ข้ามไปเนื้อหา

ฮิปโปโปเตมัสแคระ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ฮิปโปโปเตมัสแคระ
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Hippopotamidae
สกุล: Choeropsis
สปีชีส์: C.  liberiensis
ชื่อทวินาม
Choeropsis liberiensis
(Morton, 1849)[2]
ชนิดย่อย
  • C. l. liberiensis
  • C. l. heslopi
แผนที่การกระจายพันธุ์[1]
ชื่อพ้อง[1]
  • Hexaprotodon liberiensis

ฮิปโปโปเตมัสแคระ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ฮิปโปแคระ (อังกฤษ: Pygmy hippopotamus; ชื่อวิทยาศาสตร์: Choeropsis liberiensis) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกินพืชชนิดหนึ่ง จัดอยู่ในวงศ์ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamidae)

ฮิปโปโปเตมัสแคระ จัดเป็นสัตว์เพียง 1 ใน 2 ชนิดเท่านั้นที่อยู่ในวงศ์นี้ ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน อีกชนิดหนึ่งนั้นคือ ฮิปโปโปเตมัส (Hippopotamus amphibius) ซึ่งถือเป็นญาติสนิท[3] โดยทั้ง 2 ชนิดนั้นแยกออกจากกันเมื่อราว 1–2 ล้านปีก่อน[4]

ฮิปโปโปเตมัสแคระมีรูปร่างทั่วไปคล้ายฮิปโปโปเตมัส แต่ว่ามีรูปร่างแตกต่างกันมากทีเดียว โดยมีขนาดเพียง 1 ใน 10 ของฮิปโปโปเตมัสเท่านั้น มีความสูงจากกีบเท้าจนถึงหัวไหล่ไม่เกิน 1 เมตร (3 ฟุต) มีความยาวลำตัวประมาณ 75–100 เซนติเมตร (2.46–3.28 ฟุต) และน้ำหนักประมาณ 180–275 กิโลกรัม (397–606 ปอนด์[5]) ทั้งนี้ทั้งนั้นเชื่อว่านี่เป็นผลมาจากการวิวัฒนาการเพื่อให้ฮิปโปโปเตมัสแคระมีความเหมาะสมกับการอาศัยหรือหากินบนบกมากกว่า[4] อายุขัยไม่เป็นที่ทราแน่นอน แต่อายุในที่เลี้ยงสูงสุด 30–55 ปี เชื่อว่าในธรรมชาติไม่น่าจะมีอายุได้ยาวนานขนาดนี้[6]

มีสีผิวที่เข้มกว่าฮิปโปโปเตมัส คือ มีสีเขียวเข้มหรือน้ำตาลเข้ม ส่วนหัวกลมกว่าฮิปโปโปเตมัส ส่วนหลังโค้งขึ้นและลาดต่ำลงมาทางก้น ผิวหนังเรียบลื่น ตามลำตัวแทบไม่มีขน ยกเว้นขนเพียงไม่กี่เส้น ที่บริเวณริมฝีปากและหาง เบ้าตาอยู่ด้านข้างของหัว ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุว่า ฮิปโปโปเตมัสแคระมีเหงื่อใส ไม่เข้มเป็นสีแดงเหมือนเลือดแบบฮิปโปโปเตมัส[7] แต่ความจริงแล้ว ฮิปโปโปเตมัสแคระก็มีเหงื่อเป็นสีแดงเหมือนเลือดแบบฮิปโปโปเตมัส นั่นคือ สารคัดหลั่งสีเข้มที่ร่างกายฮิปโปโปเตมัสผลิตออกมาจากต่อมใต้ผิวหนังเพื่อป้องกันแสงแดดและรังสียูวี เนื่องจากผิวหนังของฮิปโปโปเตมัสนั้นบอบบางมาก[8]

นอกจากนี้แล้ว ฮิปโปโปเตมัสแคระ ยังมีอุปนิสัยและพฤติกรรมต่างจากฮิปโปโปเตมัสอีกด้วย กล่าวคือ เป็นสัตว์ที่รักสันโดษ อยู่ตามลำพังเพียงตัวเดียว ขี้อาย และหวาดกลัวมนุษย์ เป็นสัตว์ที่แม้ประสาทการมองเห็นไม่ดี แต่ประสาทการดมกลิ่นนั้นดีเยี่ยม กินอาหารจำพวก พืชผักชนิดต่าง ๆ เช่น มันเทศ, ผลไม้ที่หล่นตามพื้น, หญ้า รวมถึงกินดินโป่งเพื่อเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ร่างกายเหมือนกับสัตว์กินพืชชนิดอื่นด้วย[9] โดยจะพบกระจายพันธุ์ได้เฉพาะในพื้นที่ชุ่มน้ำในป่าดิบชื้นของภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น คือ แถบประเทศไลบีเรีย, กินี, เซียร์ราลีโอน และโกตดิวัวร์ รวมถึงอาจสูญพันธฺุ์ไปแล้วที่ไนจีเรีย[1] พฤติกรรมโดยทั่วไปยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด รวมถึงมีภาพบันทึกความเป็นอยู่ในธรรมชาติทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพียงไม่กี่ภาพเท่านั้น เท่าที่ทราบ คือ เป็นสัตว์หากินกลางคืน ในเวลากลางวันจะหลบซ่อนตัวหรือแช่น้ำ จะรวมตัวกันเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ มีแหล่งอาศัยโดยใช้เขี้ยวคู่หน้าที่แหลมยาวขุดโพรงดินริมตลิ่งน้ำใช้เป็นที่อยู่อาศัย ในที่ ๆ มีกิ่งไม้หรือรากไม้หรือวัสดุธรรมชาติต่าง ๆ มาปกปิดไว้ ความยาวของโพรงอาจยาวได้ถึง 9 เมตร นับว่าใหญ่กว่าขนาดตัวของฮิปโปโปเตมัสแคระมาก และอาจมีทางเข้ามากกว่าหนึ่งทาง โดยจะดำน้ำเข้าไป และเชื่อว่าใช้เป็นที่เลี้ยงดูลูกอ่อนด้วย[9]

ลักษณะของหัวกะโหลก
ฮิปโปโปเตมัสแคระคู่

แม้ฮิปโปโปเตมัสแคระจะเป็นสัตว์ที่สันโดษ อยู่อาศัยและหากินเพียงตัวเดียว แต่จากการศึกษาก็พบว่า ฮิปโปโปเตมัสแคระสามารถใช้เส้นทางการหากินร่วมกันมากกว่าหนึ่งตัวได้ ทั้งตัวผู้และตัวเมีย แม้จะไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ ฮิปโปโปเตมัสแคระมีการประกาศอาณาเขตด้วยการถ่ายปัสสาวะและมูลโดยใช้หางสะบัดใส่ตามโคนต้นไม้หรือตามทางเดินหาอาหาร และมีทฤษฎีว่า ฮิปโปโปเตมัสแคระมีพฤติกรรมในการปล่อยฟีโรโมนคล้ายแมว เมื่อฮิปโปโปเตมัสแคระตัวเดิมเดินมาพบกับฟีโรโมนของตัวเอง จะเป็นแรงกระตุ้นให้รู้สึกสดชื่นและคึกคัก[9]

ปัจจุบัน สถานะในธรรมชาติของฮิปโปโปเตมัสแคระจัดว่าเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยเพราะการตัดไม้ทำลายป่า อีกทั้งยังถูกล่าเพื่อเอาเนื้อมาบริโภค และนำหนังมาทำเป็นแส้ของชาวพื้นเมืองแอฟริกาด้วย โดยฮิปโปโปเตมัสแคระมีการคุ้มครองที่อุทยานแห่งชาติตาอีในโกตดิวัวร์ แต่ในไลบีเรียที่อยู่ติดกันกลับไม่มีกฎหมายคุ้มครอง เนื้อของฮิปโปโปเตมัสแคระนั้นมีรสชาติอร่อยเหมือนเนื้อหมูป่า จึงนิยมซื้อขายกันในตลาดค้าสัตว์ป่าเถื่อน[9]

ฮิปโปโปเตมัสแคระ ในธรรมชาติปัจจุบันเหลือเพียงไม่เกิน 3,000 ตัว[9] แต่ส่วนที่เลี้ยงในสวนสัตว์ทั่วทั้งโลกมีประมาณ 350 ตัว[9] และมีการคลอดลูก ในประเทศไทยมีเลี้ยงเช่นที่ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว และสวนสัตว์เชียงใหม่ [10][11] โดยชื่อเรียกสามัญในภาษาอังกฤษคล้ายกับวัว คือ ตัวผู้เรียกว่า bull ตัวเมียเรียกว่า cow ขณะที่ลูกฮิปโปโปเตมัสแคระเรียกว่า calf ส่วนฝูงฮิปโปโปเตมัสแคระเรียกว่า herd หรือ bloa[12]

ฮิปโปโปเตมัสแคระที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยคือ หมูเด้ง อายุ 0 ปี 114 วัน ฮิปโปโปเตมัสแคระเพศเมียมีชื่อเสียงขึ้นในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 อาศัยอยู่ในสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มีชื่อเสียงจากการที่มีภาพของหมูเด้งเป็นอินเทอร์เน็ตมีม[13]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Ransom, C.; Robinson, P.T.; Collen, B. (2015). "Choeropsis liberiensis". IUCN Red List of Threatened Species. 2015: e.T10032A18567171. doi:10.2305/IUCN.UK.2015-2.RLTS.T10032A18567171.en. สืบค้นเมื่อ 27 August 2021.
  2. "ITIS on Hexaprotodon liberiensis". Integrated Taxonomic Information System. สืบค้นเมื่อ 2004-08-11.
  3. Laws, Richard (1984). Macdonald, D. (บ.ก.). The Encyclopedia of Mammals. New York: Facts on File. pp. 506–511. ISBN 0-87196-871-1.
  4. 4.0 4.1 ""เนชันแนล จีโอกราฟฟิก" นิตยสารสารคดีระดับโลก ร่วมเกาะกระแส "หมูเด้ง"". ไทยรัฐ. 2024-09-19. สืบค้นเมื่อ 2024-09-20.
  5. Macdonald, D. (2001). The New Encyclopedia of Mammals. Oxford University Press, Oxford. ISBN 0198508239.
  6. Eltringham, S. Keith (1999). The Hippos. London: Academic Press. ISBN 0-85661-131-X.
  7. "ความหมายจาก พจนานุกรมแปล ไทย-ไทย ราชบัณฑิตยสถาน". dictionary.sanook.com/. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  8. ทวีสูงส่ง, จิราภพ (2024-09-20). "รู้ไหม ? "ฮิปโปฯ" มีเหงื่อสีแดง". Thai PBS. สืบค้นเมื่อ 2024-09-13.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 "ท่องโลกกว้าง: ปฏิบัติการฮิปโปแคระ". ไทยพีบีเอส. 19 January 2015. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.[ลิงก์เสีย]
  10. "ลูกฮิปโปแคระ". ไทยรัฐ. 29 September 2014. สืบค้นเมื่อ 20 January 2015.
  11. "เชียงใหม่เปิดตัวสมาชิกใหม่ ลูกฮิปโปแคระ". ข่าวสด. 28 August 2015. สืบค้นเมื่อ 29 August 2015.
  12. List of animal names
  13. "ต้านไม่ไหวซุปตาร์ "หมูเด้ง" ฮิปโปแคระเขาเขียว". Thai PBS.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Choeropsis liberiensis ที่วิกิสปีชีส์