ฮัง ลีโป

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ฮัง ลีโป (มลายู: Hang Li Po, จีน: 漢麗寶; พินอิน: Hàn Lìbǎo หรือ Wang Lìbǎo; ยฺหวิดเพ็ง: Hon3 Lai6 Bou2; เป่อ่วยยี: Hàn Lê-pó) ปรากฎอยู่ในพงศาวดารของมลายู ระบุว่าเป็นเจ้าหญิงจีนยุคราชวงศ์หมิงที่ถูกส่งมาเป็นพระมเหสีในสุลต่านมันซูร์ ชะฮ์ สุลต่านแห่งมะละกา เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 15[1] แต่ก็มีข้อถกเถียงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการมีอยู่ของนาง เพราะไม่ปรากฏข้อมูลของฮัง ลีโป ในเอกสารของราชวงศ์หมิงเลย[2] ในเอกสาร รายงานแห่งบูรพาทิศ จากทะเลแดงถึงจีน (Suma Oriental que trata do Mar Roxo até aos Chins) ของโตเม ปีรึช กล่าวถึงหญิงสามัญชนชาวจีนไม่ปรากฏนาม เข้าเป็นพระมเหสีในสุลต่านเมอกัต อิซกันดาร์ ชะฮ์ หรือเกิดขึ้นก่อนหน้าสุลต่านมันซูร์ ชะฮ์ ถึงสามรัชกาล[3]

บูกิตจีนา สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับฮัง ลีโป

ฮัง ลีโป ถูกส่งมายังมะละกาพร้อมด้วยผู้ติดตามราว 500 คน สุลต่านมันซูร์ ชะฮ์ พระราชทานผืนดินบริเวณเนินเขาแก่ผู้ติดตามชาวจีนสำหรับตั้งถิ่นฐานเรียกว่าบูกิตจีนา (Bukit Cina; แปลว่า ภูเขาจีน)[4] เพื่อเป็นของทูลพระขวัญแก่ฮัง ลีโป[1] ปัจจุบันบูกิตจีนาได้กลายเป็นสุสานจีนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศมาเลเซีย

เรื่องราวของฮัง ลีโป ถือเป็นเรื่องราวการสมรสข้ามชาติพันธุ์และข้ามวัฒนธรรมกรณีแรก ๆ ในหมู่เกาะมลายู มรดกทางวัฒนธรรมและลำดับวงศ์ตระกูลของนางโดดเด่นในกลุ่มวัฒนธรรมลูกผสมเปอรานากัน ซึ่งพบได้บนเกาะปีนังและเมืองมะละกา มีชื่อเสียงด้านการผสมผสานวัฒนธรรมระหว่างจีนโบราณกับวัฒนธรรมท้องถิ่นของภูมิภาคนูซันตาราอย่างมีเอกลักษณ์[5][6] แต่หลังจากการทำให้เป็นอิสลามแผ่ขยายขึ้นในแถบหมู่เกาะมลายูเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา ทำให้การสมรสข้ามชาติพันธุ์ระหว่างจีนกับมลายูในแถบนี้ลดลง[7]

อย่างไรก็ตามฮัง ลีโป เป็นเรื่องราวที่ชาวมลายูมุสลิมทราบเป็นอย่างดี เพราะนางเป็นหญิงเชื้อสายจีนที่เข้ามาอยู่ในกลุ่มชาวมลายูมุสลิม ทั้งยังเป็นหนึ่งในสมาชิกราชวงศ์ที่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์ยุคต้นของประเทศมาเลเซีย ทำให้เกิดการยอมรับและการผสมกลมกลืนทางวัฒนธรรมกับกุลีจีนที่อพยพเข้าสู่คาบสมุทรมลายูในช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมของสหราชอาณาจักรเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึง 19[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Kong, Yuanzhi (2000). Pelayaran Zheng He dan alam Melayu (ภาษามาเลย์). Penerbit Universiti Kebangsaan Malaysia. ISBN 978-967-942-508-6.
  2. "Redefining Hang Li Po". The Edge Malaysia. สืบค้นเมื่อ 2023-05-17.
  3. 3.0 3.1 Wain, Alexander (April 7, 2017). "The Search for Hang Li Po". New Straits Times. สืบค้นเมื่อ 17 May 2023.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. "Bukit China (Chinese Hill)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-12-01. สืบค้นเมื่อ 2017-05-10.
  5. [Mixed Race in Asia: Past, Present and Future, by Zarine Rocha (ed.) London: Routledge, 2017, p. 147-161.
  6. "Peranakans". Baba & Nyonya Heritage Museum, Malacca. Archived from the original on 12 January 2020. Retrieved 16 January 2020.
  7. [Praying together, Staying together: Islamization and Inter-ethnic marriages in Malaysia, by Hew Cheng Sim, International Journal of Sociology of the Family, vol.36, no.2 (2010), pp.199-215.