เขาฉกรรจ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เขาฉกรรจ์

เขาฉกรรจ์ เป็นเขาในตำบลเขาฉกรรจ์ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว เป็นภูเขาหินปูนที่เกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลก มีลักษณะเป็นภูเขา 3 ลูกเรียงต่อกัน โดยมีเขาฉกรรจ์เป็นภูเขาลูกใหญ่ที่สุดตั้งอยู่ตรงกลาง และมีเขามิ่งอยู่ด้านซ้ายกับเขาฝาละมีอยู่ด้านขวา ภายในเขาฉกรรจ์จึงเต็มไปด้วยถ้ำน้อยใหญ่มากมายถึง 72 ถ้ำ เช่น ถ้ำมืด ถ้ำหนุมาน ถ้ำเขาทะลุ ถ้ำมหาหิงส์ ถ้ำน้ำทิพย์ และถ้ำแก้วพลายชุมพล[1] เขามีความยาวประมาณ 1.8–2 กิโลเมตร ปกคลุมด้วยป่าสวนรุกขชาติ เขามีความสูง 324 เมตร[2] บนเขายังเป็นที่ตั้งของวัดถ้ำเขาฉกรรจ์

จากการสำรวจถ้ำโดยกรมศิลปากร พบร่องรอยหลักฐานโบราณวัตถุต่าง ๆ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยอุณหภูมิต่ำ เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งเผาด้วยอุณหภูมิสูง ชนิดเคลือบสีน้ำตาล เศียรพระพิมพ์ศิลปะเขมร-ลพบุรี เครื่องถ้วยเขมร เศษกระดูกสัตว์ เศษเถ้าถ่าน เบี้ยดินเผา 2 ชิ้น ด้านหนึ่งเรียบอีกด้านเป็นรอยขูดขีดเป็นร่องตารางสี่เหลี่ยมตลอดทั้งแผ่น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร ลูกปัดหิน ลูกปัดดินเผาและลูกปัดแก้วสีต่าง ๆ เช่น เหลือง แดงส้ม เขียว น้ำเงิน ดำ เป็นต้น เป็นลูกปัดแบบอินโดแปซิฟิก[3] สันนิษฐานว่าภายในถ้ำเคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ และมีผู้คนอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงสมัยทวารวดีต่อถึงเขมรก่อนพระนคร

นาม "เขาฉกรรจ์" มีข้อสันนิษฐานและตำนานเกี่ยวข้องอยู่ 2 ฉบับ ตำนานฉบับแรก เป็นตำนานเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เล่าว่าสมเด็จพระนเรศวรให้ทหารมาฝึกปรือแถวบริเวณจังหวัดสระแก้วเพื่อจะสู้รบกับเขมร เมื่อมีการฝึกทหารเหล่านั้นพบว่าล้วนเป็นชายหนุ่มที่อยู่ในวัยกำยำ หรือวัยฉกรรจ์ส่วนตำนานฉบับที่สอง อ้างความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน กล่าวว่ากร่อนมาจากคำว่า "เขาฉอกัณฑ์" ซึ่งมีที่มาจากชื่อพิธีฉอกัณฑ์ อันเป็นพิธีตัดไม้ข่มนาม เชื่อกันว่าใน พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินได้มาทำพิธีตัดไม้ข่มนามที่นี่ ก่อนทำศึกรวบรวมแผ่นดินกอบกู้บ้านเมือง จนสำเร็จและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน[4]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เขาฉกรรจ์". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  2. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๒ (อักษร ก-ธ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, ๒๕๕๙. (แก้ไขปรับปรุงข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓)
  3. กรมศิลปากร. "เขาฉกรรจ์" ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม. (ออนไลน์). เข้าถึงเมื่อ 22 สิงหาคม 2566. เข้าถึงจาก http://gis.finearts.go.th/fineart/
  4. กำพล จำปาพันธ์. "ร่องรอยอารยธรรมเขมรโบราณและสยามอโยธยาในเขตจังหวัดสระแก้ว". วารสารวิชาการการท่องเที่ยวไทยนานาชาติ.