เครื่องนมัสการ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เครื่องนมัสการ แบ่งเป็นสองประเภท คือ เครื่องนมัสการของหลวง และ เครื่องนมัสการของราษฎร นับแต่อดีตกาลมา การเคารพบูชาใดๆต่างมีธรรมเนียมที่ยึดถือกันมาแต่ครั้นโบราณแฝงไว้ตามแต่ อารยธรรมอยู่อย่างเสมอ ในประเทศไทยนั้น ธรรมเนียมการเคารพบูชาล้วนแล้วแต่มีความละเอียดอ่อนและความหมาย เมื่อกล่าวถึงธรรมเนียมการจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการของบุคคลทั่วไปนั้น โดยนัยยะแล้วอาจไม่มีอะไรมากไปกว่าการตระเตรียม ดอกไม้ ธูป เทียน หากแต่เมื่อกล่าวถึง "เครื่องนมัสการ" ของหลวงที่ถือปฎิบัติกันเป็นธรรมเนียมอยู่แต่ครั้นต้นรัตนโกสินทร์จะพบว่า ความหมายและการจัดลำดับความสำคัญของเครื่องนมัสการมีมากกว่า ดอกไม้ ธูป เทียน หากแต่ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยต่าง ๆ อันกอปรไปด้วย ผู้จุดเครื่องนมัสการ สิ่งที่จะจุดนมัสการ สถานที่ที่จะจุดเครื่องนมัสการ

เครื่องนมัสการทองใหญ่[แก้]

เครื่องนมัสการทองใหญ่ ทำด้วยทองคำ ประกอบด้วยเชิงทองปักธูปไม้ระกำ 5 เชิงทองปักเทียน 5 พานทองคำสลักลายใส่พุ่มข้าวตอก 5 พาน พานทองคำสลักลายใส่พุ่มดอกไม้ 5 พาน ตั้งบนโต๊ะเท้าคู้สลักลายปิดทอง เครื่องนมัสการชุดทองคำสำรับใหญ่นี้ จะใช้ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เท่านั้น

เครื่องนมัสการพานทองสองชั้น[แก้]

เครื่องนมัสการพานทองสองชั้น ทำด้วยทองคำ หรือ กาไหล่ทอง ประกอบด้วยเชิงทองคำสลักลายปักธูปไม้ระกำ ๕ เชิงทองคำสลักลายปักเทียน ๕ พานทองสองชั้นทรงปากกระจับ(แว่นฟ้า)๕ ใส่พุ่มข้าวตอก อีก ๕ ใส่พุ่มดอกไม้ ตั้งบนโต๊ะถมทองเท้าคู้ จะใช้ในงานพระราชพิธี งานทรงวางพวงมาลาในวันสำคัญ ต่าง ๆ

เครื่องนมัสการทองคำลงยาราชาวดี[แก้]

เครื่องนมัสการทองคำลงยาราชาวดี ทำด้วยทองคำ ลงยาราชาวดี การลงยาราชาวดีมีสีต่างๆ อาทิ แดง เขียว น้ำเงิน ขาว ฟ้า ชมพู โดยเฉพาะสีฟ้า เรียกกันว่าสีมูลนกการะเวก ที่จะพบเห็นบ่อย ประกอบด้วยเชิงทองคำลงยาราชาวดี 10 เชิง สำหรับปักธูป 5 เทียน 5 พานทองคำลงยาราชาวดี 10 สำหรับใส่พุ่มข้าวตอก 5 พุ่มดอกไม้ 5 ตั้งบนโต๊ะเท้าคู้บุพื้นและขอบด้วยทองคำลงยาราชาวดีทั้งตัว จะเห็นได้ในงานพระราชพิธีบำเพ็ญพระกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวายพระบรมราชบุพการี งานบำเพ็ญพระกุศลพระศพ เครื่องนมัสการทองคำลงยาราชาวดีใช้สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เท่านั้น

เครื่องนมัสการทองคำลงยารองราชาวดี[แก้]

เครื่องนมัสการทองคำลงยารอง ทำด้วยทองคำลงยา โดยการลงยาสำรับนี้ใช้สีแดงเป็นหลัก ประกอบด้วยเชิงทองคำสลักลายลงยาสีแดง 10 เชิง สำหรับปักธูป 5 เทียน 5 พานทองคำลงยาสีแดง 10 สำหรับใส่พุมข้าวตอก 5 พุ่มดอกไม้ 5 ตั้งบนโต๊ะถมทอง เท้าคู้ ใช้ทอดคู่กับ เครื่องนมัสการทองคำลงยาราชาวดี เพื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดนมัสการ

เครื่องนมัสการทองทิศกะไหล่ทอง[แก้]

เครื่องนมัสการทองทิศกะไหล่ทอง ทำด้วยกะไหล่ทองประกอบด้วยเชิงกะไหล่ทอง 10 เชิง สำหรับปักธูปไม้ระกำ 5 เทียน 5 พานกะไหล่ทอง 10 พาน สำหรับใส่พุ่มข้าวตอก 5 พุ่มดอกไม้ 5 ตั้งบนโต๊ะฉลุลายอย่างจีนปิดทองเท้าสิงห์ ใช้ทอดสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินี และผู้แทนพระองค์ ทรงจุดนมัสการหรือจุดนมัสการพระพุทธรูป ตามวัดต่างๆ และใช้ทอดในการทรงวางพวงมาลาที่พระบรมราชานุสรณ์ต่างๆ

เครื่องนมัสการทองใหญ่เครื่องแก้ว[แก้]

มี 2 ชุด คือ

  • เครื่องนมัสการเครื่องแก้ว ชุดแรก สร้างในรัชกาลที่ 4 ทำด้วยแก้วเจียระไน ประกอบด้วยเชิงแก้วเจียระไน 10 เชิง สำหรับปักธูปไม้ระกำ 5 เทียน 5 พานแก้วเจียระไน 10 พาน สำหรับใส่พุ่มข้าวตอก 5 พุ่มดอกไม้ 5 ตั้งบนแท่นไม้ปิดทองประดับกระจกใช้ทอดสำหรับสมเด็จพระบรมวงศ์ ชั้น เจ้าฟ้า ที่เป็นพระราชโอรส พระราชธิดาในพระมหากษัตริย์รัชกาลก่อนทรงจุดนมัสการ ในรัชกาลที่ ๙ มีสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เพียงพระองค์เดียวที่ทรงใช้เครื่องนมัสการชุดนี้
  • ชุดที่ 2 สำหรับพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้าทรงจุดนมัสการในงานฉลองพระชนมายุหรืองานบำเพ็ญพระกุศล ทำด้วยแก้วเจียระไน ประกอบด้วยเชิงแก้วเจียระไน 10 เชิง สำหรับปักธูปไม้ระกำ 5 เทียน 5 พานแก้วเจียระไน 10 พาน สำหรับใส่พุ่มข้าวตอก 5 พุ่มดอกไม้ 5 ตั้งบนแท่นไม้ปิดทองสลักลายมังกรเท้าสิงห์

เครื่องนมัสการกระบะ[แก้]

เครื่องนมัสการกระบะ มี 2 ชนิด คือ เครื่องนมัสการกระบะถม เครื่องนมัสการกระบะมุก

  • เครื่องนมัสการกระบะถม ประกอบด้วยกระบะถมทองย่อมุมไม้สิบสอง 1 ใบ เชิงทองคำ 8 เชิง สำหรับปักธูประกำ 4 เทียน 4 พานทองคำ 8 สำหรับใส่พุ่มข้าวตอก 4 พุ่มดอกไม้ 4 ใช้สำหรับพระอนุวงศ์ชั้น พระองค์เจ้า ทรงจุดนมัสการ และยังใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จเจ้าฟ้าทรงจุดนมัสการในงานอย่างไม่เป็นทางการตามหัวเมืองด้วย
  • เครื่องนมัสการกระบะมุก ประกอบด้วยกระบะมุกย่อมุมไม้สิบสอง 1 ใบ เชิงแก้ว 5 เชิง สำหรับปักธูประกำ 1 เทียน 4 พานเชิงใส่พุ่มดอกไม้ 4 เครื่องนมัสการกระบะมุกนี้ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงจุดนมัสการพระพุทธรูปในงานพระศพเจ้านายที่มิได้ประดิษฐานบนพระมหาปราสาท ใช้สำหรับทรงจุดที่เตียงสวดพระอภิธรรม เครื่องนมัสการนี้ สามัญชนสามารถใช้จุดนมัสการได้

เครื่องทรงธรรมสำรับใหญ่[แก้]

เครื่องทรงธรรมสำรับใหญ่ ใช้ตั้งหน้าพระราชอาสน์ ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงจุดบูชาพระธรรม แต่ในกรณีที่ทรงให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน ผู้เสด็จแทนต้องมาจุดเครื่องทรงธรรมสำรับใหญ่ที่หน้าพระราชอาสน์ ประกอบด้วย กระถางธูปสำหรับปักธูปหาง 3 ดอก เชิงทองปักเทียน ๒ กรวยเชิงทองใส่พุมดอกไม้ ๔ พานทองใส่ดอกไม้สด ๑ ทั้งหมดนี้ตั้งบนพานทองทรงแบบจานเชิง ช้อนบนแท่นโลหะลายมังกรมีกระจังฉลุโปร่งมีเท้า ๑ บนแท่นนี้ด้านซ้ายและขวาตั้งแจกันทองสลักลายปักดอกไม้ด้านละ๑ หน้าแจกันตั้งพานทองใส่ดอกไม้สดอีกข้างละ ๑ กลางตั้งกระถางธูปหยกสำหรับปักธูปหาง ทั้งสิ้นนี้ตั้งบนโต๊ะสลักลายปิดทองอีกทีหนึ่ง โดยมีเชิงเทียนทองราวเทียนคู่ยอดฉัตร ต้นเชิงคล้ายต้นปาล์ม มีช้างทองยืนที่โคนต้น ฐานเชิงมีอักษรพระปรมาภิไธยย่อ จปร. ติดเป็นวงกลม ขนาบด้านละ ๑ ต้นบนโต๊ะสลักลายปิดทองนี้

เครื่องทรงธรรมสำรับน้อย[แก้]

เครื่องทรงธรรมสำรับน้อย ใช้ตั้งหน้าพระราชอาสน์ ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงบูชาพระธรรม ประกอบด้วย เชิงธูป ๑ เชิงเทียน ๑ พานพุ่ม ๕ วางบนพานสลักลายกลีบบัว

เครื่องทองน้อย[แก้]

เครื่องทองน้อย มี 4 ชุด

  • เครื่องทองน้อยสำรับเครื่องห้า ทำด้วยทองคำลงยาทั้งสำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ใช้เป็นเครื่องราชสักการะ และทรงธรรมในงานพระราชพิธีปรกติ (แต่งชุดปกติขาว) ประกอบด้วยพานทองคำสลักลายกลีบบัวลงยา ตั้งกรวยเชิงทองคำลงยาใส่พุ่มดอกไม้ 5 พุ่ม เชิงทองคำลงยาปักเทียน 2 เชิง กระถางธูปทำด้วยแก้วหุ้มทองที่ปากและฐานปักธูปหาง
  • เครื่องทองน้อยเครื่องหงส์ ทำด้วยทองคำลงยาทั้งสำรับ สำหรับพระมหากษัตริย์ถึงสมเด็จพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า เป็นเครื่องสักการะและทรงธรรม หรือใช้ตั้งให้พระบรมศพและพระศพทรงธรรม ประกอบด้วยพานทองคำสลักลายลงยา บนพานตั้งกรวยเชิงทองคำลงยา 3 พุ่ม เชิงเป็นรูปหงส์ทำด้วยทองคำลงยาปักธูปไม้ระกำ 1 ปักเทียน 1
  • เครื่องทองน้อยปากกระจับ ทำด้วยทองคำสลักลาย สำหรับพระมหากษัตริย์ถึงสมเด็จพระบรมวงศ์ชั้นเจ้าฟ้า เป็นเครื่องสักการะและทรงธรรม หรือใช้ตั้งให้พระบรมศพและพระศพทรงธรรม ประกอบด้วยพานทองคำสลักลายปากกระจับกระจังกลีบบัว บนพานตั้งกรวยเชิงทองคำลงยา 3 พุ่ม เชิงทำด้วยทองคำลงยาปักธูปไม้ระกำ 1 ปักเทียน 1
  • เครื่องทองน้อยแก้ว สำหรับพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ ทรงธรรมขณะทรงผนวชและพระสงฆ์ชั้นพระราชาคณะบูชาพระรัตนตรัย ทำด้วยแก้วเจียระไนทั้งชุด ประกอบด้วย พานกรวยเชิงใส่พุ่มดอกไม้ 3 พุ่ม เชิงแก้วปักเทียน 1 ปักธูป 1

เครื่องนมัสการบูชายิ่ง[แก้]

เครื่องนมัสการบูชายิ่ง ใช้สำหรับทรงบูชาพระธาตุเจดีย์ที่สำคัญ เช่น องค์พระปฐมเจดีย์ และใช้ในการพระราชกุศลเทศน์มหาชาติ ประกอบด้วย กระบะมุกย่อมุมไม้สิบสอง ๑ ใส่พานเชิงแก้ว ๕ เชิงสำหรับใส่พุ่มข้าวตอก ๑ พุ่มดอกไม้๑ พุ่มถั่ว๑ พุ่มงา๑ และพุ่มหญ้าแพรก ๑ ด้านหน้ากระบะมุกตั้งเครื่องทองน้อยอีก ๑ สำรับ

เครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง[แก้]

เครื่องนมัสการท้ายที่นั่ง เป็นเครื่องนมัสการอย่างไม่เป็นทางการ ใช้เชิญตามเสด็จไปในที่ต่างๆ และเชิญออกตั้งเมื่อทรงมีพระราชประสงค์จะสักการะศาสนวัตถุ ใช้บูชาเป็นการส่วนพระองค์ เช่น งานสังเวยพระป้าย มีความคล้ายคลึงกับเครื่องนมัสการของสามัญชน ประกอบด้วย กระถางธูป สำหรับปักธูปหาง ๑ เชิงเทียน ๒ พานกไหล่ทองสำหรับวางกระทงเจิม

พระแท่นทรงกราบ[แก้]

พระแท่นทรงกราบเป็นแท่นสำหรับ ทรงใช้กราบหลังจากจุดเครื่องนมัสการแล้ว มี 4 ชนิดหลักๆ คือ

  • พระแท่นทรงกราบสำรับใหญ่ ใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมราชินี ทรงกราบในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เป็นพระแท่นขนาดใหญ่ทอดเบาะผ้าเยียรบับขนาดยาว สำหรับคุกพระชงฆ์ แท่นคลุมด้วยผ้าตาดทอง พระเขนยทรงกราบปักจากผ้าเยียรบับ
  • พระแท่นทรงกราบ เป็นพระแท่นขนาดย่อมทอดเบาะปักด้วยดิ้นทองสำหรับคุกพระชงฆ์ แท่นคลุมด้วยผ้าตาดทอง หรือผ้าเยียรบับตามแต่พระอิสริยยศ พระเขนยทรงกราบปักด้วยดิ้นทองเช่นกัน พระแท่นนี้สำหรับพระมหากษัตริย์ทรงกราบในงานลำลอง หรือกราบพระบรมอัฐิในการพระราชกุศลทักษิณานุปทาน และใช้สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ทรงกราบ
  • แท่นกราบ เป็นแท่นสำหรับพระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้า ผู้แทนพระองค์ องคมนตรี ข้าราชการผู้ใหญ่ กราบในการเสด็จไปหรือไปแทนพระองค์ในการพระราชพิธีต่างๆ มีลักษณะคล้ายพระแท่นทรงกราบ แต่เบาะคุกพระชงฆ์และหมอนกราบปักด้วยไหมสีน้ำเงิน ผ้าคลุมพระแท่นเป็นผ้าน้ำเงินปักทองแล่ง

เครื่องนมัสการของบุคคลทั่วไป[แก้]

เครื่องนมัสการที่บุคคลทั่วไปมักใช้บูชามี 4 อย่าง ได้แก่ ธูป เทียน ดอกไม้ และ ข้าวตอก ซึ่งเป็นเครื่องนมัสการบูชาแต่โบราณ ธูป มีหลายชนิด ดังนี้

  • ธูปหาง คือ ธูปที่เราใช้สักการบูชาทั่วไป มักทำจากไม้หอม หรือ ไม้ยางพารา ชุบด้วยผงโกบั๊วะ ประมาณ 3 ใน 4 ของก้าน
  • ธูปไม้ระกำ คือ ธูปที่ใช้ไม้ระกำเป็นแกน มักพบในเครื่องบูชาของหลวง หรือ ธูปเทียนแพ
  • ธูปกำยาน มีลักษณะเป็นธูปทรงกรวย

เทียน มักทำจากขี้ผึ้ง ใช้จุดเพื่อบูชาพระธรรม ดอกไม้ มักใช้ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ใช้บูชาพระสงฆ์ ข้าวตอก เป็นเครื่องบูชาแต่โบราณใช้คู่กับดอกไม้ โดยจะพบในเครื่องนมัสการชุดใหญ่ของหลวง

อ้างอิง[แก้]