เจนรัลออฟดิอาร์มีส์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจนรัลออฟดิอาร์มีส์ออฟดิยูไนเต็ดสเตดส์
General of the Armies of the United States
ธงแสดงยศเจนรัลออฟดิอาร์มีส์ในปี 1922
จอห์น เจ. เพอร์ชิงเป็นคนเดียวที่เป็นเจนรัลออฟดิอาร์มีส์ขณะยังมีชีวิต
ประเทศ สหรัฐ
สังกัต กองทัพบกสหรัฐ
สถาปนา3 กันยายน ค.ศ. 1919 (1919-09-03)
ยศที่สูงกว่าไม่มี
ยศที่ต่ำกว่าจอมพล (General of the Army)
ยศที่คล้ายคลึงเจเนราลิสซีโม

เจนรัลออฟดิอาร์มีส์ออฟดิยูไนเต็ดสเตดส์ (อังกฤษ: General of the Armies of the United States) เรียกอย่างลำลองว่า เจนรัลออฟดิอาร์มีส์ (อังกฤษ: General of the Armies) เป็นยศทหารระดับสูงสุดของกองทัพบกสหรัฐ เคยมีการมอบยศนี้เพียงสองครั้งในประวัติศาสตร์ บุคคลแรกคือจอห์น เจ. เพอร์ชิง ผู้บัญชาการกำลังรบนอกประเทศสหรัฐในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ได้รับแต่งตั้งใน ค.ศ. 1919 บุคคลที่สองคือจอร์จ วอชิงตัน ได้รับแต่งตั้งย้อนหลังใน ค.ศ. 1976 ในมหกรรมฉลองสองศตวรรษการก่อตั้งสหรัฐ

ประวัติ[แก้]

เจนรัลออฟดิอาร์มีส์จอร์จ วอชิงตัน

ยศเจนรัลออฟดิอาร์มีส์ถูกบัญญัติขึ้นโดยรัฐบัญญัติคองเกรส (Act of Congress) เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 1799 กฎหมายฉบับดังกล่าวตราขึ้นเพื่อหมายจะมอบยศนี้ให้แก่พลโทจอร์จ วอชิงตัน แต่ประธานาธิบดีจอห์น แอดัมส์ ปฏิเสธการแต่งตั้ง แอดัมส์เชื่อว่าการตั้งวอชิงตันเป็นเจนรัลออฟดิอาร์มีส์จะเป็นการละเมิดกลไกทางรัฐธรรมนูญ[1]

ในสงครามโลกครั้งที่สอง เคยมีความพยายามมอบยศนี้ให้แก่พลเอกจอร์จ มาร์แชลล์ และพลเอกเฮนรี อาร์โนลด์ แต่ถูกทั้งคู่ปฏิเสธ กระทรวงการสงครามสหรัฐจึงสถาปนายศจอมพลขึ้นเพิ่มเติมในเดือนธันวาคม 1944 ทางกระทรวงยืนยันว่ายศนี้เป็นยศจอมพล ไม่ใช่ยศเจนรัลออฟดิอาร์มีส์ ทั้งคู่จึงยอมรับยศ

ในอดีต นายพลสหรัฐมีจำนวนดาวสูงสุดเพียงสี่ดวง ตัวของเพอร์ชิงเองแม้มียศเจนรัลออฟดิอาร์มีส์สหรัฐ แต่ก็ไม่เคยติดดาวเกินสี่ดวง ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่ายศจอมพลที่อยู่ต่ำกว่าควรมีดาวสี่ดวงหรือห้าดวง ข้อถกเถียงนี้ยุติในปี 1944[2] เมื่อกองทัพสหรัฐกำหนดให้ยศจอมพลเป็นนายพลห้าดาว จึงได้ข้อสรุปว่ายศเจนรัลออฟดิอาร์มีส์เป็นนายพลหกดาว

เอกสิทธิ์พิเศษ[แก้]

เจนรัลออฟดิอาร์มีส์สหรัฐได้รับสิทธิพิเศษหลายประการที่นายพลคนอื่นไม่ได้รับ อาทิ ได้รับค่าตอบแทนสูงกว่า เมื่อเกษียณแล้วก็ยังได้รับค่าตอบแทนจำนวนนั้นตลอดชีวิต เจนรัลออฟดิอาร์มีส์เพอร์ชิงหลังเกษียณ ถือเป็นบุคคลที่ได้รับค่าตอบแทนสูงที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศรองจากประธานาธิบดีสหรัฐ[3]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. Andrews, C. C., บ.ก. (1856). "Lieutenant General Scott's Case". Official Opinions of the Attorneys General of the United States. Vol. VII. Washington, D.C.: Robert Farnham. pp. 422–424.
  2. Full Committee Consideration of H.J. Res. 519 to Provide For the Appointment of George Washington to the Grade of General of the Armies of the United States, Committee on Armed Services, House of Representatives, Ninety-Fourth Congress, Second Session, August 3, 1976. Washington, D.C.: U.S. Government Printing Office. 1976. pp. 3–5.
  3. "Highest Paid Official, After Hoover, Is Pershing". Pittsburgh Post-Gazette. Pittsburgh, Pennsylvania. March 23, 1931. p. 26.