiology ACR Appropriateness Criteria – Low Back Pain (PDF) (Report). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2012-12-22.
  46. North American Spine Society (February 2013), "Five Things Physicians and Patients Should Question", Choosing Wisely: an initiative of the ABIM Foundation, North American Spine Society, สืบค้นเมื่อ 2013-03-25 , which cites
    • Chou, R; Qaseem, A; Snow, V; Casey, D; Cross, JT; Shekelle, P; Owens, DK (October 2007). "Diagnosis and treatment of low back pain: a joint clinical practice guideline from the American College of Physicians and the American Pain Society". Annals of Internal Medicine. 147 (7): 478–491. doi:10.7326/0003-4819-147-7-200710020-00006. PMID 17909209.
    • Forseen, SE; Corey, AS (October 2012). "Clinical decision support and acute low back pain: evidence-based order sets". Journal of the American College of Radiology. 9 (10): 704–712.e4. doi:10.1016/j.jacr.2012.02.014. PMID 23025864.
  47. 47.0 47.1 Williams, Christopher M.; Henschke, Nicholas; Maher, Christopher G.; van Tulder, Maurits W.; Koes, Bart W.; Macaskill, Petra; Irwig, Les (2023-11-28). "Red flags to screen for vertebral fracture in patients presenting with low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 11 (11): CD008643. doi:10.1002/14651858.CD008643.pub3. ISSN 1469-493X. PMC 10683370. PMID 38014846.
  48. Henschke, N; Maher, CG; Ostelo, RW; de Vet, HC; Macaskill, P; Irwig, L (February 2013). "Red flags to screen for malignancy in patients with low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2013 (2): CD008686. doi:10.1002/14651858.CD008686.pub2. PMC 10631455. PMID 23450586.
  49. 49.0 49.1 49.2 Downie, A; Williams, CM; Henschke, N; Hancock, MJ; Ostelo, RW; de Vet, HC; และคณะ (December 2013). "Red flags to screen for malignancy and fracture in patients with low back pain: systematic review". BMJ. 347 (dec11 1): f7095. doi:10.1136/bmj.f7095. PMC 3898572. PMID 24335669.
  50. "Cauda equina syndrome". Genetic and Rare Diseases Information Center (GARD) (ภาษาอังกฤษ). 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-11-09. สืบค้นเมื่อ 2017-11-09.
  51. 51.0 51.1 Gardner, Alan; Gardner, Edward; Morley, Tim (2011). "Cauda equina syndrome: a review of the current clinical and medico-legal position". European Spine Journal. 20 (5): 690–697. doi:10.1007/s00586-010-1668-3. ISSN 0940-6719. PMC 3082683. PMID 21193933. สืบค้นเมื่อ 2025-05-04.
  52. Modic, Michael T.; Ross, Jeffrey S. (2007). "Lumbar Degenerative Disk Disease". Radiology. 245 (1): 43–61. doi:10.1148/radiol.2451051706. ISSN 0033-8419. สืบค้นเมื่อ 2025-05-03.
  53. Manchikanti, L; Glaser, SE; Wolfer, L; Derby, R; Cohen, SP (2009). "Systematic review of lumbar discography as a diagnostic test for chronic low back pain". Pain Physician. 12 (3): 541–559. doi:10.36076/ppj.2009/12/541. PMID 19461822.
  54. 54.0 54.1 54.2 54.3 "Use of imaging studies for low back pain: percentage of members with a primary diagnosis of low back pain who did not have an imaging study (plain x-ray, MRI, CT scan) within 28 days of the diagnosis". 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-04. สืบค้นเมื่อ 2013-06-11.
  55. 55.0 55.1 American Academy of Family Physicians, "Ten Things Physicians and Patients Should Question", Choosing Wisely: an initiative of the ABIM Foundation, American Academy of Family Physicians, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-02-10, สืบค้นเมื่อ 2012-09-05
  56. 56.0 56.1 American College of Physicians, "Five Things Physicians and Patients Should Question", Choosing Wisely: an initiative of the ABIM Foundation, American College of Physicians, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-09-01, สืบค้นเมื่อ 2013-09-05
  57. Chou, R; Fu, R; Carrino, JA; Deyo, RA (February 2009). "Imaging strategies for low-back pain: systematic review and meta-analysis". Lancet. 373 (9662): 463–472. doi:10.1016/S0140-6736(09)60172-0. PMID 19200918. S2CID 31602395.
  58. Crownover, BK; Bepko, JL (April 2013). "Appropriate and safe use of diagnostic imaging". American Family Physician. 87 (7): 494–501. PMID 23547591.
  59. 59.0 59.1 Chou, R; Qaseem, A; Owens, DK; Shekelle, P (February 2011). "Diagnostic imaging for low back pain: advice for high-value health care from the American College of Physicians". Annals of Internal Medicine. 154 (3): 181–189. doi:10.7326/0003-4819-154-3-201102010-00008. PMID 21282698. S2CID 1326352.
  60. Flynn, TW; Smith, B; Chou, R (November 2011). "Appropriate use of diagnostic imaging in low back pain: a reminder that unnecessary imaging may do as much harm as good". The Journal of Orthopaedic and Sports Physical Therapy. 41 (11): 838–846. doi:10.2519/jospt.2011.3618. PMID 21642763. S2CID 207399397.
  61. Quentin, Chloé; Bagheri, Reza; Ugbolue, Ukadike C.; Coudeyre, Emmanuel; Pélissier, Carole; Descatha, Alexis; Menini, Thibault; Bouillon-Minois, Jean-Baptiste; Dutheil, Frédéric (2021-08-10). "Effect of Home Exercise Training in Patients with Nonspecific Low-Back Pain: A Systematic Review and Meta-Analysis". International Journal of Environmental Research and Public Health (ภาษาอังกฤษ). 18 (16): 8430. doi:10.3390/ijerph18168430. ISSN 1660-4601. PMC 8391468. PMID 34444189.
  62. 62.0 62.1 62.2 Steffens, D; Maher, CG; Pereira, LS; Stevens, ML; Oliveira, VC; Chapple, M; และคณะ (February 2016). "Prevention of Low Back Pain: A Systematic Review and Meta-analysis". JAMA Internal Medicine. 176 (2): 199–208. doi:10.1001/jamainternmed.2015.7431. PMID 26752509.
  63. 63.0 63.1 63.2 63.3 63.4 63.5 63.6 63.7 63.8 Hartvigsen, Jan; Hancock, Mark J; Kongsted, Alice; Louw, Quinette; Ferreira, Manuela L; Genevay, Stéphane; Hoy, Damian; Karppinen, Jaro; Pransky, Glenn; Sieper, Joachim; Smeets, Rob J; Underwood, Martin; Buchbinder, Rachelle; Hartvigsen, Jan; Cherkin, Dan (June 2018). "What low back pain is and why we need to pay attention". The Lancet. 391 (10137): 2356–2367. doi:10.1016/s0140-6736(18)30480-x. ISSN 0140-6736. PMID 29573870. S2CID 4354991.
  64. 64.0 64.1 Choi, BK; Verbeek, JH; Tam, WW; Jiang, JY (January 2010). Choi, BK (บ.ก.). "Exercises for prevention of recurrences of low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2010 (1): CD006555. doi:10.1002/14651858.CD006555.pub2. PMC 8078403. PMID 20091596.
  65. Chou, R; Qaseem, A; Snow, V; Casey, D; Cross, JT; Shekelle, P; Owens, DK (October 2007). "Diagnosis and treatment of low back pain: a joint clinical practice guideline from the American College of Physicians and the American Pain Society". Annals of Internal Medicine. 147 (7): 478–491. doi:10.7326/0003-4819-147-7-200710020-00006. PMID 17909209.
  66. 66.00 66.01 66.02 66.03 66.04 66.05 66.06 66.07 66.08 66.09 Hegmann, KT; Travis, R; Andersson, GB; และคณะ (March 2020). "Non-Invasive and Minimally Invasive Management of Low Back Disorders". Journal of Occupational and Environmental Medicine. 62 (3): e111–e138. doi:10.1097/JOM.0000000000001812. PMID 31977923.
  67. 67.0 67.1 Sahar, T; Cohen, MJ; Uval-Ne'eman, V; Kandel, L; Odebiyi, DO; Lev, I; และคณะ (April 2009). "Insoles for prevention and treatment of back pain: a systematic review within the framework of the Cochrane Collaboration Back Review Group". Spine. 34 (9): 924–933. doi:10.1097/BRS.0b013e31819f29be. PMID 19359999. S2CID 22162952.
  68. Sprouse, R (September 2012). "Treatment: current treatment recommendations for acute and chronic undifferentiated low back pain". Primary Care. 39 (3): 481–486. doi:10.1016/j.pop.2012.06.004. PMID 22958557.
  69. Momsen, AM; Rasmussen, JO; Nielsen, CV; Iversen, MD; Lund, H (November 2012). "Multidisciplinary team care in rehabilitation: an overview of reviews". Journal of Rehabilitation Medicine. 44 (11): 901–912. doi:10.2340/16501977-1040. PMID 23026978.
  70. Gomes-Neto, M; Lopes, JM; Conceição, CS; Araujo, A; Brasileiro, A; Sousa, C; และคณะ (January 2017). "Stabilization exercise compared to general exercises or manual therapy for the management of low back pain: A systematic review and meta-analysis". Physical Therapy in Sport. 23: 136–142. doi:10.1016/j.ptsp.2016.08.004. PMID 27707631.
  71. Hayden, Jill A; Ellis, Jenna; Ogilvie, Rachel; Malmivaara, Antti; van Tulder, Maurits W (2021-09-28). Cochrane Back and Neck Group (บ.ก.). "Exercise therapy for chronic low back pain". Cochrane Database of Systematic Reviews. 2021 (10): CD009790. doi:10.1002/14651858.CD009790.pub2. PMC 8477273. PMID 34580864.
  72. Foster, Nadine E; Anema, Johannes R; Cherkin, Dan; Chou, Roger; Cohen, Steven P; Gross, Douglas P; Ferreira, Paulo H; Fritz, Julie M; Koes, Bart W; Peul, Wilco; Turner, Judith A; Maher, Chris G; Buchbinder, Rachelle; Hartvigsen, Jan; Cherkin, Dan (2018). "Prevention and treatment of low back pain: evidence, challenges, and promising directions". The Lancet. 391 (10137): 2368–2383. doi:10.1016/s0140-6736(18)30489-6. ISSN 0140-6736. PMID 29573872. S2CID 205989057.
  73. Hendrick, P; Milosavljevic, S; Hale, L; Hurley, DA; McDonough, S; Ryan, B; Baxter, GD (March 2011). "The relationship between physical activity and low back pain outcomes: a systematic review of observational studies". European Spine Journal. 20 (3): 464–474. doi:10.1007/s00586-010-1616-2. PMC 3048226. PMID 21053026.
  74. Schaafsma, FG; Whelan, K; van der Beek, AJ; van der Es-Lambeek, LC; Ojajärvi, A; Verbeek, JH (August 2013). "Physical conditioning as part of a return to work strategy to reduce sickness absence for workers with back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2013 (8): CD001822. doi:10.1002/14651858.CD001822.pub3. PMC 7074637. PMID 23990391.
  75. Hendrick, P; AM, Te Wake; Tikkisetty, AS; Wulff, L; Yap, C; Milosavljevic, S (October 2010). "The effectiveness of walking as an intervention for low back pain: a systematic review". European Spine Journal. 19 (10): 1613–1620. doi:10.1007/s00586-010-1412-z. PMC 2989236. PMID 20414688.
  76. French, SD; Cameron, M; Walker, BF; Reggars, JW; Esterman, AJ (January 2006). "Superficial heat or cold for low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2011 (1): CD004750. doi:10.1002/14651858.CD004750.pub2. PMC 8846312. PMID 16437495.
  77. 77.0 77.1 van Middelkoop, M; Rubinstein, SM; Kuijpers, T; Verhagen, AP; Ostelo, R; Koes, BW; van Tulder, MW (January 2011). "A systematic review on the effectiveness of physical and rehabilitation interventions for chronic non-specific low back pain". European Spine Journal. 20 (1): 19–39. doi:10.1007/s00586-010-1518-3. PMC 3036018. PMID 20640863.
  78. Guild, DG (September 2012). "Mechanical therapy for low back pain". Primary Care. 39 (3): 511–516. doi:10.1016/j.pop.2012.06.006. PMID 22958560.
  79. Ebadi, S; Henschke, N; Forogh, B; N, Nakhostin Ansari; van Tulder, MW; Babaei-Ghazani, A; Fallah, E (July 2020). "Therapeutic ultrasound for chronic low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2020 (7): CD009169. doi:10.1002/14651858.CD009169.pub3. PMC 7390505. PMID 32623724.
  80. ((National Institute for, Health; Excellence)), Care (2016). Low back pain and sciatica in over 16s: assessment and management. Manchester: National Institute for Health and Care Excellence (NICE). ISBN 978-1-4731-2186-7. OCLC 1198756858.
  81. Chou, R; Deyo, R; Friedly, J; Skelly, A; Hashimoto, R; Weimer, M; และคณะ (2016). Noninvasive Treatments for Low Back Pain. AHRQ Comparative Effectiveness Reviews. Rockville (MD): Agency for Healthcare Research and Quality (US). PMID 26985522.
  82. van Duijvenbode, IC; Jellema, P; van Poppel, MN; van Tulder, MW (April 2008). "Lumbar supports for prevention and treatment of low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2008 (2): CD001823. doi:10.1002/14651858.cd001823.pub3. PMC 7046130. PMID 18425875.
  83. 83.0 83.1 83.2 Hayden, JA; Ellis, J; Ogilvie, R; Malmivaara, A; van Tulder, MW (September 2021). "Exercise therapy for chronic low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 9 (10): CD009790. doi:10.1002/14651858.cd009790.pub2. PMC 8477273. PMID 34580864.
  84. Smith, C; Grimmer-Somers, K (June 2010). "The treatment effect of exercise programmes for chronic low back pain". Journal of Evaluation in Clinical Practice. 16 (3): 484–491. doi:10.1111/j.1365-2753.2009.01174.x. PMID 20438611.
  85. van Middelkoop, M; Rubinstein, SM; Verhagen, AP; Ostelo, RW; Koes, BW; van Tulder, MW (April 2010). "Exercise therapy for chronic nonspecific low-back pain". Best Practice & Research. Clinical Rheumatology. 24 (2): 193–204. doi:10.1016/j.berh.2010.01.002. PMID 20227641.
  86. Wewege, MA; Booth, J; Parmenter, BJ (2018-10-25). "Aerobic vs. resistance exercise for chronic non-specific low back pain: A systematic review and meta-analysis". Journal of Back and Musculoskeletal Rehabilitation. 31 (5): 889–899. doi:10.3233/BMR-170920. PMID 29889056. S2CID 47013227.
  87. Woodman, JP; Moore, NR (January 2012). "Evidence for the effectiveness of Alexander Technique lessons in medical and health-related conditions: a systematic review". International Journal of Clinical Practice. 66 (1): 98–112. doi:10.1111/j.1742-1241.2011.02817.x. PMID 22171910. S2CID 7579458.
  88. Posadzki, P; Ernst, E (September 2011). "Yoga for low back pain: a systematic review of randomized clinical trials". Clinical Rheumatology. 30 (9): 1257–1262. doi:10.1007/s10067-011-1764-8. PMID 21590293. S2CID 17095187.
  89. Wieland, LS; Skoetz, N; Pilkington, K; Harbin, S; Vempati, R; Berman, BM (November 2022). "Yoga for chronic non-specific low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2022 (11): CD010671. doi:10.1002/14651858.CD010671.pub3. PMC 9673466. PMID 36398843. S2CID 253627174.
  90. Saragiotto, BT; Maher, CG; Yamato, TP; Costa, LO; LC, Menezes Costa; Ostelo, RW; Macedo, LG (January 2016). "Motor control exercise for chronic non-specific low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2016 (1): CD012004. doi:10.1002/14651858.cd012004. PMC 8761501. PMID 26742533.
  91. Tagliaferri, SD; Miller, CT; Ford, JJ; Hahne, AJ; Main, LC; Rantalainen, T; และคณะ (June 2020). "Randomized Trial of General Strength and Conditioning Versus Motor Control and Manual Therapy for Chronic Low Back Pain on Physical and Self-Report Outcomes". Journal of Clinical Medicine. 9 (6): 1726. doi:10.3390/jcm9061726. PMC 7355598. PMID 32503243.
  92. 92.0 92.1 Yamato, TP; Maher, CG; Saragiotto, BT; Hancock, MJ; Ostelo, RW; Cabral, CM; และคณะ (July 2015). "Pilates for low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2015 (7): CD010265. doi:10.1002/14651858.CD010265.pub2. PMC 8078578. PMID 26133923.
  93. Kamper, SJ; Apeldoorn, AT; Chiarotto, A; Smeets, RJ; Ostelo, RW; Guzman, J; van Tulder, MW (September 2014). "Multidisciplinary biopsychosocial rehabilitation for chronic low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2014 (9): CD000963. doi:10.1002/14651858.cd000963.pub3. PMC 10945502. PMID 25180773.
  94. Nizard, J; Raoul, S; Nguyen, JP; Lefaucheur, JP (October 2012). "Invasive stimulation therapies for the treatment of refractory pain". Discovery Medicine. 14 (77): 237–246. PMID 23114579.
  95. Dubinsky, RM; Miyasaki, J (January 2010). "Assessment: efficacy of transcutaneous electric nerve stimulation in the treatment of pain in neurologic disorders (an evidence-based review): report of the Therapeutics and Technology Assessment Subcommittee of the American Academy of Neurology". Neurology. 74 (2): 173–176. doi:10.1212/WNL.0b013e3181c918fc. PMID 20042705.
  96. "Acute low back pain without radiculopathy". English.prescrire.org. October 2019. สืบค้นเมื่อ 2019-11-15.
  97. 97.0 97.1 Machado, GC; Maher, CG; Ferreira, PH; Day, RO; Pinheiro, MB; Ferreira, ML (July 2017). "Non-steroidal anti-inflammatory drugs for spinal pain: a systematic review and meta-analysis". Annals of the Rheumatic Diseases. 76 (7): 1269–1278. doi:10.1136/annrheumdis-2016-210597. PMID 28153830. S2CID 22850331.
  98. van der Gaag, WH; Roelofs, PD; Enthoven, WT; van Tulder, MW; Koes, BW (April 2020). "Non-steroidal anti-inflammatory drugs for acute low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2020 (4): CD013581. doi:10.1002/14651858.CD013581. PMC 7161726. PMID 32297973.
  99. Saragiotto, BT; Machado, GC; Ferreira, ML; Pinheiro, MB; Abdel Shaheed, C; Maher, CG (June 2016). "Paracetamol for low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2019 (6): CD012230. doi:10.1002/14651858.CD012230. PMC 6353046. PMID 27271789.
  100. Machado, GC; Maher, CG; Ferreira, PH; Pinheiro, MB; Lin, CW; Day, RO; และคณะ (March 2015). "Efficacy and safety of paracetamol for spinal pain and osteoarthritis: systematic review and meta-analysis of randomised placebo controlled trials". BMJ. 350: h1225. doi:10.1136/bmj.h1225. PMC 4381278. PMID 25828856.
  101. Enthoven, WT; Roelofs, PD; Deyo, RA; van Tulder, MW; Koes, BW (February 2016). "Non-steroidal anti-inflammatory drugs for chronic low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2 (8): CD012087. doi:10.1002/14651858.CD012087. PMC 7104791. PMID 26863524.
  102. Bhala, N; Emberson, J; Merhi, A; Abramson, S; Arber, N; Baron, JA; และคณะ (August 2013). "Vascular and upper gastrointestinal effects of non-steroidal anti-inflammatory drugs: meta-analyses of individual participant data from randomised trials". Lancet. 382 (9894): 769–779. doi:10.1016/S0140-6736(13)60900-9. PMC 3778977. PMID 23726390.
  103. Chou, R; Pinto, RZ; Fu, R; Lowe, RA; Henschke, N; McAuley, JH; Dana, T (October 2022). "Systemic corticosteroids for radicular and non-radicular low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2022 (10): CD012450. doi:10.1002/14651858.CD012450.pub2. PMC 9585990. PMID 36269125.
  104. Franklin, GM (September 2014). "Opioids for chronic noncancer pain: a position paper of the American Academy of Neurology". Neurology. 83 (14): 1277–1284. doi:10.1212/WNL.0000000000000839. PMID 25267983.
  105. Chaparro, LE; Furlan, AD; Deshpande, A; Mailis-Gagnon, A; Atlas, S; Turk, DC (April 2014). "Opioids compared with placebo or other treatments for chronic low back pain: an update of the Cochrane Review". Spine. 39 (7): 556–563. doi:10.1097/BRS.0000000000000249. PMID 24480962. S2CID 25356400.
  106. Dowell, D; Haegerich, TM; Chou, R (March 2016). "CDC Guideline for Prescribing Opioids for Chronic Pain – United States, 2016". MMWR. Recommendations and Reports. 65 (1): 1–49. doi:10.15585/mmwr.rr6501e1. PMC 6390846. PMID 26987082.
  107. Shmagel, A; Krebs, E; Ensrud, K; Foley, R (September 2016). "Illicit Substance Use in US Adults With Chronic Low Back Pain". Spine. 41 (17): 1372–1377. doi:10.1097/brs.0000000000001702. PMC 5002230. PMID 27438382.
  108. Abdel Shaheed, C; Maher, CG; Williams, KA; Day, R; McLachlan, AJ (July 2016). "Efficacy, Tolerability, and Dose-Dependent Effects of Opioid Analgesics for Low Back Pain: A Systematic Review and Meta-analysis". JAMA Internal Medicine. 176 (7): 958–968. doi:10.1001/jamainternmed.2016.1251. PMID 27213267. S2CID 29903177.
  109. de Leon-Casasola, OA (March 2013). "Opioids for chronic pain: new evidence, new strategies, safe prescribing". The American Journal of Medicine. 126 (3 Suppl 1): S3-11. doi:10.1016/j.amjmed.2012.11.011. PMID 23414718.
  110. Ferraro, MC; Urquhart, DM; Ferreira, GE; Wewege, MA; Shaheed, CA; Traeger, AC; Hoving, JL; Visser, EJ; McAuley, JH; Cashin, AG (March 2025). "Antidepressants for low back pain and spine‐related leg pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2025 (3): CD001703. doi:10.1002/14651858.CD001703.pub4. PMC 11890917. PMID 40058767.
  111. Enke, O; New, HA; New, CH; Mathieson, S; McLachlan, AJ; Latimer, J; และคณะ (July 2018). "Anticonvulsants in the treatment of low back pain and lumbar radicular pain: a systematic review and meta-analysis". CMAJ. 190 (26): E786–E793. doi:10.1503/cmaj.171333. PMC 6028270. PMID 29970367.
  112. Chou, R; Loeser, JD; Owens, DK; Rosenquist, RW; Atlas, SJ; Baisden, J; และคณะ (May 2009). "Interventional therapies, surgery, and interdisciplinary rehabilitation for low back pain: an evidence-based clinical practice guideline from the American Pain Society". Spine. 34 (10): 1066–1077. doi:10.1097/BRS.0b013e3181a1390d. PMID 19363457. S2CID 10658374.
  113. Pinto, RZ; Maher, CG; Ferreira, ML; Hancock, M; Oliveira, VC; McLachlan, AJ; และคณะ (December 2012). "Epidural corticosteroid injections in the management of sciatica: a systematic review and meta-analysis". Annals of Internal Medicine. 157 (12): 865–877. doi:10.7326/0003-4819-157-12-201212180-00564. PMID 23362516. S2CID 21203011.
  114. "Epidural Corticosteroid Injection: Drug Safety Communication – Risk of Rare But Serious Neurologic Problems". FDA. 2014-04-23. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-04-24. สืบค้นเมื่อ 2014-04-24.
  115. Jacobs, W; Van der Gaag, NA; Tuschel, A; de Kleuver, M; Peul, W; Verbout, AJ; Oner, FC (September 2012). "Total disc replacement for chronic back pain in the presence of disc degeneration". The Cochrane Database of Systematic Reviews (9): CD008326. doi:10.1002/14651858.CD008326.pub2. hdl:1871/48560. PMID 22972118.
  116. Lee, CS; Hwang, CJ; Lee, DH; Kim, YT; Lee, HS (March 2011). "Fusion rates of instrumented lumbar spinal arthrodesis according to surgical approach: a systematic review of randomized trials". Clinics in Orthopedic Surgery. 3 (1): 39–47. doi:10.4055/cios.2011.3.1.39. PMC 3042168. PMID 21369477.
  117. Traeger, Adrian C; Gilbert, Stephen E; Harris, Ian A; Maher, Christopher G (2023-03-07). Cochrane Back and Neck Group (บ.ก.). "Spinal cord stimulation for low back pain". Cochrane Database of Systematic Reviews. 2023 (8): CD014789. doi:10.1002/14651858.CD014789.pub2. PMC 9990744. PMID 36878313.
  118. Rothberg, S; Friedman, BW (January 2017). "Complementary therapies in addition to medication for patients with nonchronic, nonradicular low back pain: a systematic review". The American Journal of Emergency Medicine. 35 (1): 55–61. doi:10.1016/j.ajem.2016.10.001. PMID 27751598. S2CID 34520820.
  119. Rubinstein, SM; de Zoete, A; van Middelkoop, M; Assendelft, WJ; de Boer, MR; van Tulder, MW (March 2019). "Benefits and harms of spinal manipulative therapy for the treatment of chronic low back pain: systematic review and meta-analysis of randomised controlled trials". BMJ. 364: l689. doi:10.1136/bmj.l689. PMC 6396088. PMID 30867144.
  120. Rubinstein, SM; Terwee, CB; Assendelft, WJ; de Boer, MR; van Tulder, MW (September 2012). "Spinal manipulative therapy for acute low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2012 (9): CD008880. doi:10.1002/14651858.CD008880.pub2. PMC 6885055. PMID 22972127.
  121. Dagenais, S; Mayer, J; Wooley, JR; Haldeman, S (2008). "Evidence-informed management of chronic low back pain with medicine-assisted manipulation". The Spine Journal. 8 (1): 142–149. doi:10.1016/j.spinee.2007.09.010. PMID 18164462.
  122. Macedo, LG; Saragiotto, BT; Yamato, TP; Costa, LO; LC, Menezes Costa; Ostelo, RW; Maher, CG (February 2016). "Motor control exercise for acute non-specific low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2016 (2): CD012085. doi:10.1002/14651858.cd012085. PMC 8734597. PMID 26863390.
  123. 123.0 123.1 123.2 123.3 Mu, J; Furlan, AD; Lam, WY; Hsu, MY; Ning, Z; Lao, L (December 2020). "Acupuncture for chronic nonspecific low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2020 (12): CD013814. doi:10.1002/14651858.CD013814. PMC 8095030. PMID 33306198.
  124. 124.0 124.1 Furlan, AD; Yazdi, F; Tsertsvadze, A; Gross, A; Van Tulder, M; Santaguida, L; และคณะ (2012). "A systematic review and meta-analysis of efficacy, cost-effectiveness, and safety of selected complementary and alternative medicine for neck and low-back pain". Evidence-Based Complementary and Alternative Medicine. 2012: 953139. doi:10.1155/2012/953139. PMC 3236015. PMID 22203884.
  125. Lin, CW; Haas, M; Maher, CG; Machado, LA; van Tulder, MW (July 2011). "Cost-effectiveness of guideline-endorsed treatments for low back pain: a systematic review". European Spine Journal. 20 (7): 1024–1038. doi:10.1007/s00586-010-1676-3. PMC 3176706. PMID 21229367.
  126. 126.0 126.1 126.2 126.3 Furlan, AD; Giraldo, M; Baskwill, A; Irvin, E; Imamura, M (September 2015). "Massage for low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2015 (9): CD001929. doi:10.1002/14651858.CD001929.pub3. PMC 8734598. PMID 26329399.
  127. Gagnier, JJ; Oltean, H; van Tulder, MW; Berman, BM; Bombardier, C; Robbins, CB (January 2016). "Herbal Medicine for Low Back Pain: A Cochrane Review". Spine. 41 (2): 116–133. doi:10.1097/brs.0000000000001310. PMID 26630428. S2CID 42119774.
  128. Cherkin, DC; Herman, PM (April 2018). "Cognitive and Mind-Body Therapies for Chronic Low Back Pain and Neck Pain: Effectiveness and Value". JAMA Internal Medicine. 178 (4): 556–557. doi:10.1001/jamainternmed.2018.0113. PMID 29507946. S2CID 3680364.
  129. Cramer, H; Haller, H; Lauche, R; Dobos, G (September 2012). "Mindfulness-based stress reduction for low back pain. A systematic review". BMC Complementary and Alternative Medicine. 12: 162. doi:10.1186/1472-6882-12-162. PMC 3520871. PMID 23009599.
  130. Anheyer, D; Haller, H; Barth, J; Lauche, R; Dobos, G; Cramer, H (June 2017). "Mindfulness-Based Stress Reduction for Treating Low Back Pain: A Systematic Review and Meta-analysis". Annals of Internal Medicine. 166 (11): 799–807. doi:10.7326/M16-1997. PMID 28437793. S2CID 1157568.
  131. Urrútia, G; Burton, AK; Morral, A; Bonfill, X; Zanoli, G (2004-04-19). "Neuroreflexotherapy for non-specific low-back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2011 (2): CD003009. doi:10.1002/14651858.cd003009.pub2. PMC 8992702. PMID 15106186.
  132. Urrútia, G; Burton, K; Morral, A; Bonfill, X; Zanoli, G (March 2005). "Neuroreflexotherapy for nonspecific low back pain: a systematic review". Spine. 30 (6): E148–E153. doi:10.1097/01.brs.0000155575.85223.14. PMID 15770167. S2CID 31140257.
  133. Marin, TJ; Van Eerd, D; Irvin, E; Couban, R; Koes, BW; Malmivaara, A; และคณะ (June 2017). "Multidisciplinary biopsychosocial rehabilitation for subacute low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2017 (6): CD002193. doi:10.1002/14651858.cd002193.pub2. PMC 6481490. PMID 28656659.
  134. Maas, ET; Ostelo, RW; Niemisto, L; Jousimaa, J; Hurri, H; Malmivaara, A; van Tulder, MW (October 2015). "Radiofrequency denervation for chronic low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2015 (10): CD008572. doi:10.1002/14651858.cd008572.pub2. PMC 8782593. PMID 26495910.
  135. MA, Luz Júnior; Almeida, MO; Santos, RS; Civile, VT; Costa, LO (January 2019). "Effectiveness of Kinesio Taping in Patients With Chronic Nonspecific Low Back Pain: A Systematic Review With Meta-analysis". Spine. 44 (1): 68–78. doi:10.1097/BRS.0000000000002756. PMID 29952880. S2CID 49486200.
  136. Engers, A; Jellema, P; Wensing, M; van der Windt, DA; Grol, R; van Tulder, MW (January 2008). "Individual patient education for low back pain". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2008 (1): CD004057. doi:10.1002/14651858.cd004057.pub3. hdl:2066/69744. PMC 6999124. PMID 18254037.
  137. Verbeek, JH; Martimo, KP; Karppinen, J; Kuijer, PP; Viikari-Juntura, E; Takala, EP (June 2011). "Manual material handling advice and assistive devices for preventing and treating back pain in workers". The Cochrane Database of Systematic Reviews (6): CD005958. doi:10.1002/14651858.CD005958.pub3. PMID 21678349.
  138. 138.0 138.1 Chou, R; Shekelle, P (April 2010). "Will this patient develop persistent disabling low back pain?". JAMA. 303 (13): 1295–1302. doi:10.1001/jama.2010.344. PMID 20371789.
  139. Hayden, JA; Wilson, MN; Riley, RD; Iles, R; Pincus, T; Ogilvie, R (November 2019). "Individual recovery expectations and prognosis of outcomes in non-specific low back pain: prognostic factor review". The Cochrane Database of Systematic Reviews. 2019 (11). doi:10.1002/14651858.cd011284.pub2. PMC 6877336. PMID 31765487.
  140. Cunningham, F (2009). Williams Obstetrics (23 ed.). McGraw Hill Professional. p. 210. ISBN 978-0-07-170285-0. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-08.
  141. Shiri, R; Karppinen, J; Leino-Arjas, P; Solovieva, S; Viikari-Juntura, E (January 2010). "The association between smoking and low back pain: a meta-analysis". The American Journal of Medicine. 123 (1): 87.e7–87.35. doi:10.1016/j.amjmed.2009.05.028. PMID 20102998.
  142. 142.0 142.1 142.2 142.3 142.4 Maharty, DC (September 2012). "The history of lower back pain: a look "back" through the centuries". Primary Care. 39 (3): 463–470. doi:10.1016/j.pop.2012.06.002. PMID 22958555.
  143. 143.0 143.1 143.2 143.3 143.4 Lutz, GK; Butzlaff, M; Schultz-Venrath, U (August 2003). "Looking back on back pain: trial and error of diagnoses in the 20th century". Spine. 28 (16): 1899–1905. doi:10.1097/01.BRS.0000083365.41261.CF. PMID 12923482. S2CID 25083375.
  144. 144.0 144.1 Manchikanti, L; Singh, V; Datta, S; Cohen, SP; Hirsch, JA (2009). "Comprehensive review of epidemiology, scope, and impact of spinal pain". Pain Physician. 12 (4): E35–E70. doi:10.36076/ppj.2009/12/E35. PMID 19668291.
  145. Mokdad, AH; Ballestros, K; Echko, M; Glenn, S; Olsen, HE; Mullany, E; และคณะ (April 2018). "The State of US Health, 1990-2016: Burden of Diseases, Injuries, and Risk Factors Among US States". JAMA. 319 (14): 1444–1472. doi:10.1001/jama.2018.0158. PMC 5933332. PMID 29634829.
  146. 146.0 146.1 146.2 146.3 American College of Occupational and Environmental Medicine (February 2014), "Five Things Physicians and Patients Should Question", Choosing Wisely: an initiative of the ABIM Foundation, American College of Occupational and Environmental Medicine, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-11, สืบค้นเมื่อ 2014-02-24 , which cites
    • Talmage, J; Belcourt, R; Galper, J; และคณะ (2011). "Low back disorders". ใน Hegmann, KT (บ.ก.). Occupational medicine practice guidelines : evaluation and management of common health problems and functional recovery in workers (3rd ed.). Elk Grove Village, IL: American College of Occupational and Environmental Medicine. pp. 336, 373, 376–77. ISBN 978-0-615-45227-2.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
การจำแนกโรค
ทรัพยากรภายนอก