อู๋ อี๋

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาดามอู๋ อี๋

มาดามอู๋ อี๋ (ภาษาจีน : 吴仪 ,พินอิน : Wú Yí) เกิดเมื่อ พ.ศ. 2481 ในอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นหนึ่งในสี่รองนายกรัฐมนตรีของจีน นอกจากนี้ นิตยสารฟอบส์ (Forbes) จัดให้เป็นสตรีที่ทรงอำนาจอันดับสองของโลก ทั้งในปี พ.ศ. 2547 และ พ.ศ. 2548 (รองจากกอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา)

เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2505 อู๋ อี๋ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน และเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ก็จบการศึกษาสาขาการกลั่นปิโตรเลียม จากสถาบันปิโตรเลียมปักกิ่ง โดยได้รับปริญญาวิศวกรรมปิโตรเลียม หลังจบการศึกษาได้ทำงานส่วนใหญ่ด้านปิโตรเลียม ในที่สุดได้เป็นผู้ช่วยผู้จัดการและเลขานุการ ที่บริษัทปิโตรเคมีในปักกิ่ง

อู๋ อี๋ได้รับเลือกเป็นรองนายกเทศมนตรีกรุงปักกิ่ง เมื่อ พ.ศ. 2531 และทำงานในตำแหน่งดังกล่าวกระทั่ง พ.ศ. 2534 หลังจากมีเหตุการณ์รุนแรงที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อ พ.ศ. 2532 อู๋ อี๋ได้ชักชวนคนงานเหมืองถ่านหินให้ผละงาน หลังจากเพื่อนร่วมงานจำนวนหนึ่งของพวกเขาถูกฆ่าตาย หลังจากปี พ.ศ. 2534 จนถึง พ.ศ. 2541 เธอได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพาณิชย์ระหว่างประเทศ และเป็นกรรมการในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ คณะที่ 14 และ 15

ในสมัยของนายกรัฐมนตรีจู หรงจี อู๋ อี๋ได้รับการสนับสนุนจากจู หรงจี ให้ดำรงตำแหน่งสภาชิกสภาแห่งรัฐ เมื่อ พ.ศ. 2541 และได้รับแต่งตั้งเป็นรองประธานสภาแห่งรัฐ เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2547 เธอได้ช่วยต่อรองให้สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก และจัดระเบียบการให้บริการด้านภาษีศุลกากร หลังจากสหรัฐตำหนิเรื่องปัญหาด้านการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้อู๋ อี๋ยังได้ลงนามข้อตกลงกับประเทศในเอเชียหลายประเทศ นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปสังเกตการณ์ในภูมิภาคตอนใต้หลายแห่งของประเทศด้วย

ในช่วงวิกฤตโรคซารส์ (SARS) อู๋อี๋ได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข แทนนายจาง เหวินคัง (ซึ่งถูกปลดออก) โดยได้เข้าเป็นประธานกรรมการแก้วิกฤตดังกล่าว ด้วยการทำงานอย่างโปร่งใส ตรงไปตรงมา ทำให้นิตยสารไทม์ตั้งสมญานามว่า “เทพีแห่งความโปร่งใส” ในฐานะที่ทำหน้าที่ผู้นำในภาวะวิกฤตโรคซารส์ และจัดเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปี พ.ศ. 2547 ในช่วงที่พบโรคซารส์นี้ อู๋ได้เป็นปฏิเสธอย่างรุนแรง ในการมีส่วนร่วมขององค์การอนามัยโลกในจีน ระหว่างการประชุมสามัญขององค์การอนามัยโลก ทั้งยังมีการออกอากาศภาพข่าวอย่างกว้างขวางในไต้หวัน ที่อู๋ อี๋และคณะอย่างเป็นทางการของเธอได้ปฏิเสธคำถามของตัวแทนจากไต้หวัน ในช่วงที่สื่อมวลผลไต้หวันเข้าสัมภาษณ์

สื่อมวลชนจีนบางรายเรียกอู๋ อี๋ ว่า สตรีเหล็กแห่งจีน ถือว่าเป็นผู้ที่หนักแน่น เด็ดขาด ตรงไปตรงมา แม้ผมจะเริ่มหงอกขาว แต่ก็ไม่ยอมย้อมผมเหมือนเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ทั้งยังครองสถานภาพโสดจนปัจจุบัน

อ้างอิง[แก้]